เมื่อคนรู้จักปลูกข้าวดีๆ ไว้กิน แต่ไม่รู้ว่าเมล็ดข้าวดีๆ นั้นได้มาอย่างไร ?
คนโบราณจึงคิดคำอธิบายนานาตามประสบการณ์ผสมจินตนาการจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมและ
ถ่ายทอดปากต่อปาก ดังเรื่องแม่โพสพน้อยใจมนุษย์หนีไปอยู่ถ้ำบนภูเขาทำให้ชาวนาปลูกไร่นาไม่ได้ผล
มนุษย์อดข้าวจนจะตายกันทั้งเมืองจึงอัญเชิญแม่โพสพกลับ แม่โพสพนึกยินดีที่มนุษย์ระลึกรู้ถึงบุญคุณแล้ว แต่ยังไม่อยากกลับไปจึงมอบข้าววิเศษ ๗ เมล็ด ให้มนุษย์ไปปลูกต่อเพื่อทำพันธุ์ ถึงคราวที่ข้าวใกล้สุกก็ให้จัดทำพิธีเชิญขวัญ หาไม้ทำที่พักให้แม่โพสพ แล้วเมื่อนั้นนางจึงจะกลับไป แต่นั้นเมื่อมนุษย์ทำไร่นาก็จะมีการเรียกขวัญอัญเชิญแม่โพสพมาสถิตปกปักษ์รักษาผลผลิตเรื่อยมา…
ครั้นผ่านยุคสมัยหลายคำบอกเล่าเก่าแก่จึงดูเหมือนนิทานเหลวไหล ทว่าเปิดใจศึกษาวัฒนธรรมและพัฒนาการทางสังคมจึงได้เห็นความรู้ที่แทรกอยู่ในภูมิปัญญาลึกซึ้ง
ที่แปลงนาข้าวภายในบริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด จังหวัดสิงห์บุรี หญิงสูงวัยคนหนึ่งกำลังประกอบพิธี “ทำขวัญข้าว” บูชาแม่โพสพให้เด็กๆ ในชุมชนดู
ดูแลข้าวตั้งท้อง–บำรุงหญิงตั้งครรภ์
“เตรียมของครบไหม”
สมาน ฉิมพาลี หมอทำขวัญข้าวที่อายุมากสุดในอำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ชะเง้อชะแง้ตรวจตราเครื่องเซ่นไหว้ที่เธอสำทับให้จัดหา
ต่อเมื่อมีเสียงรับคำจึงเบาใจ เพราะเป็นพิธีสำคัญต่อแม่โพสพ สำหรับลูกหลานชาวนาแล้วถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่ทำเป็นเล่นเด็ดขาด
คนไทยแต่ไรล้วนศรัทธา “ข้าวมีขวัญ” และจิตวิญญาณของข้าวมี “แม่โพสพ” เป็นเทพาปกปักษ์รักษาขวัญให้สถิตอยู่กับข้าวไม่หลีกลี้ไปไหน มนุษย์มีหน้าที่ไถ-หว่านเมล็ดข้าวลงนา ส่วนต้นข้าวจะได้ผลผลิตมากน้อยและงอกงามเพียงใดขึ้นอยู่กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เป็น
เกือบทุกขั้นตอนของการทำนาชาวนาจะระลึกถึงแม่โพสพเสมอ เริ่มแต่แรกหว่านก็ต้องหาฤกษ์วัน ก่อนถอนต้นกล้าไปปักดำต้องขอขมา เริ่มปักดำต้องเชิญขวัญมาอยู่รากอยู่กอ ข้าวออกรวงก็ต้องรวบข้าว-ผูกขวัญไว้ ถึงวันเก็บเกี่ยวก็จะทำขวัญข้าวอีก กระทั่งจะรื้อข้าวลงจากกองมานวดทุกครั้งก็ต้องขมาลาโทษ แต่ทั้งหมดนั้น “การทำขวัญ” ถือว่ามีพิธีรีตองสุด
“ฉันเป็นคนบางระจัน โตมากับนาข้าว หลังเรียนจบ ป.๔ ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาแล้ว เวลามีทำขวัญข้าวแล้วเห็นแม่ทำฉันก็จะพยายามจดจำและหัดทำบ้าง ครั้งไหนแม่ทำไม่ไหวฉันจึงทำแทนได้”
