ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
กรุงเทพมหานคร : ภาพ

จำนวน “ขยะกระทง” ในปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๒ จากปีก่อนหน้า

เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-๑๙

หนึ่งวันหลังวันลอยกระทงประจำปี ๒๕๖๕ โฆษกกรุงเทพมหานคร รายงานสถิติการจัดเก็บกระทง จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม พบว่าในปีนี้เจ้าหน้าที่จัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ ๔๒ และมี ๗ เขตจาก ๕๐ เขตที่การจัดเก็บกระทงโฟมเป็นศูนย์

ทำอย่างไรเมื่อขยะกระทงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๒
2022kratong2 1
ขยะกระทงไหลมารวมกันหน้าประตูระบายแม่น้ำปิง ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี ๒๕๖๕ คาดว่าจะมีขยะกระทงไหลมาตามแม่น้ำปิงคิดเป็นน้ำหนัก ๒๕-๔๐ ตัน (ภาพ : Chiang Mai News)

ตัวเลขที่น่าสนใจจากการจัดเก็บกระทงของกรุงเทพมหานครประจำปี ๒๕๖๕ มีดังนี้

  • จำนวนกระทงที่จัดเก็บได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น ๕๗๒,๖๐๒ ใบ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ที่จัดเก็บได้ ๔๐๓,๒๐๕ ใบ หรือเพิ่มขึ้น ๑๖๙,๓๖๗ ใบ คิดเป็นร้อยละ ๔๒
  • กระทงที่จัดเก็บได้เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ ๕๔๘,๐๘๖ ใบ หรือร้อยละ ๙๕.๗ ส่วนที่เป็นกระทงโฟม ๒๔,๕๑๖ ใบ หรือร้อยละ ๔.๓
  • กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเทียบกับปีก่อน มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ ๙๖.๕ เป็น ๙๕.๕ สัดส่วนของกระทงโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๓.๕ เป็น ๔.๓
  • เขตที่มีจำนวนกระทงมากที่สุด คือ เขตคลองเตย จำนวน ๒๗,๗๗๖ ใบ
  • เขตที่มีจำนวนกระทงน้อยที่สุด คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน ๑๒๒ ใบ
  • เขตที่มีจำนวนกระทงวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ คลองเตยจำนวน ๒๖,๙๑๒ ใบ
  • เขตที่มีกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตประเวศจำนวน ๑,๑๔๐ ใบ
  • เขตที่มีการใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มี ๗ เขต ได้แก่ เขตหลักสี่ ดินแดง บางรัก สาทร จอมทอง บางกอกใหญ่ และทวีวัฒนา

หลังความรื่นรมย์ของผู้ที่ออกมาลอยกระทงผ่านพ้นไป หน่วยงานรัฐจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ออกจัดเก็บ “ขยะกระทง” ตามแหล่งน้ำ เพื่อให้ฟื้นคืนกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด

หลายปีที่ผ่านมามีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมลอยกระทง

ด้านหนึ่งมีผู้เห็นว่างานลอยกระทงเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม แม้แต่หน่วยงานรัฐที่ต้องสูญเสียงบประมาณและบุคลากรในการจัดเก็บกระทงก็เป็นแม่งานจัดกิจกรรมลอยกระทงตามสถานที่ต่างๆ ยกตัวอย่างในปีนี้ทางกรุงเทพมหานครจัดงานลอยกระทงบริเวณคลองโอ่งอ่างภายใต้แนวคิด “ลอยท่องล่องสองฝั่งคลอง” มีข้าราชการระดับรองปลัดกรุงเทพมหานครเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด สื่อสารว่ากิจกรรมนี้เพื่อฟื้นฟู ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม ภายในงานมีการจัดซุ้มถ่ายภาพ สาธิตการประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ดนตรีไทย ดนตรีร่วมสมัย อาทิ เพลงอีแซว เพลงทรงเครื่อง ละครชาตรี ดนตรีเครื่องสายไทย และวงดนตรี JAZZ CLUB การฉายหนังกลางแปลงเรื่อง ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ หลายพื้นที่ยังอำนวยความสะดวกให้มีการลอยกระทงได้ตั้งแต่เวลากลางวัน

แต่อีกด้านหนึ่งมีผู้เห็นว่าการลอยกระทงเป็นการสร้างปัญหามลภาวะทางน้ำ ไหนจะต้องหาทางป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ พลุตะไล โคมควัน

