ภายหลังสยามอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตัดสินพระทัย “ลี้ภัยการเมือง” ไปประทับยังเกาะปีนัง เขตอาณานิคมมลายูของอังกฤษ

ระหว่างนั้นสมเด็จฯ ทรงมีจดหมายติดต่อเป็นประจำทุกสัปดาห์ กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (๒๔๐๖-๒๔๙๐) ผู้ยังทรงพำนักอยู่ในพระนคร

นอกจากบอกเล่าสารทุกข์สุกดิบประจำวันแล้ว เนื้อความในลายพระหัตถ์เต็มไปด้วยการสอบถามทบทวนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ประเพณีราชสำนัก ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ตลอดจนบอกเล่าเรื่องราวแปลกใหม่สารพันที่ทรงประสบพบเห็นเมื่อต้องพลัดไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๒) – ดัดตนคือบำเพ็ญตบะ

ลายพระหัตถ์จากปีนัง ฉบับวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๘๔ เล่าว่า ได้เสด็จไปยังอาศรมของดาบสชาวอินเดียรูปหนึ่ง ซึ่งผู้เลื่อมใสศรัทธาในปีนัง ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้น ตัวอาศรมทำเป็นมณฑปแปดเหลี่ยม หลังคาเป็นซุ้มมียอดแบบอินเดีย ทรงเล่าว่าได้เห็นตัวดาบสนั่งขัดสมาธิ “เหมือนพระประธาน” อยู่บนเตียงที่มุขเด็จหน้ามณฑป บังเอิญมีลูกศิษย์ชาวทมิฬที่พูดภาษาอังกฤษได้ จึงทรงมีโอกาสพูดคุยสอบถาม ลูกศิษย์อธิบายว่าดาบสผู้เป็นอาจารย์ บำเพ็ญตบะด้วยการงดเว้นวจีกรรม คือไม่พูดจากับผู้ใดทั้งสิ้น และนั่งนิ่งภาวนาอยู่ ณ ที่แห่งเดียว ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

​ “ถามว่ามณฑปนั้นเป็นที่สำหรับดาบศนอนในเวลากลางคืนหรือ ตอบว่าไม่มีใครเคยเห็นดาบศนั้นนอนเลย โดยปกตินั่งนิ่งอยู่ที่มุขเด็จจนค่ำแล้วก็เข้าไปในมณฑป ไปทำท่าต่างๆ ตามตำราแก้เมื่อย ที่นั่งนิ่งอยู่วันยังค่ำ บางทีก็ลอยตัวขึ้นไปถึงเพดานมณฑป แต่หาเห็นลงนอนไม่

“หม่อมฉันได้ฟังอธิบายก็ ‘หูผึ่ง’ ด้วยเห็นเป็นเค้ามูลของฤๅษีดัดตน คือลักษณะบำเพ็ญตะบะนั้น คงจะสมาทาน-นั่งหรือยืน-ภาวนาอยู่วันยังค่ำ เมื่อหม่อมฉันยังหนุ่มเคยเห็นโยคีคน ๑ เข้าไปในกรุงเทพฯ บำเพ็ญตะบะยืนอย่างเดียวอยู่ที่ศาลาหน้าเทวสถาน เห็นเอาเชือกห้อยแต่เพดานลงมาผูกกระดานแผ่น ๑ เป็นอย่างชิงช้าพออาศัยเท้าศอกผ่อนน้ำหนักที่ลงตีนให้น้อยลง การที่นั่งหรือยืนอยู่อย่างเดียวตลอดวัน ย่อมปวดเมื่อยตัวเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีวิธีดัดตนแก้อาการต่างๆ อันเกิดทุพลภาพแต่บำเพ็ญตะบะ และดัดตนในเวลาค่ำ บำเพ็ญตะบะในเวลากลางวัน สลับกันเป็นวิธีอย่างดาบศคนนี้ เป็นตำรามาแต่เดิม”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงวินิจฉัยว่าประเด็นเรื่อง “ฤๅษีดัดตน” ซึ่งติดค้างในพระทัยมาถึงครึ่งศตวรรษ นับแต่เมื่อเสด็จเมืองชัยปุระในปี ๒๔๓๔ เป็นอันว่า “เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นสงสัย” ดังที่ทรงสรุปไว้ในพระนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี” ว่า

“การดัดตนนั้น เป็นส่วนอันหนึ่งของการบำเพ็ญตบะนั่นเอง เพราะนั่งหรือยืนที่เดียวตลอดวันยังค่ำ ทรมานร่างกายเกินวิสัยก็ย่อมเกิดอาการเมื่อยขบ จึงคิดวิธีดัดตนสำหรับระงับทุกขเวทนาอันเกิดแต่บำเพ็ญตบะ แล้วตั้งเป็นตำราไว้แต่ดึกดำบรรพ์ ที่พวกชาวเมืองชัยปุระเขาบอกว่าเป็นวิธีของพวกดาบสนั้นก็ถูก ที่ไทยว่าเป็นวิธีแก้เมื่อยขบก็ถูก เพราะไทยเราไม่เลื่อมใสวิธีตบะของพวกถือศาสนาฮินดู เอาแต่วิธีดัดตัวแก้เมื่อยขบมาใช้ จึงเกิดตำราฤๅษีดัดตนขึ้นด้วยประการฉะนี้”

อันเป็นจุดเริ่มต้นความสนพระทัยใคร่รู้เรื่องนี้ ซึ่งจะยาวนานต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