ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

leepe01
บ้านเรือนของชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล หลายหลังมีภาพวาดบนสังกะสีฝาบ้าน

เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วยเครือข่ายสื่อมวลชน อาทิ นักข่าวพลเมือง แลต๊ะแลใต้ ประชาไท สำนักข่าวชายขอบ The Reporters ฯลฯ รวมทั้งมูลนิธิชุมชนไท องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามประเด็นปัญหาชาวเลในพื้นที่อันดามันมายาวนาน ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก ‘หลีเป๊ะ’ ปัญหาที่ดินชาวเล” ณ ชั้น ๔ ห้อง SEA Junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ปัญหาที่ดินชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ต้นตอของปัญหาเกิดจากการนำพื้นที่สาธารณะของชาวเลท้องถิ่นกลุ่มอูรักลาโว้ย ประกอบด้วยสุสานบรรพบุรุษ ลำรางสาธารณะ เส้นทางสัญจรดั้งเดิม ตลอดจนทางเดินลงสู่หาด ฯลฯ ไปออกเอกสารสิทธิ์ให้กับเอกชน และมีการซื้อขายกันเป็นทอดๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เกิดกรณีผู้อ้างสิทธิ์ก่อรั้วปิดเส้นทางผ่านเข้า-ออกโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะที่ผู้คนท้องถิ่นใช้เป็นทางสัญจรมายาวนาน จนทำให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ไม่สามารถใช้ทางเดิมเข้าสู่โรงเรียนได้

leepe02 1
leepe02 2
เจ้าของบ้านในภาพเพิ่งจะชนะคดีที่ถูกนายทุนฟ้องขับไล่…ในขณะที่คนนอกเกาะเข้ามาทำธุรกิจโรงแรม ที่พัก ต่างพากันสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางสัญจรของชุมชนท้องถิ่น คูคลองสาธารณะก็ถูกถม จนเกาะหลีเป๊ะถูกน้ำท่วมแทบทุกปี

เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ใกล้เกาะอาดังและเกาะราวี เป็นถิ่นพำนักเพียงไม่กี่แห่งของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ที่มีวิถีการดำรงชีวิตผูกพันกับทรัพยากรท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม

ย้อนเวลากลับไปราวปี ๒๔๔๐ ในช่วงที่มีการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยมีกุศโลบายให้โยกย้ายชาวเลจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต มาอยู่เกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง ในเวลานั้นชาวอูรักลาโว้ยมีผู้นำชื่อ “โต๊ะฆีรี” ผู้เป็นต้นตระกูล “หาญทะเล” อันเป็นนามสกุลพระราชทาน

การยืนยันตัวตนว่าอยู่ในเขตแดนสยามของโต๊ะฆีรีและชาวเลคนอื่นๆ บนเกาะหลีเป๊ะ ทำให้เกาะหลีเป๊ะตกเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินสยาม หลังจากนั้นก็ยังมีการอพยพชาวเลจากเกาะต่างๆ มาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ รวมทั้งตั้งโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ซึ่งปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึงแม้ว่าจะมีชาวเลอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ในปี ๒๔๙๘ กลับมีชาวเลแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เพียง ๔๑ คน

leepe03
leepe04
เส้นทางเดินลงสู่หน้าหาด รวมทั้งสุสานบรรพบุรุษ ถูกอ้างสิทธิครอบครองโดยเอกชน สืบเนื่องจากกระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบธรรม (ภาพ : จำนงค์ จิตรนิรัตน์)
leepe05
ชาวบ้านและเด็กนักเรียนรวมตัวกันหน้าจุดที่มีการสร้างรั้วกันเส้นทางเดินไปโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ใช้เส้นทางนี้สัญจรไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน รวมทั้งสุสานชุมชนชาวเล

ด้วยวิถีการดำรงชีวิตที่มักจะอาศัยอยู่ตามหน้าหาด บางฤดูกาลก็ล่องเรือไปหากินตามเกาะต่างๆ และกลับมาพำนักถิ่นเดิมเมื่อถึงหน้ามรสุม ไม่ได้มีระบบคิดชัดเจนว่าต้องจับจองเป็นเจ้าของที่ดิน ชาวเลจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเอกสารสิทธิ และไม่คาดคิดว่าสิ่งนี้จะมีความสำคัญในอนาคต

ในปี ๒๕๑๐ มีคนจากนอกเกาะเข้ามารวบรวมเอกสาร ส.ค.๑ จากชาวเลทั้ง ๔๑ คน โดยให้เหตุผลว่าจะนำไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.๓ ชาวเลซึ่งไม่รู้หนังสือและพูดภาษาไทยแทบไม่ได้ ไว้เนื้อเชื่อใจและมอบเอกสารให้ จนออกเป็น น.ส.๓ จำนวน ๑๙ แปลง

แต่แทนที่ชาวเลเจ้าของพื้นที่จะมีชื่อเป็นผู้ครอบครองที่ดินอย่างตรงไปตรงมา กลับกลายเป็นชื่อคนบางคน

จากคำบอกเล่าของชาวเลที่ให้การไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ ๑ ระบุว่า ได้มีการข่มขู่ คุกคาม กดดัน และใช้วิธีการต่างๆ นอกกฎหมาย ทำให้เอกสาร น.ส.๓ กลายเป็นชื่อของคนแค่ไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม

ขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นๆ บนเกาะหลีเป๊ะซึ่งชาวเลอูรักลาโว้ยเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถางและครอบครองอยู่อาศัย แต่ไม่ได้ยื่นแจ้ง สค.๑ ไว้กับราชการ ก็ถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่เพื่อบังคับให้ขายในราคาถูก มีกรณีหนึ่งที่ลูกหลานชาวเลบันทึกเสียงการข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลเอาไว้ ก่อนที่จะถูกนำไปออกเป็น น.ส.๓ ทำให้ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะตกอยู่ในมือผู้มีอิทธิพลและพรรคพวกเกือบทั้งสิ้น

leepe06
leepe07
เด็กนักเรียนสาธิตการปีนรั้วกั้นให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐเห็นว่าพวกเขาต้องทำแบบนี้มาแล้วหลายสัปดาห์ ภายหลังมีผู้อ้างสิทธิครอบครองที่ดินสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางระหว่างโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะกับชุมชน (ภาพ : จำนงค์ จิตรนิรัตน์)

นอกจากเอกสาร น.ส.๓ ซึ่ง กสม.ระบุว่าไม่ถูกต้องจำนวนมาก ยังปัญหาเรื่องการขยายพื้นที่ การครอบครองที่ดินที่ “บวม” ขึ้นจากเอกสาร

ยกตัวอย่าง สค.๑ แปลงที่ ๑๑ ซึ่งกำลังมีข้อพิพาท กรณีเอกชนปิดกั้นเส้นทางเดินไปโรงเรียนของเด็กๆ และทางเดินลงสู่ทะเลของชุมชน ย้อนไปเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๙๘ เคยมีการแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) แปลงที่ ๑๑ จำนวนเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ต่อมาวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๗ มีการออกเป็น น.ส.๓ ปรากฎว่าพื้นที่ขยายเพิ่มเป็น ๘๑-๓-๔๐ ไร่

ตัวแทนจากกรมที่ดินอธิบายว่า ในยุคนั้นการชี้แนวเขต ส.ค.๑ เป็นการประมาณด้วยสายตา ไม่มีขอบเขตแน่ชัด เมื่อออกเป็น น.ส.๓ จึงอาจขยายออกตามที่ผู้ครอบครองบ่งชี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คืออาณาเขตที่ดิน น.ส.๓ จำนวน ๘๑-๓-๔๐ ไร่ ทำไมถึงมีที่ดินของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ประมาณ ๖ ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุรวมอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่โรงเรียนตั้งขึ้นก่อน ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ เป็นปมสงสัยว่าในกระบวนการจัดทำ น.ส.๓ ตัวแทนกรมที่ดินได้ลงพื้นที่ไปสำรวจบนเกาะหลีเป๊ะจริงหรือไม่ ซึ่งกรมที่ดินก็ยังไม่ได้ชี้แจงให้คลี่คลายในประเด็นนี้

leepe08
leepe09
การปิดเส้นทางผ่านเข้า-ออกโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ เป็นเหตุให้ชาวเลอูรักลาโว้ยเดินทางมายื่นหนังสือขอความคุ้มครองที่กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๖ และเดินทางไปยื่นเรื่องกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำเนียบรัฐบาล (ภาพ : จำนงค์ จิตรนิรัตน์)

การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน นส.๓ เมื่อหลายสิบปีก่อน นำมาสู่การขับไล่ กวาดต้อน ข่มขู่คุกคาม จนชาวเล จำนวนหนึ่งไร้ที่อยู่อาศัย ถูกฟ้องร้องขับไล่ ต้องอาศัยอยู่บนเกาะด้วยความหวาดระแวง ถูกย่ำยี ด้อยค่าศักดิ์ศรี ล่าสุดคือการปิดกั้นเส้นทางเดินเข้าสู่โรงเรียนของเด็กๆ ที่ทำให้ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะเจ็บปวดใจมาก

จำนงค์จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษามูลนิธิชุมชนไท อธิบายในงานเสวนา “ทางออก ‘หลีเป๊ะ’ ปัญหาที่ดินชาวเล” ว่า ในอดีตรัฐบาลบางยุคเคยพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการมอบเอกสารสิทธิที่ดิน เป็น ส.ค.๑ จำนวน ๔๑ แปลง ให้กับชาวเลอูรักราโว้ยที่อาศัยอยู่บนเกาะมานาน แต่จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมือกรมการปกครองส่งกำนันคนหนึ่งจากข้างนอกเข้าไปดูแลเกาะ เขาได้รวบรวม ส.ค.๑ ของชาวเลทุกแปลง และอาสาเอาไปออกเป็น น.ส.๓ แต่ท้ายสุดเอกสารทุกแปลงกลับออกมาเป็นชื่อญาติของกำนันจำนวนแค่ ๓-๔ คน โดยที่ชาวเลเจ้าของพื้นที่ตัวจริงไม่รู้เรื่อง มาทราบเอาตอนที่ที่ดินกำลังจะถูกขาย

การออกเอกสารยังคร่อมทับที่อยู่อาศัยของชาวเล และที่ดินในเอกสารเกิดการ “ขยาย” ยกตัวอย่างจากพื้นที่จริง ๕ ไร่ กลับได้รับการออกเอกสารเพิ่มเป็น ๑๐ ไร่ จาก ๘๐ ไร่กลายเป็น ๑๕๐ ไร่ เป็นต้น ที่ดินงอกครอบคลุมที่ดินของรัฐ ทางเดินสาธารณะ สุสานบรรพบุรุษ ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่ตั้งของโรงเรียนและสถานีอนามัยต่างก็ตกอยู่ในที่ดินแปลงนี้

การออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบธรรม เป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายพากันตั้งคำถาม พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ย้อนกลับไปวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๗ มีการใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน ซึ่งต้องมีการแจ้งครอบครอง หรือ ส.ค.๑ บนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งตอนนั้นมีหลายรายชื่อ แต่พอออกเป็น น.ส.๓ กลับเหลือไม่กี่คน

“ตามหลักแล้ว ราชการต้องสำรวจตรวจสอบความถูกต้องก่อนออกเอกสารสิทธิ น.ส.๓ แต่กรณีหลีเป๊ะ ปรากฏว่าที่ดินบางแปลงที่เคยแจ้งเป็น ส.ค.๑ ว่ามีพื้นที่ ๕๐ ไร่ เมื่อกลายเป็น น.ส.๓ กลับเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ ไร่ ความบกพร่องข้อแรกจึงเป็นของราชการที่ไม่ตรวจสอบ ทั้งในส่วนเส้นทางเดินสาธารณะ หรือแม้แต่ทางน้ำซึ่งไหลผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอแท้ๆ แต่นายอำเภอก็ยังวางเฉย

  “ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากราชการไม่ยอมกันที่สาธารณะประโยชน์ของแผ่นดินที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันออกก่อน เป็นความบกพร่องแน่นอน เพราะตามปรกติชุมชนต้องมีทางเดินลงทะเล มิหนำซ้ำพอออก น.ส.๓ ก็ขยายพื้นที่ไป ‘ทับหัวเพื่อน’ เรื่อยๆ อีกจนกลายเป็นพื้นที่กว่า ๑๐๐ ไร่ ฉะนั้นวันนี้เราไม่ได้สู้กับคนที่ถือเอกสาร แต่เราสู้กับคนที่ออกเอกสาร ซึ่งราชการไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด”

พลเอกสุรินทร์ ให้ความเห็นว่า ปัญหาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นกับลำรางทางน้ำสาธารณะ และทางเดินของชุมชน เป็นความรับผิดชอบของนายอำเภอที่สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาได้เลยทันที แต่เหตุที่แก้ยากเพราะนี่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลและคนมีเงิน

“จริงๆ ไม่ต้องถึงมือรัฐบาลหรอก แค่ใช้กฎหมายและข้อเท็จจริงก็จบ ปัญหาที่ดินก็เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย ความเดือดร้อนเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับชาวเลเท่านั้น แม้แต่ชาวกะเหรี่ยงบนภูเขา ก็เดือดร้อนจากการที่รัฐบาลประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่อยู่อาศัย ตนขอยืนยันว่าชาวเลมีสิทธิในทางเดิน ทางน้ำ เพราะเขาชอบด้วยกฎหมายตามข้อเท็จจริง ส่วนสาเหตุที่ไม่ทำไม่แก้ไขก็รับรู้กันอยู่ว่าเพราะมีคนทำรีสอร์ททับทางน้ำ

“กรณีหลีเป๊ะหน่วยงานที่มีหน้าที่จริงๆ ในการแก้ไขปัญหา หน่วยงานที่สังคมคาดหวังความช่วยเหลือมากที่สุดต้องเป็นปกครอง คือมหาดไทย ในทีนี้ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อยไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นี่คือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรงๆ เลยคือบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน รัฐมนตรีมหาดไทย บิ๊กป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา นี่แหละ ต้องสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้จัดการเดี๋ยวนี้ แล้วผู้ว่าฯ ก็สั่งให้อำเภอจัดการก็จบ ช่วยทำตามกฎหมายที่ถูกต้องเท่านั้นเอง แต่ที่สั่งไม่ได้ หรือไม่ได้สั่งเพราะอะไร ก็ต้องไปถามเอาเอง มีบางคนอ้างว่าปัญหาหลีเป๊ะยุ่งยาก ซับซ้อน จริงๆ ไม่ยากหรอก ที่ยากคือความไม่ซื่อ ไม่ตรง ความคดของคนนี่แหละทำให้เกิดความยากขึ้นมา ถ้าราชการตรง ราชการซื่อ ทำหน้าที่ของตัวเองแล้วจะไม่เกิดปัญหานี้อย่างเด็ดขาด”

leepe10
แต่ละเกาะ แต่ละแหลม แต่ละหาด มีชื่อเรียกเป็นภาษาชาวเลอูรักลาโว้ย มีประวัติความเป็นมา มีเรื่องเล่า ขอขอบคุณ ดร.สุพิณ วงศ์บุษราคัม นักภูมิศาสตร์ที่ทำวิจัยเชิงลึกกลุ่มชาวอูรักลาโว้ยที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล

ปมปัญหาการออกเอกสารสิทธิทับที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชาวเลเกาะหลีเป๊ะคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่นๆ ในหมู่เกาะอันดามันที่มีผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง .ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า กรณีหลีเป๊ะเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิ ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เป็นปัญหาพื้นฐานที่มักจะเกิดขึ้นตามพื้นที่ชายขอบของสังคมไทย พร้อมให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมาย ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องพื้นที่สาสธารณประโยชน์ ในปี ๒๕๔๙ มีรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องพื้นที่สาธารณะ ทั้งลำราง คูคลอง ทางสัญจร จุดจอดเรือหาปลาบริเวณหน้าหาด พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ถึงแม้จะมีใครอ้างครอบครองนานเพียงใด ก็ไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ หากมีหลักฐานยืนยันชัดเจน เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ สามารถชี้จุดแนวเขตได้ชัด ก็สามารถกันพื้นที่ออกมาจากส่วนที่ถูกอ้างว่าครอบครองได้ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่โดยเชื่อมต่อกับเส้นทางสาธารณะ ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากไม่ดูแลจัดการ ปล่อยให้เอกชนเข้าครอบครองก็ต้องถือว่าละเลยต่อหน้าที่ในการปกป้องพื้นที่สาธารณะ

  ประเด็นที่สอง กรณีสุสานบรรพบุรุษ การที่มีการแจ้งครอบครองโดยเอกชน เป็นภาพสะท้อนเลยว่ามีเรื่องโฉนด “บวม” เกิดขึ้นแน่นอน สำหรับชาวพื้นเมือง สถานที่ฝังศพบรรพบุรุษไม่ถือเป็นพื้นที่ของใครรายใดรายหนึ่ง การที่เอกชนคนภายนอกเข้ามามีสิทธิครอบครอง สะท้อนภาพปัญหาของทางราชการที่ไม่ตรวจสอบพื้นที่จริง

ประเด็นที่สาม การแจ้งสิทธิครอบครองที่ดิน ๔๑ แปลง พื้นที่ประมาณ ๘๕๐ ไร่ มีรายงานการตรวจสอบของ กสม.ปี ๒๕๔๗ ระบุว่า ในปี ๒๔๙๗ มีการแจ้งครอบครองที่ดิน ๔๑ แปลง แต่ละแปลงมีรายชื่อบุคคลในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ปัญหาใหญ่มาเกิดในปี ๒๕๑๐ มีการมอบอำนาจให้คนๆ หนึ่งไปออก น.ส.๓ ไม่ว่าการมอบอำนาจจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เป็นความเจ็บปวดของชาวบ้านคือหลังจากคนผู้นั้นเสียชีวิต ชาวเลถึงได้ทราบว่าที่ดินของตนกลายเป็นของนายทุนแล้ว และต่อมาถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญาว่าบุกรุก ในปี ๒๕๔๗ ศาลตัดสินว่าชาวบ้าน ๗-๘ คน ร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น จากผู้ครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ปี ๒๕๙๘ กลายมาเป็นผู้บุกรุกในปี ๒๕๔๗ ปัญหาที่ดิน ๔๑ รายนี้น่าจะเป็นปัญหาพื้นฐานซึ่งเชื่อมโยงกับการโอนสิทธิในเวลาต่อมา

  “การแก้ปัญหาเรื่องลำรางสาธารณะ เส้นทางสัญจร จุดจอดเรือหน้าหาด หรือสุสานบรรพบุรุษ ส่วนนี้แก้ปัญหาได้ง่ายกว่า แต่ที่เป็นประเด็นปัญหาแก้ค่อนข้างยากคือที่ดิน ๔๑ แปลง ถ้าเราต่อสู้บนพื้นฐานปัจจุบัน ชาวบ้านชนะยากมาก เมื่อเรื่องไปถึงทางการ เรื่องขึ้นไปถึงศาล เขาก็จะดูเอกสารมหาชน แง่เงื่อนสำคัญเราอาจจะต้องมาดู ไล่เรียงที่ดิน ๔๑ แปลง สอบสวนเป็นรายแปลงเลยว่าแต่ละแปลงว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร ใช้ฐานการสอบสวนสิทธิ อย่างน้อยที่สุดต้องไล่เรียงไปถึงปี ๒๕๑๐ ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการมอบอำนาจ

“ปี ๒๕๔๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสอบสวนรายละเอียดว่าเมื่อปี ๒๔๙๘ แจ้งครอบครองสิทธิโดยใคร เปลี่ยนมือมาอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ไล่เรียงไปที่จุดเริ่มต้น ก่อนปี ๒๕๑๐ ที่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ และถ้าไม่ไล่เรียงไปถึงปี ๒๔๙๘ โอกาสในการสู้ของชาวบ้านลำบากมาก ยิ่งพื้นที่ชายทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจยิ่งสูง ชาวบ้านก็ยิ่งเสียเปรียบ เนื่องจากภาครัฐจะใช้เอกสารสิทธิของทางราชการเป็นหลักในการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งแน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำในแง่โอกาส สิทธิ การรู้กฎหมายมีส่วนสำคัญ จำเป็นต้องมีกลไกในการช่วยพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของชาวบ้านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”

leepe11
พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง และ ดร.นฤมล อรุโณทัย (ภาพ : ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม)
leepe12
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ (ในจอ) สลวย หาญทะเล และ เรณู ทะเลมอญ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ (ภาพ : ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม)

ทางด้าน ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากงานวิจัย ชาวเลสมัยก่อนมีทั้งพื้นที่ส่วนรวมทั้งทางน้ำและเส้นทางเดินสาธารณะ แต่เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้ามา จึงมีสิ่งปลูกสร้างทับไปหมด เกิดเป็นคำถามว่าสังคมของเราเดินมาผิดทางหรือไม่

“ก่อนที่เราจะไปถึงทางออก ก่อนที่เราจะไปถึงแนวทางในอนาคต ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าชาวเลอยู่กันยังไง เกาะหลีเป๊ะแต่ดั้งเดิมเป็นพื้นที่ธรรมชาติ จากแผนที่ก่อนปี ๒๕๒๐ เราจะเห็นได้ว่าไม่มีอาคารขนาดใหญ่ ไม่มีโรงแรม รีสอร์ท “จากที่ชาวเลเล่าให้ฟัง จากประวัติบอกเล่า ก็มีพื้นที่ทางน้ำ เวลาฝนตกมีพื้นที่น้ำขัง มีแอ่งน้ำ มีผักบุ้ง มีปลา มีอาหาร พอเราพัฒนาการท่องเที่ยวโดยไม่ได้นึกถึงอดีต ไม่ได้นึกถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา การตั้งถิ่นฐาน ไม่ได้นึกถึงระบบนิเวศด้วยซ้ำ จากระบบนิเวศเดิมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หน้าฝนมีน้ำขัง เราก็สร้างโรงแรมทับ มันก็เลยเกิดปัญหา

“เมื่อก่อนบนเกาะหลีเป๊ะมีการปลูกข้าวไร่ ทำสวน ปลูกมะพร้าว แต่ละเกาะ แต่ละแหลม แต่ละหาด มีชื่อเรียกเป็นภาษาชาวเลอูรักลาโว้ย มีประวัติความเป็นมา มีเรื่องเล่า ทรัพยากร แต่เดี๋ยวนี้เราเรียกชื่อเกาะ ชื่อแหลม ตามรีสอร์ท เรามองแต่ปัจจุบัน เราไม่ได้มองอดีต การย้อนกลับไปดูประวัติ สภาพระบบนิเวศเดิมๆ เป็นเรื่องสำคัญ ก่อนที่เราจะมองไปข้างหน้า

“ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณอื่นๆ โดยเฉพาะเกาะอื่นๆ ของอันดามันที่มีสภาพนิเวศเปราะบาง การสร้างสิ่งปลูกสร้างมากๆ ถ้าเป็นโรงแรมก็ต้องการน้ำ ต้องมีสระว่ายน้ำให้นักท่องเที่ยว แล้วเราได้ลองประเมินดูหรือยังว่าน้ำจืดที่เป็นทรัพยากรบนเกาะหลีเป๊ะมีมากน้อยแค่ไหน ชาวบ้านจะมีน้ำพอใช้มั๊ย สภาพน้ำเป็นยังไง ในเมื่อวันนี้ก็ยังต้องเจาะบ่อบาดาลอยู่ แล้วสภาพน้ำจะเป็ยยังไงในเมื่อสิ่งปฏิกูล แหล่งขยะ มันผสมปนเปกัน ทุกวันนี้คนนอกที่เข้ามาทำธุรกิจที่พักพากันปิดกั้นเส้นทางดั้งเดิม ทำเป็นรั้วของรีสอร์ท คูคลองสาธารณะถูกถม จนเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางทะเลเกิดน้ำท่วมแทบทุกปี ถ้าคิดจะหาทางออก การมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด”

ท่ามกลางมรสุมรุมล้อมชาวเลอูรักลาโว้ย ล่าสุดรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการ ๒ ชุด ให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ได้แก่ คณะกรรมการอํานวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่มี พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับยชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ที่มีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก เป็นประธาน เพื่อทบทวนข้อพิพาท หาความจริงและความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย

leepe13
leepe14
การแสดงเชิงสัญลักษณ์และอ่าน “คำปรารภ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ” หลังร่วมเวทีเสวนา ที่ บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ภาพ : ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม)

คำปรารภ “ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ”
เผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖

ณ ชั้น ๔ ห้อง SEA Junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เรา ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ขอส่งสารนี้ถึงคนไทยทั้งประเทศ เราอยากบอกกล่าวถึงความอัดอั้นตันใจของเราให้คนทุกคนได้รับทราบว่า “บรรพบุรุษของเรา” ได้อยู่อาศัยในเกาะแก่งต่างๆ ในแถบทะเลอันดามันของประเทศไทยมายาวนานกว่า ๓๐๐ ปี ทำมาหากินโดยการทำการประมง ปลูกมะพร้าว ปลูกข้าว หล่อเลี้ยงชีวิตอย่างเรียบง่ายและดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีประเพณีวัฒนธรรม มีภูมิปัญญา ที่ถ่ายทอดสืบกันมารุ่นสู่รุ่น…อย่างไม่เคยเลือนหาย

ชาวเลเกาะหลีเป๊ะมีความภาคภูมิใจมาก เมื่อครั้งหนึ่งที่เกิดการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศสยามในขณะนั้นกับประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ บรรพบุรุษของชาวเลหลีเป๊ะในขณะนั้นได้ยืนยันว่า “เราจะอยู่กับสยาม” นั่น ทำให้เกาะกลีเป๊ะตกเป็นของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นเกาะที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยหลายล้านบาทต่อปี

แต่การท่องเที่ยวนั้น กลับนำภัยร้ายมาสู่ชาวเลเกาะกลีเป๊ะอย่างคาดไม่ถึง นั่นคือการเข้ามาของบุคคลภายนอกเกาะหลีเป๊ะ เข้ามาแย่งยึดสิทธิในที่ดินของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ นำไปออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน นส.๓ เป็นของตนเอง กวาดต้อน ขับไล่ ข่มขู่ คุกคาม ชาวเล จนชาวเลเกาะหลีเป๊ะไร้แม้กระทั่งที่อยู่อาศัย ไร้ทางเดินสาธารณะ และที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะเจ็บปวดใจมากที่สุดคือ “การรังแกลูกหลานชาวเล” โดยการปิดกั้นทางเดินเข้าโรงเรียนบนเกาะหลีเป๊ะ

เรา ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ต้องทนทุกข์กับสภาพการถูกขับไล่-ไลรื้อ มานานกว่า ๕๐ ปี ถอยร่น อพยพโยกย้ายมาหลายครั้ง ถูกฟ้องร้องขับไล่ไม่ต่ำกว่า ๓๐ คดี ในปัจจุบัน ต้องอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะด้วยความหวาดระแวง ถูกด้อยค่า ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความมนุษย์อย่างไร้ปราณี

วันนี้ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะจึงอยากส่งเสียงนี้ไปถึงคนไทยทุกคนว่า วันนี้เราได้หมดสิ้นแล้วซึ่งความกลัว หมดแล้วซึ่งความอดทน จากการถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมมายาวนาน แต่เราไม่ได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องใดๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่เราแค่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของชาวเล ไม่ให้ใครมาละเมิดสิทธิของเราเพียงเท่านั้น และเราจะเดินหน้า เพื่อทวงคืนแผ่นดินที่เคยเป็นของบรรพบุรุษของเราคืนมา เพื่อให้ลูกหลานเราในอนาคตจะได้ไม่ต้องมาประสบชะตากรรมเหมือนเรา…ในตอนนี้ จึงขอให้คนไทยทุกคนได้โปรดช่วยเหลือพวกเรา ส่งใจให้พวกเรา และเราสัญญาว่า เราจะรักษาเกาะหลีเป๊ะไว้ให้เป็นสถานที่ที่คนไทยทุกคน ได้ไปท่องเที่ยว ไปชมธรรมชาติที่สวยงามตลอดไป