เรื่อง: ศิรินญา สุวรรณโค
ภาพ: สาธิตา ธาราทิศ

บันทึก คลองทรงจำ ก่อนเมืองจะหันหลังให้กับคลอง
นักท่องเที่ยวล่องเรือชมบรรยากาศบ้านเรือนริมคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่

“…แต่ก่อน อะไรๆ ก็คลองทั้งนั้น…”

“…คลองค่อยๆ เปลี่ยนไปจนเราไม่รู้ตัว…”

“…ยังไงคลองก็สำคัญ มันเป็นเส้นเลือดของคนตรงนี้ เป็นหัวใจของคนอยู่อาศัยที่นี่…”

สองเสียงจากคนริมคลองบางกอกใหญ่และหนึ่งเสียงจากคนอีกฟากซึ่งเป็นจุดตัดต้นคลองบางมดฝั่งสนามไชย ฉายเรื่องราวที่ไหลไปไม่หยุดนิ่งราวกระแสน้ำตรงหน้า ระหว่างการสนทนาที่สงบเย็น เสียงน้ำไหลและเรือที่แล่นผ่าน ความทรงจำหลากช่วงของคนคลองกลับมาปรากฏแจ่มชัด ทั้งความกังวลใจต่อการแปรเปลี่ยนและประกาย “ความหวัง” น้อยๆ

1

หันหน้าเข้าคลอง มองความทรงจำ

สมชาย กมลศักดาวิกุล มักเรียกแทนตัวเองว่า “อาแปะ”มักพูดประโยคว่า แต่ก่อน อะไรๆ ก็คลองทั้งนั้น…” บ่อยครั้งพอๆ กับ “สมัยก่อน อะไรๆ ก็เรือทั้งนั้น” อาแปะสมชายคือหัวเรือใหญ่ของโรงเต้าเจี้ยว “เฮ้า ย่ง เซ้ง” รุ่นที่ 3 ในวัย 82 ย่าง 83 ปี อาแปะชวนย้อนมองความทรงจำที่เล่าต่อมาจากบรรพบุรุษของโรงเต้าเจี้ยวหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่แห่งคลองบางกอกใหญ่ ตั้งแต่การล่องเรือของ “ก๋ง” มายังริมคลองบางกอกใหญ่และลงหลักปักฐานก่อร่างเป็นโรงเต้าเจี้ยวขึ้นในปี 2446

“แต่ก่อนคลองบางหลวงมีโรงซีอิ๊วอยู่ทั้งหมด 9 โรง คนจีนมาอยู่ไทยก็ทำซีอิ๊วเต้าเจี้ยวบ้าง ทำกันหมด พอเจริญขึ้นเขาก็ขายแล้วย้ายกันหมด เลยเหลือที่นี่แค่หนึ่งที่”

กระแสการเปลี่ยนแปลงไหลผ่านคลองบางกอกใหญ่มากว่าศตวรรษ

“ที่นี่เป็นสายน้ำใหญ่นะ เมื่อก่อนเรียกแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนมาเป็นคลองบางหลวง มีเพลงด้วยนะ เพลงบางหลวง แล้วต่อมาถึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นบางกอกใหญ่”

…โอ้บางหลวงนามนี้
พี่ครองรักหนักหน่วง พี่ห่วงเนิ่นนาน
บางหลวงฝั่งคลองให้พี่หมองใจตื้นตัน
บางหลวงหน่วงใจพี่ฝันฝันสัมพันธ์เสมอ…

สายลมพัดผ่านเข้ามาเบาๆ ในช่องประตูกว้างที่หันหน้าเข้าหาคลองบางกอกใหญ่ ชวนให้พ่อค้าใหญ่นึกถึงวัยเยาว์สมัยที่ถนนยังไม่ตัดผ่าน เมื่อครั้งน้ำในลำคลองยังใสสะอาดขนาดที่เอาน้ำในคลองนี่แหละมาทำเต้าเจี้ยว

ต้นไม้เยอะ คลองนี่ โห ใสสะอาด ใสจนเห็นตัวกุ้งเลย พอเย็นๆ น้ำขึ้นปั๊บ กุ้งจะมา พอน้ำลง ปลาลอยกันเป็นแถว อากาศเย็นสบาย”

อาแปะยังเล่าเรื่องอากาศเย็นสบายที่เป็นต้นเหตุให้อดซื้อพัดลมในวันแต่งงานว่า

“สมัยก่อนไม่ร้อนอย่างงี้ อาแปะแต่งงานจะซื้อพัดลมตัวหนึ่ง อาก๋งบอกไม่ต้อง เอาพัดก็พอ เพราะมันไม่ร้อน อั๊วมีพัด ลื้อไม่ต้องใช้พัดลม”

วิถีชีวิตชาวเรือและความคึกคักของลำคลองก็ดูเหมือนจะเป็นอีกสีสันที่สร้างแววตาเป็นประกายให้อาแปะ

“เมื่อก่อนอะไรๆ ก็เรือทั้งนั้น ตอนเช้าๆ จะมีพระมาบิณฑบาต พายเรือหัวแหลมๆ น่ะ มีความสุขมาก มีก๋วยเตี๋ยวเรือ มีโอเลี้ยง ก๋วยเตี๋ยวนี่อร่อย กริ๊งๆ เป๊บๆ บีบแตรอยู่นั่นแหละ สมัยนั้นมีความสุข

“แต่ก่อน อะไรๆ ก็คลองทั้งนั้น เรือเยอะไม่ขาดสาย สมัยก่อนมาเป็นร้อยกว่าลำ เช้าๆ วิ่งกันไปเที่ยวตลาดน้ำวัดไทร”

———–

klongsongjam03
บ้านไม้ริมคลองสนามไชยที่ยังคงใช้ชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ
klongsongjam04
klongsongjam06
ร้านถิ่นไพบูลย์ ร้านขายของที่ระลึกซึ่งตั้งใจอนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม และงอบบางขุนเทียนซึ่งยังเป็นสินค้าขึ้นชื่อของย่าน

จากความทรงจำของอะแปะ เรามาแวะ “บ้านวัชโรทัย” บ้านขุนนางเก่าตั้งตระหง่านริมคลองบางกอกใหญ่ อีกหนึ่งตัวแทนประวัติศาสตร์ของคลองแห่งนี้

สาเหตุที่เรียกคลองบางหลวง เพราะมันเปรียบเหมือนถนนใหญ่ คนสมัยก่อน คนที่ทำงานพระราชวัง เขาจะเดินทางกลับมาง่าย”

จิราพรรณ วัชโรทัย หลานคนสุดท้ายของ “ตระกูลวัชโรทัย” นิยามคลองบางหลวงผ่านสายตาที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ริมคลองมากว่า 63 ปี ถ้าอาแปะมีประโยคประจำตัว “อะไรๆ ก็คลอง” ประโยคของเธอก็คือ “สายน้ำเป็นเหมือนทุกอย่างสำหรับเรา”

ทุกวันก็เล่นแต่น้ำ ไม่มีสวนสนุกหรอก ทั้งไว้เล่นไว้อาบ แต่ก่อนไม่มีเครื่องสูบ เวลาอาบ เราจะตักน้ำใส่โอ่งด้วยกระป๋อง แล้วก็ใช้สารส้มแกว่ง ตะกอนจะลงไปนอน น้ำจะใส บางทีก็ลงกระไดไปอาบน้ำเล่นน้ำเลย”

เธอเล่าเรื่องราวในวัยเด็กและวิถีชีวิตคนริมคลองที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างมิอาจแยกขาด ตั้งแต่การกินไปจนถึงอาชีพ

แต่ก่อนในน้ำมีปลาฉลาด มันมีจุดตรงหลัง เขาจะเอามาทำทอดมัน อาหารโบราณได้มาจากธรรมชาติทั้งนั้น สมัยก่อนไม่มีน้ำพริกสำเร็จรูป เราก็จะใช้ ตระไคร้ กระเทียม หอม ตำใส่เกลือใส่กะปิ

เมื่อก่อนป็นสวนผลไม้ ที่ขึ้นชื่อคือทุเรียน กระท้อน ชมพู่ มะปราง มะม่วง ฝรั่งขนุน ทุเรียนฝั่งธนนี่ขึ้นชื่อมาก”

เธอเล่าด้วยท่าทีและน้ำเสียงประหนึ่งว่าความทรงจำเหล่านั้นไหลทวนกระแสน้ำย้อนกลับมาปรากฏอยู่ตรงหน้า

———–

klongsongjam07
โรงงานเต้าเจี้ยว “เฮ้า ย่ง เซ้ง” ถั่วเหลืองหมักสูตรธรรมชาติแบบดั้งเดิมบ่มด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์ ยังคงตั้งใจทำเพื่อส่งต่อให้ทายาทรุ่นที่ 4 ต่อไป

ถ้าเราเดินทางจากคลองบางหลวง มุ่งหน้าไปทางคลองด่าน ผ่านพระพุทธรูปปางไสยาสน์แห่งวัดขุนจันทร์ แล้วเดินเรือต่อไปทางตลาดน้ำวัดไทรที่ใครๆ เล่าลือถึงความรุ่งเรืองในอดีตว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” ในบริเวณนั้นตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างคลองสนามไชย – คลองบางมดมีร้านชำเรือนไม้โบราณหนึ่งตั้งอยู่ คนที่นี่รู้จักกันดีในชื่อ “ร้านถิ่นไพบูลย์”

“ตลาดน้ำวัดไทรเริ่มคึกคักน้อยลงหลังปี 2519 เมื่อก่อนนี้เรือจะมาเต็มเลย เรือผูกต่อๆ กัน เดินข้ามเรือแต่ละลำข้ามไปฝั่งโน้นได้เลย”

กฤษณวรรณ กิติผดุง สะใภ้ร้านชำถิ่นไพบูลย์เล่าถึงบรรยากาศหน้าตลาดน้ำวัดไทรในอดีตจากคำเล่าลือของ “คนที่นี่” ให้ฟังอีกทอด ส่วนความทรงจำของเธอหลังจากแต่งงานและย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ 38 ปี นับตั้งแต่ปี 2527 ที่นี่ก็ยังนับว่ามีบรรยากาศคึกคัก และการพัฒนาของถนนหนทางทำให้ตลาดน้ำวัดไทรคึกคักในอีกแบบ

ตรงนี้จะเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ไปตามคูคลอง ตามคูคลองก็จะมีร้านค้าโชว์ห่วย มีอาหารการกิน เครื่องมือเครื่องใช้ก็จะมีทุกคลองทุกจุดไป เพราะว่าไปออกชายทะเลได้ และเท่าที่จำได้มันมีสีสันมาก พอเส้นทางจราจรดีขึ้น ช่วงนั้นคลองก็มีต่างชาติเข้ามามาก มาจากทางดาวคะนอง ผ่านคลองนี้แล้วก็ออกไปปากน้ำ คลองบางกอกใหญ่ แล้วก็ไปวัดพระแก้ว นักท่องเที่ยวก็จะมีเยอะ มาทางเรือ มาจากโรงแรม”

เธอยังเล่าถึงความโด่งดังในอดีตของ “งอบบางขุนเทียน” ที่เคยวางขายเต็มร้านถิ่นไพบูลย์ ด้วยความละเมียดของการวางโครง การเย็บ และรูปทรงสัดส่วนที่พอดิบพอดี

“เริ่มจากมีคนในชุมชนเห็นว่าบ้านเราขายงอบ เขาก็ใส่ชุดไทย ใส่งอบ แล้วซื้องอบใส่เรือเขาไปเต็มลำเลย ปรากฏว่าขายดี ก็เกิดเสียงลือ จริงๆ แล้วตรงนี้เราเป็นศูนย์กลางของการเอาอุปกรณ์ทำงอบส่งให้คนในชุมชเป็นคนเย็บงอบ ฝีมือดี เย็บสวยมากเลยนะงอบบางขุนเทียน”

รังงอบ โครงงอบ ใบลาน อุปกรณ์เส้นด้ายทั้งหลาย คืออุปกรณ์ที่เคยวางขายในร้าน และประกอบสร้างสรรค์ด้วยฝีมือคนในชุมชน แต่วันนี้ไม่เหลือคนมีทักษะนั้นเหลืออยู่แล้ว

กฤษณวรรณเล่าว่าสมัยก่อนทุกบ้านต่างมีทักษะการทำงอบ เพราะทุกคนต้องใส่กันแดดฝนระหว่างค้าขายหรือทำสวน งอบเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตที่ทุกบ้านต้องมี แต่สำหรับชาวต่างชาติ งอบเป็นเหมือนของที่ระลึก เช่นเดียวกันกับ “คลอง”

คลองในมุมของคนสมัยใหม่คือ ฉันไปเช็กอิน ฉันไปพายเรือเท่ๆ แต่เมื่อก่อนเราจะไปซื้อของ พายเรือไปวัด มันคนละวัตถุประสงค์เลย คนแต่ก่อนพายเรือเพื่อใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ สมัยนี้คนอื่นๆ เข้ามาพายเรือเพื่อชมความงาม”

…….

ความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เดินทางเข้ามาใกล้คลองมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันความทรงจำที่ผันผ่านก็ค่อยๆ ห่างไกลออกไปจนกลายเป็นเสมือนภาพถ่ายเก่าที่ค่อยๆ กลายเป็นสีขาวดำ

klongsongjam08
ป้าจิ๋มหญิงวัยเกษียนที่มีความตั้งใจอยากส่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการเป็นครูที่ออกแบบกระบวนการสอนในคาบพิเศษให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงและฝึกสังเกตระบบนิเวศรอบตัว ผ่านการประดิษฐ์ต้นไม้จำลอง

2

เมื่อน้ำ (หยุด) ไหล

“ป้าทำงานที่สีลม เมื่อก่อนจะไม่ข้ามสะพานสาทรเลย ป้าจะข้ามเรือตรงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วต่อรถอีกนิดเดียวก็ถึงแล้ว แต่พอไม่มีเรือข้ามฟากแล้วการเดินทางก็จะช้าไม่สะดวกเลย เดียวนี้เขาข้ามกันน้อยลง เพราะรถไฟฟ้า ตอนแรกๆ เราทำงานอยู่สีลมก็อยากถึงบ้านเร็วๆ ก็ขึ้นสถานีสีลมมาลงตากสิน คิดในใจว่าบ้าหรือเปล่าวะเนี่ย บ้านอยู่แค่นี้ต้องขึ้นรถไฟฟ้า”

จิราพรรณ วัชโรทัย เล่าถึงความรู้สึกแตกต่างเมื่อทางเชื่อมชีวิตเปลี่ยนแปลงจากความเคยชินเดิม จากคลองกลายเป็นถนน จากเรือเป็นรถไฟฟ้า ทำให้คนนั่งฟังที่เดินทางโดยทางเชื่อมเป็นถนนเสมอมาได้เห็นแง่มุมความเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองและเริ่มหันหลังออกจากคลอง ทว่าก็ “ทิ้ง” บางสิ่งไว้ในคลองด้วยเช่นกัน

คลองค่อยๆ เปลี่ยนไปจนเราไม่รู้ตัว ช่วงสมัยเรียนพาณิชย์ธนฯ ระดับ ปวช. ปลาเริ่มลอย เพื่อนมาเล่นที่บ้านก็ไปช้อนเอาปลาช่อนตายขึ้นมา คุณพ่อก็เอาไปทำห่อหมก ตอนนี้เพื่อนป้าอายุหกสิบกว่าพูดถึงก็บอกว่า ประทับใจพ่อแกนะ พ่อแกเอาปลาช่อนตายในคลองมาทำห่อหมก (หัวเราะ) คือพ่อไม่ต้องฆ่า มันเพิ่งลอยอะ”

เธอเล่าต่ออีกว่า “สายน้ำเป็นทั้งการเดินทาง ให้การเป็นอยู่ ดื่มกินตั้งแต่สมัยโบราณ แต่พอความเจริญเข้ามา น้ำกลายเป็นน้ำเน่า ทำอะไรไม่ได้เลย ขวดพลาสติก โฟม มันไม่สลาย ไปอุดท่อให้น้ำที่อยู่ถนนท่วม ถ้าเป็นสมัยก่อนน้ำขึ้นลง ไม่ท่วมถนน เพราะว่ามันไหลแบบสโลปตามธรรมชาติ มันไม่มีขยะ ถ้าต้นไม้หล่นลงน้ำก็เสื่อมสลายไปเอง แต่เนี่ยเห็นไหม (ชี้ขวดพลาสติกที่ลอยผ่านมาตามสายน้ำหน้าบ้าน) ถ้าแบบนี้ไม่มีทาง มันจะไหลไปกองรวมกันอยู่ที่ประตูน้ำ ถ้าไม่ตักนะ อื้อหือ เต็มไปหมดเลย” เธอเล่าชวนให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน

……….

klongsongjam10
การขยายตัวของเมืองส่งผลให้คลองกลายเป็นท่อระบายน้ำปล่อยของเสียของคนเมือง

ด้าน กฤษณวรรณ กิติผดุง ตลาดวัดไทรเล่าถึงปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียในแง่มุมที่คล้ายคลึงกัน

ทุกวันนี้มีโรงงาน มีบ้านจัดสรร เขาระบายลงคลองหมดเลย ทำให้น้ำเน่าเสีย ทำให้น้ำมีกลิ่น บางทีนอนๆ อยู่ก็คิดว่าทำไมตัวเองเหม็นจังเลย นอนอยู่ทุกวันนี้ยังเหม็นอยู่เลย มันดันขึ้นมาจากด้านล่าง เพราะด้านล่างนี้เป็นน้ำหมด”

เธอยังชวนตั้งคำถามกับวาทกรรมที่ว่ากันว่าน้ำเน่าเพราะชาวบ้านที่นี่ทิ้งขยะ ไม่ช่วยกันรักษา ในแง่มุมที่น่าขบคิดว่า

เมื่อก่อนน้ำก็ไม่เน่าเสีย โรงงานยังไม่มา บ้านจัดสรรยังไม่มา แต่บางคนกลับบอกว่าคนอยู่ริมคลองไม่ช่วยกันรักษา ทิ้งขยะ ซึ่งก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วคนที่อยู่ในคลองเขาอยู่อย่างเข้าใจ เขาไม่ได้ทิ้ง เรารู้เรื่องการจัดเก็บ”

วันนี้หากล่องเรือตามลำคลอง เราจะเห็นคอนโดและหมู่บ้านจัดสรรขนาบอยู่เป็นระยะ

เมื่อก่อนบ้านป้ามองไม่เห็นคอนโด เดี๋ยวนี้เห็นคอนโดรอบเลย แล้วน้ำเขาไหลลงคลองเล็ก คลองเล็กลงคลองใหญ่ คลองใหญ่ก็สู่แม่น้ำเจ้าพระยา มันก็เป็นท่อนๆ เป็นสายเลือดไหลไปเรื่อยๆ แต่กลายเป็นสายเลือดน้ำสีดำ ไม่ใช่น้ำธรรมชาติ”

เธอยกประเด็นนี้พร้อมพูดถึงความเป็นชุมชนที่ฝังอยู่ลึกๆ ในแม่น้ำลำคลองแห่งนี้

คนที่ใช้ชีวิตจริงๆ กับคลองยังมีอยู่นะ ยังไงคลองก็สำคัญ มันเป็นเส้นเลือดของคนตรงนี้ เป็นหัวใจของคนที่อยู่อาศัยที่นี่”

สิ้นเสียงเธอก็พอดีเรือไม้ของคุณยายที่มาจ่ายตลาดวัดไทรก็แล่นผ่าน

เมื่อ “ชีวิตคน” ยังดำเนินอยู่อย่างเชื่อมโยงกับคลอง คลองจึงยัง “สำคัญ”

และหากพิจารณาในมุมกลับ ก็อาจเห็นได้ว่า เพราะคนที่นี่ก็สำคัญ คลองจึงสำคัญ

เป็นคำตอบง่ายๆ

ทว่าเต็มไปด้วย “ความหมาย” ที่มิอาจมองข้าม

klongsongjam11
สมัยก่อนภาชนะใส่อาหารส่วนใหญ่ทำจากธรรมชาติ จึงย่อยสลายได้ในแม่น้ำ แต่พลาสติกไม่สามารถย่อยสลาย เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และย้อนกลับสู่ร่างกายมนุษย์ได้ในรูปไมโครพลาสติก
klongsongjam12
เด็กในชุมชนวัดราชโอรสกระโดดน้ำใต้สะพานทางข้ามรถไฟสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัยในคลองสนามไชย
klongsongjam13
คุณยายพายเรือมาจ่ายกับข้าวที่ตลาดเช้าหน้าวัดไทร

3

คลองใหม่…ที่ฝันถึง

สายน้ำไหลไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติและวันเวลา แต่ก็ไม่อาจตัดขาดออกจากกัน เช่นเดียวกับความทรงจำเก่าๆ ที่ผ่านพ้นไปนานแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน หรือตัดขาดจากกันอย่างไม่หลงเหลือร่องรอย

จิราพรรณ บอกถึงมุมมองต่อคลองในฐานะธรรมชาติที่ “สำคัญ” ต่อจิตใจอย่างลึกซึ้ง

“การมองน้ำให้สมาธิ จิตใจสบายขึ้น มันมีประโยชน์ต่อจิตใจของมนุษย์ ตอนป้าทำงานมองถนนหนทาง เต็มไปด้วยไอร้อน คนเดินไปเดินมา ไม่เหมือนมองน้ำ นั่งรถเมล์พอผ่านสะพาน ไอเย็นขึ้น ถ้าไม่มีสายน้ำนะ แย่เลย เราต้องพยายามสร้างธรรมชาติ ดึงธรรมชาติในรุ่นปู่รุ่นย่ากลับมา ถ้าเราไม่กลับมาเชื่อมกับธรรมชาติอีก แย่ เสื่อมโทรม”

และเธอก็กล่าวปิดด้วยน้ำเสียงสงบเย็นว่า

ที่ตายที่ดีที่สุดคือตรงนี้ มันเงียบสงบ ไม่มีใครมารบกวนป้า ป้าชอบ”

ส่วน กฤษณวรรณ บอกถึงคลองใหม่ที่วาดฝัน

“คลองมีคุณค่า เราต้องเพิ่มมูลค่าของคลอง ปรับตัวให้มันร่วมสมัย อยากให้มองเห็นว่าเรายังใช้ประโยชน์จากคลองได้ ให้คลองเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง”

…….

ทุกเสียงต่างเชื่อมโยงอยู่ในนิเวศชีวิตของผู้คนที่นี่อย่างไม่อาจแยกขาด

เหลือเพียงแค่ว่า “เมือง” จะเชื่อมโยงเสียงจากความทรงจำของ “คลอง” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้อย่างไร