ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

จากยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงสู่อาณาจักรข้าวโพดรัฐฉาน

การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉานเป็นผลจากยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMEC) ที่ได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลยุคต่อๆ มา

รัฐฉานมีพื้นที่ประมาณ ๑๕๕,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร คิดเป็น ๑ ใน ๔ ของประเทศพม่า กว้างใหญ่ไพศาลกว่าหลายสิบประเทศในโลก เมื่อดินแดนซึ่งมีอาณาเขตติดกับภาคเหนือของประเทศไทยและตอนเหนือของลาว กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญสุดในพม่าจึงส่งผลกระทบตามมาในหลายมิติ

จากการพิจารณาสถิติย้อนหลังทั้งรายเดือนและรายปีพบว่าความหนาแน่นของ “จุดความร้อน” (hotspot) ในรัฐฉานมีมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของพม่า และมากกว่าภาคเหนือของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือมากกว่า ๒ เท่าของจำนวนฮอตสปอตที่เกิดในเมืองไทยแทบทุกปี

ถึงแม้ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าตำแหน่งของฮอตสปอตเป็นจุดที่เกิดไฟป่าหรือมีการเผาพื้นที่เกษตรเตรียมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ส่วนใหญ่แล้วที่มาของฮอตสปอตคือความร้อนจากไฟ

มีงานวิจัยยืนยันว่าจำนวนฮอตสปอตแปรผันตามมลพิษทางอากาศ พื้นที่มีจำนวนฮอตสปอตมากจะมีมลพิษทางอากาศสูง

ratchan01

ประเมินว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วทั้งพม่าราว ๓.๕๕ ล้านไร่ อยู่ในรัฐฉานถึงร้อยละ ๖๐ หรือประมาณ ๒.๑๓ ล้านไร่

การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นผลจากยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMEC) เมื่อปี ๒๕๔๖ อันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มน้ำอิระวดี เจ้าพระยา โขง ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา กำหนดให้ละเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรในบัญชีรายชื่อ ๑๐ ชนิด อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ละหุ่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

สิ่งที่ตามมาพร้อมกับยุทธศาสตร์ ACMEC คือการขยายตัวของระบบเกษตรพันธสัญญา หมายถึง ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกรกับคู่สัญญาซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาตินิยามความหมายของเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) ว่าหมายถึง “การตกลงระหว่างเกษตรกรและบริษัทแปรรูปหรือการตลาด เพื่อการผลิตและส่งมอบสินค้าเกษตรภายใต้สัญญาที่ทำไว้ล่วงหน้า”

บริษัทอุตสาหกรรมอาหารของไทยจึงได้เข้าไปลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านกว่า ๓ ล้านไร่ แบ่งเป็นในลาว ๓ แสนไร่ กัมพูชา ๕ แสนไร่ พม่า ๗ แสนไร่ และเวียดนาม ๑.๗ ล้านไร่ เฉพาะแนวพรมแดนไทย-พม่า และไทย-ลาว มีไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นมากมาย อาทิ จังหวัดเมียวดี รัฐฉานของพม่า เมืองห้วยทรายของลาว พื้นที่เหล่านี้เกิดการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการจุดไฟเผาเพื่อปรับสภาพพื้นที่ และเผาต้นข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว เป็นที่มาของปัญหามลภาวะทางอากาศรวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 มหันตภัยข้ามพรมแดนรัฐชาติ

แม้นโยบายละเว้นภาษีจะสิ้นสุดลงช่วงปี ๒๕๕๒ แต่นโยบายสนับสนุนให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลยุคต่อๆ มา ทั้งการปลูกข้าวโพดในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ล่าสุดหลังปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา รัฐบาลของประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหน้าแล้งหลังฤดูทำนา เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ชื่อโครงการสานพลังประชารัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่ามีเกษตรกรสนใจร่วมโครงการมากถึง ๑๑๔,๗๗๕ ราย บนพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐,๑๑๑ ไร่ รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาทำสัญญาสินเชื่อถึงจุดรับสมัคร มีตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มาอบรมให้ความรู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งตั้งจุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกเมล็ด พื้นที่ปลูกข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

สอดคล้องกับความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี รายงาน “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปี ๒๕๗๕” หรือในอีกสิบกว่าปีข้างหน้า ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย (Thai Feed Mill Association: TFMA) มอบหมายให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาสถานการณ์ปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างวางเป้าผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอ นำเสนอเมื่อปี ๒๕๕๗ ระบุว่าความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๗๕

ทุกวันนี้ประเทศไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ ๘ ล้านตัน แต่ผลิตได้แค่เพียงปีละประมาณ ๕ ล้านตันเท่านั้น ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มากกว่าปีละ ๑ ล้านตัน แต่จำเป็นต้องใช้ภายในประเทศเกือบทั้งหมดคือราว ๗-๘ แสนตัน ที่เหลือจึงขายให้ประเทศไทย

พม่าผลิตได้ปีละ ๓ ล้านตัน แต่ใช้ในประเทศ ๑ ล้านตันเท่านั้น ที่เหลือขายให้กับประเทศจีนและไทย

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พื้นที่นับล้านๆ ไร่ทั้งในรัฐฉานของพม่า ทางตอนเหนือของลาวกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อันเป็นที่มาของปัญหามลพิษ

การแก้ปัญหา PM 2.5 จึงเหมือนคนเล่นเกมงูกินหาง เมื่อรัฐบาลเป็นทั้งผู้ผลักดันให้เกิดปัญหา และเป็นผู้ที่ต้องเข้าสางปัญหาเดียวกันนี้

ทุกวันนี้ความยากลำบากในการทำเกษตรในที่พื้นที่รัฐฉานคือสาธารณูปโภคไม่ดี ไม่มีระบบชลประทาน รวมทั้งขาดงานศึกษาวิจัย

หมายเหตุ : อ่านเพิ่มเติมได้ในสกู๊ป The Origin and the Return of PM 2.5 จุดเริ่มต้นและการกลับมาของ “ฝุ่นมรณะ” เรื่องเด่นประจำนิตยสาร สารคดีฉบับ ๔๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