ดอยหลวงเชียงดาว ในวันที่ไม่ต้องการ “ผู้พิชิต” แต่ต้องการ “ผู้พิทักษ์”

“ใกล้ถึงแล้ว มาถึงตรงนี้ทีไรตื่นเต้นทุกครั้งเลย”

น้ำเสียงตื้นตันปนดีใจ ที่ยากจะเชื่อว่าเป็นคำพูดของคนที่มาสถานที่แห่งนี้ในทุก ๆ ปีอย่าง กฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ เขาพูดขึ้นขณะเราเดินผ่านจุดเช็กพอยต์ที่ 23 (ต้นก่อ) ก่อนถึงบริเวณจุดกางเต็นท์ จุดที่ 24 (อ่างสลุง)

doiluang0114 1162

นักศึกษาธรรมชาติ” ไม่ใช่ “นักท่องเที่ยว

ความพิเศษของดอยหลวงเชียงดาวที่นอกจากการได้ชื่อว่าเป็นยอดดอยสูงอันดับ 3 ของประเทศ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,225 เมตร คือความมหัศจรรย์ของ “สังคมพืชกึ่งอัลไพน์” ที่เกี่ยวโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของจีน ทั้งยังอุดมไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่ามากมาย จนได้รับการประกาศจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” แห่งใหม่ของโลกเมื่อปี 2564

ด้วยที่ตั้งของดอยหลวงเชียงดาวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คำว่า “นักศึกษาธรรมชาติ” จึงเหมาะเจาะสำหรับเจ้าหน้าที่ฯ ใช้เรียกผู้มาเยือน ต่างจากเขตอุทยานแห่งชาติทั่วไปที่มักเรียกผู้มาเยือนว่า “นักท่องเที่ยว”

การจะเป็นนักศึกษาธรรมชาติได้จะต้องเข้ารับการอบรมก่อน 1 วัน และต้องปฏิบัติตามกฎ

ที่นี่จำกัดจำนวนคนไม่เกิน 100 คนต่อวัน การขับถ่ายจะต้องใช้ชุดขับถ่ายฉุกเฉินและขับถ่ายในบริเวณที่ทางเขตฯ จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น การถ่ายหนักต้องนำถุงขับถ่ายไปทิ้งไว้ยังหลุมที่ทางเขตฯ เตรียมไว้ ส่วนการขับถ่ายเบาต้องนำ (ถุงปัสสาวะ) ลงไปให้ทางเจ้าหน้าที่ตรวจเช็ก ณ ที่ทำการเขตฯ ด้านล่าง

doiluang0114 1163
  • doiluang0228 245
  • doiluang0228 2452
  • doiluang0228 2453
  • doiluang0228 2454
  • doiluang0228 2455
  • doiluang0228 2456
  • doiluang0228 2457
  • doiluang0228 2458
  • doiluang0228 2459
  • doiluang0228 24510
  • doiluang0228 24512
  • doiluang0228 24513

เปลี่ยนจาก “ผู้พิชิต” มาเป็น “ผู้พิทักษ์”

“ไม่สำคัญว่าจะเป็นคนชาติไหน อายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร ทุกคนมีใจที่จะอนุรักษ์ได้ทั้งนั้น ค่อยๆ เปลี่ยนมายด์เซ็ตของการเข้าป่า เราไม่ต้องพิชิตอะไรเลย แต่ช่วยกันซาบซึ้งในธรรมชาติและอนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้ดูนานที่สุด” สุวรรณา เอี่ยมพิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเบอร์แทรม (1958) จำกัด กล่าวในงานเปิดนิทรรศการ “มหัศจรรย์พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยหลวงเชียงดาว”

