เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

คนที่เคยผ่านชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย น่าจะจำได้ไม่มากก็น้อยว่าหนึ่งในกิจกรรมนอกเวลาเรียนจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ชุมนุม/ชมรม ซึ่งในมหาวิทยาลัยนั้นมีให้เลือกนับสิบแบบ กิจกรรมที่คนส่วนมากจำได้ดีอาจเป็น “ค่ายอาสาพัฒนาชนบท” ไปจนถึง “ชุมนุมเชียร์”

กล่าวอย่างย่นย่อรวบรัด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราอาจจะใช้สองกิจกรรมนี้เป็นดัชนีชี้วัดบรรยากาศสังคมไทยในยุคนั้นว่ามีดีกรี “สายลมแสงแดด” หรือ “สนใจการเมือง” แค่ไหน

อีกกิจกรรมที่อยู่คู่กับนักศึกษามานานคือการขีดเขียน เกือบทุกที่มักมี “ชมรม/ชุมนุมวรรณศิลป์” (PEN Club) อยู่ด้วย ชุมนุมชื่ออ่านยาก (ในภาษาไทย) นี้ทำหน้าที่คล้าย “สาราณียกร/คนทำสื่อ” ให้กับขบวนการนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัย

มธ. ก็ไม่ต่างจากที่อื่น ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2502 ตลอดทศวรรษ ชุมนุมวรรณศิลป์ทำหน้าที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ให้กับการเคลื่อนไหว งานของพวกเขาสร้างแรงสั่นสะเทือนหลายครั้ง อาทิ ตั้งคำถามถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยที่อาจ “ได้กระดาษไปแผ่นเดียว” (บทกลอน “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของวิทยากร เชียงกูล) ในช่วงทศวรรษที่ 2510 (ไม่นับว่าในรุ่นก่อตั้งชุมนุม ผลิตนักเขียนและกวีที่มีชื่อเสียงออกมาจำนวนมาก)

ในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองหลายครั้ง “ลำตัดวรรณศิลป์” ยังขึ้นเวทีประท้วงในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลายครั้ง หลังการล้อมปราบ กิจกรรมของชุมนุม/ชมรม ในทุกมหาวิทยาลัยถูกแช่แข็งไปสองปี ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับมาอีกในปี 2522 แต่ก็ค่อนข้างเงียบตามกระแสสังคมที่เป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

จากตอนนั้นจนทศวรรษที่ 2560 กิจกรรมของชุมนุมวรรณศิลป์ส่วนมากเน้นตอบสนองความต้องการของนักศึกษา ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนบ่มเพาะการเขียนมากกว่าที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรั้วมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามในบางระยะ ก็ปรากฏความร่วมมือระหว่างชุมนุมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยต่างๆ ในรูปแบบของการจัดงานประกวดเกี่ยวกับการเขียนอยู่เป็นระยะ
ในยุคโรคระบาด (ตั้งแต่ปี 2562) เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ที่ มธ. คือ ชุมนุมวรรณศิลป์ถูกยุบโดยกระบวนการของมหาวิทยาลัย ปิดฉากกิจกรรมนักศึกษาที่มีอายุเกือบ 6 ทศวรรษ (ในแง่ของทางการ) ไปโดยปริยาย

สารคดี พบว่า วรรณศิลป์ มธ. ยังมีสมาชิกเหลืออยู่ เราได้ลองสนทนากับพวกเขาว่า ณ วันนี้ กิจกรรมชุมนุมด้านการขีดเขียนในรั้วมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่า “มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” อยู่ในสถานการณ์เช่นไร

อวสาน “วรรณศิลป์ มธ.” ?

กองหนังสือของอดีตชุมนุมวรรณศิลป์ ส่วนมากเป็นหนังสือหายาก บางส่วนเป็นเอกสารสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพราะเกี่ยวเนื่องกับขบวนการนักศึกษายุค 14 ตุลา 16 ปัจจุบันถูกเก็บไว้ในอาคารแห่งหนึ่งหลังตึกกิจกรรมนักศึกษา มธ. รังสิต

wannasin tu02

พัทธดนย์ เทวานฤมิตร (บุ๋น) นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ปีที่ 3 (ทำหน้าที่ประธานชุมนุมในปัจจุบัน) เล่าเหตุการณ์ที่ชุมนุมถูกยุบว่า “ในปี 2563 รุ่นพี่ปี 4 ที่บริหารชุมนุมเรียนจบพร้อมกันทั้งหมด ช่วงนั้นการเรียนส่วนมากเป็นออนไลน์ทั้งหมดเพราะโรคระบาด ผมได้รับโทรศัพท์ตอน 1.00 น. (ตีหนึ่ง) ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ถ้าเราไม่รับชุมนุมก็จะโดนยุบ ผมก็ต้องมารับหน้าที่ จากนั้นก็ค้นหาสมาชิก ทำทุกอย่างจากศูนย์

“เราเคยมีห้องที่ชั้น 4 ตึกกิจกรรม (มธ. รังสิต) แต่ รปภ. อาคารบอกผมว่าชุมนุมโดนยุบแล้ว ไม่มีห้อง เรื่องของเรื่องคือ มีนโยบายในปี 63 ว่า ทุกกิจกรรม ‘ชุมนุม’ ต้องมีสมาชิก 50 คนขึ้นไป ต้องส่งชื่อ ทำขั้นตอนมากมาย เราทำกระบวนการไม่ทัน ก็จบไปง่ายๆ แบบนั้นในแง่ของสถานะที่มหาวิทยาลัยยอมรับว่าเป็นกลุ่มกิจกรรม

wannasin tu03

พัทธดนย์ อธิบายว่าวรรณศิลป์ มธ. ยังคงมีอยู่ในทางพฤตินัย “แม้จะใจหาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เหนือความคาดหมาย สำหรับคนรุ่นผม การอ่านหนังสือจะทำเพื่อไปสอบเท่านั้น การอ่านเพื่อสุนทรียะลดลง”

เขาเล่าว่าปัจจุบัน ที่ทำการชุมนุมแบบไม่เป็นทางการคือ “คุ้มเศรษฐี” ร้านกาแฟที่รุ่นพี่ของชุมนุมบางส่วนมีหุ้น พวกเขาอาศัยร้านนี้เป็นที่พบปะพูดคุยกัน ส่วนทรัพย์สินของชุมนุมคือหนังสือจำนวนมากถูกนำไปเก็บไว้ในอาคารแห่งหนึ่งในฐานะพัสดุที่ไม่ได้ใช้งาน โดยมีหนังสือส่วนหนึ่งถูกนำมาวางไว้ที่คุ้มเศรษฐี (สังเกตจะเห็นตราปั๊มรูปนกพิราบของชุมนุมวรรณศิลป์)

“ในปีการศึกษา 2565 เรายังคงพยายามทำกิจกรรม เช่น จุลสาร ‘กระดานดำ’ เผยแพร่ออนไลน์ ทำเรื่อง Prompt Writing เขียนงานแล้วมาวิจารณ์กันเอง วาดภาพจากบทกวี เอาหนังสือมาอ่านแล้วตั้งวงคุยกัน พยายามจัดวงเสวนาสาธารณะให้ได้อย่างน้อยปีละครั้ง ในฐานะกลุ่มอิสระเรายังของบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยได้ปีละประมาณ 2 หมื่นบาท”

แต่ปัญหาเรื่องการไม่มีสถานที่อ่านหนังสือ สถานที่พบปะทำกิจกรรม ยังคงเป็นปัญหาหลัก หนังสือมีค่านับพันเล่มยังคงถูกเก็บไว้อาคารที่ใช้เป็นสถานที่เก็บของ เอกสารเก่าแก่จำนวนมากกำลังเสื่อมสภาพลง

ภาพ :​ (จากซ้าย) ธงชัย อัชฌายกชาติ (เดี่ยว), พัทธดนย์ เทวานฤมิตร (บุ๋น), ราชภัฏ เฟื่องฟู (แหลม) สมาชิก “กลุ่มอิสระวรรณศิลป์” ที่ยังคงพยายามทำให้วรรณศิลป์กลับมามีสถานะได้รับการยอมรับจากทางมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

wannasin tu04
ภาพ : ร้านกาแฟ “คุ้มเศรษฐี” ใน มธ. รังสิต

พัทธนดนย์ ระบุว่า “เราพอเห็นอยู่ว่าจะไปต่ออย่างไร…อยากบอกรุ่นที่จบไปแล้วว่าไม่ต้องห่วง คนรุ่นผมเป็น lost generation สถานการณ์ต่างๆ แย่ บางทีก็ท้อ แต่ก็จะทำอย่างเต็มที่เพื่อสมาชิกในตอนนี้ เพราะตระหนักถึงคนที่เคยผ่านเข้ามาที่นี่และมรดกบางอย่างที่เราพยายามจะรักษาไว้

“ถ้าดูงานเขียนที่ส่งมาร่วมกิจกรรมตอนนี้ มีพูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองในงานเยอะมาก บางคนก็ระบายเรื่องบางอย่างออกมา เราตั้งใจให้ชุมนุมเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพ ให้พื้นที่กับงานพวกนี้ เราพยายามทำให้มันกลับไปมีสถานะชุมนุมอีกครั้ง รุ่นพี่ก็บอกว่ามันมีหลายอย่างเกินอำนาจของเรา การทำให้สมาชิกใหม่ที่เข้ามาเข้าใจสถานการณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราหนักใจ แน่นอนว่าเรายังอยากจะมีสถานที่เป็นของเราจริงๆ”

ธงชัย อัชฌายกชาติ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกชุมนุมเล่าว่า “ตอนนี้มีแค่เจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษาบางคนเท่านั้นที่รู้ว่าวรรณศิลป์ทำอะไร ภาพที่ติดตาเขาคือภาพของกิจกรรมรุ่นพี่ในอดีตมากกว่า แต่ส่วนมากเขาไม่รู้ว่าเรามีอยู่ โดยทั่วไปการกลับไปมีสถานะเป็นชุมนุมต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 50 คน ตอนนี้เราหารายชื่อมาได้ครบแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนเอกสาร กองกิจการนักศึกษาค่อนข้างหวงห้องที่ใช้สำหรับทำเป็นชุมนุม แต่ผมมองว่ายังมีห้องเหลืออยู่บนตึกกิจกรรม เราจะพยายามเต็มที่ โดยทั่วไปอาจใช้เวลาเป็นปี แต่เราจะทำกิจกรรมของเราต่อไป”

wannasin tu05
จุลสาร “กระดานดำ” ที่คาดว่าจะเป็นเล่มสุดท้ายที่มีการเผยแพร่แบบออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้