เรื่อง : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : ภูวมินทร์ อินดี

Body Matters A Body Dialogue about Women ว่าด้วยงานละครที่พาเราเปิดบทสนทนากับร่างกายของตนเองผ่านเรื่องราว-ร่างกายผู้หญิงหลากหลายคน
bodymatters17
bodymatters16

#เบื้องหน้า

ชั่วขณะหนึ่งระหว่างการแสดงมีคำบางคำที่แล่นเข้ามาในความคิด

เป็นคำที่ทำให้นึกถึงประโยคคุ้นหูจากหนังสือ The Second Sex ของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ที่ว่า “คนไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง หากแต่กลายเป็นผู้หญิง”

เราคงจะเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้ง

เป็นผู้หญิงควรจะอ่อนหวาน อ่อนโยน ต้องเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ ต้องเป็นแม่ศรีเรือน รักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ฯลฯ

สิ่งมากมายเหล่านี้เป็นเหมือนเรื่องปรกติในสังคมที่ “ผู้หญิง” ถูกอบรมสั่งสอน “ให้เป็น”

ตั้งแต่จำความได้ ด้วยเกิดเป็นลูกสาว เรามักถูกอบรมเรื่องการวางตัวเป็นผู้หญิง ทั้งจากในครอบครัว โรงเรียน ญาติมิตร คนรอบข้างนับไม่ถ้วน

หลายอย่างใน Body Matters ทำให้ความทรงจำของเราต่อตนเอง เริ่มทำงาน

เรามองเห็นสุ่มกระโปรงแห่งความคาดหวัง เมื่อเป็นผู้หญิงก็จงสวมใส่และซุกซ่อนตัวตนใต้สิ่งที่สังคมกำหนด

เรามองเห็นการเคลื่อนไหว หุบๆ อ้าๆ ทำให้นึกถึงคำสอนว่า เป็นผู้หญิงก็ควรเก็บทุกสิ่งให้มิดชิด

ทั้งร่างกายและความรู้สึก

เรารับรู้ถึงความรู้สึก ความสุข เข้มแข็ง สั่นไหว ความเศร้า เจ็บปวด

เราได้ร่วมรับฟัง-ร่วมอ่านเสียงของผู้หญิงอีกหลายคน

เริ่มรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงตอนที่ถูกจับใส่กระโปรง ถูกให้ไว้ผมยาว”

ตอนที่พ่อแม่บอกว่าเป็นผู้หญิงต้องพูดจาคะขาอ่อนหวาน”

ไม่ได้ๆ เพราะเป็นผู้หญิง”

เก่ง สวย เรียบร้อย น่ารัก”

“ไม่มีก็ไม่สวย”

แม่ศรีเรือน”

ผ้าพับไว้”

มีลูกสาวก็เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน”

บาทเดียวดูเพลิน ลูบได้ คลำได้”

กุลสตรี”

สามีคือช้างเท้าหน้า”

อ่อนหวาน”

อ่อนแอ”

ฯลฯ

#เบื้องหลัง

Body Matters A body dialogue about women “บทสนทนาผ่านร่างกายของผู้หญิงสองคนเกี่ยวกับผู้หญิงอีกหลายคน” เกิดจากงานวิจัยของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนใจศึกษากระบวนการสร้างสรรค์งานละครในรูปแบบ Devising Performance

ถ้าจะกล่าวว่ากระบวนการละครรูปแบบนี้เป็นรูปแบบประชาธิปไตยก็คงไม่ผิดนัก หากใครยังมีภาพจำในการทำละครว่า ผู้กำกับคือผู้มีอำนาจเหนือสุดในการกำหนดทิศทางการแสดงให้เป็นไปตามบทละครและการตีความ อาจจะต้องมองใหม่ เพราะ Devising Performance เปิดโอกาสให้คนทำงานมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียง แบ่งปันประสบการณ์ ทดลอง และค้นหาประเด็นที่สนใจ

เป็นงานละครที่เริ่มจากศูนย์ เพราะไม่มีบทละครตั้งต้น แต่เกิดจากการค้นหาร่วมกันใหม่ทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง

นอกเหนือไปจากนั้น Devising Performance ยังถือเป็นกระบวนการละครที่ผู้สร้างงานจะได้สื่อสารกับตัวเองโดยตรง ได้สำรวจร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติของตนต่อประเด็นหนึ่งผ่านการเคลื่อนไหว

สินีนาฏ เกษประไพ ผู้ออกแบบกระบวนการและกำกับการแสดงของ Body Matters บอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่เป็นเพียงท่าเต้นเท่านั้น แต่จะสะท้อนความรู้สึกและความคิดภายในผ่านรูปแบบของท่าทาง เส้น ลวดลาย หรือพลังงานออกมาแล้วผู้สร้างงานจะกลับมาสำรวจการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ผ่านการเขียน การวาด การพูดคุย สะท้อนซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะเกลาความรู้สึกนึกคิดนั้นให้ละเอียดลออยิ่งขึ้น

เธอเล่าให้ฟังอีกว่างานชิ้นนี้เป็นการทำงานกับ concept ค้นหาการรับรู้ตัวเอง รับรู้บริบทสังคมกับประเด็นต่างๆ ตามทัศนคติของผู้สร้างงานและนักแสดงเป็นสำคัญ

สินีนาฏ กับสองนักแสดง กัญรภา อุทิศธรรม และ พริมรติ เภตรากาศ มีความสนใจร่วมกันคือ ความเป็นผู้หญิงในประเด็นเนื้อตัวร่างกายตนเอง พวกเขาเริ่มต้นกระบวนการด้วยการพูดคุย ค้นหา เมื่อหาเจอสิ่งที่คิดว่าใช่แล้วก็เก็บไว้ ค่อย ๆ รวบรวมสะสม แล้วนำมาร้อยเรียงต่อกันจนเกิดเป็นเรื่องราวสู่ผู้ชม

สิ่งสำคัญที่ยึดเป็นแกนหลักในการทำงานคือกระบวนการคิดหรือกระบวนการรับรู้ต่อประเด็นที่กำลังจะทำเพื่อที่จะนำมาร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำ ร่วมตั้งคำถามไปด้วยกัน

#ระหว่าง

ผู้ชมหลายคนอาจมีคำถามหรือความกังวลที่จะรับชมงานละครรูปแบบนี้ จะดูรู้เรื่องหรือไม่ หรือละครรูปแบบนี้ทำงานกับผู้ชมอย่างไร

งานละครรูปแบบ Devising Performance นั้นเล่นกับการรับรู้ของผู้ชมที่พร้อมจะนำไปบวกกับประสบการณ์ส่วนตัว อาจจะไม่มีคำตอบตายตัว

สินีนาฏ เล่าว่าการตีความกับงานรูปแบบนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง ถ้าผู้ชมเปิดรับและจับตรงไหนได้ก็ค่อยๆ จับไปก่อน หรือแม้แต่ถ้าจับอะไรไม่ได้เลยก็ไม่ใช่เรื่องผิด เธอไม่มีคำตอบให้กับผู้ชม เพราะการแสดงนี้คือการค้นหาของกลุ่มผู้สร้างงานและแบ่งปันสิ่งที่ค้นหาเจอเหล่านั้นให้กับคนดู ซึ่งไม่ได้มานั่งเป็นผู้สังเกตการณ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่มารับแง่มุมบางอย่างที่เชื่อมโยงกับตัวเขา และเป็นผู้ที่จะเดินทางไปหาคำตอบหรือตั้งคำถามต่อไป

การดูงานละคร Devising Performance คุณอาจจะกลับออกมาโดยไม่สามารถเล่าเรื่องย่อของละครได้ อาจจะบอกได้เป็นคำบางคำ ภาพบางภาพ หรือความรู้สึกบางความรู้สึก เพียงเท่านั้น

bodymatters07
bodymatters06
bodymatters05
bodymatters04

#เบื้องใน

การจะพูดถึงเนื้อตัวร่างกายตนเองนั้นช่างเป็นเรื่องยาก

เราจำไม่ได้แล้วว่ากลับมามองสำรวจร่างกายของเราเองอย่างถี่ถ้วนครั้งสุดท้ายตอนไหน

จำไม่ได้แล้วว่ากลับมามองสำรวจความรู้สึกนึกคิดภายในของตัวเองอย่างถี่ถ้วนครั้งสุดท้ายตอนไหน

และจำไม่ได้แล้วว่าเราเคยได้มีบทสนทนาอย่างลึกซึ้งกับร่างกาย จิตใจ และความรู้สึกนึกคิดกับตัวเองบ้างหรือไม่

ในวันนี้เราได้ตั้งคำถามต่อตัวเอง ร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองขึ้นมาแล้ว และยังคงตามหาคำตอบอีกมากมายเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจตนเองและคนอื่นต่อไป

ย้อนถามตัวเองหลังดูละครเรื่องนี้จบ

“เรารู้สึกว่าตัวเราเป็นผู้หญิงตอนไหน”

และนั่นก็ทำให้รู้สึกใจหายพอ ๆ กับที่เห็นถึงความหวัง เพราะคำตอบที่เราได้จาก Body Matters และคำตอบของตัวเราเอง คือเราเริ่มรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงในตอนที่หลายๆ อย่างรอบตัวบอกว่าเราควรจะเป็น

แต่เรายังมีความฝัน มีหวังที่จะได้เป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็นจริงๆ

หมายเหตุ

  • Body Matters A body dialogue about women “บทสนทนาผ่านร่างกายของผู้หญิงสองคนเกี่ยวกับผู้หญิงอีกหลายคน” แสดง โดย กัญรภา อุทิศธรรม และ พริมรติ เภตรากาศ ออกแบบกระบวนการและกำกับการแสดง โดย สินีนาฏ เกษประไพ จัดแสดงเมื่อวันที่ 7-9 เม.ย. 2566 สถานที่ PoA White Box, Yellow Lane (ซ.อารีย์)
  • ติดตามผลงานละคร Facebook Fanpage : Crescent Moon Theatre