เรื่องและภาพ : กลุ่มอย่าฝืน ค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๗

“ใครเผาป่า”
ลมหอบเอาควันสีขาวลอยฟุ้งพร้อมกลิ่นไหม้พัดมาแตะจมูกพวกเรา
“นี่ไม่ใช่เผาป่านะลูก แต่เป็นการเผาไร่”
เสียงของ สุดา กองแก ชาวบ้านในชุมชนบ้านห้วยหินดำ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ตอบกลับทันทีก่อนอธิบายว่า การเผาคือกระบวนการหนึ่งของการเตรียมไร่หมุนเวียน โดยธาตุอาหารที่เหลือจากการเผาจะกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติในดิน เพื่อให้ปลูกพืชต่อไปได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี
สังคมส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเป็นผู้บุกรุกและฉกฉวยเอาประโยชน์จากธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นความจริงหรือไม่ ยังต้องพิสูจน์
“ถ้าเรารู้ว่าเบียดเบียนก็ต้องรู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร เราต้องทดแทนสิ่งที่เราเบียดเบียนไป ซึ่งส่วนหนึ่งที่เราทำก็คือเกษตรอินทรีย์” สุดากล่าวน้ำเสียงหนักแน่น




เดิมชาวบ้านในพื้นที่ทำการเกษตรในรูปแบบไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง จนเมื่อมีองค์การพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ความรู้และสนับสนุนเมื่อสิบกว่าปีก่อน จึงมีการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เกิดเป็นกลุ่มผักประสานใจที่เริ่มปลูกผักประเภทผักใบ เช่น กวางตุ้ง ผักกาด ฯลฯ ทางกลุ่มจะนำผลผลิตตามฤดูกาลส่งให้ลูกค้าในกรุงเทพฯ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านห้วยหินดำที่ปลูกผักประเภทผักผล เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ ฯลฯ ส่งผลผลิตให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งตามโควตา
เมื่อ แนท–เพชรรัตน์ อนุสรณ์ประชา ที่เกิดและเติบโตในหมู่บ้านห้วยหินดำ เรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เธอเลือกกลับบ้านเกิดมาช่วยพัฒนากลุ่มผักประสานใจและกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านห้วยหินดำ เพราะมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงทางชุมชนยังมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ เช่นทอผ้า ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพที่เข้มแข็งของคนในชุมชน
“เรามีกิจกรรมในชุมชน เผยแพร่ให้คนอื่นมาเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาแล้ว ยังทำให้คนอื่นรู้ว่าฉันมีวัฒนธรรมนะ ฉันมีภูมิปัญญา”
เพชรรัตน์กล่าวถึงชุมชนของเธอด้วยความภูมิใจ



นกเอี้ยง–จารุวรรณ เมืองแก่น เป็นเยาวชนอีกคนที่ตัดสินใจกลับคืนสู่บ้านเกิดหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่เธอเริ่มต้นคือผลิตกาแฟสด “มาอยู่ดอย”
จารุวรรณนิยาม “มาอยู่ดอย” ว่าหมายถึงการกลับมาบ้าน กลับมารู้จักต้นกาแฟ
กาแฟที่ไร่ของเธอปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี และจะคัดเมล็ดอย่างละเอียด โดยเริ่มจากเก็บเมล็ดกาแฟสุกสีแดงสีแดงที่สุกนำมาลอยน้ำ เพื่อคัดเก็บเฉพาะเมล็ดที่จม และทิ้งเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งลอยน้ำ
“กาแฟของเราไม่เหมือนกาแฟทั่วไปที่ผสมเสร็จแล้ว เราเป็นกาแฟของพี่น้องโผล่ว”
เมล็ดกาแฟสมบูรณ์ที่ผ่านการคัดเลือกจะนำมาผ่านกรรมวิธี “dry process” คือตากทั้งเมล็ด กะเทาะเปลือก แล้วนำมาคั่ว
กลิ่นกาแฟที่เพิ่งคั่วเสร็จใหม่ๆ ลอยมา ขณะที่จารุวรรณกำลังฝัดเมล็ดกาแฟให้เศษผงส่วนเกินปลิวออกจากกระจาด ก่อนจะนำเมล็ดไปบด เพื่อดริปต่อไป
การมีอยู่ของไร่กาแฟ “มาอยู่ดอย” นอกจากจะเป็นรายได้เสริมของจารุวรรณแล้ว การดริปกาแฟที่แสนเรียบง่ายยังเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คน เมื่อคนในชุมชนเริ่มนำเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วมาบด ดริป และดื่มด้วยกัน เกิดเป็นวงสนทนาที่เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยกันมากขึ้น



เมื่อให้มองภาพอนาคตของเธอและกาแฟมาอยู่ดอยเป็นอย่างไร จารุวรรณตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและแววตาจริงจังว่า เธอไม่ได้คาดหวังว่ากาแฟจะให้เงินมากเท่าไหร่
“ทุกครั้งที่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับกาแฟเราไม่เคยเบื่อเลย อยู่กับมันได้ทั้งวัน มันคือความสุขหลักของเรา”
สิ่งที่จารุวรรณอยากจะสื่อสาร คือเธอต้องการให้ “มาอยู่ดอย” เป็นแบรนด์กาแฟของคนกะเหรี่ยง
“ถ้ากาแฟอยู่ที่ไหน ก็จะเป็นคนที่นั่น กาแฟปลูกที่นี่ ก็เป็นคนกะเหรี่ยงแบบคนที่นี่”
ทั้งเพชรรัตน์และจารุวรรณต่างเป็นปัญญาชนคนรุ่นใหม่ของชุมชนห้วยหินดำที่เลือกเส้นทางใช้ชีวิตได้หลากหลาย แต่พวกเธอเลือกหวนคืนถิ่นมาพัฒนาบ้านเกิด หยิบสิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างการทำการเกษตรปลอดสารและการใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่า โดยนำประสบการณ์และความรู้จากโลกภายนอกมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของชุมชนและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ดัง “ธา” (ภาษิต) ของชาวโผล่วกล่าวไว้ว่า
“ความทันสมัย ตามให้ทัน แต่อย่าลืมข้างหลังที่เรามี”