เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เรามองโลกจากสายตาที่เห็น
อะไรที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจึงเข้าใจยาก และไม่รู้สึกว่ามีอยู่
ยกตัวอย่าง “รา” สิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วที่แทรกซึมอยู่ในแทบทุกอณูบนพื้นโลก มีวิวัฒนาการมาเป็นพันล้านปี แต่ไม่อยู่ในบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร จะยกเว้นก็เห็ดที่เพาะกิน (ซึ่งเป็นราพวกหนึ่ง) และคำอุทานด่าว่าราสีดำสีขาวที่ขึ้นอาหาร ผลไม้ หรือขนม ที่เผลอตั้งทิ้งไว้
แต่ในธรรมชาติ รามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบการหมุนเวียนแร่ธาตุอาหารของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต
เช่นเดียวกับหาดทรายชายทะเล
ทุกวันนี้ภาพที่เราเห็นถ้าไปอยู่ริมชายหาด คือบริเวณพื้นทรายว่างเปล่า เศษขยะ กับคลื่นทะเลซัดสาด ถัดขึ้นมาเป็นถนนเลียบหาดและสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ ถ้าแย่หน่อย บางแห่งยังแปลกปลอมและน่าเกลียดด้วยกำแพงหรือขั้นบันไดหินกันคลื่น ซึ่งเป็นตัวทำลายกระบวนการสะสมหาดทรายตามธรรมชาติ
แต่ถ้าหมุนเข็มนาฬิกาย้อนหลังไป ๒๐๐-๓๐๐ ปี หรือ ๑,๐๐๐ ปี ก่อนที่มนุษย์จะมาบุกรุกตั้งถิ่นฐาน
ตรงที่เรายืนข้ามกาลเวลามาจะกลายเป็นเนินทรายที่ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์สูงๆ ต่ำ ๆ เรียกกันว่าป่าชายหาด และเราอาจเหยียบย่ำพืชอะไรสักอย่างอยู่จนต้องรีบยกเท้าหนี
แต่วันนี้ถ้าไปถามนักท่องเที่ยวตามชายหาดว่า ป่าชายหาดคืออะไร นอกจากจะบอกว่าไม่รู้ อาจมีคนถามว่าคือป่าชายเลนไหมเพราะมีน้อยคนมากที่เคยเห็นป่าชายหาด ส่วนป่าชายเลนอาจเคยได้ยินบ้าง
ดังนั้นในความรับรู้ ป่าชายหาดจึงไม่เคยมีอย
ทั้งที่ป่าชายหาดมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลม พายุ หรือแม้แต่สึนามิ มันยังทำหน้าที่รักษาแผ่นดินที่งอกเงยจากการสะสมตะกอนให้ยื่นออกไปในทะเล ถ้าเพียงแต่มนุษย์จะแบ่งปันพื้นที่ดั้งเดิมให้มันดำรงอยู่
ราเชล คาร์สัน นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของโลก เคยกล่าวว่า “ในทุก ๆ โค้งหาด ในทุก ๆ เม็ดทราย โลกได้ซ่อนเรื่องราวเอาไว้”
เรื่องราวของราและทรายจึงมาบรรจบกันตรงนี้
คำถามคือบนเนินทรายที่มีแต่เม็ดทราย ซึ่งก็คือหินขนาดเล็กจิ๋ว ไม่มีดินเหมือนตามสวนเกษตร ทำไมพืชในป่าชายหาดจึงเจริญงอกงามขึ้นมาได้
จากการศึกษารากของพืชเหล่านี้ พบราสำคัญจำพวกหนึ่งที่เรียกว่าไมคอร์ไรซา ทำหน้าที่ดูดซึมแร่ธาตุและน้ำจากพื้นทรายมาหล่อเลี้ยงพืช โดยพืชตอบแทนเป็นน้ำตาลจากการสังเคราะห์แสง
เป็นวิวัฒนาการที่มีมาร่วมกันอย่างแนบแน่นยาวนานหลายร้อยล้านปีระหว่างรากของพืชกับราไมคอร์ไรซา ซึ่งความจริงไม่เฉพาะพืชในป่าชายหาด แต่พืชในแทบทุกแห่งต่างต้องพึ่งพาราไมคอร์ไรซา ตั้งแต่พืชอัลไพน์ในเขตเทือกเขาสูงหิมาลัย ถึงพืชป่า พืชตามที่ราบลุ่ม และพืชชายหาด
หากขาดราที่เรามองไม่เห็น พืชป่าชายหาดก็ไม่อาจเติบโตไม่อาจหยั่งรากยึดเนินทรายชายฝั่งให้คงสภาพ ลมและคลื่นทะเลจะทำลายเนินทราย พัดทรายกลับลงทะเล หรือปลิวหายกระจายไป
และที่สุด คือชายฝั่งไม่อาจก่อตัวรุกคืบแนวเขตทะเล จนกลายเป็นแผ่นดินให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐาน
สิ่งที่เรามองเห็น กำเนิดจากสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่อย่าลืมครับว่า ไม่ใช่ว่ามันไม่มีอยู่ หรือไม่เคยดำรงอยู่ และยังมีพัฒนาการของมันเองตลอดเวลา หากมนุษย์ไม่เข้ามาขัดขวาง
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
- จาก บทบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 452 พฤศจิกายน 2565
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine