จากบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 456 มีนาคม 2566

จากบรรณาธิการ - Nostalgia

ผมไม่ใช่วัยรุ่นยุค 90s แต่เป็นยุค 80s 

เข้ายุค 90s ก็เป็นช่วงเปลี่ยนงานเปลี่ยนเส้นทางชีวิต มาเริ่มงานใหม่ที่นิตยสาร สารคดี พอดี

เป็นทศวรรษที่ได้ทดลองทำอะไรหลายอย่างสำหรับงานที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง ทั้งสัมภาษณ์และเขียนงานคอลัมน์ประจำด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี  ลงพื้นที่เขียนสารคดีพิเศษบางเรื่อง (นับนิ้วมือได้ เพราะไม่ใช่งานหลัก) แต่เป็นโกสต์ไรเตอร์ให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ส่งงานเข้ามาตีพิมพ์ที่ สารคดี  ฝึกงานพิสูจน์อักษร และเรียนรู้การเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่ม นำสารคดีหลาย ๆ เรื่องที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารมารวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กและหนังสือเล่มพิเศษในนามสำนักพิมพ์สารคดี

ได้ฟังคุณสืบ นาคะเสถียร มาอภิปรายแบบโดนใจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “มาในนามตัวแทนสัตว์ป่า” และมีโอกาสร่วมนั่งคุยด้วยในห้วยขาแข้งและที่กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๓๓  ยุคนั้น

ทีมงานนิตยสาร สารคดี มีโอกาสเข้าห้วยขาแข้งบ่อย และนำเรื่องราวงานวิจัยสัตว์ป่ามานำเสนอผู้อ่านอยู่สม่ำเสมอ จนไม่คาดคิดว่าจะต้องมีปกฉบับ “ชีวิตและความตายของ สืบ นาคะ-เสถียร” ที่ยังอยู่ในใจผู้อ่านเสมอ จากงานเขียนของบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ในยุค 90s คือพี่จอบ-วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ได้ร่วมสังเกตการณ์และชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ยุคที่การสื่อสารจำกัด เพราะพอออกจากกลุ่มคนที่นั่ง ๆ นอน ๆ บนถนนราชดำเนินมาถึงแถวสยามสแควร์ก็เหมือนอยู่คนละโลก เพราะคนยังเดินจับจ่ายใช้สอยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ถือเป็นทีม A ของการบันทึกภาพประวัติศาสตร์สุริยุปราคาเต็มดวงในปี ๒๕๓๘ ไปประจำตำแหน่งกับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นเพื่อบันทึกภาพคราสผ่านเข้าประเทศไทยจังหวัดแรกที่ตาก แต่กลับเป็นทีมโชคร้าย เพราะมีเมฆก้อนน้อยมาบังพระอาทิตย์ช่วงสุริยุปราคาเต็มดวงพอดี ขณะที่ทีมงาน สารคดี
ทีมอื่น ๆ ที่กระจายอยู่ในอีกหลายจังหวัดตามเส้นทางคราสถ่ายภาพได้

เข้าปี ๒๕๔๐ คงไม่มีเหตุการณ์ไหนช็อกคนไทยเท่ากับวิกฤตต้มยำกุ้ง รายได้โฆษณาจำนวนมากที่นิตยสาร สารคดี เคยได้หดหายไปทันที พร้อม ๆ กับการหดตัวของรายได้จากการจำหน่ายหนังสือพ็อกเกตบุ๊กของสำนักพิมพ์ จนถึงกับมีการคุยกันว่าสารคดีจะไปต่อได้หรือไม่

วันนั้น (และถึงวันนี้) ต้องขอบคุณ “เจ้านาย” ที่เขียนจดหมายให้กำลังใจพนักงานว่า ให้ตั้งใจทำนิตยสารและหนังสือดี ๆ ให้ผู้อ่านต่อไป  สารคดีไม่มีการปลดพนักงานออกเหมือนองค์กรอื่น ๆ   

เราเลือกยุติการทำโครงการหนังสือที่ลงทุนสูงอย่างหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ที่เจาะลึกท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ อย่างเข้มข้น นำทีมโดยคุณสุดารา สุจฉายา ซึ่งนับจากนั้นก็ไม่เห็นสำนักพิมพ์ไหนทำหนังสือที่มีคุณภาพระดับนั้นได้อีก

ประสบการณ์จาก “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ทำให้เกิดหนังสือไกด์บุ๊กท่องเที่ยวชุด “นายรอบรู้” ที่กลายเป็นรายได้หลักอีกทางขององค์กร  “นายรอบรู้” เป็นคู่มือที่บุกเบิกการท่องเที่ยวด้วยตนเอง ได้รับความนิยมมากในยุค 2000s ต่อเนื่องมา 2010s ก่อนจะถูกคอนเทนต์ของบล็อกเกอร์ออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวและแผนที่ดิจิทัลมาแทนที่

ในยุควิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง สารคดี ยังทำสกู๊ปปกที่กลายเป็นปกคลาสสิกและได้รับการตอบรับอย่างสูงมากจากผู้อ่านคือ ฉบับมีนาคม ๒๕๔๑ ตามรอยพระเจ้าตากสิน กู้ชาติไทย และฉบับพฤษภาคม ๒๕๔๑ หม่อมเจ้า สิทธิพร กฤดากร “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีงานวิจัยพบว่าคนที่ชอบ nostalgia นั่งคุยนั่งย้อนคิดถึงเรื่องราวหนหลังจะมีสุขภาพใจดีกว่าคนที่ไม่ชอบคิดถึงอดีต

แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ ย้อนระลึกถึงอะไรดี ๆ ในยุค 90s บ้าง

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com