แม้จะรณรงค์ให้ใช้กระทงต้นกล้วยซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ แต่ก็ต้องใช้เวลาย่อยสลาย ถือเป็นขยะที่ต้องนำไปกำจัดทิ้ง ไหนจะเศษโลหะหรือเศษพลาสติก อาทิ ตะปู ริบบิ้น ไส้แม็กซ์ หรือแม้แต่เหรียญบาทเหรียญห้าบาทที่อยู่ในกระทง แม้ว่าจะเปลี่ยนมาใช้กระทงที่ย่อยสลายง่ายกว่าโฟม เช่นกระทงที่ทำจากขนมปัง ชานอ้อย แป้งมันสำปะหลัง แต่เมื่อรวมกันมากๆ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นขยะเน่าเสีย ส่งผลต่อค่า Bilogical Oxygen Demand (BOD) ที่สัมพันธ์กับกระบวนการของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ

2022kratong3 1
“กระทงธรรมชาติ” ที่คัดแยกไปทำปุ๋ยหมักนั้นมักมีตะปู ไส้แม็กซ์ ริบบิ้น เหรียญบาท ฯลฯ รวมอยู่ด้วย (ภาพ : กรุงเทพมหานคร)
2022kratong4
2022kratong5
ถึงแม้ว่าจะมีการรณงค์ให้เลิกใช้ก็ยังพบกระทงโฟมประมาณร้อยละ ๓-๕ ในแต่ละปี (ภาพ : กรุงเทพมหานคร)

โดยทั่วไปแล้วขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะถูกส่งไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอย ๓ แห่ง ตั้งอยู่ที่อ่อนนุช หนองแขม และสายไหม ขยะจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้จะถูกคัดกรองเพื่อนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะที่ย่อยสลายได้ยากจะถูกส่งไปเข้าเตาเผาอุณหภูมิสูงกว่า ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส หรือไม่ก็เคลื่อนย้ายไปฝังกลบนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าปี ๒๕๖๐ ขยะกระทงที่ทางกรุงเทพมหานครเคยจัดเก็บได้มีจำนวนมากถึงปีละเกือบ ๑ ล้านใบ แบ่งออกเป็น

ปี พ..จัดเก็บขยะกระทงได้(ใบ)
๒๕๕๕๙๑๖,๓๕๔
๒๕๕๖๘๖๕,๔๑๕
๒๕๕๗๙๘๒,๐๖๔
๒๕๕๘๘๒๕,๖๑๔
๒๕๕๙๖๖๑,๙๓๕
๒๕๖๐๘๑๑,๙๔๕
๒๕๖๑๘๔๑,๓๒๗

แต่หลังจากปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้จำนวนขยะกระทงลดลงอย่างมีนัยะสำคัญ ได้แก่

ปี พ..จัดเก็บขยะกระทงได้(ใบ)
๒๕๖๒๕๐๒,๐๒๔
๒๕๖๓๔๙๒,๕๓๗
๒๕๖๔๔๐๓,๒๓๕

จากขยะกระทงที่เคยเก็บได้ในหลัก “เฉียดล้าน” ระหว่างปี ๒๕๕๕-๒๕๖๑ ลดลงมาเป็น “ครึ่งล้าน” ระหว่างปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ โดยลดลงลดลงร้อยละ ๔๐.๓, ๑.๘ และ ๑๘.๑ ตามลำดับในแต่ละปี

ล่าสุด ปี ๒๕๖๕ เมื่อมาตรการป้องกันโรคโควิด-๑๙ เริ่มผ่อนคลาย มีการจัดงานลอยกระทงเป็นปีแรกหลังเปิดประเทศ เจ้าหน้าที่จึงจัดเก็บขยะกระทงได้ ๕๗๒,๖๐๒ ใบ มากที่สุดในรอบ ๔ ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ ๔๒.๐ ตามที่ทางกรุงเทพมหานครรายงาน

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันเกี่ยวกับจำนวนขยะกระทงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

เผยยอดกระทงในกทม.ปี ๖๕ ทะลัก.แสนใบสูงกว่าปี ๖๔ ถึง ๔๒%

ลอยกระทง ๒๕๖๕ ขยะกทม.เพิ่ม ๔๒% เชียงใหม่ พุ่งทะลุ ตัน

กทม. รายงานยอดกระทง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๔๒%

ตัวเลขร้อยละ ๔๒ เป็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ อย่างไรก็ตาม ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปีนี้อยู่ยังในหลัก “ครึ่งล้าน”

แต่หากปล่อยให้การขอขมาพระแม่คงคาที่แปลกประหลาดที่สุดดำเนินต่อไป ประมาณ “ขยะ” ที่ถูกจัดเก็บได้ในหลัก “เฉียดล้าน” คงกลับมาอีกครั้ง