ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

สะพานเกียกกายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เดินหน้าหรือยุติ ?
kiakkuy02
ภาพจำลองสะพานเกียกกายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทางขึ้น-ลงสะพานฝั่งพระนครอยู่ติดกับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่หรือหรือสัปปายะสภาสถาน

ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยารวมกันทั้งสิ้นประมาณ ๒๐ แห่ง อาทิ สะพานพระราม ๖, สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า, สะพานกรุงธนบุรี, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานนนทบุรี, สะพานปทุมธานี, สะพานพระนั่งเกล้า, สะพานพระราม ๘, สะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒, สะพานกาญจนาภิเษก, สะพานคู่ขนานพระนั่งเกล้า เป็นต้น สะพานแต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างรวมถึงลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง

สะพานพระราม ๖ เริ่มก่อสร้างปลายปี ๒๕๖๕ เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อมีการสร้างสะพานพระราม ๗ ขึ้นมาเป็นสะพานคู่ขนาน จึงนำส่วนที่เคยเป็นถนนบนสะพานพระราม ๖ มาแปรสภาพเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางบางซื่อ-นครปฐม แต่เวลาใช้งานจริงยังคงต้องให้รถไฟแล่นผ่านทีละขบวน เพื่อป้องกันไม่ให้สะพานทะลายลงมาเพราะรับน้ำหนักเกินพิกัด

สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า หรือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เป็นสะพานเหล็ก สามารถยกท้องสะพานช่วงกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เพื่อให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านได้สะดวก

สะพานกรุงธนบุรี หรือสะพานซังฮี้ มีทางเท้าขนาบทั้งสองข้าง

สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสะพานสาทร มีลักษณะเป็น “สะพานคู่” แยกเส้นทางขาเข้ากับขาออก เนื้อที่ว่างระหว่างสะพานเว้นไว้เผื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนอื่น ในเวลาต่อมาจึงถูกสร้างเป็นรางรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม ทุกวันนี้ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนบนสะพานฝั่งขาเข้าพระนครมักเผชิญปัญหารถติด เนื่องจากเชิงสะพานฝั่งนี้มีสัญญาณจราจร ซึ่งบางครั้งปิดกั้นกระแสรถจากฝั่งธนบุรีให้ไหลไปได้ช้า

สะพานพระราม ๓ เรียกกันติดปากว่าสะพานกรุงเทพ ๒ สร้างขนานกับ สะพานกรุงเทพเพื่อบรรเทาการจราจรติดขัด เมื่อครั้งสะพานกรุงเทพยังต้องเปิด-ปิดตัวสะพานเพื่อให้เรือรบแล่นผ่าน สะพานพระราม ๓ จึงถูกสร้างให้สูงเพื่อให้เรือต่างๆ แล่นผ่านได้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นสะพานที่มีความสูงเป็นอันดับ ๕ ของโลก

สะพานพระราม ๘ สร้างเพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานพระปิ่นเกล้า ก่อสร้างโดยไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ และบรรเทาผลกระทบ ต่อระบบนิเวศ

สะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒ เป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ทำให้โครงข่ายถนนวงแหวนอุตสาหกรรมต่อเนื่องถึงกัน ช่วยเชื่อมโยงพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมกับท่าเรือคลองเตย

kiakkuy03
แนวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและส่วนต่อเนื่อง ภาพจากเอกสารประกอบการประชุมสัมมนาครั้งที่ ๒ (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) การศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ โรงแรมริยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ในเฟสบุ๊ก การศึกษา EIA โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ขณะมีการศึกษาแผนแม่บทนั้น ยังไม่มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ “สัปปายะสภาสถาน” ณ บริเวณแยกเกียกกาย

หลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ใกล้กับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่หรือสัปปายะสภาสถาน ในชื่อโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย หรือโครงการสะพานเกียกกาย

หน่วยงานของรัฐผู้ผลักดันโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งล่าสุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เหตุผลว่าอัตราการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางของประชาชนมีมากขึ้นแต่ยังขาดโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะถนนในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทุกวันนี้มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เพียง ๑๙ แห่ง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ รัฐบาลไทยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (JICA : Japan International Cooperation Agency) ให้ดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร มีโครงการสะพานเกียกกายอยู่ในแผนดังกล่าวด้วย

