กาลเวลาล่วงผ่าน รูปฤๅษีดัดตนหล่อโลหะสมัยรัชกาลที่ ๓ อันเคยตั้งประดับในศาลารายวัดพระเชตุพนฯ ค่อยๆ ชำรุดหักพัง บ้างถูกลักขโมยไปขาย เช่นที่ ส. พลายน้อย เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ลางเนื้อชอบลางยา” ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๓๘ เกิดคดีนายสุก ทหารรักษาวัง ขโมยรูปฤๅษีดัดตนไปขายถึง ๑๖ รูป

มรดกของมนุษยชาติ

น่าเสียดายที่ ส. พลายน้อย มิได้ระบุที่มาของข้อมูลนี้ ว่าท่านคัดลอกมาจากแหล่งใด หรือหนังสือเล่มไหน จึงยังค้นเพิ่มเติม หรือหารายละเอียดอื่นไม่ได้ แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า กรณีนี้คงมิได้ลักไปขายเป็นโบราณวัตถุหรือ “ของสะสม” อย่างคนสมัยนี้ แต่คงขายให้ไปหลอมเอาเนื้อโลหะมากกว่า

สุดท้าย เมื่อรูปหล่อฤๅษีดัดตนชำรุดสูญหายไปมากเข้า ทางวัดพระเชตุพนฯ จึงเก็บรวบรวมรูปที่ยังเหลืออยู่ราว ๒๐ กว่าตน ย้ายออกจากในศาลาราย ไปตั้งประดับกลางแจ้ง อยู่บนเขามอในบริเวณลานรอบเขตพุทธาวาส

ล่าสุด เมื่อปี ๒๕๕๙ คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีดำริให้จัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ๘๐ ท่า ๘๒ ตนขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ ๕ รอบ และทยอยสร้างจนสำเร็จครบถ้วนตามจำนวนในปี ๒๕๖๑

แม้ยังยึดตามต้นฉบับ “สมุดภาพโคลงฤๅษีดัดตน” แต่ในการปั้นได้ปรับรูปแบบให้เป็นงานช่างร่วมสมัย เช่นมีลักษณะกายวิภาคหรือกล้ามเนื้อที่เหมือนคนจริงมากขึ้นกว่าชุดเดิม แล้วหล่อด้วยทองเหลืองรมดำ ปัจจุบันนำมาจัดตั้งไว้ตามเขามอรอบพระระเบียง วัดพระเชตุพนฯ พร้อมป้ายคำอธิบายแต่ละท่า

ถัดมาในปี ๒๕๖๒ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ได้ประกาศรับรองให้ “นวดไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ และโดยเหตุที่ “ฤาษีดัดตน” นับเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของ “นวดไทย” ด้วย ในปี ๒๕๖๔ ไปรษณีย์ไทยจึงออกจำหน่าย “แสตมป์ที่ระลึก” เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ๒ เมษายน เป็นชุดแสตมป์สี่ดวง ราคาดวงละ ๓ บาท โดยนำภาพจากสมุดภาพโคลงฤๅษีดัดตนจำนวนสี่แบบ คือ แก้เกียจ แก้ส้นเท้า แก้ลมตะคริว และแก้กล่อน เพื่อ “เผยแพร่นวดไทย ซึ่งยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”

ในปี ๒๕๖๔ สำนักพิมพ์เมืองโบราณยังได้จัดพิมพ์หนังสือ “ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน” ขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นจากลายเส้นฝีมือชั้นครูใน “สมุดภาพโคลงฤๅษีดัดตน” ฉบับดั้งเดิม แต่ปรับแปลงด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล และฝีมือศิลปินร่วมสมัยของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ก่อกำเนิดเป็นภาพฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่มีสีสันสดใส เพื่อให้สอดคล้องกับคำโคลงที่ว่า “เขียนเคลือบภาคย์พื้นผิวกาย” แล้วจึงถ่ายถอนรูปเขียนนั้น ตีพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มหนังสือ พร้อมกับคำโคลงประจำภาพแต่เดิม โดยถอดความจากร้อยกรองเป็นร้อยแก้ว พร้อมกับเพิ่มเติมคำอธิบายขยายความ ด้วยหวังจะสื่อสารกับผู้อ่านยุคปัจจุบันและสังคมร่วมสมัย เพื่อส่งต่อภูมิปัญญานี้ไปสู่อนาคตข้างหน้า

ทั้งนี้ด้วยกตัญญุตาคารวะแก่ครูฤๅษี ครูหมอ และครูช่าง ผู้ร่วมกันสรรค์สร้างและสืบสานองค์ความรู้นี้ให้แก่สังคมไทยมาแต่โบราณกาล


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