สานต่อภูมิปัญญาผ่านผ้ากะเหรี่ยงโปว์

“เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ใจเราอยากอยู่ที่นี่ อยู่ที่บ้านน่ะ เราสบายใจมากกว่า”

น้ำเสียงมั่นใจผ่านประโยคที่พูดถึงอนาคตอันคลุมเครือของน่อยอำพร ปัญญา หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงโปว์ในชุดพื้นเมือง ดึงความสนใจจากบทสนทนาเรียบง่ายที่เกิดขึ้นเรือนไม้ไผ่ส่วนหนึ่งของบ้านเธอ บ้านหลังนี้ให้ความสบายใจในรูปแบบใด ชุมชนบ้านห้วยหินดำคงให้คำตอบได้

ท่ามกลางธรรมชาติที่หันไปทางไหนก็เจอแต่พันธุ์ไม้สีเขียว คนและสัตว์อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ณ หมู่บ้านห้วยหินดำ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่แห่งนี้เป็นบ้านอันอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาว “โผล่ว” หรือ “โปว์”

มื่อจะลัดดาวัลย์ ปัญญา แม่ของหน่อยแกนนำกลุ่มสตรีทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านห้วยหินดำ วัย ๕๒ ปี เล่าว่าโปว์เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อพยพจากพม่าเข้าสู่แผ่นดินประเทศไทยมานานกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว วิถีชีวิตของพวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติในความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย โดยทำไร่หมุนเวียนเพื่อดำรงชีวิต ขณะเดียวกันก็ดูแลรักษาธรรมชาติด้วยการจัดการป่าชุมชน จัดสรรพื้นที่ทำกิน พร้อมกับการอนุรักษ์ต้นน้ำ

แม้คนภายนอกมองว่าการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงเป็นสิ่งทำลายธรรมชาติและป่า ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างไม่ยั่งยืน แต่มื่อจะเล่าถึงวิถีชีวิตของพวกตนว่าไม่สามารถแยกจากธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาติคือกะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงคือธรรมชาติ

“มีปัจจัย ๔ อยู่ในไร่หมุนเวียนของเรา เรามีอาหาร ยาสมุนไพร ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย มันมีเครื่องนุ่งห่มอยู่ในนี้ด้วย เราปลูกฝ้ายในไร่”

pakaliang01
การจัดตั้ง “กลุ่มสตรีกะเหรี่ยงทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านห้วยหินดำ” นอกจากสร้างเสริมรายได้แล้ว ยังส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติในป่าชุมชนและผลผลิตจากไร่หมุนเวียน
pakaliang02
“เรารักป่า เราอยู่กับป่า เราดูแลป่า นี่คือวิถีชีวิตของเรา กะเหรี่ยงจะแยกจากป่าไม่ได้” มื่อจะ เล่าว่าชุมชนนี้ผูกพันกับป่า ทั้งอาหาร ยารักษาโรค บ้านเรือน และเครื่องนุ่งห่มล้วนได้จากป่าทั้งสิ้น
pakaliang03
วิถีการย้อมผ้าแบบชาวกะเหรี่ยงโปว์นั้นแบ่งออกเป็นย้อมร้อนและย้อมเย็น “ใบห้อม” เป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งที่นำมาใช้เป็นสีย้อมเย็น สีที่ได้จะเป็นสีเขียวไข่กา
pakaliang04
ด้ายที่ใช้ทอผ้านั้นมาจากฝ้ายที่เก็บจากไร่หมุนเวียน ผ่านการปั่นเป็นเส้น และนำมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ

กะเหรี่ยงโปว์ผู้มาก่อนกาล

ท่ามกลางสังคมยุคใหม่ที่ผู้คนเริ่มสนใจกระแสรักษ์โลกมากขึ้นเรื่อย ๆ บรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงโปว์ ณ หมู่บ้านห้วยหินดำ ได้ปลูกฝังเมกาเทรนด์นี้ลงในรากเหง้าของวัฒนธรรมมาอย่างช้านาน ราวกับคาดการณ์อนาคตได้ พวกเขามีวิธีใช้ชีวิตแบบอีโค-เฟรนด์ลีในแบบของตนเอง

ว่าเฉพาะการปลูกฝ้าย ย้อมสีด้าย และทอผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็แสดงให้เห็นถึงการส่งต่อหัวใจสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีตำราหรือโรงเรียนสอนย้อมผ้าในหมู่บ้าน ไม่มีหนังสือเล่มไหนบันทึกไว้ว่าสีชนิดนี้หาได้จากพืชชนิดไหน หรือหามาด้วยวิธีใด เพราะล้วนเป็นเรื่องเล่าภายในบ้าน มีแต่หญิงชาวกะเหรี่ยงโปว์เท่านั้นที่คุยกัน

“ต้นไม้ก็เหมือนคน ร่างกายของไม้มีสามชั้น เปลือก เนื้อ กระดูก เราจะถากแค่เปลือก ไม่ฟัน ไม่ถากรอบต้นเพราะมันอาจจะตายได้ เราจะถากถึงแค่เยื่อไม้ ถากเบา ๆ แล้วเอาดินโปะสมานแผลให้หุ้มกลับเข้าหากันไว้ขึ้น” คือความใส่ใจเมื่อมื่อจะเล่าถึงการนำเปลือกไม้มาเป็นสีย้อมธรรมชาติ

ณ บริเวณป่าหลังบ้าน หญิงชาวกะเหรี่ยงโปว์สอนวิธีถากเปลือกยางนาเพื่อนำมาทำสีย้อมผ้า บ้านของพวกเขาโอบล้อมด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดที่มีสีสันในตัวเอง อย่าง “ห้อม” พุ่มไม่สูงไปกว่าเอวของหญิงสาว ใบสีเขียวขอบหยักของมันเมื่อขยำจะทำให้เกิดสีเขียวไข่กา มองดูแล้วเย็นสบายตา

“ผ้าทอของเรามาจากธรรมชาติ ตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย ปั่นเป็นสาย ย้อมเป็นสี และทอเป็นผืน โดยเฉพาะย้อมสีมาจากธรรมชาติล้วน ๆ สีน้ำตาลเข้มจากประดู่ เหลืองจากเพกา ดำและเทาจากลูกคนทา จะเฉดเข้มหรืออ่อนอยู่ที่ตัวกระตุ้นอย่างน้ำสนิม น้ำด่างขี้เถ้า และสารส้ม”

คนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจมักบอกเคล็ดลับแก่ผู้เริ่มต้นให้ทำสิ่งที่เป็นความต้องการของตลาดถึงจะขายดี นั่นแหละโอกาสทองท่ามกลางมรสุมโควิด – ๑๙ ที่สร้างความเสียหายมากมาย แต่ก็ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสุขภาพตนเองมากขึ้นด้วย นั่นหมายถึง ผ้าทอจากธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยงโปว์นี่แหละเป็นที่ต้องการของตลาด

pakaliang05
เปลือกไม้และรากไม้จะถูกต้มนานกว่า ๓ วันก่อนนำมาย้อมสีผ้า เมื่อย้อมสีแล้วชาวกะเหรี่ยงใช้มือรีดให้หมาดก่อนนำไปตาก
pakaliang06
ผ้าทอของบ้านห้วยหินดำมาจากธรรมชาติทั้งหมด สีย้อมนั้นมีหลากหลายตามแต่วัสดุที่ใช้
pakaliang07
“หน่อย”-อำพร ปัญญา หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสืบทอดการทอผ้าด้วยภูมิปัญญา กำลังขึ้นด้ายซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการทอผ้า เบื้องหลังบนกำแพงใต้ถุนบ้านคือรูปภาพครอบครัวและบรรพบุรุษของเธอ

หญิงสาวและการสืบทอด

“หน่อยเป็นคนขยันและทำงานหนักมาก กลับบ้าน ๕ ทุ่ม ตี ๑ ก็มี จนวันหนึ่งโทรฯ มาบอกว่าล้มในห้องน้ำเพราะวูบ แม่บอกให้เขากลับบ้านเลย ไม่ได้บังคับนะ แต่เป็นห่วงและสงสาร เพราะหน่อยอยู่คนเดียว แม่เห็นข่าว มีการปล้นกัน ฆ่ากัน เราไม่อยากให้เขาอยู่แบบนั้น บอกเขาว่ากลับบ้านเถอะลูก ไม่ใช่ว่าบ้านเราไม่มีอะไร เรามีภูมิปัญญาที่ต่อยอดได้ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชนได้ กลับมาสร้างอนาคตนะ แล้วเขาก็กลับมา”

มื่อจะพูดอย่างภูมิใจ สายตาบ่งบอกว่าลูกสาวของเธอคือความฝันที่เป็นจริง ขณะมองไปยังหน่อยที่กำลังสาธิตวิธีการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดให้แก่ลูกสาวทุกบ้านตั้งแต่เด็ก

ก่อนหน้านี้หน่อยก็เหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วไปที่ไม่ได้ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญา เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขาอยากออกจากชุมชนไปเรียนรู้และตามหาความฝันของตนเองในโลกภายนอก จนกระทั่งจังหวะชีวิตพาเธอกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง

pakaliang08
ชาวกะเหรี่ยงโปว์สืบทอดเอกลักษณ์การทอผ้าด้วยเทคนิคการขึ้นกี่เอว โดยขึงด้านหนึ่งกับฝาบ้านและมีสายหนังคล้องหลังเอว
pakaliang09
ลวดลายและสีที่ทอด้วยกี่เอวอย่างพิถีพิถัน ผู้ชายนิยมสีขาวและผู้หญิงนิยมสีแดง
pakaliang10
การส่งผ่านภูมิปัญญาการทอผ้า รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนผ่านรอยยิ้มของคนในชุมชน

“คุณค่ามีอยู่ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว เราเห็นตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าตรงนี้คือต้นทุนที่จะพัฒนาตัวเราแล้วก็คนรุ่นหลัง เราได้ตรงนี้เหมือนได้ความรู้อย่างหนึ่งที่แม่สอนมา ตั้งแต่การไปเก็บฝ้าย ดูแลไม้ เหมือนครอบคลุมทุกอย่างเลย จนเราได้สานเป็นเสื้อผ้า นี่คือต้นทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้านเรา” หน่อยเล่าในฐานะผู้สืบทอดภูมิปัญญาทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติของชุมชน

คนรุ่นใหม่อย่างหน่อย ผู้มีส่วนร่วมในแทบทุกกิจกรรมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เจ้าหน้าที่บัญชีของกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน และกิจกรรมเดินป่าเพื่อศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเดินหน้า และเป็นผู้ที่จะสืบสานภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษให้ยั่งยืนสืบต่อไป

“เราเห็นตัวตนของตัวเองนะ รู้สึกว่าธรรมชาติบ้านเรามีความสมบูรณ์แบบ เราสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อที่เขาจะมาเรียนรู้กับเราได้ ภูมิปัญญาของบ้านเราทำให้คนอื่นรู้ว่าเรามีตัวตน รู้ว่าเราเป็นใคร” เธอยิ้มแล้วกล่าวทิ้งท้าย

ราวกับการกลับมาของหญิงสาวเป็นดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจต่อยอดความหวังเเละความฝันครั้งใหม่ของคนรุ่นก่อน เพราะหากไม่มีการสืบสานภูมิปัญญา การทอผ้าก็จะเหลือเพียงชื่อ ไร้คนสืบทอดต่อไป

“ทุกวันนี้เเม่มีความสุข เพราะได้ลูกหลานกลับมา” มื่อจะบอกด้วยรอยยิ้ม