เรื่อง : นลินา ควรประดิษฐ์
ภาพ : ปฏิภาณ จินดาประสริฐ

ตั้งฮั่วเส็ง จากห้างคู่บางลำพู สู่อาณาจักรงานเย็บปักถักร้อย
“ตั้งฮั่วเส็ง สินค้าราคาคุณภาพ ห้างคนไทย บริการด้วยความจริงใจค่ะ”
คุณกาญตะยา ผู้จัดการการขายแผนกงานเย็บปักถักร้อย พร้อมให้บริการทุกคนที่เข้ามายังตั้งฮั่วเส็งด้วยความเต็มใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของห้างแห่งนี้

“หายไปตั้ง 40 ปี ยังเหมือนเดิมอยู่เลย ถ้าผ่านมาแถวนี้ก็จะแวะมา รักที่นี่มาก”

กาญตะยา ไพสงค์ ผู้จัดการแผนกอุปกรณ์งานเย็บปักถักร้อยของห้างตั้งฮั่วเส็งเล่าให้เราฟังถึงคำกล่าวของลูกค้ารายหนึ่ง เมื่อได้ยินประโยคนี้ เด็กรุ่นใหม่อย่างเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรกันที่ทำให้ห้างซึ่งไม่ได้มีอะไรหวือหวา ขนาดไม่ได้ใหญ่โต สามารถทำให้คนตกหลุมรักได้มากกว่าค่อนชีวิต

………….

thseng01
“ตั้งฮั่วเส็ง-อาณาจักรแห่งงานเย็บปักถักร้อย”
ห้างเก่าแก่หลายแห่งในย่านบางลําพูต่างปิดตัวลง เพราะไม่อาจปรับตัวให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์และอ่อนเเรงเกินจะเเข่งขันกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ตามสมัยทุนนิยม เเต่ “ตั้งฮั่วเส็ง” ยังคงยืนหยัดเคียงคู่ชุมชนบางลำพูมากว่า 60 ปี ด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่นของตนเองในการเป็น “อาณาจักรแห่งงานเย็บปักถักร้อย”

ในบ่ายวันอาทิตย์ธรรมดาๆ เรามีโอกาสมาห้างตั้งฮั่วเส็งครั้งแรก ที่ผ่านมาเคยได้ยินแต่ชื่อ ตั้งฮั่วเส็งเป็นห้างที่เปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2505 จากธุรกิจแบบครอบครัวสู่การเป็นห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ภายใต้การบริหารงานของตระกูลจุนประทีปทอง

ก้าวแรกที่เดินเข้าไป บรรยากาศของตั้งฮั่วเส็งไม่เหมือนกับคำว่า “ห้าง” ที่เราคุ้นเคย ลมเย็นของเครื่องปรับอากาศที่สาดเข้ามาไม่ได้ทำให้หายใจปลอดโปร่ง มีกลิ่นของสินค้างานฝีมือทั้งกระดาษ ผ้า ไหมพรม เข้ามาแตะจมูก ราวกับเป็นการทักทายยามบ่าย เงยหน้ามองขึ้นไปข้างบนผ่านแสงไฟสลัว เห็นเพดานห้างอยู่ในระดับไม่ห่างจากสายตานัก หันไปข้างๆ ก็สะดุดกับหุ่นโชว์เสื้อผ้าทำท่ากางแขนแบบไม่เกรงใจใคร

ห้างตั้งฮั่วเส็งขนาดไม่กว้าง แต่ก็ประกอบด้วยห้าชั้น เป็นโอกาสอันดีของเราวันนี้ที่ต้าปานทิพย์ ลิกขะไชย ประธานชมรมเกสรลำพู พามาทำความรู้จักกับห้างตั้งฮั่วเส็งอย่างใกล้ชิดในแต่ละชั้น โดยการขึ้นบันไดเลื่อนขนาดกว้างแค่พอหนึ่งคนยืน

“พอมีการซื้อของออนไลน์เข้ามาก็กระทบจริงๆ ตั้งฮั่วเส็งอาจไม่ได้ทันสมัยเหมือนห้างที่คนนิยมไปกัน แต่ก็มีของพื้นฐานครบ อย่างเวลาที่บ้านจะซื้อพัดลม ก็จะมาซื้อที่ตั้งฮั่วเส็ง”

