จากบรรณาธิการ : รูปปั้น

ต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ ข่าวรถขนรูปปั้นใหญ่ไปติดสะพานลอยทำให้การจราจรติดขัด กลายเป็นประเด็นให้คนติติงเรื่องความสะเพร่า ไม่กี่วันต่อมากลับเป็นเรื่องฮือฮาที่มีคนจำนวนมากไปทำพิธีบวงสรวงบูชารูปปั้นเดียวกันนั้นที่ดูเหมือนอสุรกาย มีชื่อเรียกว่า “ครูกายแก้ว”

ช่วงแรกมีเรื่องเล่าออกมาว่า ครููกายแก้วมีประวัติยาวนานถึงสมัยขอม เป็นครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  ส่วนนักวิชาการประวัติศาสตร์ก็ออกมาแย้งว่าครูกายแก้วไม่มีตัวตนจริง ผู้รู้วงในเข้าไปอีกก็ให้ข้อมูลว่าความจริงครูกายแก้วเป็นความเชื่อส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่ง แล้วขยายต่อความเชื่อกันในกลุ่มเล็กๆ และกลายมาเป็นข่าวใหญ่เมื่อตั้งรูปปั้นใหญ่ยักษ์ตรงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ให้ผู้ศรัทธาได้มาบูชา

รูปปั้นครูกายแก้วมีเขี้ยวแบบแวมไพร์ มีปีกนกแบบเทวดาฝรั่งเล็บมือแดงยาวโค้งคมน่ากลัว ลำตัวเห็นซี่โครงนั่งขัดสมาธิ  บางคนให้ความเห็นว่าดูคล้าย “เวตาล” ในวรรณกรรมเรื่อง นิทานเวตาล

สองสามปีก่อนก็เคยมีข่าวทำนองเดียวกันของ “ไอ้ไข่” รูปปั้นเด็กสวมแว่นดำกลายเป็นที่ศรัทธาในวัดทางภาคใต้

แต่่ความแตกต่างระหว่างครููกายแก้วกับไอ้ไข่คงเป็นความไม่สบายใจในรููปลักษณ์ของครููกายแก้วที่ดููคล้ายอสุรกายชั่วร้ายจนผู้ศรัทธาต้องใช้คำยกระดับขึ้นมาอธิบายครููกายแก้วว่าเป็นอสุุรเทพ เทพอสููร แทน คือเป็นกึ่งเทพกึ่งอสูร ไม่ใช่ปีศาจร้ายเต็มตัว  ขณะที่รูปลักษณ์ของไอ้ไข่เป็นแค่เด็กคนหนึ่่งเท่านั้น จึงไม่ได้คุกคามความรู้สึกของผู้เห็น

ถึงตอนที่ สารคดี เล่มนี้ อยู่ในมือผู้อ่านราวต้นเดือนกันยายน ผมไม่แน่ใจว่าข่าวครูกายแก้วจะจบลงแล้วหรือยัง เหมือนกระแสข่าวอื่นๆ ที่มาแรงช่วงแรก แต่ก็จะมาเร็วไปเร็วเสมอ 

ศรัทธาของผู้คนต่อครูกายแก้วจะแรงกล้าและยาวนานขนาดไหน คงอยู่ที่ว่าจะมีคนไปบนบานแล้วได้จริงสมตามปรารถนาหรือเปล่า ซึ่งแทบจะคาดได้ว่าต้องมีแน่ๆ  เพราะยิ่งมีคนมาขอพรมากๆ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมีใครสักคนหนึ่งได้ตามที่ขอ เมื่อมีคนได้สักคนสองคนก็เรียกศรัทธาจากคนอื่นๆ ให้เข้ามาอีกเป็นวงจรของความเชื่อความศรัทธา เหมือนการซื้อลอตเตอรี่ที่สร้างความหวังให้คนไทยทั่วประเทศ

นักสังคมวิทยาอธิบายว่า ถ้ามองข้ามเรื่องความงมงาย การหวังพึ่งพาอำนาจลึกลับสะท้อนว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสููง คนไม่อาจใช้เหตุุผลกำกับชีวิต ทำดีได้ดีมาถึงช้าเกินไปหรือขยันแค่ไหนก็ไม่สำเร็จ ยังไม่นับเรื่องความเหลื่อมล้ำที่สููง กติกาสังคมถููกชนชั้นที่เข้าถึงอำนาจการเมืองการปกครองใช้เป็นประโยชน์กับตนเอง ขณะที่คนตัวเล็กๆ เข้าไม่ถึง เขาจึงต้องพึ่งอำนาจพิเศษของ “สายมู” ที่เข้าถึงได้ง่ายมาช่วยแทน

ที่แน่ๆ คือกระแสความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่ารููปลักษณ์ไหนในศาสนสถานหรือนอกศาสนสถาน ก็ทำให้ธุรกิจค้าขายเครื่องบูชา รูปเคารพ เฟื่องฟูู และเป็นผู้รับประโยชน์เต็มๆ โดยไม่ต้องลุ้นกับการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์

แม้แต่หน่วยงานรัฐบางแห่งและพรรคการเมืองบางพรรคก็มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู หวังดึงนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังหยุดชะงัก ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

งมงาย ความหวังของคนเล็กๆ ธุรกิจหากินกับความเชื่อ หรือซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ อย่างแท้จริง ผู้อ่านมีความเห็นไปทางไหนครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com