เรื่อง : วรรณณิภา ทองหน่อหล้า
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

นกพิราบบินอิสระเหนือคลื่นเจ้าพระยา นำทางเรือยนต์ข้ามฟากจากฝั่งปากเกร็ด นนทบุรี มุ่งหน้าสู่ “เกาะเกร็ด” ตำบลขนาดเล็กของหมู่บ้านศิลปิน

บริเวณท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาสต้อนรับผู้คนมากหน้าด้วยซุ้มอาหารคาวหวานที่เกาะกลุ่มร้านรวงอย่างเป็นระเบียบ แม่ค้าเดินกระฉับกระเฉงเชื้อเชิญให้ผู้มาถึงจับจองที่นั่งริมน้ำหาของกินรองท้อง

“นั่งก่อน สั่งได้เลย เดี๋ยวเก็บเงินทีเดียว”

แดดบ่ายโบยสายลมเย็นให้พอคลายอบอ้าว กลิ่นหอมของเครื่องแกงร้อนฟุ้งกระจาย ปนเปเสียงจอแจของนักท่องเที่ยวในวันหยุดสลับเสียงพ่อค้าแม่ค้าเสนอขายเมนูเด็ดของแต่ละร้าน

น่าสนใจ “ทอดมันหน่อกะลา” กับ “ดอกไม้ทอด” ได้ยินว่าเป็นของดีเกาะเกร็ด

เพียงเดี๋ยวกลีบดอกใบพืชที่ซ่อนตัวในแป้งกรอบราดเครื่องจิ้มรสหวานก็เสริ์ฟมาในชามกระดาษ ทั้งดอกอัญชัน เฟื่องฟ้า ใบชะพลู หน่อกะลา ฯลฯ ว่าไปแล้วการรู้จักใช้ประโยชน์จากพืชประกอบอาหารให้มีสีสันสวยน่ารัก ก็ไม่ต่างจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ศิลปินหยิบของกินมาใช้เป็นสื่อ

เมื่อหนังท้องตึงก็ถึงเวลาเดินย่อย ถนนสายเล็กของหมู่บ้านทอดยาวสู่วิถีชาวมอญ

เรามีจุดหมายในใจว่าอยากมาลองสัมผัสศิลปะของ “เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด”

จิตวิญญาณกำเนิดจากดิน

กรุ๊งกริ๊ง กรุ๊งกริ๊ง

เสียงกริ่งมือของจักรยานเช่า ส่งสัญญาณถึงผู้เดินเท้าให้ช่วยหลีกทางชิดไหล่ถนน

สองข้างทางขนาดสองคนเดิน เรียงรายด้วยบ้านเรือนริมน้ำยกใต้ถุนสูง ก่อกำแพงกั้นความเป็นส่วนตัว บนกำแพงปรากฏรอยด่างสีน้ำตาลสูงระดับสะโพกก็มี คือร่องรอยของอุทกภัยประจำปี ช่วงต้นธันวาคม ๒๕๖๕ ที่เรามา ในรั้วของบางบ้านก็ยังมีน้ำขังจากสถานการณ์ใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้น

เป็นเรื่องที่ลูกหลานชาวเกาะต้องรับมือ หากเลือกที่จะอาศัยบนที่ดินของบรรพบุรุษ

นับแต่สมัยหงสาวดีแตกพ่ายราว พ.ศ. ๒๐๘๒ แล้วมีชาวมอญหรือชาวรามัญอพยพหนีสงครามออกจากประเทศพม่าสู่ดินแดนอื่น ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พวกเขาอพยพมา มีการเกาะกลุ่มรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านในหลายชุมชน ปากเกร็ดก็เป็นหนึ่งในนั้น ครั้นสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระราว พ.ศ. ๒๒๖๕ มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อขยายเส้นทางการค้าในอดีต “เกาะเกร็ด” ก็ถือกำเนิดขึ้น

มีเจดีย์มุเตาสีขาวสะอาดตาตั้งตระหง่านบนผืนดินเล็กๆ ริมน้ำแสดงศรัทธาของชาวมอญ

มอญซ่อนศิลป์

ปัจจุบันเป็นชุมชนที่มีร้านอาหาร ร้านของชำ ร้านเครื่องปั้นดินเผาหลากขนาดวางเรียงราย แต่เป็นเครื่องปั้นดินเผาขนาดเล็กเพื่อเป็นสิ่งประดับมากกว่ารูปแบบขนาดใหญ่อย่างสมัยก่อน มีหม้อเล็กๆ สำหรับใส่เทียนหอมหรือกำยาน โมไบล์แขวน พวกหม้อน้ำขนาดใหญ่ก็มีบ้างแม้ไม่มากอย่างที่รับรู้ข้อมูลก่อนมา

