เรื่อง : ปนัดดา ปิ่นแก้ว
ภาพ : ณัฐนิชา หมั่นหาดี

กลับมาเบ่งบาน ที่บางลำพู

“ปิ้น ๆ ระวังรถนะคะ” เสียงเตือนด้วยความห่วงใยจากไกด์ตัวน้อยที่กำลังเดินนำเราเข้าสู่เขตของตัวบ้านที่มีสีขาวดูสบายตา หน้าบ้านเปิดเป็นร้านขายกาแฟและขนมหวานเล็กๆ

ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มของหญิงสาววัยกลางคนดูทะมัดทะแมง เธอกล่าวทักทายด้วยความยินดี แจ้แก้วใจ เนตรรางกูล เจ้าของบ้านและหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเกสรลำพู หลังจากที่ได้เข้ามาทักทายพูดคุยกันแล้ว เธอได้เดินนำไปยังโต๊ะที่ตั้งอยู่ข้างบ้าน บนโต๊ะมีอุปกรณ์ทำขนม ข้างกันมีขนมแปลกตาวางอยู่ รูปร่างคล้ายดอกไม้ ขณะนั้นเจ้าของใบหน้าเปื้อนยิ้มก็พูดขึ้นมาว่า “นี่แหละค่ะ ขนมเกสรลำพู”

bengban02

กว่าจะเป็นขนมเกสรลำพู

ในตอนนั้นในใจแอบคิดว่า ขนมเกสรลำพูจะเหมือนถั่วอัดก็ไม่ใช่ ขนมไหว้พระจันทร์ก็ไม่เชิง แต่มีรูปทรงน่าหยิบมาลิ้มลอง จากนั้นไม่นานเธอก็เริ่มพูดคุยเกี่ยวกับที่มาของเรื่องราวขนมเหล่านี้

“หลังจากที่เราทิ้งชุมชนไปทำธุรกิจ จนได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ก็คิดได้ว่าสุดท้ายแล้วบริบทของชีวิตคือการที่เราต้องอยู่ให้ได้แล้วยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น เธอบอกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเล็กน้อย

แต่เดิมนั้นเธอเป็นผู้ประกอบการทำโฮสเทลและขายอาหารตามสั่งอยู่ในซอยหลังวัดตรีทศเทพ บางลำพู หลังจากที่เกิดวิกฤตจากพิษของโควิด-19 เธอตกอยู่ในภาวะเครียดกับรายได้ที่หดหาย ขณะยังมีคนในครอบครัวอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแล จนกลายเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า ต้องไปหาหมอ 

“ตอนนั้นคนในบ้านบอกว่าเราผิดปรกติ แต่เราไม่รู้ตัว จู่ๆ อยากร้องไห้ก็ร้องออกมา ทั้งๆ ที่คิดว่าเข้มแข็งแล้ว ในที่สุดตัดสินใจไปหาหมอ หมอบอกว่าคุณอยากทำอะไรให้ทำเลย พยาบาลหน้าห้องก็แนะนำให้ดูซีรีส์ ช่วงที่เบื่อๆ เลยเข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กซึ่งมีคนมาแนะนำซีรีส์ของจีนเรื่อง สามชาติสามภพลิขิตเหนือเขนย ในเรื่องมีการทำขนมชื่อขนมไร้กังวล ก็ได้แรงบันดาลใจในการทำขนมขึ้น

ประกอบกับเธอเองมีความคุ้นชินกับการทำขนมมาแต่เด็กอยู่แล้ว จึงทำให้เธอลุกขึ้นมาปลุกปั้นลองทำขนมชนิดนี้ขึ้นมาและตั้งชื่อว่าขนมไร้กังวล ซึ่งผลลัพธ์ที่เธอได้รับก็ตรงตามชื่อของขนม เพราะการทำขนมเกสรลำพูแต่ละชิ้นเธอต้องตั้งใจและจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าจนทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจ จนทำให้เธอมีอาการดีขึ้นตามลำดับเรื่อยมา

การทำขนมเกสรลำพูจึงช่วยบำบัดความเครียดและคลายความเศร้าหรือวิตกกังวลของเธอลงได้ เป็นเพราะการทำขนมนั้นต้องอาศัยสมาธิ เพราะมีทั้งเรื่องสัดส่วนของวัตถุดิบ วิธีการ และเวลาในแต่ละขั้นตอน การได้จดจ่ออยู่กับกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สมองจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้า หรือที่ในทางคำสอนของพระพุทธศาสนาเรียกว่ากำลังอยู่กับ “ปัจจุบันขณะ”

bengban03
bengban04

อร่อยไม่ซ้ำ

ขนมไร้กังวล มีส่วนผสมหลักคือมันเทศ (สองสี) แป้งเค้ก ดอกหอมหมื่นลี้ น้ำตาลอ้อย ครีมเทียม นมข้นหวาน ซึ่งกระบวนการทำเธอเล่าว่า ก่อนอื่นต้องคั่วแป้งเค้กกับดอกหอมหมื่นลี้เพื่อลดกลิ่นสาบของแป้ง หลังจากนั้นก็ร่อนแป้งแล้วพักไว้รอจนแป้งเย็น ใส่นมข้นหวาน จากนั้นใส่น้ำตาลอ้อยและครีมเทียมเพื่อเพิ่มรสชาติหวานมันของไส้ นำมันเทศที่นึ่งไว้มาบดให้ละเอียด ในขณะที่เล่ากระบวนการทำนั้นเธอก็ไม่ลืมที่จะนำแม่พิมพ์ออกมาเรียงกันมีรูปตามวัฏจักรของต้นลำพู ที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นเล็ก ต้นใหญ่ ดอกลำพูที่เริ่มตั้งแต่ดอกหุบ ดอกบาน ชูเกสร มีหิ่งห้อย และซากตอของต้นที่เหลืออยู่ รวมถึงป้อมพระสุเมรุ สถานที่สำคัญของชุมชน

คำว่า “เกสรลำพู” นี้เป็นชื่อที่อาจารย์สมปอง ดวงไสว คุณครูจากโรงเรียนวัดสังเวชวิศยาราม ผู้พลิกฟื้นเรื่องราวของต้นลำพูในอดีตได้คิดขึ้นมา โดยเปรียบเสมือนว่าต้นลำพูเวลาโตขึ้นจะมีดอกและเกสรที่ร่วงหล่นลงดินเป็นการขยายพันธุ์ออกไป เหมือนกับเด็กๆ เยาวชนกลุ่มไกด์เด็กบางลำพูนั่นเอง ซึ่งเด็กๆ และตัวเธอก็เป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเกสรลำพูอยู่แล้ว ก็ได้ช่วยกันคิด ได้ช่วยกันชิม จนในที่สุดก็ได้ชื่อที่ลงตัวว่า “เกสรลำพู” เหมือนกับชื่อกลุ่ม ทุกคนช่วยกันคิดและออกแบบ รวมไปถึงได้ร่วมกันเสนอให้ลองทำเป็นแม่พิมพ์ในชื่อชาวบางลำพูหรือเป็นชื่อกลุ่ม เพื่อเน้นให้เห็นถึงอัตลักษณ์ 

“ขนมเกสรลำพูคือขนมสามัคคีที่ทุกคนมีส่วนร่วม เราอยากให้ทุกคนมาบางลำพู เลยใช้คำว่า ‘เสน่ห์บางลำพู’ เป็นชื่อแบรนด์ เธอบอกเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างภาคภูมิใจ

ขณะเดียวกันขนมเกสรลำพูก็ถูกทำขึ้นอย่างประณีตทีละชิ้น ด้วยการตวงส่วนผสมที่มีหลักๆ คือ มันเทศสีม่วงและสีส้ม และไส้สีขาวที่มีรสชาติหวานละมุนลิ้นจากนมข้นหวานที่ใส่น้ำตาลอ้อยและครีมเทียม มาปั้นเป็นลูกกลมๆ รวมกัน จากนั้นนำแป้งเค้กมาคลุกๆ พอสมควร แล้วนำใส่เข้ากับแม่พิมพ์ หลังจากแกะขนมออกจากแม่พิมพ์ก็จะเห็นขนมที่มีลวดลายน่ารักน่าลิ้มลองออกมาพร้อมกับสายตาและใบหน้าภาคภูมิใจของคนทำ

หลังจากที่ได้ลองชิมขนมเกสรลำพูแล้วรู้สึกว่าเป็นจริงอย่างที่เธอบอกไว้ คือขนมเกสรลำพูจะมีความคล้ายถั่วอัดของบ้านเรา แต่ก็มีความหนึบหนับและมีไส้ที่ละมุนลิ้นมากกว่า ซึ่งวิธีทำถั่วอัดนั้นจะนำถั่วเขียวมากวนกับกะทิในกระทะ จากนั้นจะใส่มะพร้าวทึนทึกขูดลงไปผสมกับเนื้อถั่ว น้ำตาลทราย น้ำหอมดอกมะลิ หลังจากนั้นจะกวนต่อให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นำไปพักให้เย็นตัว เเล้วอัดใส่เเม่พิมพ์ นำไปตากแดด ก่อนที่จะนำมาอบด้วยควันเทียน ทำให้รู้สึกได้ว่าขนมเกสรลำพูนี้มีความแตกต่างทั้งอร่อยและไม่ซ้ำกับใคร เพราะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยแม่พิมพ์ที่มีรูปวัฏจักรต้นลำพู

bengban05

เรียกว่าบ้าน

เมื่อได้เห็นขนมเกสรลำพูที่มีข้างบนเป็นภาพต้นลำพู กลับนึกถึงภาพในความทรงจำเมื่อครั้งอดีตที่บางลำพูแห่งนี้มีทั้งต้นลำพูใหญ่น้อยและหิ่งห้อยบินวนเวียนส่องแสงระยิบระยับไปมา แต่ในวันนี้ภาพเหล่านั้นกลับนั้นค่อยๆ จางหายไป พร้อมกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

ในอดีตต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพูตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ของสำนักงานกลางโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็คือพื้นที่บริเวณสวนสันติชัยปราการในปัจจุบัน ด้านหลังเป็นบ้านพักคนงานบริษัทศรีมหาราชา

แต่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เกิดมหาอุทกภัย ทุกพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบ รวมไปถึงต้นลำพูที่มีอายุกว่า 100 ปีด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับน้ำ แต่เมื่อถูกน้ำท่วมรากอากาศมาเป็นเวลานาน ประกอบกับอายุที่ยืนยาวมาเป็นร้อยปี ส่งผลให้เนื้อไม้ข้างในผุเป็นโพรง ต้นลำพูจึงค่อย ๆ เหี่ยวแห้ง ทิ้งใบ และตายลงตามวัฏจักร เหตุการณ์นี้ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของต้นลำพูต้นสุดท้ายที่เคยอยู่คู่ชุมชนมานาน

bengban06

“แต่ก่อนนะเราเดินผ่านต้นลำพูโดยไม่คิดอะไร ไม่ได้ผูกพันกันเลย จนวันหนึ่งต้นไม้ที่อายุ 100 กว่าปีต้นนี้ได้ตายลง เราถึงรู้ว่าบางลำพูเรามีของดี และก็ทำให้เรารู้ว่านี่คือวัฏจักร”

เธอเล่าย้อนความอีกว่าเธอไม่ใช่คนที่นี่ เป็นสะใภ้ของลูกหลานชาวบางลำพู แต่สถานที่ไหนที่เรานอน เราอยู่ เรากิน ที่นั่นก็คือบ้าน แววตาของเธอแสดงออกให้รับรู้ว่าที่นี่เป็นบ้านของเธอจริงๆ สายตาของเธอและกลุ่มไกด์เด็กบางลำพูต่างดูภาคภูมิใจกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอย่างมาก

ในวันนี้เธอได้ค้นพบความสามารถและความสุขที่ซ่อนอยู่ในตัวตน ได้ค้นพบการทำขนมเกสรลำพูในสถานที่ที่เธอเรียกว่าบ้าน เธอได้ทำหน้าที่นำเสนอให้คนภายนอกรับรู้ว่าบ้านของเธอมีของดีอย่างไร ผ่านเรื่องราวบนขนมเกสรลำพู ซึ่งมีรสชาติที่แตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ เธอและเหล่าไกด์เด็กบางลำพูเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ที่ชื่อว่าชุมชนบางลำพู ถึงจะมีหน้าที่ต่างกัน แต่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือทำให้บ้านของพวกเขาเป็นที่รู้จักของคนภายนอกไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์กลิ่นอายความเป็นชุมชนให้คงอยู่คู่บางลำพูต่อไป

เธอและเหล่าไกด์เด็กบางลำพูเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่เปรียบเหมือนกิ่งก้านของต้นลำพู มีกิ่งก้านเติบโตไปในทิศทางที่แตกต่างกัน แต่ก็มีรากเหง้าเดียวกัน จะดีกว่านี้ไหมถ้าทุกคนกลับมาทำให้รากเหง้าของเราแข็งแรงขึ้น เพื่อหยัดยืนที่จะสืบสานและส่งต่อสิ่งที่ประกอบสร้างความเป็นเราจากรุ่นสู่รุ่น และดูแลรักษารากเหง้าของพวกเราให้ทนทานต่อแรงกัดเซาะของกระแสสังคมได้