ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
เดชา คำเบ้าเมือง : ภาพ

potaz

“เราเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขอบเขตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ที่เดินทางมาวันนี้ไม่ได้ต้องการจะเอาเงิน แต่มาบอกว่า ‘ค่าลอดใต้ถุน’ คือความอัปยศที่นายทุนและรัฐกดหัวเรา เขาต้องการขุดเอาแร่ใต้ถุนบ้านเรา แล้วทิ้งเศษเงินให้เพียงน้อยนิด เฉลี่ยต่อวันแล้วเทียบได้กับซื้อไข่ไก่ ๑ ฟอง”

พิกุลทอง โทธุโย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ หลังเดินทางจากอำเภอประจักษ์ศิลปาคม มายังศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการจ่ายเงินค่าทดแทนกรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

พิกุลทองเป็นหนึ่งในชาวบ้านตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีร่วม ๖๐ คน ที่เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้าน เพราะเห็นว่ากระบวนการออกประทานบัตรไม่ถูกต้องเหมาะสมตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ล่าสุดทางกลุ่มเพิ่งจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตร ซึ่งศาลก็มีคำสั่งรับไว้พิจารณา

“เมื่อเรื่องอยู่ที่ศาลปกครอง ศาลประทับรับฟ้อง อุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหยุดกระบวนการทั้งหมดไว้ก่อน เพื่อรอให้ศาลมีคำพิพากษา” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ อยากให้ชี้แจงด้วยว่าขณะนี้มีประชาชนยื่นขอรับเงินค่าทดแทนแล้วจำนวนกี่ราย คิดเป็นพื้นที่กี่ไร่ และบริษัทได้จ่ายเงินไปแล้วหรือยัง

กลางปี ๒๕๖๕ รัฐบาลออกประทานบัตรเหมืองใต้ดินชนิดแร่โพแทชให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน ๔ แปลง ใน ๕ ตำบล ของอำเภอประจักษ์ศิลปาคมและอำเภอเมืองอุดรธานี พื้นที่ทั้งหมด ๒๖,๔๔๖ ไร่ อายุประทานบัตร ๒๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๕ จนถึง ๒๒ กันยายน ๒๕๙๐ โดยมีแผนการผลิตแร่จำนวน ๒ ล้านตันต่อปี

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๖๐ ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยการกำหนดเงินค่าทดแทน มาตรา ๙๒ กำหนดให้ตั้ง “คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทน” ขึ้นมา ๑ ชุด ทําหน้าที่กําหนดจํานวนเงินค่าทดแทนภาย ใน ๑๒๐ วัน นับตั้งแต่วันยื่นคําขอประทานบัตรทําเหมืองใต้ดิน เงินค่าทดแทนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ค่าลอดใต้ถุน” จะมอบให้กับผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองที่ดินในเขตประทานบัตรที่มีความลึกเกินกว่า ๑๐๐ เมตร

กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการ มีอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีเป็นผู้กำกับดูแลและประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ

ที่หน้าศาลากลางจังหวัด ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยโจมตีรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่มีส่วนอนุมัติประทานบัตร ทั้งๆ ที่ถูกคัดค้านอย่างหนักแน่นจากคนท้องถิ่น

ผ่านไปประมาณ ๓๐ นาที วิมล สุระเสน รักษาราชการปลัดจังหวัดอุดรธานี ออกมาพูดคุยกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ แจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่ที่ศาลากลางจังหวัด จากนั้นประสาน ฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทน ให้เร่งเดินทางมาชี้แจงและรับหนังสือ

potas2
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีตั้งคำถามว่าใครจะได้ประโยชน์จากเหมืองโพแทส พร้อมคำนวณผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ เปรียบเทียบกับค่าทดแทน หรือที่เรียกว่า “ค่าลอดใต้ถุน”

เนื้อหาสาระสำคัญในหนังสือที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีนำมายื่น คือมองเห็นการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมในการกำหนดราคาเงินค่าทดแทนให้กับผู้เป็นเจ้าของที่ดินในเขตเหมืองกว่าสองหมื่นไร่ แจกแจงรายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้

การจ่ายเงินค่าทดแทนอยู่ในอัตรา ๔๕,๕๐๐ บาทต่อไร่ แต่บริษัทจะแบ่งจ่ายเป็น ๒๔ งวด หรือปีละครั้ง

ปีแรกหรืองวดที่ ๑ จ่ายก่อน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ คือ ๔,๕๕๐ บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก ๓๗๙.๑๖ บาทต่อเดือน หรือ ๑๒.๔๖ บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ ๑ ซอง ไข่ไก่ ๑ ฟอง

ปีที่ ๒-๒๓ หรืองวดที่ ๒-๒๓ จ่าย ๑,๗๘๐ บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก ๑๔๘.๓๓ บาทต่อเดือน หรือ ๔.๘๗ บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อไข่ไก่ได้ ๑ ฟอง

ปีที่ ๒๔ หรืองวดสุดท้าย จ่าย ๑,๗๙๐ บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก ๑๔๖.๑๖ บาทต่อเดือน หรือ ๔.๙๐ บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อไข่ไก่ได้ ๑ ฟอง

เมื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่คาดว่าบริษัทจะได้รับจากการขุดเอาแร่โพแทซไปขาย คำนวณจากแผนการผลิต ๒ ล้านตันต่อปี ราคาแร่โพแทซปี ๒๕๖๖ จากเว็บไซต์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตันละ ๒๘,๕๓๐ บาท เท่ากับ ๕๗,๐๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี (ห้าหมื่นเจ็ดพันหกสิบล้านบาท) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจึงเห็นว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่กำหนดไม่เป็นธรรมต่อประชาชนเจ้าของพื้นที่

ฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ชี้แจงกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ ดังนี้

ข้อแรกเรื่องการกำหนดเงินค่าทดแทน​ มีคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนเป็นผู้พิจารณา และมีมติจ่ายตามราคาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ตนที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติราชการ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติ ถ้ากลุ่มอนุรักษ์ฯ ต้องการทราบข้อมูลต่างๆ จะดำเนินการให้ ในส่วนคำถามเรื่องจำนวนคนยื่นขอรับเงินค่าทดแทน จำนวนผู้ที่ได้รับไปเงินไปแล้ว บริษัทจ่ายไปแล้วกี่บาท คิดเป็นเนื้อที่กี่ไร่ จะทำหนังสือ​ชี้แจงรายละเอียดอย่างเป็น​ทางการ โดยเร่งดำเนินการส่งให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ภายใน ๑ สัปดาห์

ข้อสองเรื่องศาลปกครอง​ อุตสาหกรรมจังหวัดหรือ​ผู้​ถูก​ฟ้อง​มีหน้าที่​ชี้แจง​ตามคำสั่งศาลปกครอง หากกลุ่ม​อนุรักษ์​ฯ​ อยากให้​ศาลมีคำสั่งระงับ​ ก็​มีสิทธิ หากศาลมีคำสั่ง​มาอุตสาหกรรม​จังหวัด​ก็ต้องดำเนินการและยินดี​ปฏิบัติ​ตามคำสั่งอย่าง​เคร่งครัด

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๖๐
ส่วนที่ ๕ การกำหนดเงินค่าทดแทน
มาตรา ๙๒


ภายใน ๑๒๐ วันนับแต่วันที่ได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ลึกเกินกว่า ๑๐๐ เมตรจากผิวดินในท้องที่ใดแล้ว ให้มีคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดในท้องที่ที่เขตเหมืองใต้ดินส่วนใหญ่ตั้งอยู่เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ธนารักษ์พื้นที่เจ้าพนักงานที่ดินที่เขตเหมืองใต้ดินตั้งอยู่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เขตเหมืองใต้ดินตั้งอยู่แห่งละหนึ่งคน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งจำนวนสามคน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์เป็นกรรมการ

ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เป็นกรรมการและเลขานุการ

ในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนนั้น ให้คำนึงถึงผลกระทบจากการทำเหมืองใต้ดินที่อาจทำให้ประโยชน์การใช้สอยที่ดินดังกล่าวของผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง หรือผู้มีสิทธิทำกินในที่ดินแปลงนั้นลดลง โดยคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนอาจกำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินจ่ายเงินค่าทดแทน ในคราวเดียวหรือจ่ายเป็นงวดตลอดอายุประทานบัตรก็ได้

การกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทน ขั้นตอนในการขอรับและจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด