เรื่องและภาพ : กรดล แย้มสัตย์ธรรม

“บันทึกธรรมชาติ” จดเพื่อเข้าใจ

เคยเป็นไหม…เวลาทอดตาดูต้นไม้พลิ้วไหวยามลมพัด นั่งฟังเสียงนกคุยกันเจื้อยแจ้ว หรือสูดกลิ่นป่าหลังฝนตก แล้วรู้สึกว่าช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนดี ทั้งเมื่อย้อนคิดถึง ความสุขก็พรั่งพรูกลับมาได้ทุกครั้ง

เมื่อจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง มีสมาธิ ค่อยๆ ใช้สติ เปิดประสาทสัมผัส จะเหมือนเราหลุดไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง โลกเสมือนที่สมจริง สวยงาม นุ่มนวล สบายใจ ผมเป็นแบบนั้นทุกครั้งเวลาใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ก่อนหน้านี้เวลาสังเกตธรรมชาติจะชื่นชม ดมกลิ่น ถ่ายภาพ แล้วก็จากมาและพยายามจดจำช่วงเวลาสั้นๆ ที่สบายใจนั้นไว้ โดยบางครั้งก็ไม่ทันฉุกคิดว่าเราอาจใช้เวลากับสิ่งนั้นน้อยไป

ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสไปร่วมกิจกรรม “Parkใจ Diary” ที่กลุ่ม Parkใจ ร่วมกับครูกุ้ง-ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์ พาไปทดลองวาดภาพธรรมชาติ ฝึกทักษะการบันทึกธรรมชาติเบื้องต้น และช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เป็นช่วงที่ทำให้ได้รู้จักกับการบันทึกธรรมชาติมากขึ้น จาก “International Nature Journaling Week” กิจกรรมออนไลน์ที่เล่าเรื่องราวการบันทึกธรรมชาติจากประสบการณ์ของคนทั่วโลก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันขึ้น

naturejournal01
  • naturejournal02
  • naturejournal03

ผมกลัวการวาดมาตั้งแต่เด็ก เพราะคิดเสมอว่าเป็นคนวาดรูปไม่สวย แต่กลับลืมไปว่า “ในโลกนี้มีคนวาดรูปสวยมาแต่กำเนิดซะที่ไหนกัน” กำแพงความกลัวการวาดค่อยทลายลงด้วยการเริ่มวาด ไม่ใช่เพราะวาดสวย แต่เพราะเราได้ลองเริ่ม และเข้าใจว่าเป้าหมายของเราคือการบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ในธรรมชาติมากกว่าความสวยงามเชิงกายภาพ

We need to focus the process, not the product.-“เราต้องสนใจในกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ที่วาดได้” เป็นประโยคหนึ่งที่พบในกิจกรรมออนไลน์ที่เอ่ยถึงข้างต้นและประทับใจผมมากๆ เพราะจากการทดลองบันทึกธรรมชาติในระยะเวลาราว 1 เดือน พบว่าช่วงเวลาที่ได้สังเกต วาด จดบันทึก เหมือนเราไปอยู่ในโลกอีกใบที่สบาย สงบ นิ่ง คล้ายการพักผ่อนแบบหนึ่งเลย

John Muir Laws ผู้เชี่ยวชาญด้านการบันทึกธรรมชาติและผู้ก่อตั้งกลุ่ม The Nature Journal Club เล่าถึงวิธีบันทึกธรรมชาติแบบง่ายๆ ไว้ว่า

“Nature Journaling หรือการบันทึกธรรมชาติ คือการรวบรวมและการจัดระเบียบสิ่งที่สังเกต คำถาม การเชื่อมโยง และคำอธิบายต่างๆ ไว้บนหน้ากระดาษ โดยใช้คำบรรยาย รูปภาพ และตัวเลข คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นศิลปินหรือนักธรรมชาติวิทยา ทักษะเหล่านี้คุณสามารถเรียนรู้และพัฒนามันได้ด้วยการทำบ่อยๆ มันคือความคิดสร้างสรรค์ ความเข้มงวด ความสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้ง่ายที่จะเริ่มต้นและเรียนรู้ และจะค่อยๆ เติบโตไปตลอดชีวิต เริ่มเลย!!! คุณทำได้ และโลกรอเราอยู่”

naturejournal04
naturejournal05
  • naturejournal07
  • naturejournal06
  • naturejournal08
naturejournal09

เราคงต้องยอมรับว่าถ้าวาดสวยขึ้น ความสุขจากการวาดจะมากขึ้นไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการบันทึกธรรมชาติก็คือ “เราจะวาดสวยขึ้นได้ถ้าเข้าใกล้สิ่งที่วาดมากขึ้น” การเข้าใกล้ในที่นี้ไม่ใช่การเดินเข้าไปเพื่อมองเห็นสิ่งที่จะบันทึกชัดเจนขึ้น แต่เป็นการเข้าไปใกล้ๆ สิ่งนั้นในทุกๆ ด้าน

ถ้าเห็นใบไม้และไม่รู้ชื่อ คุณเข้าใกล้ใบไม้นี้ได้ด้วยการจดบันทึกลักษณะ วาดรูปทรง สี ลายใบ เขียนบรรยายสิ่งที่สังเกตได้ หรือแม้แต่วัดขนาดจดลงสมุด จากนั้นลองค้นหามันจากหนังสือ ลองเสิร์ช Google ดู นอกจากรู้ชื่อต้นไม้แล้ว คุณอาจจะรู้ว่ามันมีญาติที่หน้าตาคล้ายกัน อาจรู้ว่ามันไม่ใช่ต้นไม้ที่คุณคิด หรือมันออกดอกฤดูใด มีสัตว์ชนิดไหนชอบกิน เห็นไหมว่าคุณเริ่มใกล้สิ่งที่คุณวาดมากขึ้นแล้ว

การเข้าใกล้ยังหมายถึงการใกล้ชิดด้านความสัมพันธ์ด้วย ถ้าเริ่มวาดนก คุณจะรู้ว่านกต้องหาอาหาร แล้วถ้ารู้ว่านกมากินแก้วมังกรที่สุกงอม คุณอาจจะแบ่งเวลามารดน้ำใส่ปุ๋ยดูแลต้นไม้เพราะรู้ว่าไม่ได้ดำรงอยู่ชีวิตเดียวในโลกใบนี้ แถมอาจมีความสุขมากขึ้น แม้เมื่อก่อนจะเรียกเจ้านกหรือกระรอกที่แอบมาแทะผลไม้ว่าหัวขโมยก็ตาม

เมื่อการเข้าใกล้ไม่ใช่แค่การเดินให้ใกล้เข้าไปอีก คุณก็อาจเข้าใจได้ว่า คุณควรเข้าใกล้สิ่งที่บันทึกแค่ไหน เท่าไรจึงเรียกว่าใกล้พอดี ถ้าคุณได้ลองวาดนก คุณจะรู้ว่าใกล้เท่านี้แหละที่เขาจะใช้ชีวิตของเขาไปได้เรื่อยๆ แทะต้นไม้ สยายปีกขึ้นทำความสะอาด เล่นน้ำโชว์คุณโดยไม่เขินอาย กระโดดกินผลไม้ หรือป้อนอาหารลูกน้อย แต่ถ้าเผลอเขยิบเข้าไปใกล้กว่านี้ คุณจะพลาดช่วงเวลาดีๆ ที่สองเผ่าพันธุ์มีให้กันไปเลย

ดังเช่นที่ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าฝีมือฉกาจ เคยบอกไว้ว่า “อย่าเลยเส้นเหลือง” เวลาเราขับรถ เส้นเหลืองจะเป็นตัวแบ่งระหว่างช่องสัญจร ถ้าเลยเส้นเหลือง นอกจากจะเกิดอันตรายกับตัวคุณ ยังอาจเป็นอันตรายถึงผู้อื่น ในธรรมชาติคุณต้องรู้ว่าเส้นเหลืองอยู่ตรงไหนด้วยเช่นกัน ระยะห่างที่พอดีจะช่วยให้คุณปลอดภัย ดังนั้นเราต้องเคารพเส้นเหลืองของชีวิตอื่นในธรรมชาติด้วย การจะเข้าใกล้ก็ต้องรู้ว่าเท่าใดคือใกล้เกินไปแล้ว

