เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์
จากต้นมิถุนายน ถึงกลางตุลาคม สิ้นสุดการเดินทางของค่ายสารคดี 17 อย่างเป็นทางการเเล้ว
เเม้ต้องลากันในฐานะเด็กค่ายสารคดี 17 เเยกย้ายกันไปเติบโต
ทว่าจากนี้ทุกคนต่างมีสถานะเป็นนักเขียน ช่างภาพ เเละนักสร้างสรรค์วิดีโออย่างเต็มตัว พร้อมด้วยวิชาทำงานสารคดีที่ได้เรียนรู้ตลอดเวลา 5 เดือน
ช่วงวิชาสุดท้ายที่ค่ายไม่ได้สอน
“เราเรียนกระบวนการทำสารคดีกันมาหมดเเล้ว แต่สิ่งที่อาจไม่ได้สอนคือให้เราออกไปหาแผ่นดินไหวในหัวใจเราให้เจอ อะไรที่เราอยากจะเล่า อยากจะพูดอะไรที่ติดค้างในใจ เหล่านี้ไม่มีผิด ไม่มีถูก เราต้องออกไปค้นหาด้วยตัวเองไปอ่านหนังสือ ออกไปเดินทาง แม้ต้องไปคนเดียวก็ต้องไป เเล้วสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในค่ายมันจะกลับมาโอบอุ้มเรื่องเล่าของเราให้ตลอดรอดฝั่ง”
‘ครูน้อย’ ศุภชัย ทองศักดิ์ ครูวิดีโอค่ายฝากบทเรียนแก่ศิษย์ค่าย เช่นเดียวกับครูภาพเเละครูเขียนที่ย้ำสิ่งสำคัญจำเป็นในชั่วโมงเรียนสุดท้ายนี้
“ความรู้ ประสบการณ์ มิตรภาพ”
ขมวดสามคำจากศิษย์ค่ายในชั่วโมงสะท้อนสิ่งที่ได้ตลอดระยะเวลา 5 เดือนซึ่งในช่วงนี้ เป็นช่วงตัวเเทนจากนักเรียนเเต่ละประเภท โดยกลุ่มกลับบ้านส่งตัวเเทนนักเขียน กลุ่มกุ๊กกุ๊กส่งตัวเเทนช่างภาพ เเละกลุ่มอย่าฝืนส่งตัวเเทนวิดีโอ
“เปรียบค่ายนี้คือเเว่นตา เป็นเลนส์ที่ทำให้เรามองสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย เเละลึกขึ้น อย่าเชื่อเพียงสิ่งที่ตามองเห็น ให้ไปหาข้อมูลก่อน”
ซาฟีร่า เหล็มปาน – นักเขียน
“ผมรู้สึกที่นี่เหมือนโรงเรียนเวทมนต์ วันเเรกพวกเรามาพร้อมไม้กายสิทธิ์บางคนอาจยังไม่รู้วิธีใช้ เเต่เชื่อว่าจากนี้เราจะใช้เวทมนต์ที่มีอย่างหนักแน่นเเละเเน่วเเน่ขึ้น เเละเชื่อว่าสักวันเส้นทางเราจะบรรจบเข้าหากัน เพราะเราเป็นนักบันทึกสังคมเหมือนกัน”
ธัชธรรม โตสกุล – ช่างภาพ
“สิ่งสำคัญมากของค่ายนี้คือการวิจารณ์ ถึงจะทำให้เราเศร้าบ้าง เเต่ช่วยให้งานเราพัฒนา ขอบคุณค่ายสารคดีที่ให้โอกาสพวกเราได้ลงมือทำงานอย่างจริงจัง สุดท้ายเเม้ผมจะตอบไม่ได้ว่าสารคดีคืออะไร เเต่ผมรู้เเน่นอนว่าความจริงคืออะไรเเละความจริงของเราทุกคนต่างแตกต่างกัน”
โมกข์ เชื้อภักดี – นักวิดีโอครีเอเตอร์
เมื่อชั่วโมงฝากบทเรียนสุดท้ายเเละเวทีสะท้อนความรู้สึกในค่ายจบลง
จึงถึงเวลาของการมอบประกาศนียบัตรเเก่นักเขียน ช่างภาพ เเละนักวิดีโอครีเอเตอร์ทุกคนที่พากเพียรจนผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์
ตบท้ายด้วยการมอบรางวัลเเห่งความตั้งใจเเด่ชิ้นงานสุดท้ายเเก่นักเขียน ช่างภาพ นักวิดีโอครีเตอร์ ผู้ผลิตผลงานได้โดดเด่น เเละสื่อสารประเด็น “คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด” ได้อย่างงดงามครบถ้วน
โดยผลงานทั้งสามประเภทจะเผยแพร่สู่สาธารณะให้ได้ติดตามกันในเร็ว ๆ นี้
ที่สำคัญค่ายสารคดีจะจัดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดผู้สนับสนุนใจดี
ขอขอบคุณ วิริยะประกันภัย, นิตยสารสารคดี, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, Nikon เเละสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เห็นความสำคัญของการผลิตนักสื่อสาร หรือ “นักบันทึกสังคม” เพื่อจะยังประโยชน์เเก่สังคมเราต่อไป
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนโชคดี เเละเมื่อคิดถึงกัน
ขอให้ตั้งใจลงมือสร้างสรรค์งานบันทึกสังคมต่อไป
เเล้วพบกันใหม่