๏ อายันญาณยิ่งผู้ ผนวชแขก
เนาพนัศฝ่าแฝก หาบหิ้ว
โรคลมแล่นดุแดก วางหาบ ดัดแฮ
แอ่นอกเอี้ยวเอวสยิ้ว แสยะหน้าเงยหงายฯ

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามรอยฤๅษีดัดตน (13) อายัน

(ถอดความ) อายันฤๅษีแขกผู้มีญาณแก่กล้า อาศัยอยู่ในป่า หาบคอนผลหมากรากไม้เดินบุกป่าฝ่าดงมา เกิดโรคลมในอกในเอวขึ้น จึงวางหาบลง แล้วดัดตน แอ่นอกเอี้ยวเอว พร้อมกับแหงนหน้าหงายศีรษะ เพื่อบรรเทาอาการ

ในบทละคร “อิเหนา” นิยมใช้ศัพท์ภาษาชวา หรือคำแขกยะวา หลายคำ เพื่อสร้างความรู้สึก “เป็นอื่น” อัน “น่าตื่นตาตื่นใจ” สำหรับผู้ฟังผู้อ่าน คล้ายกับการ “ออก ๑๒ ภาษา” ทางฝั่งดนตรีไทย คำชวาหลายคำยังติดค้างอยู่ในภาษาไทยต่อมา โดยหลงลืมกันไปแล้วว่าต้นทางคือเรื่อง “อิเหนา” เช่น ยาหยี (ที่รัก) บุหลัน (พระจันทร์) บุหรง (นก) ตุนาหงัน (การหมั้นหมาย) ส่วนคำว่า “อายัน” ก็เป็นศัพท์ชวาที่ปรากฏหลายครั้งใน “อิเหนา” ใช้หมายถึงพระฤๅษี เช่น

๏ เมื่อนั้น
อายันอันอยู่ในสถาน
นั่งสำรวมอินทรีย์มินาน
เล็งญาณก็แจ้งที่ในใจ

หรืออีกบทหนึ่ง

๏ เมื่อนั้น
อายันผู้ทรงสิกขา
แจ้งการด้วยญาณปรีชา
จึงมีวาจาถามไป

ตอนที่อิเหนาออกบวชเป็นฤๅษีมีฉายาว่า “อายันกัศมาหรา” หรือ “อายันปันหยี” ส่วนสังคามาระตาซึ่งออกบวชเป็นฤๅษีพร้อมกัน ได้รับนาม “อายันยาหยัง”

ในที่นี้ โคลงกล่าวเพียงว่าฤๅษีชื่อ “อายัน” เข้าใจว่าเพื่อให้ฟังดูเป็นคำชวา รับกับที่ใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ระบุว่าท่านเป็น “ผู้ผนวช” (ฤๅษี) “แขก”

ส่วนอาการที่ในโคลงใช้คำว่า “ลมแล่นดุแดก” ชวนให้นึกถึงศัพท์ “ลมแดก” ในหนังสือ “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) อันเป็นพจนานุกรมภาษาไทยยุคแรกๆ พิมพ์เมื่อปี ๒๔๑๖ ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในนั้นอธิบายว่า “คือลมดันในอก, คนมีลมเกิดภายในมันดันที่น่าอกป่วนขึ้นมานัน” สอดคล้องกับคำบรรยายสรรพคุณการดัดตนท่านี้ ที่ว่าใช้บรรเทาลมในอกในเอว


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