kidhod19

เป็นความจริงที่ว่าหมู่บ้านเล็กๆ แดนอีสานมักขาดเยาวชนอาศัย

เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนต้นนิยมหาที่เรียนในตัวอำเภอหรือจังหวัดอื่นจนจบมหาวิทยาลัย จำนวนไม่น้อยพัดพาชีวิตไปหาอาชีพปักหลักต่อในกรุงหรือเมืองที่มีอุตสาหกรรมใหญ่รองรับ ด้วยถิ่นฐานกสิกรรมของพ่อแม่แห้งแล้งจนไม่เอื้อต่อการดำรงชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหม่กับบ้านเกิดจึงพลอยห่างเหิน

ไม่นานนี้ได้รู้เห็นการเดินทางของเหล่าผู้มีถิ่นกำเนิดและเติบโตบนแผ่นดินอีสาน ขณะมุ่งสู่บ้านหนองแวงไร่ ตำบลในเมือง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เรียนรู้รากปัญหา-รับมือภัยแล้งผ่านนวัตกรรมที่อาศัยองค์ความรู้วิชาการและการร่วมแรงร่วมใจกับชาวชุมชน

ขณะสำรวจผืนดินหาแหล่งน้ำ เยาวชนก็ได้ตรวจตราใจตน เห็นโอกาสที่จะอยู่ร่วมและอยู่รอดกับบ้านเกิดโดยนำสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้กลับไปพัฒนาทรัพยากรหลังเรียนจบ

ชวนให้แผ่นดินแล้งมีหวังขณะรอวันลูกหลานเมือบ้านเมือเฮือน

kidhod04

:: แนวคิดธนาคารน้ำ ::

ทั้งที่ใต้ดินละแวกนี้เป็นพื้นที่น้ำ แต่หน้าแล้งกลับขาดแคลน

“เดิมเคยมีสระน้ำขนาดเล็กและตื้น ผมเดินลงไปน้ำสูงแค่ขา บ้านที่อยู่ใกล้ยังไม่พอใช้เลย หมู่ที่อยู่ห่างออกไปจะให้เขาต่อท่อก็คงไม่คุ้ม และของเดิมไม่มีการถมขอบบ่อไว้ ใช้แค่ดินทรายในบริเวณเป็นชั้นผิวดิน พอหน้าดินนุ่มก็เก็บน้ำไม่อยู่ ยิ่งชาวบ้านเจาะน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้โดยไม่ได้เติมกลับ พอถึงฤดูที่เกษตรกรต้องการใช้น้ำพร้อมหน้าจึงประสบปัญหา แล้วยิ่งเจาะหาที่ใหม่ก็ยิ่งเร่งให้ดินทรุด”

จิรศักดิ์ ฉลาดเอื้อ นักศึกษาปี ๒ สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ย้อนปัญหาของชุมชนบ้านหนองแวงไร่จากที่รับรู้

kidhod05

สอดรับกับที่ ชัยวุฒิ บัวสิงห์ เกษตรกรหมู่ที่ ๙ เจ้าของไร่มันสำปะหลัง ๓ ไร่ และที่นา ๘ ไร่ เล่าว่าเดิมบริเวณนี้ชาวบ้านเรียก “สวนเกษตร” และเรียกแหล่งน้ำว่า “สระใหม่” เทศบาลพัฒนาไว้ให้ชุมชนหมู่ที่ ๑, ๘ และ ๙ ร่วมใช้ประโยชน์กว่าพันหลังคาเรือน ก่อนถูกว่างเว้นจากการดูแล

“สามสิบกว่าปีนี้มีแต่แล้งหนักขึ้น วัวแทบไม่มีน้ำกินได้แต่กินหญ้า ปีนี้ผมทำนา ๘ ไร่ ได้ข้าวแค่ ๖ กระสอบ และปลูกมัน ๕-๖ เดือนแล้ว ควรสูงท่วมหัวแต่เพิ่งสูงแค่เอว ผมยังโชคดีที่ไร่นาอยู่ใกล้สระชุมชนจึงขุดร่องไว้ใช้เครื่องสูบน้ำเข้าสวนพอรอดตัวปีต่อปี คนที่อยู่ไกลต้องหอบภาชนะขึ้นรถอีแต๊กมาขนน้ำกลับ บ้านที่ไม่ได้ทำเกษตรก็ต้องขนน้ำไว้อาบไว้ใช้ ปีไหนแล้งจัดก็เกิดการวิวาทเอามีดไล่ฟันชิงน้ำกันก็เคยมี”

kidhod06

“ป้าปลูกข้าวเหนียว ข้าวเจ้า แถวนี้หว่านได้แต่นาปี หลังเกี่ยวข้าวก็สลับปลูกแตง มีมันสำปะหลังอีก ๑๐ กว่าไร่ ช่วงฝนไม่ตกต้องตื่นเช้าไปสูบน้ำเข้าร่อง ตอนรู้ว่าจะมีโครงการมาทำ ‘ธนาคารน้ำ’ ไม่มีใครปฏิเสธเลยแม้เป็นสิ่งที่คนในหมู่บ้านไม่เคยรู้จักเพราะต่างก็อยากได้น้ำ ที่ผ่านมารู้แต่ว่าเจาะถึงบาดาลก็ยังไม่มีน้ำ แต่ถ้าทำแหล่งน้ำได้แสดงว่าจริงๆ แล้วหมู่บ้านเราต้องมีน้ำเยอะสิ แล้วต้องทำอย่างไรล่ะ”

ประคอง แก้วนา เกษตรกรหมู่ที่ ๙ วัย ๖๗ ปี เล่าข้อสงสัยที่เธอได้คำตอบแล้ว

kidhod20
kidhod07

“หนูชอบออกค่ายของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว คราวนี้รุ่นพี่ในชมรมของคณะมาชักชวนว่าสิงห์อาสาจัดกิจกรรมขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากกว่าสระเดิมของชุมชน ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน หนูเลยอยากมาร่วมพัฒนาบ้านเกิดกับเพื่อนๆ นักศึกษาสิงห์อาสาอีก ๑๖ สถาบันภาคอีสาน เพราะถึงส่วนใหญ่จะขุดสระด้วยแรงรถแบ็กโฮ แต่ตอนท้ายก็ต้องใช้แรงมนุษย์ช่วย ตอนลงไปขุดในสระหนูได้คุยกับพวกแม่ๆ ที่มาเอาแรงกับลูกหลาน พวกเขาดีใจมากนะคะ บ้านหนูอยู่ตำบลบึงเนียมในอำเภอเมืองก็ได้เห็นตลอดว่าช่วงแล้งชุมชนไม่มีน้ำใช้จริงๆ คนอีสานถือว่าตำบลไหนก็บ้านเดียวกันเป็นพ่อๆ แม่ๆ ของเรา ทำให้หนูรู้สึกภูมิใจมาก”

แดดเที่ยงชวนล้า ผมเผ้า-เสื้อผ้าชุ่มเหงื่อหลังขึ้นจากสระ แต่ในเสียง กมัยธร ด้วงเคน นักศึกษาปี ๓ สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น คงเปี่ยมพลังงานบวก

kidhod09

แม้สระน้ำขนาดใหญ่ในลักษณะบ่อเปิดแทนที่สระเดิมจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ต่อในอนาคต แต่ก็ยังไม่พอ จำเป็นต้องมีบ่อปิดเล็กๆ รายล้อมด้วย

เพราะน้ำทุกหน่วยคือสินทรัพย์ธรรมชาติ ถอนไปใช้แล้วต้องฝากคืน

kidhod01

:: เติมฝนลงดิน ปันผลคืนพืช ::

ไม่กี่ก้าวถัดจากสระใหญ่-บ่อเปิด คือที่ตั้งของสระเล็ก-บ่อปิด

เหมาะสำหรับฤดูฝนที่มีน้ำหลาก ช่วยให้ฝนที่ตกลงมาไม่ไหลล้นเปล่า แต่จะซึมกลับลงดิน รูปแบบที่มีขนาดเล็กและใช้ทุนไม่มากยังสอดรับกับความต้องการของชาวบ้านที่อยู่ห่างสระใหญ่

“เราแอบคิดเหมือนกันว่าถ้าสิงห์อาสามาช่วยเหลือตามบ้านด้วยคงดี อย่างชุมชนเราอยู่หมู่ ๘ ห่างจากตรงนี้ ๔-๕ กิโลเมตร ไม่สะดวกมาขนน้ำเท่าไร ชาวบ้านอยากได้สระบ้างแต่ไม่มีเงินจะจ้างใครมาขุด”

