ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง คดี “เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง” ฟ้องหน่วยงานรัฐ กรณีทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุุรี หลังยื่นฟ้องมาตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ หรือผ่านมากว่าสิบปีแล้ว

ฝ่ายโจทย์มี นิวัฒน์ ร้อยแก้ว, อ้อมบุญ ทิพย์สุนา, นิชล ผลจันทร์, อํานาจ ไตรจักร์, สมพงษ์ ดาวเรืองรัมย์, สอน จําปาดอก ในฐานะผู้ฟ้องคดี รวมด้วยตัวแทนชาวบ้าน ๘ จังหวัดริมแม่น้ำโขง ตลอดจนเครือข่ายคนทำงานปกป้องแม่น้ำโขง เดินทางมาศาลปกครองเพื่อฟังคำพิพากษา

ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี มีตัวแทนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ส่งตัวแทนมาฟัง

คดีไซยะบุรีเป็นคดีประวัติศาสตร์ เป็น “คดีข้ามพรมแดน” คดีแรกที่มีการฟ้องศาลปกครอง ด้วยเจตนารมณ์ของผู้ฟ้องว่าจะทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิประชาชนไทยจากการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศลาว

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่ถูกสร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ยังมีโครงการเขื่อนอีกหลายแห่ง เช่น เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนบ้านกุ่ม ฯลฯ ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจหวนกลับ

หลายปีที่ผ่านมา แม้ประเด็น “ความรับผิดชอบข้ามพรมแดน” จะถูกพูดถึง มีข้อเรียกร้องให้นักลงทุนรวมถึงภาครัฐตระหนักถึงปัญหา แต่ก็ยังไม่มีมาตรการรูปธรรมพอเป็นความหวังว่า จะเกิดการคุ้มครองสิทธิคนและผืนน้ำโขง

ยกฟ้องคดี เขื่อนไซยะบุรี ซื้อขายไฟฟ้า

อยากให้ศาลมองเห็นความสำคัญของประชาชนคนหนึ่งที่หาปลาริมแม่น้ำโขงและเกษตรริมโขง”

สอน จําปาดอก
เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง, อุบลราชธานี
ผู้ฟ้องคดีที่ ๓๗

“แม่สอนอยู่ที่อุบล รับผลกระทบเรื่องแม่น้ำโขงหลายอย่าง หนึ่งคือแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ เวลาน้ำขึ้น จะขึ้นหน้าแล้ง แล้วน้ำแห้งหน้าฝน คนหาปลาอย่างแม่สอน อยู่ตั้งแต่พ่อแต่แม่มา ก็มีปลาตามฤดูกาล มันก็ไม่มี มันก็หายไป จากที่สังเกตมา เราทำเกษตรริมโขง มันก็มาท่วม มันมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนตัวน้อยๆ ที่หากินตามริมโขง หาปลาและปลูกผักริมตลิ่ง ปลูกมันแกว ปลูกถั่วลิสง ปลูกถั่วฟักยาว เวลาเก็บเกี่ยวปีนี้ไม่ได้เมล็ดพันธุ์เลยเพราะว่าน้ำท่วม จะเก็บเกี่ยวทีไรน้ำท่วมยามนั้น สองสามปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดค่ะส่วนนี้

“มาฟังคำตัดสินของศาลแล้ว ยอมรับว่า…ไม่รู้ว่าจะพูดยังไง ก็น้อมรับไปตามที่ศาลท่านว่า

“ท้อ แต่ไม่ถอย จะพยายามศึกษาไปเรื่อยๆ ถามว่าเหนื่อยมั๊ย ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อยากให้ได้ยินว่ามีคนที่ได้รับผลกระทบเยอะอยู่ เรื่องผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลง หาปลาไม่ได้ก็ส่วนหนึ่ง อยากให้ช่วยเหลืออย่างอื่น อยากให้ศาลมองเห็นความสำคัญของประชาชนคนหนึ่งที่หาปลาริมแม่น้ำโขงและเกษตรริมโขง”

kadeesaiya02

พวกเราพยายามทำหน้าที่ของพวกเราแล้ว”

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา
เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง, หนองคาย
ผู้ฟ้องคดีที่ ๔

“ได้มุมมองในการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงเพิ่มเติม อย่างน้อยดีใจกว่าครั้งที่แล้วที่ตุลาการผู้แถลงคดีบอกว่า ตามข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้อง โครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐ และอยู่นอกเขตอธิปไตย พวกเรากังวลว่าขอบเขตอำนาจของศาลไปไม่ถึง เราลุ้นกันอยู่ และรู้อยู่แก่ใจว่า ๐.๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เราจะชนะคดี แต่วันนี้ มุมที่หนึ่ง เราเห็นข้อสำคัญว่าโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐ สอง เรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน มันเกิดขึ้นแล้ว แล้วหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่าในฐานะประชาชนลุ่มน้ำโขง เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ยังมีประเด็น ข้อมูลข่าวสารที่จะต้องเก็บรวบรวม เก็บหลักฐานข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นแล้วทั้งหมด เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

“พูดง่ายๆ สรุปง่ายๆ ตามความเข้าใจที่เราพอจะมีความรู้ วันนี้หนึ่ง ชัดเจนว่านี่เป็นโครงการของรัฐ และส่งผลกระทบกับพวกเรา แต่ประเด็นที่เราฟ้องเมื่อสิบปีที่แล้วอาจจะยังไม่ชัดเจน ขณะที่ปัจจุบันผลกระทบเกิดชัดเจนแล้ว

“เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ศาลปกครองสูงสุดชี้เป็นประโยชน์กับพวกเราด้วยในแง่ของกระบวนการ เรายอมรับผลตัดสินของศาล ท้ายที่สุดก็ขอฝากสาธารณะฝากสื่อมวลชนว่า พวกเราพยายามทำหน้าที่ของพวกเราแล้ว ขอบคุณที่ให้กำลังใจกันและกัน”

kadeesaiya03

จะพยายามเก็บกำข้อมูลเพื่อหาทางปกป้องแม่น้ำโขงต่อไป”

อํานาจ ไตรจักร์
เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง, นครพนม
ผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑

เราทำใจมาแต่บ้านแล้ว มันก็ยังดีกว่าครั้งก่อน อย่างน้อยๆ ศาลก็ยังได้ชี้แจงให้เราเห็นความชัดเจนในการฟ้อง ถึงแม้ว่ามันไม่ตรงตามที่เราคิด

“สิบกว่าปีที่เราได้ต่อสู้มา พยายามเก็บกำข้อมูล ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน ตั้งแต่เขื่อนจีนเมื่อก่อนเราเห็นความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงไม่เท่าไหร่ แต่หลังจากปี ๒๕๖๒ ที่เปิดเขื่อนไซยะบุรีเป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เห็นได้ชัดเจน เราพยายามเก็บกำข้อมูลตรงนี้ เมื่อก่อนเขาอาจจะว่าเราเป็นพวกที่ก้าวร้าว เป็นพวกเอ็นจีโอไปประท้วงโน่นประท้วงนี่ เราก็เปลี่ยนแปลงบทบาทมาเก็บกำข้อมูลผลกระทบที่เกิดกับแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นขนมธรรมเนียมประเพณี เรื่องการเกษตร เรื่องการประมง

“ศาลชั้นต้นท่านยกฟ้อง อุทธรณ์ยกฟ้อง เราก็ยังหวังลึกๆ เมื่อเช้าเรามา เรามีความหวังว่า ๐.๑ เปอร์เซ็นต์ เราจะมีโอกาสได้เห็นความยุติธรรม แต่เราก็ยอมรับ

“พี่น้องประชาชนริมโขง ๘ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากหน่วยงานราชการ การที่เขาได้ชี้แจงให้เราฟัง ศาลท่านได้อ่านคำพิพากษา เรายอมรับ เรารู้ว่าทิศทางแนวทางที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้เราจะทำยังไง

“เราหนีไม่ได้อยู่แล้ว ยังไงเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ในเมื่อผลกระทบแม่น้ำโขงที่มันเกิดขึ้น ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน เหมือนที่พี่น้องหลายคนพูดไป พยายามว่าทำยังไงเราถึงจะฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขงของเรา ที่เราเติบโตมากับมัน เราคิดว่าความยุติธรรมจะช่วยเรา แต่ในเมื่อท่านยังมองต่างมุม เราก็ทำใจมาตั้งแต่บ้าน ตั้งแต่แรกแล้ว แต่ถึงยังไงเราก็ต้องอยู่กับมัน แล้วเราก็จะพยายามเก็บกำข้อมูลเพื่อหาทางปกป้องแม่น้ำโขงต่อไป”

kadeesaiya04

ต้องมีการศึกษาเรื่องคำตัดสินของศาลว่ามันเป็นอย่างไร”

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว
เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง, เชียงราย
ผู้ฟ้องคดีที่ ๑

“มันมีเงื่อนหลายๆ อย่างอยู่เกี่ยวกับเรื่องเขื่อน และเป็นการมองต่างมุม เช่นเรื่องสัญญาที่บอกว่าไม่มีผลกระทบ แต่ว่าในมิติหนึ่ง มันเป็นอย่างไร สิ่งนี้เราก็ต้องศึกษากัน

“เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่ถูกฟ้องโดยพี่น้องในลุ่มน้ำโขง การฟ้องประเด็นต่างๆ มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่างตั้งแต่ในอดีต ซึ่งปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าเป็นการมองต่างมุม ต่างคนต่างมีเหตุผล ศาลก็มีเหตุผลของศาล เรายอมรับคำตัดสินของศาล แต่ลึกๆ เรามองอีกมุมหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้มันต้องมีการศึกษาคำตัดสินของศาลว่ามันเป็นอย่างไร เราจะทำอย่างไรในกรณีของเขื่อนอื่นๆ อีกหลายเขื่อนที่จะตามมา นี่คือสิ่งที่เราต้องศึกษากัน”