การเข้าใกล้นี้ยังอาจทำให้คุณพบว่าควรมีดินสอแบบไหน ควรใช้สีไม้ สีน้ำ หรือปากกามาร์กเกอร์ เมื่อเข้าใกล้เครื่องมือวาดภาพ คุณจะพบว่าทักษะการวาดของตัวเองพัฒนาขึ้น ผสมสีได้เก่งขึ้น หรือรู้ว่าต้องเริ่มวาดอะไรก่อน แล้วจะพบวิธีวาดแบบเฉพาะตัวที่คุณสร้างขึ้น รวมถึงรู้ว่าต้องเข้าใกล้อีกแค่ไหนจึงจะเป็นนักบันทึกที่เก่งขึ้นได้ ทั้งหมดนี้คุณเองคือผู้นิยามระยะห่างนั้น

การเข้าใกล้สิ่งที่บันทึกยังช่วยให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นหรือละเลยไป ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่าใบไม้หนึ่งใบมีรูปทรงเรขาคณิตแทรกอยู่มากมาย ตั้งแต่ภาพรวมของใบ กระทั่งมองลึกลงถึงเส้นใบ ขณะกำลังบันทึกสิ่งที่คิดแล้วว่าเป็นภาพขยายของใบไม้ คุณจะพบว่ามันสามารถมองลึกเข้าไปได้อีกและอาจเป็นภาพขยายขึ้นได้เรื่อยๆ ตลอดการบันทึก และแม้คุณใช้เพียงสองตา หรืออย่างมากใช้แว่นขยายอันเล็กๆ ช่วย ก็สามารถเห็นรายละเอียดได้อย่างไม่รู้จบ

naturejournal10
  • naturejournal11
  • naturejournal12
  • naturejournal13
  • naturejournal14
  • naturejournal15
  • naturejournal16

การทำบันทึกธรรมชาติยังเป็นเครื่องมือเดินทางข้ามเวลา หรืออาจเป็นเครื่องโยงเส้นชีวิตเราก็เป็นได้ หลายครั้งที่นั่งวาดใบไม้ ต้นไม้ สมองพาผมย้อนไปหาความทรงจำในวัยเด็ก เหมือนการบันทึกนั้นไปดึงความทรงจำเก่าเก็บในฮาร์ดดิสก์ลูกเก่าที่แทบลืมไปแล้วว่าเคยบันทึกไว้กลับมาใหม่ เกือบทุกครั้งที่นั่งบันทึกผมพบว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ พอเริ่มลากดินสอไปสักพัก หรือเริ่มเอาพู่กันผสมสี จะมีเสี้ยวหนึ่งที่ความคิดพาไปเจอภาพจำในวัยเด็ก บางครั้งเร็วเหมือนแสงแฟลชสาดหน้าเวลาถ่ายภาพ บางคราวคล้ายภาพเคลื่อนไหวในสมอง แต่ที่ไม่ต่างกันเลยคือ เมื่อภาพเหล่านี้เข้ามาผมกลับรู้สึกโล่ง โปร่ง สบาย…เป็นเสี้ยวเวลาที่ดีมากๆ ยามบันทึกธรรมชาติ

อาจมีบางคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วหาว่าผมบ้า แต่มันมีอะไรในใจที่เชื่อมโยงกันอยู่ สิ่งที่บรรยายข้างต้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองเมื่อได้ลองบันทึกธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเกิดกับคุณได้ แต่จะเป็นไปในด้านใดไม่มีใครรู้ จนกว่าคุณจะหยิบสมุด ค้นดินสอในกล่องใบเก่าขึ้นมาลองวาดธรรมชาติง่ายๆ ใกล้ตัว จดสิ่งที่เห็น บันทึกสิ่งที่ได้ยินได้กลิ่นได้สัมผัส เขียนสิ่งที่รู้สึกหรือนึกถึง

เครื่องนำทางหนึ่งของคุณคือความคิดว่า “การบันทึกธรรมชาติไม่มีถูก ไม่มีผิด มีเพียงคุณและสิ่งที่คุณบันทึกลงไปเท่านั้น” ส่วนคำถามว่า “เราจะบันทึกธรรมชาติไปทำไมกัน” ที่อาจเกิดขึ้นนั้น คุณจะพบคำตอบสำหรับตัวเองในเสี้ยววินาทีหนึ่งขณะบันทึกนั่นเอง…

อ้างอิง: