เรื่อง: เนตรนภา ก๋าซ้อน
ภาพ: กัปตัน จิรธรรมานุวัตร, ณัฏฐวุฒิ เทียนธีระบุญญา
ยานพาหนะทุกชนิดล้วนมีระเบิดเวลาของการชำรุดติดอยู่
หากเจ้ารถสุดที่รัก ยานพาหนะหลักของมนุษย์บนบกพัง เจ้าของรถก็ต้องหันหน้าเข้าพึ่งอู่เพื่อเข้ารับการซ่อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่หากคุณเกิดมาท่ามกลางสายลม แสงแดด และสายน้ำล่ะ ถ้า “เรือประมง” คือพาหนะหลักของมนุษย์ผู้เกิดมากับผืนน้ำ และเมื่อระเบิดเวลาของการชำรุด เกิดระเบิดใส่พาหนะยังชีพ เรือประมงจะถูกส่งซ่อมที่อู่เหมือนรถหรือไม่
หากใครไม่ได้มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ติดทะเล นิยามคำว่า “คานเรือ” คงมีอยู่ไม่มากนัก แต่ไม่ใช่กับชาวบ้านที่ชุมชนปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมืองท่าที่เคยรุ่งเรืองแบบฉุดไม่อยู่ จนครั้งหนึ่งพาหนะที่ต้องมีกันทุกบ้านไม่ใช่รถเครื่อง แต่เป็นเรือประมงที่วิ่งกันขวักไขว่ทุก ๆ วัน
และเมื่อถึงคราที่เรือพัง “คานเรือแหลมเมือง” คือคำตอบของชาวประแส
คานเรือ
คำว่า คานเรือ อธิบายง่ายๆ ได้ว่าก็คืออู่สร้างและซ่อมแซมเรือ มีที่มาของชื่ออย่างตรงตัว คือการนำเรือยกขึ้นไว้บนคานปูนเพื่อรอซ่อมแซมในขั้นตอนต่าง ๆ
สืบค้นข้อมูลจาก Blogspot เพจ Marinerthai แยกประเภทอู่ต่อเรือได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ประเภทแรกคือ อู่น้ำ (wet dock) สามารถปรับระดับน้ำภายในอู่ให้เรือลอยอยู่ในระดับที่ต้องการ เพื่อให้ซ่อมเรือได้อย่างสะดวก
ถัดมาเป็น อู่ลอย (floating dock) อู่ซ่อมเรือขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่กลางทะเล ลักษณะคล้ายแพ นำเรือวิ่งเข้าไปในอู่ได้เลย
ประเภทสุดท้ายคือ อู่แห้ง (dry dock) เมื่อนำเรือเข้าอู่แล้วจะสูบน้ำภายในอู่ออก ทำให้ซ่อมท้องเรือภายนอกได้ และนำเรือขึ้นไปซ่อมในพื้นที่แห้งได้
คานเรือแหลมเมืองเลือกใช้วิธีแบบ Slipway ซึ่งมีวิธีการเหมือนกับอู่แห้ง แต่ใช้วิธีการลากเรือขึ้นมาบนบกด้วยอุปกรณ์โครงเหล็ก มีล้อลากเลื่อน เรียกว่า “สาลี่”
คานเรือแบบ Slipway มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทุกแบบ และเป็นระบบที่ถูกเลือกใช้เยอะที่สุดในบรรดาคานเรือต่างๆ
ขั้นตอนการซ่อมเรือ
“น็อต” นรสิทธิ์ ตัมพานุวัตร เจ้าของธุรกิจคานเรือแหลมเมืองรุ่นสอง ไล่เรียงขั้นตอนการทำงานของช่างแต่ละแผนกให้ฟังตั้งแต่เริ่มนำเรือขึ้นจากน้ำ สู่การนำเรือคืนสู่ทะเล
เมื่อไต๋เรือ (ชาวประมงหรือเจ้าของเรือประมงหาปลา) นำเรือที่ถึงเวลาตรวจสภาพ หรือเรือที่ผ่านการใช้งานมาอย่างหนักจนผุพังเข้ามาให้คานเรือตรวจเช็คและซ่อมบำรุง ช่างแผนกแรกที่จะเริ่มงาน คือ “ช่างขึ้น-ลงเรือ” ทำหน้าที่นำเรือขึ้นมาบนบก แล้วยกวางไว้บนคานปูน จากนั้นช่างชุดแรกที่จะเริ่มลงมือกับตัวเรือคือ “ช่างขัดสี” ผู้ขัดลอกสีเก่าของตัวเรือออกให้เกลี้ยง ก่อนจะไปสู่การซ่อมแซมส่วนอื่น ๆ โดยช่างขัดสีจะมีผ้าปิดจมูกคนละผืน เพราะสีที่ขัดออกจะเป็นละอองฝุ่นกระจายไปทั่วพื้นที่การทำงาน
เมื่อสีเก่าถูกขัดออกแล้วก็ถึงเวลาของพระเอก “ช่างไม้”
ตั้งแต่เปิดคานเรือแหลมเมืองปี 2500 เรือส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการก็คือเรือไม้ งานช่างไม้จึงเปรียบเสมือนพระเอกของคานเรือ ด้วยความที่งานนี้ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะอย่างมาก มีความละเอียดอ่อนในงาน ไม่ว่าจะการเข้ารูปเรือ การประกอบไม้ หรือการดัดไม้ที่ต้องใช้ไฟในการดัดให้เข้าทรง จึงสามารถเรียกได้เลยว่างานของช่างไม้เป็นงานที่ต้องใช้ประสบการณ์การทำงานที่ค่อนข้างสูง ช่างไม้จะต้องประเมินงานว่าต้องซ่อมมากหรือน้อยแค่ไหน ไม้ต้องเปลี่ยนหรือไม่ อะไหล่ชำรุดหรือเปล่า
เมื่องานไม้ผ่านไป “ช่างหมัน” จะเข้ามารับช่วงต่อ ถ้าเรือถูกเปลี่ยนไม้ แนวเรือก็จะต้องถูกตอกด้วยหมัน เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำเมื่อนไปใช้งาน น็อตเล่าว่าในอดีตจะใช้ป่านคลุกเสนในการตอกหมัน แต่ปัจจุบันหันมาใช้ “ด้ายหมัน” ทำมาจากไนล่อนสังเคราะห์ แล้วปิดด้วยกาวเป็นอันเสร็จขั้นตอนของช่างหมัน
เมื่องานต่อเติมและปรับปรุงจบก็ถึงเวลาของ “ช่างทาสีตัวเรือ” และ “ช่างทาสีกันเพรียง” แผนกที่จะมาทาสีเรืออย่างประณีต เพื่อคืนความสวยงามให้กับตัวเรือ ก่อนคืนสู่ทะเล
ลำดับสุดท้าย “ช่างเพลาใบจักร” ก็จะนำเพลาที่ถอดออกตั้งแต่นำเรือขึ้นจากน้ำ มาประกอบเข้าที่เดิม เพื่อให้เรือสามารถแล่นได้อย่างสมบูรณ์
เช็ครายการทุกขั้นตอนเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาส่งเรือคืนไต๋ เพื่อให้เรือได้กลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง
น็อตเจ้าของธุรกิจคานเรือรุ่นสองบอกกับเราว่า
“จุดเด่นของคานเรือแหลมเมือง คือการมีช่างเฉพาะทางในแต่ละแผนก งานใครงานมัน เพราะรายละเอียดของงานแต่ละอย่างจะแยบยลด้วยความชำนาญเฉพาะตำแหน่ง”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานช่างเรือคือศาสตร์พิเศษ ไม่ใช่ใครจะทำก็ทำได้
ช่างไม้ใหญ่แห่งแหลมเมือง
ชายวัยกลางคน ใบหน้าคมเป็นสัน ผิวสีเข้มสู้แดด ดูเขร่งขรึมแต่ท่าทางเป็นมิตรกว่าที่คิด เสื้อผ้าที่สวมใส่ดูมีสไตล์กว่าคนอื่นที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนี้ แต่นี่คือชุดทำงานปรกติของ “ช่างเด่น” เด่นคุณ ดอกเข็ม หัวหน้าช่างเรือไม้ประจำคานเรือแหลมเมือง
เวลาการทำงานเดินไปเรื่อย ๆ แดดเริ่มแผ่กำลังแรง ก่อนจะตั้งฉาก 90 องศา ช่างเด่นบอกว่า “งานของเราเป็นปรกติอยู่แล้วที่จะต้องเจอกับแดด เพียงแค่ใครจะหาวิธีหลบแดดตอนทำงานแบบไหน”
ช่างเด่นเติบโตภายใต้คานเรือแหลมเมืองมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พื้นเพครอบครัวเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี แต่พ่อย้ายมาหางานทำที่ประแส ทำให้เขาต้องตามมาด้วย ช่างเด่นเล่าว่าเห็นพ่อทำงานช่างไม้มาตั้งแต่ตนเด็กๆ ช่วงวันหยุดก็เข้ามาวิ่งเล่นในคานเรือประจำ โตขึ้นมาหน่อยก็ขอมาทำงานเสริมที่คานช่วยพ่อในวันหยุดเสาร์- อาทิตย์
“สมัยนั้นได้ค่าแรงวันละ 200 บาท ถือว่าได้ช่วยแบ่งเบาพ่อไปได้เยอะ”
ชีวิตที่คลุกคลีกับคานเรือมาทั้งชีวิต ทำให้เมื่อจบการเข้ารับเกณฑ์ทหารในวัย 23 ปี ช่างเด่นจึงตัดสินใจมาทำงานช่างไม้ตามรอยพ่อ
“ไม่ได้คิดมาก่อน แต่คงเพราะเราเห็นมาตั้งแต่เด็ก พ่อหาเลี้ยงครอบครัวมาได้ด้วยอาชีพนี้ มีบ้าน มีรถ เหมือนคนอื่นเขาเพราะประกอบอาชีพช่างเรือไม้ เลยตัดสินใจจะเดินตามรอย”
รุ่งเรืองสู่เมืองเหงา
“สมัยก่อนคนประกอบอาชีพประมงเยอะ ทำให้มีเรือขึ้นคานเยอะ งานที่คานเรือล้นจนต้องผลักออก”
ช่างเด่นบอกเล่าด้วยสีหน้าหวนระลึกถึงอดีตที่เคยฟูเฟื่อง เขาเห็นคานเรือมาทุกยุคตั้งแต่สมัยรุ่งเรืองจนช่างซ่อมเรือรับงานไม่ไหว ไต๋เรือจอดเรือเรียงคิว เพื่อรอเทียบท่าจะนำเรือขึ้นมาซ่อมที่คาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นขาขึ้นของคานเรือแหลมเมือง จนเกิดรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
บรรดาเรือที่เคยจอดเทียบท่ารอขึ้นคานเพื่อซ่อมแซม หายไปในพริบตา นับตั้งแต่ คสช. มี พ.ร.ก. การประมงประจำปี พ.ศ. 2558 เพื่อสนองตอบสหภาพยุโรป (EU) ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หากประมงไม่ขอใบทะเบียนเพื่อการออกหาปลา ก็ไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ต่อได้ กลายเป็นเหมือนสายฟ้าฟาดลงชาวประมงไทยทั่วประเทศ ชาวบ้านประแสบางครอบครัวไม่สามารถรักษาอาชีพหลักนี้ไว้ได้ ต้องยอมสละเรือทิ้งร้างไว้ตามชายทะเลจนกลายเป็นซากเรือเก่า ๆ กระจายอยู่เกลื่อนตาในวันนี้
ช่างเด่นเล่าว่ามีไต๋เรือลำหนึ่งรับกับเหตุการณ์นี้ไม่ได้ จนตรอมใจตายที่เรือของเขาเอง
เมื่อชาวประมงไม่สามารถออกหาปลา เรือถูกจอดทิ้งร้าง ผลกระทบจึงมาถึงคานเรือแหลมเมืองอย่างจัง
ช่างเด่นบอกด้วยสีหน้าไม่ดีนักว่า ช่างทุกคนในคานโดนผลกระทบหนัก บางคนต้องกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด บางคนต้องออกไปหาอาชีพอื่นทำ
น็อตเจ้าของกิจการรุ่นปัจจุบันไม่อาจทนเห็นอาชีพของครอบครัวที่สร้างมาจมไปกับวิกฤต จึงขอร่วมแรงกับช่างเด่นเดินสายออกหางานเรือในทุกที่ที่มีเรือ ไม่ว่าจะทะเลแถบไหน ขอแค่ยังพอมีคนต้องการซ่อมเรือก็จะพุ่งไปหา
สิ่งนี้พอจะหล่อเลี้ยงคานเรือและช่างได้บ้าง แต่คนงานที่คานเรือก็ลดลงจากเหตุการณ์นี้ไม่น้อย
คนหาย
เวลาผ่านพ้นไปกว่า 3-4 ปีหลังวิกฤตกฎหมายประมงเริ่มดีขึ้น คานเรือเริ่มกลับมามีลูกค้าอีกครั้ง จากการพยายามเดินหางานของน็อตและช่างเด่น แต่ก็ต้องมาเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตการณ์ที่ทำให้ทุกอาชีพบนโลกหยุดชะงัก แช่แข็งกันนานกว่า 3 ปีถึงจะคลี่คลาย
คานเรือแหลมเมืองต้องเปลี่ยนจากการรับซ่อมแต่เรือประมงไม้มาเป็นการรับซ่อมเรือไฟเบอร์กลาสเพิ่มขึ้นด้วย
ช่างเด่นเล่าว่า งานช่างเรือไม้เป็นงานที่ไม่เหมือนใคร แม้แต่ช่างไม้ที่สร้างบ้าน ให้มาลองสร้างเรือก็ไม่สามารถทำได้ ความเฉพาะตัวของงานเรือไม้ต้องฝึกฝนและเรียนรู้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี
“บางคนทำงานมาเป็น 10 ปี ยังทำงานไม้ไม่ได้เลย”
เหตุเพราะว่าต้องฝึกฝน หมั่นดูหมั่นลอง ครูพักลักจำ และลึก ๆ แล้วนั้น ช่างไม้แอบถูกเลือกจากพรสวรรค์ที่ติดตัวมา การดัดไม้และประกอบตัวเรือก็เป็นศาสตร์และศิลป์เฉพาะ
ปัจจุบันหาคนทำส่วนนี้ยากแล้ว ประกอบทั้งคนงานที่หายไประหว่างช่วงวิกฤตต่าง ๆ
ช่างน้อยค่อยสืบศิลป์
“ผมรักและภูมิใจในงานนี้” ช่างเด่นกล่าวด้วยรอยยิ้ม
หากหลุดจากรุ่นของช่างเด่นแล้ว คงหาคนมาทำงานแบบนี้ยาก ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มองหางานที่สบาย อยู่ห้องแอร์ ไม่ต้องลำบากตากแดด คงน่าเสียดายไม่น้อย หากวิชาชีพที่หล่อเลี้ยงเขามาแต่เกิดนี้จะสูญหายไป
“ผมเปิดรับเด็กฝึกงานช่างไม้โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา มีเด็ก 3-5 คนมาเรียนกับผม” แม้คนสนใจงานช่างลดลง แต่การหาคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่รู้ก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้าช่างใหญ่ ยังมีทั้งเด็กที่อยากแบ่งเบาภาระเรื่องเงินของที่บ้าน เข้ามาเรียนรู้และทำงานไม้กับช่างเด่น เริ่มจากการหยิบจับไม้ช่วยช่าง ค่อย ๆ ไต่ไปจนได้เริ่มทำจริง
นี่ก็คงเป็น “เด่นน้อย” กลุ่มเด็กช่างที่จะค่อยๆ เติบโตใต้คานเรือแหลมเมือง เหมือนกับช่างเด่น หัวหน้าช่างไม้ผู้มากประสบการณ์ของเรา
“เดี๋ยวปิดเทอมมาทำงานอีกนะลุงเด่น” คำพูดจากปากน้องนักเรียนช่าง
“มาสิ..ถ้าไหวก็มา” และคำตอบแฝงรอยยิ้มจากนายช่างเด่น
ประโยคสนทนาสั้นๆ เหมือนสัญญาใจระหว่างนักเรียนและช่างไม้ที่ได้ให้กันไว้หลังหมดปิดเทอม
ในยุคที่วิกฤตเศรษฐกิจไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ และอาจเข้ามาเล่นงานคานเรือแหลมเมืองแห่งนี้ได้อีกเสมอ เพียงแต่เมื่อไหร่ เวลาไหนไม่มีใครรู้