ประวัติศาสตร์ - จากบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 458

บางคนอาจสนใจประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์อารยธรรมหรือสนใจประวัติศาสตร์เฉพาะของบางสิ่งบางอย่าง แต่บางคนก็อาจไม่สนใจประวัติศาสตร์เลย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคนส่วนใหญ่เสียด้วย

การสอนวิชาประวัติศาสตร์แบบท่องจำชื่อบุคคลและเหตุการณ์ถูกตำหนิมาเสมอว่าทำให้เด็ก (และผู้ใหญ่ที่โตขึ้นมา) เกลียดวิชาประวัติศาสตร์

ยิ่งย้อนดูกำเนิดวิชาประวัติศาสตร์ก็เป็นหนังคนละม้วนกับที่สอนกันอยู่

เฮอโรโดตัส (Herodotus) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น  The  Father of History-บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ เพราะเขาได้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์ของสงครามเปอร์เซียบุกกรีซเมื่อ ๔๙๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชไว้

เขาเปิดเรื่องด้วยการบอกว่ากำลังจะเสนอ “การสืบสวน” (Inquiries) ซึ่งเขาได้เก็บหลักฐานข้อมูลทุกอย่าง ทั้งเรื่องที่จริงจัง เรื่องจุกจิกที่ไม่สลักสำคัญ ไปจนถึงตำนานที่ดูเหลือเชื่อทั้งจากคนที่เห็นเหตุการณ์โดยตรง คนที่ฟังจากปากคนอื่นมาเล่าต่อหรือวณิพกที่ร้องเพลงเล่าเรื่อง แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ และทำไมเหตุการณ์ถึงเป็นอย่างนั้น

หนังสือที่เขาเขียนชื่อ Histories มาจากคำกรีกว่า histor แปลว่า ถัก ทอ 

ถ้าเอากระบวนการของเฮอโรโดตัสมาใช้ วิชาประวัติศาสตร์ก็ดูจะมีชีวิตชีวาและสนุกสนานขึ้นทันที ทั้งการสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงแบบนักสืบ แล้วนำมาถักทอร้อยเรียงตามหลักเหตุและผลให้เป็นเรื่องราวที่น่าเชื่อถือ  แม้ตอนหลังจะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าบันทึกของเขาไม่ถูกต้อง ถึงขั้นปั้นน้ำเป็นตัว  แต่ถ้าคิดว่าบันทึกประวัติศาสตร์อาจไม่ถูกต้องและสมบูรณ์เสมอไป การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นกระบวนการที่ทำให้ประวัติศาสตร์น่าสนุก และชีวประวัติของเฮอโรโดตัสเองก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์ที่ต้องสืบสวน

ปัญหาของวิชาประวัติศาสตร์คงอยู่ที่การแช่แข็งเรื่องราวให้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียวหรือมุมมองเดียว ผู้เรียนเป็นเพียงผู้รับข้อมูลที่ระบบการศึกษาบังคับให้เชื่อว่าจริง ไม่มีโอกาสสืบสวน ตั้งคำถามหรือคิดวิเคราะห์เอง

คิดถึงสารคดีโทรทัศน์ Cunk on Earth ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ พยายามล้อเลียนการเล่าประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ตามธรรมเนียมเดิม ๆ โดยให้ผู้ดำเนินรายการหญิงชื่อว่า ฟิโลมีนา คังก์ (Philomena Cunk,  แสดงโดย Diane Morgan) มาตั้งคำถามนักวิชาการตัวจริงแบบยียวนกวนประสาท เช่น ทำไมพีระมิดถึงมีรูปร่างแบบนั้น เพื่อจะไม่ให้คนเร่ร่อนมานอนใช่ไหม, อะไรสำคัญต่อวัฒนธรรมมากกว่าระหว่างเรอเนซองส์กับเพลง “Single  Ladies”  ของบียอนเซ่, ภาพวาดของเทพีวีนัสทำไมคอยาว เธอเป็นลูกครึ่งยีราฟ หรือจิตรกรวาดภาพไม่เป็น ฯลฯ

บางครั้งคังก์ก็จะทำตัวซื่อบื้อแบบหน้าตาย เช่น เรียก Bible-ไบเบิล ว่าบิบเบิล  เรียก Soviet Union-โซเวียต  ยูเนียน  ว่า  Soviet  Onion โซเวียต  อันยัน ซึ่งหมายถึงหัวหอม  เรียกสมัยเรอเนซองส์ว่าเรอเน-ซอส และยังถามถึงว่าสมัยนั้นกินซอสอะไร ฯลฯ  บางครั้งก็แสดงความเห็นเสียดสี เช่น อเมริกาได้ชื่อเสียงว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ซึ่งทาสทุกคนคงต้องประหลาดใจ, ภาพวาดโมนาลิซาสวยจริงๆ หรือเพราะมีคนบอกเราว่ามันสวย, โลกเราเปลี่ยนไปตลอดกาลหลังศาสนาสอนให้คนรู้จักให้อภัย แต่ทำให้คนกัดกันเหมือนหนูเป็นร้อยปี ฯลฯ  บางครั้งก็เสียดสีผู้ชมทางบ้านเสียด้วย เช่น ขณะที่ดูรายการนี้อยู่หลายคนก็คงดูโทรศัพท์มือถือไปด้วย

มีตอนหนึ่งที่เล่าถึงกาลิเลโอ คังก์ถามนักวิชาการว่า ศาสนจักรบอกว่าดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก แต่กาลิเลโอบอกว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เราควรเข้าข้างใคร นักวิชาการตอบมั่นใจว่า เราอยู่ฝ่ายกาลิเลโอแน่นอน และแม้แต่ศาสนจักรในปัจจุบันก็เห็นด้วยแล้ว แต่คังก์ออกความเห็นแบบหลุดกรอบว่า เป็นไปได้ไหมที่ถูกทั้งคู่ ดวงอาทิตย์และโลกโคจรรอบกันและกัน ทุกคนจะพอใจ เราจะมีความเห็นร่วมกันแบบนี้ได้ไหม

คุณผู้อ่านล่ะครับ ชอบประวัติศาสตร์แบบไหน

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com