เมล็ด อุดม เกษตรกรวัย ๕๖ ปี สะท้อนมุมมองแทนลูกบ้านในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๘ ที่เมื่อได้มาเห็นแหล่งน้ำในรูปแบบสระเล็ก-บ่อปิดก็เริ่มเห็นความหวังใหม่ ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยแต่หาน้ำจากบาดาล ไม่เจอที่หนึ่งก็เจาะที่ใหม่ ลืมนึกถึงทางออกที่อยู่ใกล้ปลายจมูกเพียง “เติมน้ำฝนกลับลงใต้ดิน”

kidhod10

อาจารย์มัลลิกา นักวิชาการด้านปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ชวนชาวบ้านดูแบบจำลองโลกใต้บ่อปิดเทียบกับของจริงที่ขุดลึก ๓.๒๐ เมตรจนถึงชั้นหินทราย เรียงท่อวง ๖ ชั้น แต่ละท่อวงสูง ๕๐ เซนติเมตร เจาะรูด้านข้างท่อวงเพื่อให้น้ำซึมผ่าน แล้วเทหินขนาด ๑-๘ เซนติเมตรที่ชั้นล่างสุดจนเต็มท่อวงของชั้นที่ ๕ จึงเปลี่ยนมาใช้หินขนาด ๑-๒ เซนติเมตรในชั้นที่ ๔ แล้วใช้กรวดที่มีขนาดเล็กลงอีกในชั้นที่ ๓ เพื่อกรองน้ำไปในตัว หินที่นำมาใส่เป็นหินแม่น้ำ ช่วยให้ได้น้ำสะอาดไม่ปนเปื้อนสีแดงเหมือนใช้หินในชุมชน กลางบ่อมีท่อพีวีซีทำหน้าที่เป็นฝาปิดเพื่ออาศัยแรงดันกดอัดน้ำให้ซึมกลับลงไปและเปิดได้เพื่อหย่อนไม้วัดระดับน้ำ

kidhod11

บ่อปิดแบบนี้เหมาะจะมีให้ทั่วชุมชน และตามครัวเรือนก็ทำใช้ส่วนตัวได้ ยิ่งทำบ่อปิดไว้ใกล้กันยิ่งเป็นการเติมน้ำให้กันและกัน เพราะโลกใต้ดินไม่มีแบ่งแยก สายน้ำล้วนเคลื่อนที่ถึงกัน กระจายความชุ่มชื้นทั่วบริเวณกว้าง พืชพรรณที่ปลูกรอบบ่อก็พลอยได้ความชุ่มชื้นจากผิวดิน สร้างโอกาสเติบโตมากขึ้น

และเมื่อสวนป่ามีค่าดั่งดอกเบี้ยให้เก็บกินระยะยาว พืชที่จะปลูกจึงสำคัญ

“บ้านหนูอยู่ด้านหลังเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร หน้าแล้งก็ไม่มีน้ำทำนาเหมือนกัน ที่หนูเลือกเรียนสาขาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเพราะอยากศึกษาเรื่องดิน น้ำ ป่า เมื่อก่อนพอชาวบ้านรู้ว่าลูกหลานเรียนเกษตรจะคิดว่าเรื่องแค่นี้พ่อแม่ก็สอนได้

ความจริงภูมิปัญญากับวิชาการมันต่างกันมาก สิ่งที่หนูเรียนสอนให้รู้ว่าดินแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร การนำดินเข้าห้องแล็บจะช่วยแก้ปัญหาให้พื้นที่นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแม้ชนบทจะมีป่าธรรมชาติทุกชุมชนก็ควรปลูกป่าเพื่อใช้ประโยชน์แบบไม่รบกวนระบบนิเวศ”