ในปี ๒๕๕๖กระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนแม่บทการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและโครงข่ายถนนและระบบรางต่อคณะรัฐมนตรี ระบุให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย โดยกำหนดแผนดำเนินงานในระยะ ๑๐ ปีแรก ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖-๒๕๖๔ ซึ่งขณะที่มีการศึกษาแผนแม่บทนั้น ยังไม่มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ในปี ๒๕๕๗ ที่ประชุมคณะกรรมการการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) มีมติมอบหมายให้กรุงเทพมหานครสำรวจออกแบบและก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน ๔ แห่ง หนึ่งในนั้นคือสะพานเกียกกาย สำนักวิศวกรรมทาง สำนักการโยธา หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการศึกษา และออกแบบสะพานขนาด ๖ ช่องจราจร พร้อมโครงข่ายทางยกระดับขนาด ๔-๖ ช่องจราจร ระยะทางรวมกัน ๕.๙ กิโลเมตร มีทางขึ้นและลง ๙ แห่ง แบ่งการก่อสร้างออกเป็น ๕ ช่วงเพื่อเชื่อมต่อทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย

  • ช่วงที่ ๑ ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี
  • ช่วงที่ ๒ เป็นตัวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ช่วงที่ ๓ จากฝั่งพระนคร ริมน้ำเจ้าพระยา ถึงสะพานแดง
  • ช่วงที่ ๔ จากสะพานแดง ถึงถนนพระราม ๕
  • ช่วงที่ ๕ จากถนนพระราม ๕ ถึงถนนพหลโยธิน

ในปี ๒๕๕๘ มีความคืบหน้าเรื่องการเวรคืนที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘ อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน รวม ๕ เขต ประกอบด้วย

  • แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด
  • แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต
  • แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ
  • แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
  • แขวงจอมพล และแขวงจตุจักร เขตจตุจักร

ต่อมาในปี ๒๕๖๔ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ที่จะต้องเวรคืนให้ชัดเจน เบื้องต้นพบว่าพื้นที่ที่จะต้องเวรคืนมีส่วนแคบที่สุด ๕๐ เมตร ส่วนกว้างที่สุด ๑,๒๕๐ เมตร เฉพาะตัวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาว ๓๒๐ เมตร และมีการปรับรูปแบบสะพานใหม่ เพื่อไม่ให้สะพานอยู่ชิดกับอาคารรัฐสภา และลดระดับความสูงของสะพานไม่ให้บดบังทัศนียภาพ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้วรวม ๔ ครั้ง พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ในกรณีพื้นที่ต้ังอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในระยะทาง ๒ กิโลเมตร พร้อมทั้งชี้แจงว่าเมื่อสะพานเกียกกายและโครงข่ายถนน เชื่อมต่อสร้างเสร็จ จะสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นรอบรัฐสภาแห่งใหม่ได้ประมาณ ๑ แสนคันต่อวัน

kiakkuy04
นอกจากตัวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วโครงการยังประกอบด้วยโครงข่ายถนน และช่องทางขึ้น-ลงทางยกระดับ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของบ้านเมืองมักต้องแลกมาด้วยการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนจำนวนหนึ่งภายใต้คำว่า “เสียสละ” ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัย อาคารสาธารณะ เส้นทางคมนาคม หลายโครงการจะต้องมีการเวรคืนที่ดิน เช่นเดียวกับโครงการสะพานเกียกกายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งโครงการถูกกำหนดให้ต้องย้ายที่อยู่ เป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่คนท้องถิ่นจะไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในสถานที่เดิมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่เติบโตขึ้น

วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ ฐานเศรษฐกิจ เว็บไซด์ thansettakij.com รายงานว่า จะมีสิ่งปลูกสร้างของเอกชนถูกเวรคืน ๒๘๔ หลัง ที่ดินจำนวน ๔๐๕ แปลง พื้นที่ฝั่งธนบุุรีหรือถนนจรัญสนิทวงศ์ได้รับผลกระทบมากที่สุด  ส่วนฝั่งพระนครคือเขตดุสิตส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของหน่วยงานราชการ ที่ดินราชพัสดุที่ทหารใช้ประโยชน์ หลังจากเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ๔ ครั้ง ส่วนใหญ่ไม่คัดค้าน อาจเป็นเพราะราคาที่ดินสูงขึ้นจากการมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินพาดผ่าน

นอกเหนือจากเรื่องเวรคืนที่ดินที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการสะพานเกียกกาย อาทิ

ด้านคมนาคมขนส่ง

ปัจจุบันบริเวณโดยรอบมีรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบนดิน และยังจะมีโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง จะมีสถานีผ่านมาทางแยกเกียกกายบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา รถไฟฟ้าทั้งสามสายดังกล่าวจะรองรับผู้คนที่เดินทางมายังรัฐสภาได้มากกว่า ๕๐,๐๐๐ คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีทางด่วนพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอก ซึ่งได้เปิดใช้บริการมาแล้วหลายปี อีกทั้งยังมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ได้แก่ สะพานพระราม ๗ และ สะพานธนบุรี

การก่อสร้างสะพานเกียกกายอาจไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายถนนที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนตามแผนการขยายระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในอนาคต ไม่สอดคล้องกับหลักการทางด้านผังเมืองและวิศวกรรม ตามหลักการของถนนวงแหวนควรจะกระจายตัวในระยะทางเท่าๆ กันในลักษณะวงกลม