หญิงวัย ๘๖ ปี ที่ชะตาขีดแล้วว่าอาชีพสำหรับเธอคือทำนาดุจเดียวกับบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน เล่าว่าฤกษ์ทำขวัญข้าวคือวันจันทร์หรือศุกร์ช่วงเวลาก่อนเพล ส่วนกระบวนการในแบบที่เธอรู้เห็นบางอย่างยกเว้น หรือหาสิ่งอื่นทดแทนได้ แต่ที่ขาดไม่ได้คืออาหาร-ขนมคาวหวานและผลไม้หลากรสบางชนิดที่อย่างไรต้องมีบรรจุในชุดบายศรีใบตอง ได้แก่ กล้วย อ้อย มัน ส้ม มะม่วง น้ำตาล เกลือ น้ำมะพร้าว และวางไว้ใกล้นาพร้อม ผ้านุ่ง เครื่องประดับ เครื่องประทินผิว กระจก หวี แป้ง ชะลอม ด้ายสามสี (ขาว ดำ แดง)
“แม่ฉันตายตอนอายุ ๑๐๙ ปี แม่เคยทำมาอย่างไร ฉันก็ทำตามอย่างนั้น”
ยายสมานเดินนำทางกลุ่มเด็กรุ่นหลานที่โรงเรียนในละแวกชุมชนคัดเลือกตัวแทนมาเรียนรู้เรื่องการทำนาวิถีบรรพบุรุษนับแต่ไถหว่าน ปักดำ บำรุงข้าว ไล่ศัตรูพืช กระทั่งมาถึงกระบวนการทำขวัญข้าว และจะต่อเนื่องไปจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปหุงกินอย่างรู้คุณ โดยอาศัยแปลงนาภายในบริษัทบุญรอดเอเซียฯ กำลังเริ่มตั้งท้องออกรวงและผู้ประกอบการก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานวัฒนธรรมชุมชนจึงอาสาจัดพิธี
เธอหยุดประจำที่บริเวณหัวนาเตรียมเริ่มภารกิจ
“พวกหนูจำไว้นะ ที่เราต้องทำขวัญข้าวกันก็เพราะมีความเชื่อว่าแม่โพสพก็แพ้ท้องได้เหมือนผู้หญิงตั้งครรภ์นี่ล่ะ เราจึงต้องหาของกินมาไหว้ แล้วคนท้องก็อยากสวยใช่ไหม เราก็ช่วยหาเครื่องหอมมาให้”
หญิงชราเอื้อมหยิบแป้งทาใบข้าว ใช้หวีสางใบข้าวเบาๆ นัยว่าเป็นการผัดหน้าหวีผมให้ จัดแจงหยิบชะลอมบรรจุเครื่องเซ่นจิปาถะขึ้นแขวนบนไม้ไผ่ที่ปักดินไว้แทนเฉลว (ตาเหลว) แล้วหยิบด้ายสามสีมาผูกกอข้าว อุปโลกน์ว่าคือการแต่งตัวสวยงามให้แม่โพสพ เสร็จสรรพจึงเปล่งเสียง
“สาธุ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
ด้วยศรัทธาตามโบราณว่าหากขึ้นต้นบททำขวัญข้าวด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนจะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วหยิบธงที่เตรียมไว้โบกไกวกลางอากาศ กู่เรียกแม่โพสพให้มารับเครื่องเซ่น
“เชิญแม่โพสพนพดารา แพ้ท้องแพ้ไส้ อยากกินเปรี้ยว อยากกินหวาน อยากกินมัน อยากกินเค็ม เชิญนะแม่มา อยู่ต้นไร่ปลายนา มานะแม่มา มากินเถอะนะแม่นะ วู้ววววว…”
สิ้นเสียงกู่ร้อง ยายย้อนบทเดิมอีกจนครบ ๓ รอบ หลานๆ เฝ้ารอจังหวะช่วยเปล่งเสียงวู้ลั่นทุ่ง
บททำขวัญข้าวแต่ละถิ่นอาจว่าความต่างไป ท้องถิ่นเดียวกันยังต่างกันได้ในแต่ละบ้าน สำคัญตรงใจความกล่าวเรียกขวัญแม่โพสพจะแสดงถึงความอ่อนน้อมเคารพนบนอบข้าวในฐานะผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงชีพ บางแห่งอาจกล่าวบทยาวราวเป็นบันทึกขั้นตอนการทำนา บางแห่งเพียงอธิษฐานขอพรแม่โพสพให้ดลบันดาลผลผลิตจำนวนมาก
