เรื่อง: นพรุจ สงวนจังวงศ์
ภาพ: นพรุจ สงวนจังวงศ์ และ สำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

เมื่อโซลาร์เซลล์ไม่จำเป็นต้องอยู่บนบก

Floating Solar

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ผู้ประกอบอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรได้ผุดโครงการ “สวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC” ที่อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์บนผิวน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างสูงสุด

“การผลิตต่างๆ ใช้พลังงานค่อนข้างสูง บริษัทจึงให้มีการผลิตไฟฟ้าใช้เองร่วมกับของรัฐบาล เรามีโรงไฟฟ้าสองแห่ง พลังงานมาจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน จึงเป็นที่มาที่ไปของการติดตั้งสวนโซลาร์ลอยน้ำซึ่งเป็นพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์”

solorgarden02

กัญจนรัชช์ ชื่นฤดี วิศวกรส่วนวิศวกรรมกระบวนการและประสิทธิภาพการผลิต อธิบาย

“เราพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้พลังงานสะอาดพร้อมเกิดประโยชน์กับชุมชน ที่ตั้งของโรงงานเราอยู่ใกล้ภูเขาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน นอกจากสามารถกักน้ำไว้ให้ชาวบ้านใช้ในหน้าแล้งแล้ว เรายังสามารถนำน้ำสำรองตรงนี้ผลิตน้ำประปาใช้เองเมื่อเกิดภัยแล้งอีกด้วย”

จึงแบ่งเนื้อที่กว่า ๕๐๐ ไร่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ขุดเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ๓ บ่อ สร้างสวนโซลาร์ลอยน้ำระยะแรก ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ๓๒,๑๔๐ แผง ผลิตไฟฟ้าได้ถึง ๑๒.๕ เมกะวัตต์พีก (MWp) ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

solorgarden03

มีการคำนวณพื้นที่ผิวน้ำ วางแผงโซลาร์เซลล์ไม่เกิน ๗๐% ของพื้นที่ อีก ๓๐% เป็นที่ว่างให้มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเพื่อไม่ให้น้ำเกิดมลพิษ สิ่งมีชีวิตในน้ำจึงสามารถอาศัยอยู่ได้ รอบบ่อยังเพิ่มลู่วิ่งและพื้นที่กิจกรรมให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์พักผ่อนหย่อนใจ ตามโจทย์ที่ต้องการพลังงานสะอาดโดยไม่ตัดขาดจากชุมชน

โซลาร์ลอยน้ำองค์ประกอบมีสามส่วน ส่วนแรกคือ “โครงสร้างทุ่นลอย” (Floating Structure) ออกแบบโดยหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของไออาร์พีซี ผลิตจากวัสดุพลาสติกประเภท HDPE (High Density Polyethylene) หนาแน่นและทนทานสูงแบบเดียวกับที่ใช้ทำท่อประปาและระบบน้ำดื่ม สีเทาของทุ่นยังช่วยลดอุณหภูมิใต้แผง ๕-๘ องศาเซลเซียส เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น อายุการใช้งานยาวนานถึง ๒๕ ปี ยังนำไปรีไซเคิลต่อได้ รับประกันคุณภาพโดยผ่านการทดสอบฟูดเกรด (Food Grade) ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ใต้น้ำ

solorgarden04

ส่วนที่สองคือ “โมดูลโซลาร์เซลล์” (PV Module) หรือแผงโซลาร์เซลล์ไว้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิด Mono PERC Double glass with flame (Bifacial) หนึ่งแผงมี ๗๒ เซลล์ ผลิตไฟฟ้าได้ ๓๙๐ วัตต์ต่อแผง อายุการใช้งานยาวนาน ๒๕ ปี และมีการล้างทำความสะอาดแผงทุกเดือนเว้นแต่ฤดูฝนที่ ๓ เดือนจึงล้างสักครั้ง

ส่วนที่สามคือ “เครื่องแปลงไฟฟ้า” (Inverter) ทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ จากกระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับส่งไปยังหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) เพื่อเพิ่มแรงดันไฟฟ้าให้สูง ๖.๖ กิโลโวลต์ ก่อนที่จะจ่ายไปยังโรงงานอุตสาหกรรมของไออาร์พีซี

“แผงโซลาร์เซลล์ควรมีระบบติดตามการเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์ แต่ก็สามารถเลือกติดตั้งไว้ในมุมที่ดีที่สุดแทนได้ ซึ่งแต่ละฤดูกาลจะมีมุมที่ดีที่สุดแตกต่างกัน โดยหลักคือ การติดตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ เยื้องไปทางทิศตะวันตก และทำมุมจากพื้นราบประมาณ ๑๕-๑๘ องศา จะเป็นจุดที่รับแสงอาทิตย์ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับตำแหน่งอื่นๆ เราจึงนำวิธีนี้มาใช้ติดตั้งสวนโซลาร์ลอยน้ำ”

solorgarden05

ภราดร ศรีเทพ วิศวกรส่วนพัฒนาเสถียรภาพระบบไฟฟ้า อธิบายหลักการคำนวณติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนสวนโซลาร์ลอยน้ำ

“เรามีแผนจะลดก๊าซเรือนกระจกลง ๒๐% ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. ๒๐๕๐ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. ๒๐๖๐ ปัจจุบันโรงงานที่นำร่องมีการใช้พลังงานสะอาดมาทดแทนแล้ว ๑๕% และจะมีโครงการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย”

คุณกัญจนรัชช์เสริมว่า พลังงานสะอาดที่ผลิตได้นั้นหมายถึงโลกที่ร้อนน้อยลง โครงการระยะแรกแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. ๒๐๒๐ สามารถลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ถึง ๙,๔๕๙ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (TON CO2/Y) และกำลังขยับขยายโครงการไประยะที่สองโดยสร้างเพิ่มอีก ๓ บ่อภายใน ค.ศ. ๒๐๒๓ คาดว่าจะช่วยโลกได้อีก ๖,๐๙๓ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

solorgarden06

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการทำโครงการยังขยายผลให้สามารถขึ้นทะเบียน “คาร์บอนเครดิต” อีกหนึ่งแนวคิดใหม่ให้รักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่การดูแลภาคธุรกิจ หลักคิดคือบริษัทหรืออุตสาหกรรมใดที่มีโครงการ “ลด” (Reduction) หรือ “ดูดกลับ” (Removal) ก๊าซเรือนกระจก สามารถนำไปเปลี่ยนให้เกิดมูลค่า ซึ่งมีหน่วยนับคือ “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” และขอขึ้นทะเบียนเป็นเครดิตสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนใน “ตลาดคาร์บอน” ได้ ให้ธุรกิจอื่นนำไปใช้ชดเชยคาร์บอน (Carbon offset) เป็นรายได้ให้กับบริษัทที่ทำโครงการอีกทางหนึ่ง โดยราคาจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและความยากในการได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตนั้นๆ เช่น โครงการปลูกป่าที่ต้องใช้เวลาดูแลนานหลายปีกว่าที่ต้นไม้จะเติบโตจนสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ คาร์บอนเครดิตที่นำไปขายก็มักจะได้ราคาสูง

solorgarden07

“วิธีคำนวณคาร์บอนเครดิตอย่างง่าย คือ นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาก่อนที่จะมีโครงการ เรียกกันว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (Baseline Emission) ลบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังการทำโครงการ (Project Emission)”

solorgarden08

สาธิต เนียมสุวรรณ ผู้จัดการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิตองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายวิธีการคำนวณคาร์บอนเครดิตซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของโครงการ

ไม่ใช่ทุกแห่งจะทำเป็นเครดิตได้ การขึ้นทะเบียนมีรายละเอียดที่เข้มงวดและซับซ้อนกว่านั้น ทั้งต้องผ่านกระบวนการ “ตรวจสอบ” ในขั้นต้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกว่าแผนการเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และหลังจากโครงการดำเนินไป ต้องถูก “ทวนสอบ” เพื่อให้มั่นใจว่าทำจริงและลดก๊าซเรือนกระจกได้จริงจึงจะได้รับการรับรองผล เป็นเครดิตซื้อขายในตลาดภาคสมัครใจ

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เป็นเครื่องมือการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัท โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจตนเอง ซึ่งมาตรฐานในการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยได้พัฒนา “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” ให้ชื่อสั้นๆ ไว้ว่า “T-VER” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ดูแลโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรับผิดชอบการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในหลายประเภท อย่าง “T-VER ภาคป่าไม้” ที่เกี่ยวข้องกับโครงการปลูกป่าของบริษัทหรือชุมชนต่างๆ หรือ “T-VER ภาคพลังงาน” ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านพลังงาน รวมถึงสวนโซลาร์ลอยน้ำของ IRPC

“สำหรับโครงการสวนโซลาร์ลอยน้ำแห่งนี้ มีการผลิตไฟฟ้าเองเพื่อทดแทนไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบสายส่งของการไฟฟ้า คิดอย่างง่ายๆ คือ ไฟฟ้า ๑ หน่วยที่ผลิตได้เป็นกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ ๐.๔๗ กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เอา ๐.๔๗ ไปคูณกับตัวเลขที่ผลิตได้ ก็จะพอเห็นตัวเลขกรณีฐานคร่าวๆ”

คุณสาธิตอธิบายวิธีคิดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐานและขยายความวิธีการคำนวณคาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้

“แต่การคิดคาร์บอนเครดิตเราจะต้องหักตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำโครงการด้วย สำหรับโครงการในลักษณะนี้น่าจะต้องมีการซื้อหรือนำไฟฟ้าจากแหล่งอื่นเข้ามาใช้ในระบบด้วยหรือไม่ ถ้ามี จะต้องเอาตัวเลขตรงนี้หักลบจากค่ากรณีฐาน ผลต่างสุดท้ายที่ได้จะกลายเป็นตัวเลขคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการทำโครงการนี้”

เป็นไปได้ว่าโครงการแห่งนี้สามารถเป็นตัวอย่างที่จะส่งสารไปยังบริษัทอื่นๆ ว่าธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมสามารถเดินไปด้วยกันได้ และควรเริ่มทำเดี๋ยวนี้

solorgarden11

แหล่งอ้างอิง

  • กัญจนรัชช์ ชื่นฤดี, และภราดร ศรีเทพ. (กรกฎาคม ๒๕๖๖). โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ. [Digital slide presentation]. งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ ๒๕๖๖ เพื่อศึกษาดูงานโครงการคาร์บอนเครดิต T-VER ภาคพลังงาน และภาคป่าไม้, ระยอง, ประเทศไทย.
  • บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน). (๒๕๖๖). Factsheet โครงการสวนโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar Farm).
  • สุภัชญา เตชะชูเชิด. (มิถุนายน ๒๕๖๖). “ตลาดคาร์บอนทางรอดหรือไถ่บาป?”. สารคดี, ๔๕๙, ๑๐๘-๑๑๗.
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (๒๕๕๙). โครงการ T-VER คืออะไร. https://ghgreduction.tgo.or.th/en/what-is-t-ver/question-and-answer-about-t-ver/item/2105-t-ver.html
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (๒๕๕๙). หลักการพื้นฐานและบทนิยาม. https://ghgreduction.tgo.or.th/en/t-ver/index.php?option=com_content&view=category&id=17&Itemid=191