ด้านความปลอดภัย

อาคารรัฐสภาเป็นอาคารที่เป็นศูนย์กลางการบริหารงานราชการแผ่นดิน และสัญลักษณ์ระดับประเทศ ซึ่งการรักษาความปลอดภัยไม่ควรมีสะพานพาดผ่าน และตามมาตรฐานความปลอดภัยของผังเมืองจะไม่อนุญาตให้มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่มีความสูงกว่าอาคารที่มีความสำคัญ

ด้านความสวยงาม

สะพานเกียกกายอาจทำลายความสง่างามของอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของประเทศที่มีขนาดใหญ่โต ความงดงามจะต้องมองจากคุ้มน้ำเจ้าพระยาโดยไม่ถูกบดบังจากสิ่งก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่

ด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

การก่อสร้างสะพานอาจไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงมากคือประมาณ ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท

อัชชพล ดุสิตนานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓ ให้รายละเอียดว่า ในช่วงที่ตนตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกฯ เคยทำหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่มีผลต่อทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อม และงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงโครงการสะพานเกียกกาย ขณะนั้นได้ให้ความเห็นว่า ไม่ควรก่อสร้างโครงการ หรือหากจะก่อสร้างก็ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการ เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบในหลายส่วน

ในปี ๒๕๕๘ เมื่อผู้ออกแบบสัปปายะสภาสถาน ทราบถึงโครงการก่อสร้างสะพานก็ได้มีการคัดค้าน โดยให้ความเห็นว่า จะกระทบภาพลักษณ์อย่างร้ายแรงต่ออาคารัฐสภาแห่งใหม่ ให้เหตุผลว่า

๑. บดบังความสง่างามของอาคารรัฐสภา บนทัศนียภาพที่งดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา

๒. ทางขึ้นสะพานคร่อมทางเข้าด้านหน้าของอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นทางเข้าหลักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีต่างๆ

๓. เสี่ยงอันตรายจากการก่อวินาศกรรม เช่น การยิงวัตถุระบิดจากสะพานที่มีความสูง

๔. ก่อให้เกิดปัญหาด้านจราจรแก่อาคารรัฐสภา โดยเพิ่มปริมาณรถยนต์เข้ามาบริเวณใกล้เคียงกับอาคารรัฐสภาโดยไม่จำเป็นมากขึ้น

๕. เกิดมลภาวะด้านเสียง ฝุ่นละออง ทัศนียภาพต่อผู้ใช้อาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นอาคารที่ต้องการประสิทธิภาพในการบริหารประเทศและความสง่างามในการแสดงอัตลักษณ์ต่อผู้มาเยือน

ในปีเดียวกัน สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยนายกสมาคมในขณะนั้น ได้มีหนังสือถึงประธานรัฐสภา แสดงความเห็นและความกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการ เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัย การบดบังความสง่างามของสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาติ

kiakkuy05
อัชชพล ดุสิตนานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓ เขียนข้อความแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการ และยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๖ หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง ล่าสุดศาลรับไว้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม

ในปี ๒๕๕๙ เมื่อ อัชชพล ดุสิตนานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ให้ความเห็นและจัดทำหุ่นจำลองเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย แต่โครงการก็ยังคงดำเนินต่อไป

หลังหมดวาระนายกสมาคมฯ อัชชพลยังคงติดตามโครงการเรื่อยมา ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้จะสร้างรัฐสภาแห่งใหม่แล้วก็ยังไม่มีการศึกษาข้อมูลใหม่ ไม่มีการทำรายงานอีไอเอ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะอย่างเหมาะสม เกรงว่าจะสูญเสียงบประมาณอันเป็นประโยชน์ ตลอดทั้งกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและโบราณสถาน อาทิ มัสยิดบางอ้อ และวัดแก้วฟ้าจุฬามณี จึงตัดสินใจยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๖ หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานแผนและนโยบายการขนส่งและจราจร, คณะกรรมการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย, คณะรัฐมนตรี และกรมเจ้าท่า ต่อศาลปกครองกลาง อาศัยสิทธิในฐานะประชาชนผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผู้เสียภาษี ขอศาลพิพากษาให้โครงการนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนโครงการ และขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว (ขอคุ้มครองชั่วคราว) ให้ชะลอการดำเนินโครงการไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ล่าสุด ศาลปกครองกลางได้รับคดีไว้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม หมายเลขดำที่ ส.๑๔/๒๕๖๕ โดยศาลจะตรวจสอบคำฟ้อง และคำร้อง แล้วจึงจะมีคำสั่งรับฟ้องและคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวในภายหลัง

อันเป็นสถานการณ์ล่าสุดของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งล่าสุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีมูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท…