เขียน : ลดาวัลย์ ตาไชยยศ
ภาพ : ภาพิมล วีระเกียรติกิจ
“2 ก.พ. 2553 กำลังนั่งเหนื่อยและหาคำตอบ
หาเป้าหมายให้ตัวเอง
ตอบตัวเองให้ได้สิ ว่าตัวเองต้องการอะไร”
ข้อความในสมุดเล่มเก่าถูกอ่านให้เราฟังผ่านเสียงทุ้มละมุนของ เก่ง–นครินทร์ ยาโน อายุ 49 ปี
เก่งเผยว่า โชคดีที่เขาเขียนความรู้สึก ณ ห้วงเวลาที่ยากลำบากเอาไว้ เพราะสิ่งที่เขาจรดปากกาลงไปกลายเป็นวัฏจักรความสุขให้ใครอีกหลายคนในปัจจุบัน
ระบบการศึกษาสร้างบาดแผลให้จากการไม่ได้เข้าเข้าเรียน ณ สถาบันที่ใฝ่ฝัน ทั้งที่เพียรบ่มเพาะวิชาความรู้เพื่อช่วงเวลานั้น และเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ความสามารถที่มียกระดับให้เขาประสบความสำเร็จ แต่ความกดดันและความไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน ลดทอนทั้งคุณค่าและความมั่นใจ
ช่วงหนึ่งที่พยายามสู้กับชะตาชีวิตด้วยเงินก้อนสุดท้ายบวกกับเงินที่กู้มา แต่กลับไม่ได้ผลตอบแทนที่ดี เก่งเผชิญหน้ากับความล้มเหลวอีกครั้ง
ในช่วงเวลาดำดิ่งที่สุด ความกังวลทั้งหมดถูกลบออกด้วยสายโทรฯ เข้าของแม่
คำว่า “กลับบ้าน” คือการตัดสินใจที่เปลี่ยนชีวิตเขาตลอดกาล
เก่งเริ่มเขียนโจทย์ชีวิตครั้งใหม่ “ความสุขที่ยาวนานคืออะไร?”
เขาได้คำตอบนี้จากการให้กำเนิด ยาโน แฮนด์ดิคราฟ
ยาโน แฮนด์ดิคราฟ
ณ ตำบลท่ากวาง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากถนนเส้นต้นยางสายเลื่องชื่อราว 13 กิโลเมตร ยาโน แฮนดิคราฟท์ กำเนิดขึ้นในบ้านหลังหนึ่ง เก่งใช้นามสกุล “ยาโน” ตั้งเป็นชื่อแบรนด์ เพราะนอกจากจะบ่งถึงตัวเขาแล้ว คำนี้ยังแปลก เขียนและจดจำง่ายตามลักษณะการตั้งชื่อแบรนด์ที่ดี
ยาโน แฮนดิคราฟท์ เป็นแบรนด์สินค้าประเภทเสื้อผ้าและของที่ระลึก วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ อย่างไอคอนสยาม สยามดิสคัฟเวอรี รวมถึงศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศและการตั้งบูธในงานแสดงสินค้า รวมทั้งมีช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างกว้างขวาง
เก่งเติบโตในภาคเหนือ จึงดึงเอกลักษณ์ของเครื่องนุ่งห่มแห่งล้านนามาประยุกต์ให้ร่วมสมัย อย่างเตี่ยวสะดอหรือกางเกงขายาวสามส่วนย้อมสีน้ำเงินหรือดำ เสื้อผ้าฝ้ายทอคอกลมผ่าครึ่งอก ผ้าถุง เสื้อคอกลมแขนกระบอกผ่ากลางตลอด ผ้าคลุมไหล่ ฯลฯ ปรับรูปแบบให้ทันตามเทรนด์เสมอ อย่างเสื้อคลุมขนาดใหญ่ (โอเวอร์ไซซ์-Over Size) ที่กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากสวมใส่ได้โดยไม่จำกัดเพศ (ยูนิเซ็กซ์-Unisex) ยาโนฯ ก็ผลิตโดยเพิ่มสเน่ห์กลิ่นอายอัตลักษณ์ภาคเหนือ
แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็รู้ว่ายาโนฯ ยังมีบทบาทขับเคลื่อนสังคม
หลังเริ่มทำงานกับพี่ป้าน้าอาในชุมชน โดยมีผืนผ้าเป็นสื่อกลาง ผ้าสีเรียบ ๆ แสนธรรมดากลับปรากฏความสุขและคุณค่าในช่วงเวลาที่ใช้ทักษะงานฝีมือตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นด้นมือ ถักโครเชต์ หรือเย็บจักรลงบนผืนผ้า
“เรารู้แล้วว่าอะไรคือความสุข เราหาตัวเองเจอแล้วว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร ต้องการอะไร ยาโนฯ ประกอบด้วยหลายคนมาร่วมสร้างสรรค์งานฝีมือด้วยใจรัก ทำงานด้วยความสุขใจ เราภาคภูมิใจที่ส่งสิ่งเหล่านี้สู่คนข้างนอก ให้เขาสัมผัสได้ นั่นแหละยาโนฯ”
คุณยาย–ความหลังและมุมโปรด
เก่งขี่จักรยานยนต์นำเราไปตามถนนปูนซีเมนต์กว้างไม่มากนักเพื่อแวะที่บ้านหลังหนึ่ง เรานั่งรอใต้เพิงหลังคากระเบื้องหน้าบ้าน เก่งเข้าไปประคองหญิงสูงวัยร่างเล็ก สวมเสื้อคอกระเช้าแขนกุดสีน้ำเงินจากในบ้านออกมานั่งพูดคุย
ยายไล–ศรีไล พงษ์ปัน อายุ 78 ปี เล่าเรื่องราวชีวิตด้วยรูปตาสระอิและมุมปากสองข้างที่ยกขึ้นตลอดเวลา ยายชอบปั่นจักรยานไปร่วมวงสภาโอวัลตินพร้อมกับขนมครกหน้าหมู่บ้าน จากนั้นปั่นไปเข้าวัดตามวิถีชาวพุทธ ชอบที่วัดสีขาว ได้ใส่ชุดสีขาว เพราะไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนสีขาวจะเห็นชัดที่สุด นั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่กองด้ายและไหมตรงหน้ามีสีขาวที่ยายพอใจรวมอยู่ด้วย
ยายไลไว้เล็บนิ้วโป้งยาวเพื่อให้เย็บผ้าถนัด สายตาที่เริ่มเลือนรางต้องใช้พื้นที่สว่างเพื่อให้มองเห็นรูเข็ม
ณ ห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างราวสองคนกางแขน ปรกติใช้ทำกับข้าวและล้างจาน พื้นที่นี้แหละมุมโปรดแสนสบายใจ จากวันนั้นถึงวันนี้ราว 18 ปี ยายนับไม่ได้แล้วว่าด้นลายผ้าให้ยาโนฯ มากี่ผืน
“เอ้อออ…มันหยั้งบ่ได้ ข้าวก็อั้นเนี่ย แกงก็อันเนี่ย โอวัลตินก็อันเนี่ย ขนมครกก็อันเนี้ย…จะบอกหื้อเหียสุด ๆ เอี๊ย!”
ความสดใสของยายไลถูกถ่ายทอดอยู่ในเส้นด้ายและลายผ้า เธอย้ำเสียงหนักแน่นว่า ผ้าทุกผืนที่ผ่านมือคือความภูมิใจในความพยายาม แม้เรี่ยวแรงจะโรยราไปบ้าง แต่สองมือสองเท้ายังยกไหว จะไม่ไปรบกวนลูกหลานให้กังวล เพราะงานผ้าทำให้ยายมีข้าว ปลา แกงไก่ ทั้งของโปรดอย่างโอวัลตินและขนมครก
ความสุขวัดค่าได้ยาก แต่เสียงหัวเราะเล็กๆ ของยายไล ถือเป็นยาชูใจกลับไปให้คนที่หยิบยื่นแบ่งปันความสุขผ่านผืนผ้าอย่างเก่งได้อิ่มเอมในทุกวัน
“ลวดลายพื้นฐานอย่างการด้นมือ ยายทำเป็นอยู่แล้ว เราไม่เร่งงาน ไม่อยากให้เขาเครียด เสร็จเมื่อไหร่ค่อยมาส่ง แล้วเราจะเอาไปให้อีกคนหนึ่งเย็บเป็นกางเกง เสื้อ หรือกระเป๋า ขอแค่ให้ยายมีความสุขเป็นพอ”
แม่เลี้ยงเดี่ยว–ขุมทรัพย์ของยาโนฯ
จากตำบลเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครรู้จักในอำเภอสารภี ถึงบ้านหลังน้อยล้อมรอบด้วยธรรมชาติในอำเภอแม่ริม ราว 50 กิโลเมตร ยาโนฯ ขยายฐานการผลิตมาถึงที่นี่
แตง–รสสุคนธ์ กอคำ อายุ 43 ปี เจอกับเก่งครั้งแรกในงานฝึกอบรมทักษะฝีมือของกลุ่มชาติพันธุ์ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในเวลานั้นแตงนิยามตัวเองว่าเป็นช่างเย็บผ้าธรรมดา
“ครั้งแรกที่เจอกัน แอบคิดว่าจะมีสักวันไหมที่จะได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ แบบนี้ หลังจากงานวันนั้นพี่เก่งได้เห็นงานของเรา และเป็นโอกาสที่ได้ทำงานด้วยกันจนมาถึงทุกวันนี้ก็ 6 ปีแล้วเนาะ”
ช่วงนั้นแตงเผยว่าอยู่ในช่วงมรสุมชีวิตของการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องอดทนสู้ชีวิตเพื่อลูกชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจ พอได้ร่วมงานกับเก่งเหมือนเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เธอเติบโตและพัฒนาขึ้น จนกลายเป็นผู้ชำนาญด้านการเย็บและออกแบบแพตเทิร์น เป็นหัวหน้าช่างคอยดูแลช่างเย็บผ้าคนอื่นๆ ที่ผลิตงานให้ยาโนฯ ทั้งในอำแม่ริม แม่แตง และสันทราย รวมถึงหน้าที่ประสานงาน และนำเสนองานให้ลูกค้า แตงก็สัมผัสมาแล้ว
ถึงปัจจุบันใช้คำว่าแค่มองตาก็รู้ใจคงไม่ผิดนัก เพราะทุกแนวคิดและไอเดียของเก่ง แตงจะเป็นผู้รับและถ่ายทอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์
“เราไม่ชอบงานที่แบน ๆ คือเรียบเกินไป มันต้องมีมิติ มีติ่ง นูน จะงอย มีความสูงต่ำ หรือถ้าเป็นลายด้นมือ จะใช้สีมืดตัดสว่างจับคู่กัน เราจะมีความเยอะนิดนึง แต่ว่าแตงเก่ง เสนอไอเดียอะไรทำได้หมด”
เก่งแบ่งปันความชอบของเขาผ่านการออกแบบสินค้าของตัวเองอย่างมั่นใจ
“ทุกชิ้นที่อยู่ในห้องนี้ไม่มีอันไหนที่เราไม่ภูมิใจ ลายทุกลายแม้คล้ายกัน แต่ถ้าดูดีๆ มันมีคุณค่าในตัวเอง เพราะเป็นงานทำมือ ทุกคนที่ทำจะทิ้งเอกลักษณ์ของตนผ่านชิ้นงานนั้นๆ เสมอ นั่นแหละเสน่ห์ที่แท้จริง”
ทุกคนมีจังหวะและเส้นลายเป็นของตนเอง แสดงออกถึงคุณค่าและความทุ่มเทของคนนั้นๆ ได้
เมื่อดูรอบ ๆ ห้องที่นั่งอยู่ มีทั้งสินค้า ผ้า เข็ม จักร ล้อปั่นด้าย ทุกชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ถือเป็นลายแทงชีวิตของช่างเย็บผ้าธรรมดาคนหนึ่งที่เก่งช่วยสนับสนุน แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่คนทั้งโลกต้องเผชิญ
ปัจจุบันแตงมีสามีและลูกๆ อีกสองคน เป็นครอบครัวที่น่ารัก อบอุ่น
“มีความสุขที่มีงานไม่ขาด”
เก่งยังวางแผนยกระดับสินค้าให้น่าสนใจไปอีกขั้นด้วยการผลิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิธี upcycling คือนำเสื้อผ้าตัวเดิมมาตัดหรือเย็บให้เป็นสินค้าใหม่ที่มีรูปแบบน่าสนใจยิ่งขึ้น ทั้งยังมีแนวคิด zero waste คือนำเศษผ้าจากการตัดเย็บมาดัดแปลงเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่มีใครเหมือน
ไอเดียและแนวคิดต่างๆ ที่เก่งถ่ายทอดนั้น ปรากฏในสมุดบันทึกของแตง ซึ่งเธอจดทุกอย่างไว้เป็นเสมือนขุมทรัพย์ของยาโนฯ
แตงหวังว่าสักวันเธอจะหยิบยื่นโอกาสให้ใครสักคน เพื่อต่อยอดเป็นความสุขเมื่อพวกเขาได้เห็นคุณค่าของตนเอง เฉกเช่นเดียวกับที่เธอได้รับ
ยา (โน) แห่งความสุขของคนข้างกาย
ณ บ้านสองชั้นที่หน้าบ้านมีต้นมะม่วงลูกใหญ่กำลังจะสุก ห่างจากบ้านแตงราว 2 กิโลเมตร คือบ้านของ คำ–บัวคำ ขันเพชร อายุ 74 ปี และ หลึง–สมนึก คณะวงค์ อายุ 54 ปี ลูกสาวของเธอ
ยายคำนั่งเหยียดขาอยู่ตรงลานบ้าน กำลังถือเข็มร้อยเรียงลูกปัดหลากสีให้เป็นเส้นสำหรับทำโมบายแขวน หนึ่งในสินค้าของยาโนฯ ด้วยท่าทางสบายใจ แลรอยยิ้มเห็นฟันขาว เธอยังเตรียมร้อยลูกปัดและเย็บตุ๊กตาช้างด้วย ลูกปัด 17 ลูกแบบคละสีแยกไว้ในตะกร้าพลาสติก ส่วนตุ๊กตาช้างมีสองแบบ ตัวผู้มีงวงยกขึ้นและตัวเมียมีงวงพับลง
“ของพวกนี้ลูกสาวยายทำนะ เขาเก่ง ทำได้ทุกอย่าง งานสอย งานคัตเวิร์ก เขาสอนยายหมดเลย”
ยายคำเผยความภูมิใจต่องานฝีมือของลูกสาวที่นั่งอยู่ข้างๆ เธอเผยอีกว่า ลูกสาวสอนให้เธอทำงานนี้ตั้งแต่แตงยังอยู่ในหมู่บ้าน จนย้ายออกจากหมู่บ้านไป และแตงทำให้ยายคำได้พบกับเก่ง
“เขาใจดีมาก งานไม่ต้องรีบเลย เสร็จเมื่อไหร่ค่อยส่ง ถามตลอดว่าโอเคไหม มีความสุขไหม”
ฟังดูคล้ายกับคอนเซ็บต์ slow fashion ของยาโน คือการสนับสนุนให้ผู้คนใส่เสื้อผ้านาน ๆ โดยผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายธรรมชาติและมีจริยธรรมต่อทุกคน สวนกระแสกับ fast fashion ที่ผลิตเยอะๆ ราคาถูก แต่ใช้ได้ไม่นาน หมดความนิยมได้เร็ว
แม้ค่าแรงจะไม่สามารถเลี้ยงทุกคนในบ้านได้ครบ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ระหว่างทำได้ต่อเติมหัวใจที่ว่างเปล่า ซึ่งป้าหลึง ลูกสาวที่สอนงานให้แม่สังเกตเห็นเสมอ
“ตลอดเวลาที่เขาทำ เราเห็นว่าเขามีความสุข”
เธอยังบอกว่าภูมิใจกับงานฝีมือที่คนอื่นอาจดูว่าเป็นงานธรรมดา แต่มีแนวคิดเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อมและเปี่ยมคุณค่า
……………………..
เก่งเปรียบตนเองเหมือนเป็นหัวสมองที่สร้างสรรค์ผลงาน เป็นตาที่มองตลาด ต่อสู้ปรับปรุงแผนการผลิตสินค้าให้ทันกระแสโลกเสมอ และมองหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ เพื่อให้ยาโนฯ และผู้ผลิตคงอยู่ต่อไป
ผู้ถักทอความสุขทุกคนเปรียบเสมือนหัวใจ และร่างกายที่ไม่สามารถขาดส่วนใดส่วนหนึ่ง ยาโนฯ พึ่งพาพวกเขา และพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้พวกเขาไม่ลำบาก อุปสรรคในช่วงชีวิตที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งประกอบสร้างให้ ยาโน แฮนดิคราฟท์ เข้มแข็งจวบจนทุกวันนี้
ความสุขที่ยั่งยืนของแต่ละคนถูกขัดเกลาและถ่ายทอดออกมาในแบบฉบับของตน
ทุกอย่างแทรกซึมและถ่ายทอดอยู่ในสินค้า ที่เป็นมากกว่าสินค้า
อ้างอิง
- ความสุขที่ยั่งยืน คือกำไรที่มั่นคง. สืบค้น 1 สิงหาคม 2565 จาก https://www.bangchak.co.th/th/newsroom/reflection/ความสุขที่ยั่งยืน-คือกำไรที่มั่นคง
- ภัชรกรณ์ โสตติมานนท์. Unisex มากกว่าแฟชั่น คือความเท่าเทียม. สืบค้น 1 สิงหาคม 2565,จาก https://waymagazine.org/unisex-fashion/
- มาณพ มานะแซม. พัฒนาการเครื่องแต่งกายชาวล้านนา (ไทยวน). สืบค้น 1 สิงหาคม 2565, จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/fineartsJournal/article/view/77704วงจรความยั่งยืน (Sustainability Cycle). สืบค้น 1 สิงหาคม 2565,จาก https://forbesthailand.com/news/other/วงจรความยั่งยืน-sustainability-cycle
- 10 พื้นฐานองค์ประกอบการออกแบบ. สืบค้น 1 สิงหาคม 2565, จาก https://grappik.com/10-basic-elements-of-design
- Jirachaya Chaichumkhun. ใส่เสื้อตัวเดิม เก็บชุดให้อยู่นาน ชวนรู้จัก Slow Fashion แนวคิดตรงข้ามของ Fast Fashion. สืบค้น 1 สิงหาคม 2565, จาก https://thematter.co/social/slow-fashion-concept/133408
- Upcycle และ Recycle วิถีแห่งความยั่งยืน. สืบค้น 1 สิงหาคม 2565, จาก https://www.greennetworkthailand.com/upcycle-upcycling-recycle-คืออะไร/