เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ติมอร์เลสเต สองทศวรรษหลังวันนั้น

สิ้นปี ค.ศ.2022 ขึ้นปี ค.ศ.2023 สำหรับคนติมอร์ตะวันออก เวลาผ่านไปเร็วราวติดปีก
สำหรับคนรุ่น “เข้าป่า/เคลื่อนไหว” ต่อสู้กับทหารบ้าน (militia) และกองทัพอินโดนีเซียที่ยึดครองติมอร์เลสเตมานานกว่าสามทศวรรษ (ค.ศ.1975-2002) ย่อมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย

ติมอร์​เลสเต เป็นเอกราชมาสองทศวรรษแล้ว แต่ดูเหมือน “สงคราม” จะยังไม่จบ

“สงครามเอกราช” ได้ชัย แต่พวกเขาก็เผชิญกับ “สงครามเศรษฐกิจ” ที่เอาชนะยากยิ่งกว่า

ตั้งแต่ได้เอกราช มิตรประเทศมากมายส่งความช่วยเหลือให้ติมอร์เลสเต นอกจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับติมอร์เลสเตมาตั้งแต่ก่อนลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช

ในปี ค.ศ.2023 ติมอร์ฯ จะเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างเป็นทางการ รัฐบาลติมอร์ฯ วางยุทธศาสตร์ประเทศอย่างไร สถานะสายสัมพันธ์ไทย-ติมอร์ ในช่วงสองทศวรรษนี้เป็นแบบไหน

ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราเห็นภาพในอนาคตมากขึ้น

timor0 2793

ความวุ่นวายทางการเมือง

ตั้งแต่ได้เอกราช ติมอร์เลสเตใช้ระบบกึ่งประธานาธิบดี (คล้ายกับฝรั่งเศส) โดยมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในวาระ 5 ปี ประธานาธิบดีมีอำนาจในการยุบสภา และวีโต้กฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจในการปลดคณะรัฐมนตรี

มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา (มีแต่สภาล่าง คือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว) ทุก 5 ปี สภาเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยที่ผ่านมามีการตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปี ค.ศ.2002 มาแล้วทั้งหมด 8 คณะ

แต่ถึงแม้อยู่ภายใต้การจับตามองของนานาชาติและองค์การสหประชาชาติ ก็เกือบจะเกิดการรัฐประหารขึ้นถึง 2 ครั้งในปี ค.ศ.2008 เนื่องมาจากความขัดแย้งในกลุ่มนักรบเก่าและชนชั้นนำทางการเมือง และในปี 2012 จากการลอบสังหารบุคคลสำคัญ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้สงบลงจากการแทรกแซงของกองกำลังรักษาสันติ UN ที่ถูกส่งกลับเข้ามาปฏิบัติการเป็นระยะสั้นๆ ทั้งนี้ โดยทั่วไป มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองยังเป็นผู้นำรุ่นแรกและรุ่นที่สอง (ที่ผ่านประสบการณ์การสู้รบในป่าเขาและการเคลื่อนไหวในต่างประเทศเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซีย)

โฮเซ่ รามอส ฮอร์ตา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (2022-ปัจจุบัน) เคยให้สัมภาษณ์ระบุว่าติมอร์ฯ เป็นประชาธิปไตยก็จริง แต่ไม่ “ฟังก์ชัน” คือทำได้ไม่ดีนักในการพัฒนาประเทศ ส่วนหนึ่ง​เนื่องมาจากมีการก่อตั้งพรรคการเมืองจำนวนมาก การจัดตั้งรัฐบาลผสมต้องอาศัยการประนีประนอมกับกลุ่มการเมืองหลายฝ่าย ทำให้ดำเนินนโยบายได้ไม่เต็มที่

ปัญหานี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

timor0 2794

กาแฟและน้ำมัน (ที่ร่อยหรอ)