“การกู่ร้องก็เพื่อตะโกนเรียกให้แม่โพสพที่สถิตอยู่ทั่วนาได้ยิน ไม่ว่าท่านจะอยู่ตรงไหนเมื่อได้ยินก็จะมารับเครื่องเซ่น พออิ่มแล้วท่านจะได้ปกปักษ์รักษาผืนนาดลบันดาลให้ข้าวออกรวงดี เมล็ดเต่งตึง คุ้มภัยจากพวกเพลี้ย มอด นก หนู จำไว้นะลูกนะ”
ยาย-หลานพากันเดินออกจากพื้นที่ทำขวัญข้าว กระบวนพิธีมีเพียงเท่านั้น
เพราะตามจริงแล้วชาวนาต่างก็รู้ พวกเขาเองนั่นล่ะที่ต้องเป็นผู้หมั่นดูแลบำรุงข้าว ให้ปุ๋ย ให้น้ำไม่ปล่อยให้นาแห้ง และหาสารพัดวิธีไล่แมลงไล่เพลี้ยเพื่อให้ข้าวออกรวงสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยการทำขวัญข้าวก็เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ตนเอง
เก็บ (ภูมิปัญญาส่งต่อ) เมล็ดพันธุ์
ชาวนาอาศัยเมล็ดพันธุ์หล่อเลี้ยงชีวิต พวกเขาจึงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในวิถีชีวิต
วิธีเพาะแบบใดได้ผลก็ส่งต่อให้ลูกหลาน เพราะพวกเขาก็เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์
“ฉันมีลูกสาว ๔ คน ลูกชาย ๑ คน จัดแจงแบ่งไร่นาให้ลูกๆ ไปหมดแล้ว ลูกส่วนใหญ่ทำงานเป็นครู บางคนเคยทำงานที่กรุงเทพฯ สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านทำนา”
เพราะลมหายใจที่ฝากไว้กับเงินเดือนอาจไม่ใช่ความจีรัง ถึงจุดหนึ่งคนเราจึงน่าจะกลับมาพิจารณาอาชีพที่เลี้ยงปากท้องได้ด้วยสองมือตน ซึ่งเป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์
“ครอบครัวฉันปลูกข้าวกันปีละ ๒ ครั้ง รอบสองนี่เพิ่งหว่านข้าวไปช่วงวันแม่ พอถึงช่วงที่ข้าวตั้งท้องหรือเริ่มออกรวงลูกๆ ก็จะพาฉันไปทำขวัญข้าวที่นา ฉันก็ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ครอบครัวอื่นยังทำขวัญข้าวอยู่ไหม แต่แถวหมู่บ้านฉันเหลือคนทำอยู่ ๒ บ้าน”
เธอหมายถึงบ้านทุ่งกลับน้อยในตำบลพักทันของอำเภอบางระจันที่จังหวัดสิงห์บุรี
“ฉันอยากให้มีคนสืบทอดเพราะตอนนี้ฉันแก่แล้ว จะทำให้ลูกหลานได้อีกแค่ไหนก็ไม่รู้ เดินมากก็เหนื่อย ที่จริงลูกๆ เขาก็พอจะจำได้จากที่ได้เห็นได้ยินนั่นล่ะ แต่พวกเขาไม่ค่อยอยากทำกันเพราะอาย”
สำหรับยายสมาน เธอจะยังคงทำขวัญข้าวเรื่อยไปแม้จะเหลืออยู่เป็นคนสุดท้ายของชุมชน
“ที่บ้านหนูก็มีนาแต่ไม่ได้ทำขวัญข้าวกันแล้ว หนูเห็นพ่อแม่ซื้อหัวหมูเอาไปไหว้ที่นาแค่นั้นค่ะ ส่วนพิธีทำขวัญข้าวหนูเคยเห็นแต่ในละครเพิ่งเคยเห็นของจริงวันนี้”
ข้าวหอม–อริตา บุญเต็ม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ จากโรงเรียนวัดเตย ในตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี ใกล้ที่ตั้งบริษัทบุญรอดเอเซียฯ เล่าถึงละครเรื่อง ปาฏิหาริย์รักแม่โพสพ ที่เคยดูทางโทรทัศน์
ขณะที่เพื่อนบางคนที่มาด้วยกันเพิ่งรู้จักการทำขวัญข้าววันนี้ เพราะพ่อแม่พวกเขาไม่ได้ทำนาแล้ว
จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีหน่วยงานในท้องถิ่นเล็งเห็นความสำคัญของการสืบสานวัฒนธรรมปลูกข้าวแบบวิถีไทยตั้งแต่ขั้นตอนปักดำจนเก็บเกี่ยว ทำให้ต้นข้าวในสายตาของเด็กๆ ชนบทเป็นมากกว่าพืชตระกูลหญ้าที่เมื่อสีเปลือกเมล็ดออกก็กินได้ และช่วยให้ทุ่งนากลับมาสวยด้วยชีวิตชีวาอีกครั้ง
บางทีต่อจากนี้เมื่อสายลมพลิ้วพัดให้ใบข้าวต้องลมไหว พวกเขาอาจจินตนาการถึงเส้นผมที่ปลิวสยายของผู้หญิงอีกคนในทุ่งเขียว
“ไม่รู้เหมือนกันว่าหมดรุ่นฉันไปจะยังมีใครทำขวัญข้าวกันอยู่ไหม แม้แต่ทำนาก็เถอะ ตอนนี้ลูกๆ ฉันยังทำก็จริงอยู่ แต่หลานๆ จะทำต่อพ่อแม่เขาหรือ ยุคสมัยเปลี่ยนไปมากแล้ว”
ยายสมานให้ข้อมูลว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวยังต้องมีพิธีทำขวัญข้าวอีกรอบ เป็นการรับขวัญข้าวขึ้นยุ้งฉาง
“สมัยก่อนต้องมีพิธีตั้งแต่ไปรับข้าวจากแม่โพสพในนามามัดเป็นฟ่อน เอามาตากแดดผึ่งเรียงกันไป กว่าจะได้เก็บข้าวขึ้นยุ้งใช้เวลานานมาก เดี๋ยวนี้เกี่ยวข้าว ๒๐ ไร่ ใช้รถคันเดียวชั่วโมงหนึ่งก็เสร็จ แล้วก็ขายกันตรงนั้นไม่ทันได้เก็บขึ้นยุ้งหรอก”
นวัตกรรมของชาวนายุคใหม่ที่พึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อประหยัดเวลา แลกมาด้วยการถอยห่างวัฒนธรรมแบบภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่อาศัยน้ำใจเอาแรงเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในหมู่ญาติและเพื่อนบ้านในละแวก ยิ่งนานวันเสียงขับขานบทสวด เสียงหัวเราะสลับร้องเพลง ความสนุกสนานในโมงยามเต้นรำขณะกำเคียวยิ่งจางหายไปจากท้องถิ่น จนคนที่เติบโตมากับบรรยากาศวันวานเริ่มใจหาย
ยายสมานเล่าถึงหลักฐานบางสิ่งที่ยังอยู่เคียงยุ้งข้าวในบ้านของเธอ ผนังด้านหนึ่งมีกะโหลกควายพิงอยู่ เป็นควายที่แม่ของเธอเลี้ยงไว้ ถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการไถนาเลี้ยงลูกหลานเจ้าบ้านมา ๓ รุ่นให้ร่ำเรียนจนจบปริญญาถึง ๕ คน จนวันที่ล้มตายด้วยวัยสี่สิบกว่าปี จึงเก็บรักษาไว้คู่กับยุ้ง
เพราะวันหนึ่ง ภาพควายไถนาก็อาจหาไม่ได้อีกในสิงห์บุรี เช่นเดียวกับภูมิปัญญาหลายอย่างที่มีต่อแม่โพสพก็ทยอยเลือนหาย หากไม่เหลือใครรู้รักษา บำรุง และส่งต่อ
วันข้างหน้าจะตอบลูกหลานได้อย่างไรว่าเมล็ดข้าวดีๆ นั้นได้มาอย่างไร ?