คือแนวคิดการเกษตรยุคใหม่ของ สุพรรณี นามวงษา นักศึกษาปี ๒ สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ติดตามอาจารย์มัลลิกามาลงพื้นที่

kidhod03

เวลานี้เยาวชนนักศึกษากับชาวบ้านร่วมปลูกไผ่ ยางนา และพะยอม รอบพื้นที่บ่อเปิดและบ่อปิด เพื่อว่าอย่างน้อยคนที่อยู่ห่างจากสระไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเรื่องน้ำก็ยังได้แบ่งลำไผ่ไปใช้ เก็บหน่อไม้กิน การปลูกยางนาจะเติบโตเป็นร่มเงาชั้นบนให้ต้นพะยอมเป็นร่มเงาชั้นที่ ๒ เมื่อมีความร่มเย็นเวลาฝนตกใต้ต้นยางนาจะมีเห็ดต่างๆ อย่างเห็ดยางนา เห็ดโคน ผุดให้ชาวบ้านได้กิน-ขายตามฤดู

เป็นความอุดมสมบูรณ์จากการรู้ใช้ทรัพยากรที่ผืนดินรอปันผลแก่สมาชิกถ้วนหน้า

kidhod12

:: ฝันชุ่มฉ่ำของต้นกล้าอีสาน ::

ต้นพฤษภาคม ๒๕๖๖ น้ำในบ่อเปิด-บ่อปิดยังต้องรอฤดูฝนมาเยือน
แต่น้ำดื่มสำหรับชุมชนที่ขาดแคลนกระทั่งประปาหมู่บ้านพร้อมแล้ว

บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือฯ บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงนำธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ ๒,๐๐๐ ลิตร มาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ชาวชุมชน โดยจะมีรถขนส่งน้ำของสิงห์อาสาคอยนำน้ำสะอาดมาเติมให้ชาวบ้านได้ดื่มตลอดนับแต่วันที่เยาวชนมามอบความทรงจำที่ดี ช่วยขนแกลลอนบรรจุน้ำดื่มไปส่งที่พาหนะชาวบ้าน
มันไม่ได้ทำให้โลกร้อนน้อยลงหรือสยบภัยแล้งได้ทันที แต่ยิ้มกว้างของชาวบ้านแทนความขอบคุณน้ำใจก็เป็นความอิ่มเอมที่ย้อนกลับไปหล่อเลี้ยงหัวใจลูกหลานที่มุ่งมั่นมาช่วย

kidhod17

“ก่อนมาผมหาข้อมูลเจอว่าแถวนี้เจอปัญหาภัยแล้งทุกปี น่าเห็นใจนะครับเพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักของชุมชนเกษตรและการใช้ชีวิต การมาที่นี่ทำให้ได้สัมผัสชุมชนที่ต่างจากโคราชบ้านผม อำเภอปากช่องที่ผมอยู่มีความชุ่มชื้นเพราะมีแม่น้ำลำคลองเยอะและอยู่ใกล้เขาใหญ่จึงทำเกษตรได้สบาย มีน้ำใช้ตลอดปี ชาวปากช่องส่วนใหญ่ถ้าไม่ปลูกสับปะรดก็ทำฟาร์มโคนม แต่ถึงจะมีน้ำธรรมชาติไม่ขาดบ้านผมก็มีปัญหาเรื่องน้ำประปาหมู่บ้านไม่พอใช้เหมือนกัน เวลาใช้น้ำพร้อมกันเครื่องปั๊มก็ทำงานไม่ทัน นวัตกรรมแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำจากที่นี่อาจเป็นจุดเริ่มให้ผมหาวิธีที่เหมาะจะนำไปปรับใช้ในชุมชนของผมบ้าง เพราะถ้าเรียนจบแล้วผมก็ไม่อยากเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ผมอยากทำงานประจำแถวบ้านที่พอเลี้ยงชีพได้แล้วมีเวลาเหลือพอที่จะทำอาชีพเสริมอีกสักอย่างก็น่าจะทำให้อยู่บ้านได้แบบมีความสุขแล้ว”

ธีรเดช สมพันเพียง นักศึกษาปี ๓ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปรยอนาคตเช่นเดียวกับ ปฏิพัทธ์ ลครพล นักศึกษาปี ๕ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

“ความจริงวันนี้นอกจากชาวบ้านจะได้น้ำยังมีสิ่งที่เขาได้มากกว่านั้นอีก สำหรับผมที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมกับสิงห์อาสาเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งแรกไปสอนให้ชาวบ้านใช้คอมพิวเตอร์ ต่อมาก็ขุดบ่อน้ำที่อำเภอชุมแพในขอนแก่นแล้วก็ปลูกพืชริมสระคล้ายกับกิจกรรมครั้งนี้ ผมเห็นว่าส่วนใหญ่เวลามีหน่วยงานจัดกิจกรรมอะไรให้ชุมชนจะเป็นการทำแล้วมอบให้ น้อยมากที่จะชวนคนนอกกับชาวบ้านมาร่วมกันทำทั้งที่มันเป็นวิธีที่ดีมาก ชาวบ้านจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยมันจึงจะเกิดการพัฒนายั่งยืน การมีส่วนทำงานร่วมกันจะทำให้เขารู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาจะแก้อย่างไร หรืออนาคตอยากขยายเพิ่มจะทำอย่างไร เพราะคนนอกมาทำให้เสร็จแล้วก็ไป แต่สิ่งนั้นจะอยู่กับชุมชนตลอด และความรู้ที่เขาได้รับก็นำไปสอนลูกหลานต่อได้”

เมื่อไตร่ตรองว่าการทำงานที่บ้านเกิดไม่ใช่เพียงอาชีพเกษตรอย่างคนรุ่นพ่อแม่เสมอไป เขาก็เริ่มต้นฝึกตนไปในทางที่ตนถนัด เป็นผู้นำกระบวนการส่งต่อการศึกษา-เกื้อกูลผู้อื่น

“ทุกครั้งที่ผมร่วมกิจกรรมต่างๆ ก็ได้ฝึกทำความเข้าใจปัญหาที่แตกต่างของแต่ละชุมชนด้วย อะไรน่าสนใจผมก็จะกลับไปค้นคว้าเพิ่ม ผมอยากใช้วิชาชีพครูที่เรียนมาถ่ายทอดสู่เด็กๆ ในชุมชน”

นึกถึงคำบอกเล่าจากชัยวุฒิ เกษตรกรหมู่ที่ ๙ วัย ๕๖ ปี ที่ว่าบ้านหนองแวงไร่แล้งจนไม่มีชาวบ้านคิดฝันให้ลูกหลานทำเกษตรอยู่ในหมู่บ้าน แล้วอำเภอบ้านไผ่ก็ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมให้เยาวชนจบใหม่ได้ใช้ความรู้ทำงาน ลูกสาวสองคนเรียนจบแล้วจึงไปทำงานที่ชลบุรี อีกคนเรียนจบจากกรุงเทพฯ กลับมาทำงานอยู่ที่โครงการชลประทานขอนแก่นก็จริง แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์กับอาชีพของคนในหมู่บ้าน

“การศึกษามันเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องขวนขวายเพื่อพาชีวิตไปข้างหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทิ้งบ้านเสมอไป สำหรับหนูความสุขคือได้อยู่บ้านเกิด และหนูอยากสร้างการรับรู้ใหม่ว่าจริงๆ อาชีพเกษตรกรมั่นคงนะถ้ารู้วิธีบริหารจัดการทรัพยากร หนูมีญาติเรียนเกษตรหลายคน เยาวชนในหมู่บ้านก็มีคนเรียนชลประทาน พืชไร่พืชสวน พวกผู้ใหญ่จึงเห็นสิ่งที่ลูกหลานเรียนและทดลองทำงานไปด้วย พวกเขายินดีที่พวกเราเอาสิ่งที่เรียนมาแก้ปัญหา ที่ผ่านมาคนในหมู่บ้านเลยได้ช่วยกันขุดลอกคูคลองจนเสร็จไปแล้ว มีการปลูกต้นไม้เพื่อนำผลผลิตมาขาย พอมีน้ำท่าสมบูรณ์พืชผลก็งอกงาม ที่หมู่บ้านของหนูนำพืชผลมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปแล้ว อย่างข้าวที่เหลือของชาวนาก็แปรรูปเป็นข้าวเม่าให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม”

สุพรรณี-ต้นกล้าเยาวชนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเล่าความผูกพันต่อหมู่บ้านที่กำเนิด เธอดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของสิงห์อาสาในฐานะผู้ติดตามอาจารย์จากสาขาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมาช่วยพัฒนาแหล่งน้ำแผ่นดินอีสานเพื่อฟื้นฟูชีวิตให้วิถีเกษตร เช่นเดียวกับจีรศักดิ์เพื่อนร่วมคณะ

kidhod14

“อำเภอภูเวียงที่ผมอยู่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งและดินเค็ม ชุมชนต้องขุดบ่อแล้วก็ประสบปัญหาน้ำไม่พอเหมือนกัน การได้ตามอาจารย์ลงพื้นที่ต่างๆ ยิ่งดีมากเพราะทฤษฎีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องรู้ว่าขั้นตอนทำงานจริงเป็นอย่างไรและได้ผลแบบไหน ถ้าเลือกได้ใครก็คงอยากทำงานที่บ้านเกิด ต่อให้ได้งานดีๆ ไกลบ้านส่งเงินให้พ่อแม่ใช้มันก็ไม่ยั่งยืนหรอกครับถ้าปัญหาที่มีอยู่ยังไม่ถูกแก้ไข ผมอยากแก้ปัญหาดินเค็มและภัยแล้งให้หมู่บ้านผม ประสบการณ์ต่างๆ ที่ผมได้รู้ขณะเรียนจะช่วยวางแผนว่าถ้าฝนตกฤดูนี้ควรปลูกพืชชนิดไหน หรือฤดูแล้งควรทำอะไรให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ การมาช่วยโครงการสิงห์อาสาผมก็ได้รู้ว่าการปลูกต้นไม้รอบบ่อก็ผ่านกระบวนการศึกษาความเหมาะสมมาแล้วว่าควรเลือกพืชอะไรด้วยเหตุใด มีผู้เสนอให้ปลูกต้นคูณกับราชพฤกษ์เพื่อเสริมภูมิทัศน์ให้เป็นสถานพักผ่อนหย่อนใจ แต่พืชดอกมันไม่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนแก่ชาวบ้านนะครับ ประโยชน์ใช้สอยสิสำคัญกว่า”

สองเยาวชนจากผืนดินอีสานคิดเห็นตรงกันว่าอยากให้การเฮ็ดงานที่บ้านเลี้ยงชีพได้จริง และไม่จำเป็นที่เด็กรุ่นใหม่ต้องออกไปเติบโตนอกชุมชนก่อนค่อยรอวันกลับมาพัฒนาถิ่นเกิดเมื่อสามารถทำได้เลย

“ผมอยากเริ่มต้นความสำเร็จที่ชุมชน เพราะบ้านคือพื้นที่สร้างความแข็งแกร่งก่อนออกไปข้างนอก คือห้องทดลองที่จะทำอะไรถูกผิดก็ไม่มีใครว่า ผมอยากออกแบบนวัตกรรมของตนเอง ถ้าสำเร็จมันจะเป็นโมเดลจากบ้านเกิดเรา ค่อยนำความรู้ไปขยายผลนอกพื้นที่อย่างภูมิใจ”

เช่นเดียวกับผู้บ่าวผู้สาวซำน้อยทั้ง ๑๖ สถาบัน ที่มารวมตัวกันเรียนรู้จากโครงการที่เป็นดั่งประตูบานแรกเปิดทางให้พวกเขาจุดประกายการเปลี่ยนแปลง เช่นที่รุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยเคยทำและนำความรู้กลับไปสร้างคอมมูนิตีดูแลถิ่นเกิดให้ดีขึ้น ทั้งที่มองเห็นได้และไม่เห็นด้วยตาเปล่า  

ถึงยุคนี้จะเป็นเทรนด์ที่เด็กรุ่นใหม่ออกไปเติบโตนอกชุมชนแล้วถึงจุดหนึ่งก็โหยหาบ้านเกิดอยากกลับมาพัฒนาที่ที่ตนกำเนิด แต่บางคนคิดสวนทาง เขาต้องการเติบโตในบ้านเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแล้วค่อยนำความสำเร็จนั้นออกไปบอกต่อ-ขยายผลนอกชุมชน จะดีแค่ไหนถ้าเราได้ออกแบบนวัตกรรมของตนเองและมีโอกาสเผยแพร่ให้ผู้ที่ต้องการได้รับประโยชน์เหมือนๆ กัน

หน้าแล้งคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อีก เมื่อต้นกล้าทั้งหลายได้สั่งสมน้ำ-ประสบการณ์มากพอ

ผืนดินอีสานจะมีแหล่งน้ำ-ไม้ใหญ่แผ่ความชุ่มชื้นกระจายความมั่นคงให้ชุมชนยั่งยืน

kidhod02