ตั้งแต่ได้เอกราช ติมอร์ฯ มี “พลังทางเศรษฐกิจ” สำคัญคือแหล่งน้ำมันในบริเวณ Timoe Gap ทางตอนใต้ของเกาะ (ติดกับน่านน้ำออสเตรเลีย) จนถึงตอนนี้ (2022) น้ำมันยังเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับหนึ่งของประเทศ รายได้จากการขายน้ำมันจะเข้าสู่กองทุนน้ำมันซึ่งเป็นที่มาหลักของงบประมาณประจำปีของรัฐบาล

สินค้าส่งออกที่สำคัญอีกชนิดคือเมล็ดกาแฟที่ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกว่าน่าจะดีที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่ง อย่างไรก็ตามรายได้จากการส่งออกกาแฟก็ขึ้นกับการเปิดตลาดใหม่นอกเหนือจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป โดยผู้ผลิตกาแฟในติมอร์ฯ หลายรายมองว่าหากสามารถเข้าถึงตลาดอาเซียนและส่งออกไปจีนที่มีประชากรจำนวนมากนับพันล้านได้ รายได้จากส่วนนี้จะมีมากขึ้น

โจทย์ใหญ่ของติมอร์ฯ ในตอนนี้คือ เทรนด์ของโลกที่เริ่มหันไปหาพลังงานทางเลือกมากขึ้น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็มีการคาดการณ์ว่ากำลังจะค่อยๆ หมดไปในไม่ช้า

ติมอร์ฯ​ จะทำอย่างไรที่จะกระจายรายรับให้อยู่ในหลายภาคเศรษฐกิจ ทำอย่างไรที่จะยืนอยู่บนระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและพึ่งตัวเองได้มากขึ้น

timor0 2795

ปัญหาของพลเมืองติมอร์

การว่างงานในติมอร์ฯ ในปี 2022 ยังสูงถึงร้อยละ 40 การลงทุนจากต่างชาติยังไม่มากพอ มีภาวะสมองไหลเนื่องจากนักศึกษาที่เรียนจบไม่ได้งานที่เหมาะสม เพราะมีตำแหน่งงานรองรับไม่เพียงพอ บางคนต้องไปทำงานที่ไม่ตรงกับสายงานที่พวกเขาร่ำเรียนมาและต้องการจะทำ

จากการสำรวจในปี 2015 ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกมาจนถึงตอนนี้คือ ความหลากหลายทางภาษาในติมอร์ฯ ที่ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยคนรุ่นเก่าใช้ภาษาโปรตุเกส คนรุ่นกลางลงมาใช้ภาษาอินโดนีเซีย ยังมีจำนวนประชากรที่ใช้ภาษาอังกฤษได้น้อย ยังไม่นับว่าภาษาท้องถิ่นนั้นมีจำนวนมาก แม้ว่าภาษาเตตุม (Tetum) จะเป็นภาษาหลักของคนในบริเวณใจกลางของประเทศก็ตาม

นอกจากนี้ระบบกฎหมายก็ยังคงใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก ทำให้คนสวนใหญ่มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมเพราะมีกำแพงทางภาษา

timor0 2796

ว่าที่สมาชิกอาเซียน

ติมอร์ฯ สมัครเป็นสมาชิกอาเซียนมาตั้งแต่ ค.ศ.2011 อย่างไรก็ตามระบบของอาเซียนนั้น ต้องรับด้วย “ฉันทามติ” คือต้องไม่มีชาติสมาชิกชาติใดคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาติมอร์ฯ ยังมีสถานะเป็นเพียง “ผู้สังเกตการณ์” เท่านั้น โดยประเทศที่คัดค้านชัดเจนที่สุดคือสิงคโปร์ที่มองว่าสภาพทางเศรษฐกิจและบุคลากรของติมอร์ฯ ยังไม่พร้อม

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่าเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 อาเซียนก็ติดหล่มอยู่กับปัญหาพม่า การรับสมาชิกใหม่ยังคงค้างอยู่ ล่าสุดปลายปี 2022 ปรากฏว่าชาติสมาชิกอาเซียนก็ดูเหมือนจะตกลงใน “หลักการ” แล้วว่าจะรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 11

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์ตัดสินใจมอบความช่วยเหลือเรื่องการอบรมบุคลากรและทุนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ของติมอร์ฯ ด้วงวงเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งยังมีการส่งทีมงานไปสำรวจความพร้อมของติมอร์ฯ เป็นระยะร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังมีข้อได้เปรียบคือ มีบุคลากรจำนวนมากพูดภาษาอินโดนีเซียได้ และ “บุก” เข้าไปในติมอร์ฯ ในหลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อันเป็นงานที่สิงคโปร์มีความถนัด

timor0 2797

ความช่วยเหลือจากไทย

นับตั้งแต่ติมอร์เป็นเอกราช ไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ที่เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับติมอร์เลสเต ยังไม่นับว่าไทยถือเป็นหนึ่งในชาติหลักที่ส่งทหารเข้าไปร่วมงานกับองค์การสหประชาชาติรักษาสันติภาพในติมอร์ฯ (กองกำลัง INTEFRET) ช่วงหลังการลงประชามติในปี 1999-2002 จำนวนถึง 1,600 คน

จนถึงทุกวันนี้ ความทรงจำของชาวติมอร์ที่เติบโตทันยุคนั้น (มักเป็นวัยผู้ใหญ่เริ่มมีอายุ) คือ ภาพของทหารไทยที่สอนเรื่องการทำนาและใช้ควายไถนา

หนังสือ “เส้นทางมิตรภาพ 2 ทศวรรษ ไทย-ติมอร์เลสเต” ของกรมเอเชียตะวันออก และศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ​ (กระทรวงการต่างประเทศ) ระบุว่า ความช่วยเหลือที่ไทยส่งเข้าไปในยุคปัจจุบันคือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ สร้างโรงเรียน 6 แห่ง พร้อมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านต้นแบบ 3 แห่ง โดยมีการอบรมบุคลากรในไทย ยังมีโครงการของกรมความมือระหว่างประเทศ (TICA) ส่งอาสาสมัครไทยเข้าไปทำงานในโครงการหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงในติมอร์ฯ และโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนในวาระครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต

การค้าระหว่างไทย-ติมอร์ ครึ่งแรกของปี 2022 ยังเพิ่มขึ้นหลายพันเท่า สินค้าที่ไทยส่งออกไปติมอร์ฯ คือ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์อาหาร ฯลฯ มูลค่า 8.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เริ่มนำเข้าน้ำมันดิบจากติมอร์ฯ (ไม่มีรายงานมูลค่า) นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษาปริญญาโท 20 ทุน โดยเน้นไปทางด้านการค้า และยังมีกรอบความร่วมมืออื่นๆ

นักการทูตอาวุโสท่านหนึ่งกล่าวว่า ที่มองว่าสิงคโปร์ค่อนข้างเพิ่มการสนับสนุนติมอร์ฯ (เห็นได้จากการเยือนติมอร์ฯ ของประธานาธิบดี รามอส ฮอร์ตา ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2022) ในช่วงนี้เพื่อช่วยเตรียมพร้อมในการเข้าสู่สมาชิกอาเซียนนั้น เพราะสิงคโปร์มีบทบาทคัดค้านติมอร์ฯ ไว้มากจึงต้องทำให้มากกว่าชาติอื่น

ขณะที่ คุณเอกพล พูลพิพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงดิลี ระบุว่าหลังจากประธานาธิบดีติมอร์ฯ กลับจากเยือนสิงคโปร์ ก็ได้มีการคุยกับทูตในอาเซียนเพื่อที่จะแบ่งสรรความช่วยเหลือโดยไม่ทับซ้อนกัน และไทยเองก็มีการส่งชุดการแสดงมวยไทยเข้าไปให้ชาวติมอร์ฯ ชม เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมให้มากขึ้น

ส่วนภาคเอกชน เราพบว่ามีความร่วมมือในเครือข่ายคาทอลิก อาทิ การส่งนักศึกษามาเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ซึ่งดำเนินติดต่อกันมายาวนานหลายปี