หรือจะถึงคราวสังคายนาใหม่?

รู้หมือไร่…ในคัมภีร์ศาสนาพระไตรปิฎกที่ปรากฏสมุนไพรรักษาโรคถึง ๓๑๑ รายการ สามารถระบุเป็นชื่อพันธุ์ไม้ไปแล้ว ๔๑๘ ชนิด!

ตำราสมุนไพร ไม่ใช่ตำรับยา?!?

“ตอนนี้ชัดเจนมากแล้วว่า การแพทย์แผนไทยมาจากพุทธศาสนา ไม่ได้มาจากอายุรเวท”

ดอกเตอร์อุษา กลิ่นหอม กล่าวในการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๐ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เธอให้ความรู้ว่าการสังคายนาพระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน กระทั่งปี ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งล้านนา ได้สังคายนาพระไตรปิฎกอีกครั้งในแผ่นดินของรัฐไทยปัจจุบัน โดยชำระอักษรพระไตรปิฎกในใบลานจารึกเป็นอักษรล้านนา เป็นผลให้ศาสนาพุทธในไทยรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และปี ๒๓๓๑ (สมัยรัชกาลที่ ๑) ก็มีการสังคายนาพระไตรปิฎกอีก ทำให้พระไตรปิฎกกลายเป็น “แหล่งอ้างอิง” ของตำราสมุนไพรทางแพทย์แผนไทย

tumraherb02

“ในตำราวัดโพธิ์ก็มีบันทึกพันธุ์ไม้กว่า ๑,๖๐๐ ชนิด นั่นแสดงว่ามีการนำตำรามาพัฒนาจนถึงรัชกาลที่ ๓ เป็นเหตุให้มีการใช้พันธุ์ไม้มากกว่าที่บันทึกในพระไตรปิฎกหลายเท่า”ดอกเตอร์อุษาสะท้อนว่าพระไตรปิฎกเป็น “ตำราสมุนไพร” ไม่ใช่ “ตำรับยา”เพราะในพระไตรปิฎกเพียงกล่าวถึงชื่อสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคแต่ไม่ได้กล่าวถึง “วิธีปรุงยา” และกล่าวถึงโรคต่างๆ เพียงไม่กี่ชนิด เป็นไปได้ว่าอาจมีคัมภีร์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยเป็นองค์ประกอบร่วมใช้รักษา

ตื่นเต้นดีใจที่ได้รู้ว่าสมุนไพรบางชนิดในพระไตรปิฎกฉบับอินเดียและฉบับภาษาไทยเป็นคนละชนิดกัน
เช่น “ใบเฉียง” สมุนไพรที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย

tumraherb03

“…ภิกษุทั้งหลายต้องการเครื่องบดยาผสมยาตา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้จันทน์ กฤษณากะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู…’” (เล่มที่ ๕ หน้า ๕๐)
ใบเฉียงในที่นี้หมายถึง “สนอินเดีย” (Abies alba Mill.) ไม่ได้หมายถึง “ต้นเฉียงพร้านางแอ” [Carallia brachiata (Lour.) Merr.] ตามที่คนไทยเข้าใจ

“พริก” ในพระไตรปิฎกก็น่าสนใจ

“…เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นยา คือ ลูกพิลังคะ ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกศ หรือผลไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่” (เล่มที่ ๕ หน้า ๔๗)

พริกที่ถูกกล่าวถึงสันนิษฐานว่าคือ “พริกไทย” เพราะพริกที่รู้จักกันในปัจจุบันถูกนำเข้าสู่อินเดียในช่วงศตวรรษที่ ๑๕ และในอดีตคนไทยเรียกพริกไทยว่า “พริก” เมื่อพริกจากอเมริกาใต้เข้ามาจึงเปลี่ยนไปเรียก “พริกไทย” และเรียกพริกที่เข้ามาใหม่ว่า “พริก”

ยังมีสมุนไพรบางชนิดในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยใช้ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ เช่น “กะหนานปลิง” ที่มีในไทยและอินเดียปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเล่มที่ ๓๒ หน้า ๒๖-๒๗ ว่า “…ต้นกรรณิการ์ ต้นกรรณิการ์เขา ต้นประดู่ ต้นอัญชัน มากมายส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม”

จะเห็นได้ว่าในพระไตรปิฎกจะเรียกว่า “ต้นกรรณิการ์เขา” ซึ่งมาจากชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า กรรณิการ์ (Karnikar Tree) ไม่ได้เรียกตามชื่อสามัญภาษาไทยว่ากะหนานปลิง

หรือสมุนไพรบางชนิดที่ปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยไม่ปรากฏในฉบับอินเดียเช่น “ซ่อนกลิ่น” ที่กล่าวถึงในฉบับภาษาไทยว่า “…มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ หัวหอม หัวกระเทียม ต้นกะเม็ง ต้นขัดมอนมีอยู่ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า” (เล่มที่ ๓๒ หน้า ๓๐) ซึ่งมีการเขียนอธิบายไว้ในเชิงอรรถว่า หัวกระเทียมหมายถึงซ่อนกลิ่น และบางชนิดปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับอินเดียแต่ไม่ปรากฏในฉบับภาษาไทย เช่น “พุดพิชญา” [Wrightia antidysenterica (L.) R.Br.] เป็นต้น

เป็นไปได้ว่าสมุนไพรในพระไตรปิฎกแต่ละฉบับมีการปรับเปลี่ยนและแปลงพันธุ์ให้เข้ากับพืชท้องถิ่นในภูมิภาคหรือสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในแต่ละพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้

ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความสับสนต่อประสิทธิภาพการรักษาว่า สมุนไพรที่ใช้ในการแพทย์แผนไทยนั้น “ถูกต้อง” ตามตำราหรือไม่ เพราะการปรับ-เปลี่ยน-แปลงทำให้ความเข้าใจเรื่องชนิดของสมุนไพรในพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน
บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่แพทย์แผนไทยต้อง “สังคายนา” ตำราสมุนไพรอีกครั้ง และปรับปรุงองค์ความรู้ที่มีให้ถูกต้องเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น

สร้างที่ยืนอย่างสง่าให้แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือกเป็นระบบรักษาควบคู่แพทย์แผนปัจจุบัน

อ้างอิง

  • สมิทธ์ ถนอมศาสนะ. (๒๕๕๖). “การเปลี่ยนความหมายของการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘”. วารสาร
  • วิจิตรศิลป์, ๔(๑), ๓๒๕-๓๖๓.
  • อุษา กลิ่นหอม. (๒๕๖๑). สมุนไพรในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : อุษาการพิมพ์.

มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๐ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๐

จัดโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
วันที่ ๒๘ มิถุนายน–๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐ น.
ณ อาคาร ๑๑-๑๒ และห้องประชุมฟีนิกซ์ ๑-๖ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี