ตามรอยฤๅษีดัดตน 17 - อัจนะคาวี
๏ ฤๅษีสี่ชื่อให้    นามนคร รามเอย
อัจนะคาวีอักษร        อะตั้ง
พับชงฆ์เทิดถวัดกร         สองไปล่ หลังนา
แก้ขัดข้อเท้าทั้ง        ป่วยท้องบรรเทาฯ

กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

(ถอดความ) ยังมีชื่อของฤๅษีสี่ตนอันเป็นที่มาแห่งนามเมืองของพระราม (กรุงอโยธยา/ศรีอยุธยา) ท่านผู้นี้คืออัจนะคาวี ซึ่งเป็นที่มาของอักษร อะ ท่านนั่งเอามือจับกัน ไขว้แขนไปด้านหลัง ท่านี้ใช้แก้ขัดข้อเท้าและบรรเทาอาการปวดท้อง

นามฤๅษีอัจนะคาวีปรากฏตั้งแต่ตอนต้นบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระอิศวรมีบัญชาให้พระอินทร์ไปสร้างเมืองถวายเทวราชกุมาร พระอินทร์จึงเสด็จลงมายังทางตะวันออกของชมพูทวีป พบฤๅษีสี่ตนบำเพ็ญพรตอยู่ สอบถามได้ความว่าท่านเหล่านี้จำศีลภาวนามาถึง ๑ แสนปีแล้ว ฤๅษีอัจนะคาวีกล่าวแนะนำตัวและผองเพื่อนฤๅษีว่า

อันนามกรเราสี่ตน
รูปชื่ออจนคาวี
องค์นี้ชื่อยุคอัคระ
องค์นั้นชื่อทหะฤๅษี
องค์โน้นชื่อยาคะมุนี
มีตบะพิธีเสมอกัน

พระอินทร์แจ้งว่าพระอิศวรให้มาสร้างเมือง ฤๅษีทั้งสี่จึงขอให้เอานามของตนรวมเข้ากับชื่อป่าบริเวณนั้น คือ “ทวารวดี” เป็นนามกรุง คือ “กรุงศรีอยุธยาทวาราวดี”

เฉพาะในบทละคร “รามเกียรติ์” มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ตามเสียงอ่านแล้ว นามของฤๅษีตนแรกต้องออกเสียงอย่างไทยๆ ว่า “อะ-จน-คา-วี” เพื่อให้สัมผัสคล้องจองกับ “ตน” จากวรรคหน้า

ส่วนในภาพวาดนี้ ช่างตั้งใจแสดงตำนานเรื่องที่มาของนามกรุง จึงวาดภาพ “พระนคร” ตามขนบจิตรกรรมไทย อันมีประตูเมือง กำแพง พร้อมด้วยปราสาทราชวัง และมีอักษร อะ-ยุท-ธะ-ยา ระบุนามเมืองไว้ชัดเจนที่โขดเขาข้างกำแพงพระนคร


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