เดินผ่านเพิงเล็กๆ ริมถนน แว่วเสียงบรรเลงเพลงคิทาโร่ (Kitaro)ของมาซาโนริ ทากาฮาชิ (Masanori Takahashi) นักดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์-บรรเลงชาวญี่ปุ่น สำเนียงแหลมสูงจากเครื่องดนตรีประเภทครื่องสายดึงดูดให้ต้องแวะทักทายศิลปินที่กำลังบรรจงแกะลวดลายวิจิตรบนชิ้นงานดินปั้น ขณะสองมือทำหน้าที่แข็งขัน ปากก็เชื้อเชิญให้เราชื่นชมผลงานที่พร้อมจำหน่าย

บางชิ้นงานดัดแปลงรูปแบบไปจนแปลกตาจากมาตรฐานที่เคยเห็น

“สำหรับผมไม่มีเกณฑ์ใดที่จะวัดว่าของใครสวยไม่สวย หรือผลงานใครได้มาตรฐานแบบมอญหรือเปล่า ถูกต้องตามแบบโบราณหรือเปล่า เอาแค่ว่าทำให้รูปทรงสอดรับกับลายได้ก็พอ”

ธวัชชัย เชื้อเต็ง เจ้าของเครื่องหมายการค้าบนชิ้นงานแฮนด์เมด “ธวัชชัย ปากเกร็ด” เป็นทั้งช่างปั้นอิสระและอาจารย์พิเศษให้ความรู้ในฐานะผู้ที่เกิดและเติบโตบนผืนดินเกาะเกร็ด สนใจงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็ก จึงเริ่มศึกษาและฝึกสร้างสรรค์ลวดลายบนชิ้นงานมาเกือบ ๔๐ ปี

ท่ามกลางเครื่องปั้นดินเผาชิ้นน้อยใหญ่ลวดลายผสมผสานจนร่วมสมัย บ้างนูน บ้างฉลุลายโปร่ง มีหลายชิ้นที่โดดเด่นเรียกแขก ดั่งลำนำคิทาโร่ที่กำลังขับขานในร้านเครื่องปั้นดินเผาของลูกหลานมอญ

“ไม่ต้องคิดแบบนักวิชาการ ศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก”

เขาเปิดมุมมองให้ลองมองข้ามลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ดอย่างลวดลายธรรมชาติพวกดอกไม้ ใบไม้ เครือเถา และลวดลายประดิษฐ์ที่มีการขูดขีด ลายนูน หรือประยุกต์จากลายไทย

“ผมเอาคุณภาพงานและความสุขเป็นหลัก เอาเรื่องการขายและรายได้เป็นรอง”

ยิ้มนั้นเป็นมิตรต่อผู้มาเยี่ยมชม ไม่กดดันให้ต้องอุดหนุนหากยังไม่เจอสิ่งที่ถูกใจ

เพราะสำหรับศิลปิน ศิลปะคือจิตวิญญาณของผู้สร้าง มีความหมายกว่าเงินตรา

monsonsilp06
  • monsonsilp07
  • monsonsilp08

ทรัพย์ในดิน ศิลป์ในน้ำ

ปลายสุดของถนนสายหนึ่งคือที่ตั้งของโรงปั้นดินเผา “ลุงติ ดินเปรอะ”

พื้นที่ส่วนหน้าเป็นร้านจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผา ถัดเข้าด้านในคือพื้นที่เวิร์กชอป มีช่างประจำร้านผลัดกันรับหน้าที่วิทยากรปันประสบการณ์พิเศษให้ผู้มาเยือนสัมผัสพื้นฐานของการปั้นดิน การขึ้นรูปทรง การสร้างลวดลายง่ายๆ บนผลิตภัณฑ์ และสามารถนำผลงานตนกลับบ้านได้เลยในราคาคนละ ๑๐๐ บาท

monsonsilp09

“สบายๆ ไม่ต้องเครียด วางมือลงครับ แบบพนมมือ และดูว่าดินเสมอกันหรือยัง”

ช่างปั้นอาชีพช่วยชี้ทางแก่นักปั้นสมัครเล่นที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มือไม้จึงดูเกะกะเก้งก้าง

เสียงแป้นหมุนสั่นสะเทือน ดินเหนียวก้อนหนึ่งเริ่มวนไปตามรอบโคจรของแป้น แล้วก็เริ่มก่อขึ้นเป็นรูปทรง เราวางฝ่ามือนวดเคล้าเนื้อดินที่กำลังขึ้นรูปทรงกระบอกตามคำแนะนำจากผู้ชำนาญ กลิ่นดินปั้นลอยแตะปลายจมูก ไม่ได้หอมสดชื่นเหมือนกลิ่นดินฤดูฝน เป็นกลิ่นดินเจือจางเฉพาะตัว

“ปัจจุบันใช้ดินอ่างทองสำหรับการปั้น เพราะดินบนเกาะเกร็ดมีไม่พอแล้ว จึงต้องใช้ดินจากพื้นที่อื่นซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับดินเกาะเกร็ดมากที่สุด อย่างอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และนครสวรรค์”

เจ้าของร้าน ลุงติ ดินเปรอะ ช่างปั้นฝีมือดีคนหนึ่งของเกาะเกร็ดร่วมให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว

ทั้งที่เดิมพื้นที่เกาะเกร็ดแห่งนี้เป็นจุดหมายสำคัญของผู้ต้องการเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพ หมู่บ้านหนึ่งของตำบลขนาดเล็กบนเกาะนี้ได้ชื่อว่า “กวานอาม่าน” ที่แปลว่า “บ้านเครื่องปั้น” ก็เพราะเป็นการรวมตัวอาศัยของกลุ่มช่างผู้ชำนาญการปั้นดินเผา พวกเขารู้จักใช้วัตถุดิบชั้นดีอย่างดินเหนียวบนเกาะเกร็ด น้ำ ฟืน ไม้เบญจพรรณ หรือฟืนไม้ตาตุ่ม ให้เกิดประโยชน์ นำมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานสวยงาม แข็งแรงคงทน และสืบทอดภูมิปัญญาส่งต่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานมานานกว่า ๒๐๐ ปี ทำให้เกาะเกร็ดขึ้นชื่อว่าเป็นฐานผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญ มีหลายโรงงานตั้งอยู่บนผืนดินกลางแม่น้ำแห่งนี้

“แต่เวลานี้ชื่อเกาะเกร็ดมันเป็นตำนานแล้ว ไม่ใช่ฐานผลิต ที่มีอยู่คือการสาธิตให้ดู”

ชายสูงวัยผู้สวมเสื้อยืดสีหม่น กางเกงขาสั้น สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

monsonsilp10

ขณะปั้นดินไปสักนิด พอรู้สึกถึงความแห้งต้องสลับจุ่มมือในน้ำบ้างค่อยกลับมาปั้นต่อ

เสียงครืนๆ ของแป้นหมุนหยุดลงเป็นจังหวะ ตามแต่การพักมือเพื่อสังเกตรูปทรงเป็นระยะ กระทั่งดินนั้นก่อตัวได้รูปทรงที่พอใจก็ถึงเวลาสร้างลวดลายให้ผลงานชิ้นเอกของตนเอง เดี๋ยวนี้นิยมใช้แม่พิมพ์ลายสำเร็จรูปวางทาบ เมื่อแป้นหมุนวนอีกครั้งจนครบรอบก็ได้ลวดลายล้อมผลงานตน จบขั้นตอนด้วยการนำเส้นลวดมาลากจากใต้ชิ้นงานเข้าหาลำตัว เพื่อตัดเครื่องปั้นดินชิ้นน้อยของตนออกจากแป้นหมุน

เป็นของที่ระลึกรูปแบบหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถ DIY และนำกลับบ้านได้เลย แต่ดินที่ปั้นเสร็จในขั้นตอนนี้เหมาะสำหรับนำไปใส่ของแห้งกระจุกกระจิก ไม่สามารถใช้งานแบบบรรจุน้ำ เพราะไม่ได้ผ่านการเผาซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมชิ้นงานจำนวนมากเพื่อให้คุ้มค่าเวลาและค่าวัสดุในการเผา

“นอกจากดินแล้วอีกวัตถุดิบสำคัญคือฟืนจำนวนมากที่ต้องใช้ในการเผา และยังมีปัจจัยด้านการสัญจรสู่เกาะเกร็ดที่ยังต้องอาศัยการขนส่งจากรถลงเรือ แล้วขนย้ายจากเรือแบกขึ้นโรงงาน พอสร้างชิ้นงานเสร็จก็ต้องเข็นจากโรงงานไปลงเรือแล้วขนขึ้นรถออกไปค้าขาย ทุกอย่างคือต้นทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับโรงงานผลิตในจังหวัดอื่น ใครจะทำกิจการนี้จึงต้องย้ายฐานผลิตไปอยู่ข้างนอก”

เช่นเดียวกับลุงติเองที่ก็ต้องมีโรงงานตั้งอบู่บนฝั่งปากเกร็ด ไม่อย่างนั้นก็สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ถึงอย่างนั้นด้านในสุดของร้านนี้ก็ยังมีเตาเผาเก่าทรงยาวตั้งอยู่ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมใกล้ๆ แต่ไม่สามารถเข้าไปดูด้านในได้ ป้องกันอันตรายจากเตาทรุดตัวเพราะเก่าแก่และยังผุกร่อนจากน้ำท่วมหลายครั้งหลายคราว แม้ไม่ได้ใช้งานแล้วเจ้าของก็ยังอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ระลึกถึงที่มาที่ไปของถิ่นเกิด

monsonsilp13

สืบค้นข้อมูลว่าเดิมเตาเผาของชาวมอญจะเป็นการร่วมทุนสร้างของภายในหมู่บ้าน เรียกว่า “เตาหลังเต่า” ต่อมาพอทรุดโทรมก็หันไปใช้เตาเผาแบบจีน เรียกว่า “เตาแมงป่อง” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ “เตาถัง” ที่มีขนาดเล็กลง สำหรับเผาชิ้นงานขนาดเล็กตามบ้าน

ซึ่งนับวันก็ลดจำนวนลงจนแทบไม่เหลือให้เห็นแล้วถ้าไม่ตั้งใจมาหา

และเดี๋ยวนี้ยังเสียเปรียบเครื่องปั้นดินเผาในระบบอุตสาหกรรมด้วย

“อย่างโอ่งใส่น้ำปั่นตามร้านขายเครื่องดื่มทั่วไปก็เป็นงานหล่อจากแม่พิมพ์ ออกมารูปทรงและลายเดียวกัน ผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก เป็นทางเลือกของผู้ประกอบการเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงและจำหน่ายได้ในราคาถูกๆ แต่งานลักษณะนั้นคนปากเกร็ดจะไม่ทำ เอกลักษณ์ของเราคืองานขึ้นรูปด้วยมือ”

เป็นความสง่าของงานหัตถกรรมที่ได้รับการตกทอดจากบรรพบุรุษ

แม้ต้องแลกด้วยกระบวนการทำ การเตรียมวัตถุดิบ และระยะเวลา

monsonsilp14

แสงสีส้มฉาบทั่วผืนน้ำยามเย็น…

ไม่ลืมเที่ยวอีกด้านของวัดปรมัยยิกาวาสที่ก็เป็นชุมชนการค้า ก่อนมามีคนแนะนำว่าเยือนเกาะเกร็ดทั้งทีต้องชิมเมนูคลายร้อนอย่าง “ข้าวแช่” แม่ค้าวัยกลางคนจัดวางเครื่องคาวอย่างพริกหยวกสอดไส้หมูทรงเครื่อง ไชโป๊วผัดไข่ ลูกกะปิทอด หมูฝอยหวาน หอมหัวใหญ่ทรงเครื่อง หั่นเป็นชิ้นพอดีคำมาในสำรับหม้อดินเผาขนาดกระทัดรัด มีดอกมะลิหอมลอยผิวน้ำ ชวนให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย ข้าวแช่เย็นๆ เคล้ากลิ่นดอกมะลิเมื่อกินพร้อมเครื่องเคียงรสชาติหวานนิดเผ็ดหน่อยก็ช่วยให้กลมกล่อมลื่นคอ

สำหรับที่นี่ หากดินปั้นดั่งศิลปะของชายเกาะเกร็ด ฝีมือปลายจวักเด็ดก็คือศิลปะของศิลปินหญิง

monsonsilp15