๏ สังกสีดีบุกเข้า รคนเจือ
หล่อคณะนุ่งหนังเสือ สถิตย์ไว้
กามันตะกีเขือ ข้อยหนุ่ม นักนอ
เหยียดยึดหัตถ์ดัดได้ แต่แก้เกียจกายฯ

พระราชนิพนธ์

dadton p20

(ถอดความ) กล่าวถึงการหล่อรูปฤๅษีดัดตน ผู้นุ่งห่มหนังเสือ ด้วยสังกะสีผสมกับดีบุก กามันตะกีผู้นี้ยังดูหนุ่มแน่น ท่านเหยียดแขนดัดนิ้วเพื่อแก้เกียจ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์โคลงบทแรกเป็นประเดิม ตามข้อความในโคลงมิได้ให้รายละเอียดท่าดัดตนแก้เกียจ แต่ใน “สมุดภาพโคลงฤๅษีดัดตน” วาดให้กามันตะกีนั่งขัดสมาธิ ยืดตัวตรง นิ้วมือทั้งสองข้างประสานกัน เหยียดสุดแขนไปทางด้านหน้า

ท่าดัดตนแก้เกียจนี้ ในตำราบางเล่มอธิบายว่าคือท่า “บิดขี้เกียจ” อย่างที่เราท่านทำกันนั่นเอง

ด้านข้างภาพฤๅษี ช่างเขียนยังแทรกภาพช่างหล่อไว้อีกสองนาย คนหนึ่ง เสื้อผ้าหน้าผมบ่งบอกว่าเป็นจีน ยืนชี้นิ้วสูบกล้อง คงเป็นหัวหน้าช่าง อีกคนคงเป็นช่างไทย นุ่งผ้าเตี่ยว กำลังชักสูบโหมเร่งไฟในเตาหล่อหลอมโลหะ ตรงตามความที่กล่าวถึงในโคลง

ช่วงที่ผู้เขียนค้นคว้าเรียบเรียงหนังสือ “ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน” (๒๕๖๔) ขณะนั้นยังค้นไม่พบนาม“กามันตะกี” ว่ามาจากเอกสารโบราณหรือวรรณคดีเรื่องใด หากแต่เมื่อหนังสือตีพิมพ์เสร็จสิ้นไปแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต เมตตาชี้แนะว่าในหนังสือ “ตำราพิชัยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ ๑” ระบุถึงตำราพิชัยสงครามอันมีกลศึก ๒๑ ประการ ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ใน “สมเด็จจักรพรรดิรู้ คัมภีร์ ชื่อว่านามกามมนทกี กล่าวแก้”

ชื่อ “กามมนทกี” ในที่นี้ ใกล้เคียงกับ “กามันตะกี” ในโคลงฤๅษีดัดตนบทแรกมาก ยิ่งกว่านั้น ยังชวนให้นึกถึง “กามันทกะ” หรือ “กามันทะกี” (Kamandaka/Kamandaki) ผู้ประพันธ์ “นีติสาร” (Nitasara) คัมภีร์ว่าด้วยอำนาจ แต่งขึ้นตั้งแต่ยุคราชวงศ์คุปตะของอินเดียโบราณ ตำราเล่มนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กามันทกียนีติสาร” (Kamandakiya nitasara) ดังนั้น หาก “กามมนทกี” ในตำราพิชัยสงครามฉบับรัชกาลที่ ๑ เป็นบุคคลเดียวกับผู้แต่ง “นีติสาร” ย่อมเป็นหลักฐานว่าคนไทยโบราณรู้จักหนังสือเรื่องนี้ในฐานะ “ตำราพิชัยสงคราม”

ทว่ายังเหลือปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ต้องขบคิดกันต่อ นั่นคือในโคลงบทนี้ นับรวม “กามันตะกี” เข้าในหมู่พวกของพระฤๅษี มิใช่พระเจ้าจักรพรรดิ ดังที่อ้างถึงใน “ตำราพิชัยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ ๑”

หรือว่ามีฤๅษีนามนี้ หลงอยู่ในวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เรายังค้นไม่พบจริงๆ ?


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