การสร้างทัศนคติใหม่อย่างการเปลี่ยน “ผู้พิชิต” มาเป็น “ผู้พิทักษ์” เป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งที่เรามักได้ยินบ่อยครั้งขณะอยู่ในพื้นที่เชียงดาว เป้าหมายปลายทางไม่ใช่เพียงการเดินขึ้นยอดดอยด้วยระยะเวลาอันสั้น หากแต่เป็นการดื่มด่ำ ทำความรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติรายล้อมตลอดสองข้างทางก่อนจะถึงยอดดอยต่างหาก

นิทรรศการถาวรดังกล่าวได้รวบรวมภาพถ่ายบนดอยหลวงเชียงดาว ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่สงวนชีวมณฑล และเกร็ดความรู้อื่น ๆ จัดแสดง ณ อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ให้นักศึกษาธรรมชาติได้เยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาธรรมชาติของจริง

doiluang0228 24511

ภารกิจ (พิชิต) วีซ่าผู้พิทักษ์เชียงดาว

การเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวในปี 2565 นี้พิเศษกว่าที่เคย เพราะมีภารกิจเล็ก ๆ ให้นักศึกษาธรรมชาติทำผ่านออฟไลน์แอปพลิเคชัน “Doi Chiang Dao Biosphere”

แอปพลิเคชันนี้เกิดจากความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ของหลายภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์ โดยได้รับทุนอุดหนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นักศึกษาธรรมชาติทุกคนจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวก่อนวันออกเดิน เปิดใช้งานโดยใส่ชื่อและรหัสสี่ตัวสุดท้ายของรหัสอบรม

ในแอปพลิเคชันประกอบด้วยข้อมูลสำคัญหลายอย่าง อาทิ ระยะทาง ระดับความสูงจากน้ำทะเล บริเวณที่มีสัญญาณโทรศัพท์ จุดบริการห้องน้ำ ข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ และที่เป็นไฮไลต์คือการสแกนคิวอาร์โค้ดตามจุดเช็กพอยต์ทั้ง 28 จุด ตั้งแต่พื้นที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) ไปจนถึงยอดดอย

การสแกนคิวอาร์โค้ดในแต่ละจุดเช็กพอยต์ จะปรากฏข้อมูลของพืชพรรณนานาชนิด จุดพัก จุดชมวิว ฯลฯ เพื่อให้นักศึกษาธรรมชาติได้รู้จัก ศึกษา และฝึกการเป็นนักสังเกต อีกทั้งยังได้รับพอยต์จากการสแกนคิวอาร์โค้ดในแต่ละจุด

เมื่อสะสมครบ 20 พอยต์ จะได้รับ “วีซ่าผู้พิทักษ์ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นรางวัล อีกทั้งยังนำไปใช้เป็นส่วนลดจากร้านค้าในเชียงดาวที่ร่วมรายการได้ด้วย

doiluang0228 24514
  • doiluang0228 24515
  • doiluang0228 24516

มากี่ครั้งหรือจะอีกสักกี่ครั้งก็ไม่เหมือนเดิม

ลมเย็นพัดตีหน้าขณะนั่งอยู่ท้ายรถกระบะ ช่วยปลุกให้ตื่นขึ้นจากการเผลอหลับเพราะตื่นแต่เช้าให้ทันมาขึ้นรถเพื่อเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก และเราก็ตื่นเต็มที่เมื่อได้เจอกับถนนลูกรังสลับกับคอนกรีต ที่หากว่าผู้ขับไม่ชำนาญ รถอาจจะพังก่อนไปถึงจุดหมายหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย ๆ

หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอกนี้เป็นจุดเช็กพอยต์ที่ 1 (ออกเดิน) ให้เราได้สแกนคิวอาร์โค้ดเสมือนเป็นการเปิดทักษะการสังเกตพืชพรรณตั้งแต่เริ่มต้น

ระหว่างเส้นทางเดิน เราหยุดถ่ายภาพดอกไม้ พรรณไม้ที่ขึ้นละลานตา ราวกับต้องมนต์สะกด อย่างต้นเทียนนกแก้วที่พบเฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาวมีเรียงรายตลอดทาง บ่อยครั้งต้องพึมพำในใจว่า “หากฉันเผลอเดินไปเฉี่ยวก็ขอโทษนะเจ้าดอกไม้”

หลาย ๆ ครั้ง เรามักหยุดเพื่อเฝ้ามองดอกไม้นานจนพี่ๆ เจ้าหน้าที่ฯ ที่เดินตามหลังพูดขึ้นว่า “ข้างหน้ามีสวยกว่านี้อีกเยอะ” ทำให้เข้าใจว่าเราใช้เวลาทักทายกับธรรมชาติตรงหน้ามากจนเกินพอดีแล้ว

ด้วยความสวยงาม ความหลากหลาย และเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เราได้ยินบ่อย ๆ จากบรรดาลูกหาบและคนนำทางว่า “ถ้าอยากรู้ว่าต้นนี้ชื่อว่าอะไร ให้ใส่คำว่า ‘เชียงดาว’ ต่อท้ายไว้ก่อน” เช่น ถ้าเจอต้นไม้ที่มีดอกสีเหลือง ให้พิมพ์คำค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่า “ต้นดอกไม้สีเหลืองเชียงดาว” เป็นมุกตลกที่เรียกเสียงเฮฮาช่วยคลายความเหนื่อยล้าระหว่างที่เดินไปได้อย่างดี

เรายังพบกวางผาที่มายืนอยู่บนหน้าผาเพื่อจ้องมองแขกผู้มาเยือน โดยคนนำทางมักเป็นผู้พบเห็นก่อนใคร หากให้คนที่ไม่มีทักษะตาเหยี่ยวอย่างเรามองหาคงเห็นเพียงหินที่อยู่ไกลลิบตา หากวางผานานสักแค่ไหนก็ยากจะเจอ

กระนั้นยังมีสิ่งที่ไม่แน่นอนและอยู่นอกเหนือการควบคุม อาจพาเราให้ได้เจอกับสายฝนกระหน่ำ หมอกลงหนาจนมองไม่เห็นเส้นทาง แต่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเสน่ห์ของการเดินป่า

การเดินทางมาเยือนดอยหลวงเชียงดาวครั้งนี้ทำให้เราได้เป็น “ผู้พิชิต” ตามที่เคยใฝ่ฝันและตั้งใจเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นความเป็น “ผู้พิทักษ์” ที่เกิดขึ้นกับทั้งตัวเองและนักศึกษาธรรมชาติอื่น ๆ ที่ได้ร่วมเดินทาง

doiluang0228 24517
doiluang0228 24518

การมีออฟไลน์แอปพลิเคชันให้สแกนคิวอาร์โค้ดตามจุดเช็กพอยต์ ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติในพื้นที่ดอยหลวงแห่งนี้มากขึ้น

แต่ไม่ว่าภาพทิวทัศน์บนยอดดอยจะสวยงามมากแค่ไหน ก็คงไม่มีความหมายเลยหากเราลงจากยอดดอยแล้วหลงลืมความสวยงามเล็กน้อยในระหว่างทาง

การได้เรียนรู้ถึงการมีอยู่ เติบโต และคอยช่วยกันอนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นให้ยังคงอยู่ คือการแบ่งปันความงามที่เรามีโอกาสได้พบเห็นให้นักศึกษาธรรมชาติคนต่อ ๆ ไปที่มาเยือนได้มีโอกาสนั้นเช่นกัน

หากคุณมีโอกาสได้มา ณ ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้

คุณอยากจะกลับไปในฐานะอะไร ระหว่าง “ผู้พิชิต” หรือ “ผู้พิทักษ์”

ขอขอบคุณ

  • บริษัท เบอร์แทรม (1958) จำกัด สนับสนุนการเดินทาง

แหล่งอ้างอิง

  • เว็บไซต์ : https://www.doichiangdaobiosphere.com/