การขึ้นบันไดเลื่อนแต่ละชั้นพาเราไปเห็นในแต่ละส่วนของห้าง ซึ่งมีทั้งเครื่องแต่งกายบุรุษ-สตรี กระเป๋าหนัง ข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็กเล็ก ของเล่น เครื่องเขียน เครื่องใช้ไฟฟ้า ซีดีเพลงนักร้องสมัยก่อน และยังมีแผนกซูเปอร์มาร์เกตตั้งอยู่ชั้น 1 ด้วย มีครบเกือบทุกอย่างตามที่ปานทิพย์บอก เรียกได้ว่าไม่เกินจริง

“เป็นห้างของคนไทยและชุมชนบางลำพู เป็นห้างที่ช่วยเหลือคนในชุมชน งานฝีมือไม่ได้มีไว้แค่ซื้อ แต่มีครูสอนให้ด้วย เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชนอีกทางหนึ่ง”

ปานทิพย์ยังเล่าถึงการช่วยชุมชนในหลายโอกาสของห้างตั้งฮั่วเส็ง เช่นการส่งครูและชิ้นงานฝีมือไปจัดแสดงในกิจกรรมชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

“ส่วนใหญ่รู้จักกันปากต่อปาก เป็นที่รู้กันว่าซื้องานฝีมือปุ๊บ ต้องมาตั้งฮั่วเส็ง”

ครูกัลธนมณฑ์ นาคนวล ครูประจำห้องฝึกสอนงานถักบอกกับเราพร้อมกับหยิบผลงานให้ดูทีละชิ้นด้วยความภูมิใจ

ถึงห้องที่เรานั่งอยู่ตอนนี้จะเป็นห้องเรียนเล็กๆ ภายในซอยขนาดแคบข้างห้าง แต่ก็เต็มไปด้วยชิ้นงานถัก ทั้งหมวก ผ้าพันคอ เสื้อคลุมไหล่ งานถักโครเชต์หลายแบบตั้งแต่งานกระเป๋าสะพายใบใหญ่ ไปจนถึงของใช้ใกล้ตัวยุคสมัยนี้ อย่างที่ใส่เจลแอลกอฮอล์และสายคล้องหน้ากากอนามัย

เมื่อลูกค้าซื้ออุปกรณ์จากเคาน์เตอร์แผนกเย็บปักในห้างแล้วสามารถเข้ามาเรียนที่ห้องนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่งานปักบางอย่างอาจเสียค่าเรียนเพิ่มในราคาหลักร้อย ปัจจุบันมีการสอนออนไลน์และแจกใบแนะนำวิธีการทำให้กับลูกค้าที่สนใจ

“อยากลองทำโยโย่ดูไหมคะ” เราสะดุ้งด้วยความตกใจ ไม่ทันตั้งตัวกับคำถาม อาจเป็นเพราะเห็นผลงานที่ครูทำ แล้วย้อนถามตัวเองว่าครั้งล่าสุดที่เอาด้ายร้อยใส่เข็มคือเมื่อไรกัน ไม่มีเวลามาคิดหาคำตอบ ตอนนี้นิ้วมือแข็งๆ ของเรากำลังหยิบเศษผ้าเนื้อสาก รูปร่างกลมขนาดประมาณเหรียญสิบบาทแล้วพับครึ่งหนึ่งตามครู ครูกัลเอาด้ายใส่เข็มด้วยความชำนาญเพียงหนึ่งพริบตา แล้วนั่งเอาใจช่วยสองมือสั่นๆ ของเราที่กำลังร้อยด้ายใส่เข็มด้วยความพยายาม

ครูกัลสอนให้พวกเราทำกลีบดอกไม้โยโย่ด้วยวิธีการเนา เริ่มจากใช้ด้ายไม่มีปมยาวราวหนึ่งไม้บรรทัด เย็บห่างขอบผ้าขึ้นมาครึ่งของครึ่งเซนติเมตร นับให้ได้ประมาณแปดครั้งก็จะได้หนึ่งกลีบ ทำให้ได้จำนวนกลีบที่ต้องการก็จะได้ดอกไม้ซึ่งสามารถนำไปตกแต่งหมวก

แค่ได้ลองทำดอกไม้โยโย่เพียงหนึ่งกลีบก็รับรู้ว่ากว่าจะได้ผลงานมาสักชิ้นหนึ่งต้องอาศัยทั้งเวลาและสมาธิ

เรามองถุงผ้าโครเชต์ที่ตั้งอยู่ข้างตัวอีกครั้ง ถุงผ้านี้มองเผินๆ อาจไม่ได้ดูเป็นกระเป๋าที่ทันสมัย แต่มันคงต้องผ่านความตั้งใจของครูมาไม่มากก็น้อยในทุกขั้นตอน

…………

thseng02
“กลิ่นอายย้อนยุค”
แสงไฟสลัว เพดานตํ่า ของจําหน่ายที่อาจดูไม่ได้ตามกระแสความนิยมในปัจจุบัน เป็นสัมผัสแรกของผู้ที่ได้เข้ามายังตั้งฮั่วเส็ง ซึ่งเป็นทั้งเสน่ห์ที่น่าค้นหาหรือความทรงจําของใครหลายคน

ตอนบ่ายหญิงสูงวัยสองคนก้มหน้าก้มตาทำงานฝีมือของเธออยู่ตรงข้ามกับที่ครูกัลนั่ง พวกเธอน่าจะเป็นลูกค้าที่มาเรียน เราจึงขออนุญาตเข้าไปพูดคุย

“ดิฉันเรียนที่นี่มานานมาก แต่ไม่ได้ต่อเนื่อง บ้านอยู่บางขุนพรหม เดินห้างนี้ตั้งแต่อายุ 15 จนตอนนี้ 40-50 ปีแล้ว เคยมีคนแนะนำให้ไปสาขาธนบุรี เพราะสะดวกกว่า มีที่จอดรถเยอะ แต่ดิฉันก็ไม่ไป เพราะรู้สึกผูกพันและรักที่นี่ไปแล้ว ดิฉันมีพื้นฐานและสนใจงานถักงานโครเชต์ บางครั้งดูแล้วไม่เข้าใจก็จะมาถาม ครูที่นี่ให้คำแนะนำที่ดี แต่ต้องมีตำรามา จะมาถามครูลอยๆ ไม่ได้” เธอพูดพร้อมพลิกหน้าตำราของเธอไปด้วย

เมื่อได้ยินว่าเธอใช้บริการห้างตั้งฮั่วเส็งมายาวนาน ก็อยากฟังมุมมองว่าที่นี่มีอะไรเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน

“เมื่อก่อนคนเยอะมาก เดี๋ยวนี้น้อยลง คนขายของก็น้อยลง คนรุ่นใหม่ก็ไปห้างใหม่ๆ ที่มีสินค้ามากกว่า เมื่อก่อนแถวนี้มีห้างเยอะนะ แต่ยุบไปแล้ว สู้ไม่ได้ อย่างห้องเรียนนี้ คนมานั่งก็เป็นคนโบราณ ดิฉันไม่เคยเจอคนรุ่นใหม่เลย

“งานพวกนี้เป็นงานเสียเวลานะคะ แล้วต้องทำด้วยใจรัก คนทำต้องรักและชอบ คนรุ่นใหม่ไม่ทำ มีแค่คนรุ่นเก่าที่ยังรักของเก่าๆ”

………………..

thseng03
“ห้างที่คนบางลําพูไว้ใจ”
“เมื่อต้องการของใช้หรืออยากซื้อของพื้นฐาน ที่ตั้งฮั่วเส็งมีให้หมด และถ้านึกถึงของถักร้อยที่นี่มีทุกอย่าง” ประโยคเหล่านี้เป็นคําตอบของชาวบางลําพูที่ล้วนเคยมาใช้บริการห้างแห่งนี้ รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ย่านอื่นๆ ที่แวะเวียนมาเช่นกัน
thseng04
“คุณครูในห้าง”
ตั้งฮั่วเส็ง นอกจากจะมีบริการขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยแล้ว ยังมีบริการสอนอีกด้วย ซึ่งภายในห้างมีคุณครูที่มีประสบการณ์ในด้านงานถักร้อย รวมไปถึงงานตัดเย็บ พร้อมให้คําแนะนําและสอนวิธีการทําให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการ

ที่แผนกตัดเย็บ เราเห็นกลุ่มลูกค้าต่อคิวรอซื้ออุปกรณ์ทำงานฝีมือบริเวณเคาน์เตอร์ เกิดคำถามในใจว่าท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรทำให้คนเหล่านี้เลือกมาซื้อของที่ห้างตั้งฮั่วเส็งในวันหยุดสุดสัปดาห์ แทนที่จะไปห้างอื่น

“สมัยก่อนลูกค้าเยอะมาก ขายได้ทุกแผนก แต่ตอนนี้เงียบ ลูกค้ากลุ่มแม่บ้านและวัยเกษียณซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของแผนกนี้ก็น้อยลง เข้าใจว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซื้อแค่ไปทำงานอดิเรก ทำใช้ในบ้าน ในอนาคตงานบางอย่างอาจหายไปเลย เพราะคนรุ่นเก่าเสียชีวิตและเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้ว”

กาญตะยา ไพสงค์ ผู้จัดการแผนกอุปกรณ์งานเย็บปักถักร้อย ซึ่งปลีกตัวจากงานมาพูดคุยกับเรา

สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มมาตั้งแต่ฟองสบู่แตก วิกฤตน้ำท่วม รวมถึงปัจจุบันตลาดกว้างขึ้น บางแห่งเห็นตั้งฮั่วเส็งจำหน่ายอุปกรณ์งานฝีมือเยอะ ก็เริ่มนำสินค้าไปขายโดยตั้งราคาให้ถูกลง แต่ห้างตั้งฮั่วเส็งก็ปรับตัวโดยเน้นความเป็นห้างไทยเจ้าแรกที่มีสินค้าเย็บปักถักร้อยที่ให้ความสำคัญกับทั้งราคาและคุณภาพ การจำหน่ายสินค้างานฝีมือที่มีครบทุกอย่าง เข็มและด้ายครบทุกขนาด และให้บริการครบครัน ลูกค้าจะสั่งตัดผ้าครึ่งเมตรก็ทำให้ได้

รอบตัวผู้จัดการแผนกตอนนี้เต็มไปด้วยมัดก้อนด้ายวางเรียงกันไล่ครบทุกเฉดสี นำสายตาเรามุ่งตรงไปหาเธอผู้ที่กำลังพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและแววตาเชื่อมั่น

“ที่เราอยู่ได้ เพราะเราไม่แข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเอง ยืนหยัดสินค้าของเรา สร้างคุณภาพ สร้างรอยยิ้ม และอะไรมากมายให้กับสังคม”

ก่อนจะจากกัน เธอมอบสามประโยคของห้างตั้งฮั่วเส็งให้นึกถึงแทนคำร่ำลา

“สินค้าราคาคุณภาพ ห้างคนไทย บริการด้วยความจริงใจค่ะ”

…………

thseng05
“หลากเฉดสี”
สีสันของเชือกเกลียวหลากหลายเฉดสีที่วางเรียงอยู่ในชั้นวางของ มุมเล็กๆ ที่แสดงถึงความชํานาญและความเป็นตัวจริงด้านงานเย็บปักถักร้อยของตั้งฮั่วเส็งที่มีชื่อเสียงมายาวนาน

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากน้ำเสียงของผู้จัดการแผนกอุปกรณ์งานเย็บปักถักร้อย ครูกัล ต้า และลูกค้า คือความรักและผูกพันที่มีต่อห้างตั้งฮั่วเส็ง

ตั้งฮั่วเส็งคือส่วนหนึ่งของชุมชนบางลำพู

หกสิบปีแล้วที่ห้างอยู่เคียงคู่คนบางลำพู แม้จะผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจมาหลายครั้งก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัวจากการจำหน่ายสินค้างานเย็บปักถักร้อยแบบครบเครื่อง

เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่มีความหลงใหลต่อการทำงานฝีมือ แม้พวกเขาจะอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่โลกหมุนเร็วขึ้นหลายเท่าตัว

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำงานเย็บปักถักร้อย งานที่ต้องใช้ใจรักและเมื่อได้ทำก็ราวกับมีปุ่มกดหยุดกาลเวลาเอาไว้

ความรักของพวกเขาจึงเปรียบเหมือนพลังสำคัญที่ทำให้ห้างตั้งฮั่วเส็งยังคงเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน