ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

นกแก้วโม่ง ต้นยางนา เคียงคู่วัดมะเดื่อ นนทบุรี
ต้นยางนาหน้าวัดมะเดื่อ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีลักษณะลำต้นแตกสองนาง คาดว่ายืนต้นตายมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่

นกแก้วโม่ง-ต้นยางนา-วัดมะเดื่อ กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ที่สนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อมีข่าวว่าทางวัดมะเดื่อ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ดำริว่าจะตัดต้นยางนาที่ยืนต้นตาย ขณะเดียวกันต้นไม้โบราณที่คาดว่าน่าจะมีอายุร่วมสองร้อยปีก็เป็นที่พักพิงของสัตว์นานาชนิด หนึ่งในนั้นคือนกแก้วโม่งที่อาศัยทำรังตามโพรงมากถึง ๖ คู่ หรือ ๑๒ ตัว

ย้อนเวลากลับไปในปี ๒๕๕๔ ต้นยางนาสูงใหญ่ที่มีลักษณะลำต้นแตกสองนาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางนางละประมาณ ๑ เมตร สูง ๒๕-๓๐ เมตร บริเวณลานจอดรถด้านหน้าวัดมะเดื่อได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ และคาดว่าน่าจะยืนต้นตายนับแต่นั้น จวบถึงวันนี้ก็เป็นเวลา ๑๒ ปีเต็มที่ทางวัดดูแลรักษาไว้ไม่ได้ตัด

ไม่มีใครปฏิเสธว่าต้นยางนาที่คาดว่ามีอายุร่วมสองศตวรรษมีความสำคัญทางจิตใจสาธุชน และเป็นที่อยู่อาศัยอันปลอดภัยของนกแก้วโม่ง รวมถึงสัตว์น้อยใหญ่ชนิดต่างๆ

นกแก้วโม่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นสัตว์หายากสีสันสวยงามที่กำลังมีจำนวนลดน้อยลงทุกที เพราะถูกคุกคามด้านที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร

kaewmong02
รุกขกรสำรวจพบว่าเรือนยอดของต้นยางนามีกิ่งแห้งและผุขนาดใหญ่ ลำต้นผุเป็นโพรง มีรอยแตกทั้งตามยาวและตามขวางตามแนวเสี้ยนไม้ มีเนื้อไม้เปื่อยยุ่ยบางจุด บริเวณโคนต้นผุเป็นโพรงขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นที่อยู่อาศัยของนกแก้วโม่งและสัตว์หลายชนิด

ล่าสุดผลการประชุมหารือร่วมกันของหลายฝ่าย ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อ คณะกรรมการวัดมะเดื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี ตัวแทนรุกขกรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมรุกขกรรมไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ ชมรมนักอนุรักษ์นกแก้วโม่งจังหวัดนนทบุรี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ จึงมีมติออกมาว่า

๑. วัดมะเดื่อไม่ตัดต้นยางนา แต่ให้จัดทำเหล็กค้ำยันเพื่อป้องกันการโค่นล้ม เพื่อให้ต้นยางนาเป็นที่อาศัยของนกแก้วโม่งต่อไป โดยจะร่วมกันอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดมะเดื่อเพื่อดึงดูดคนมาเที่ยวชมเข้าวัดมะเดื่อ

๒. ให้จัดทำรังเทียมสำหรับนกแก้วโม่งติดที่ต้นไม้สูงระดับเดียวกับที่นกทำรัง เพื่อเพิ่มสถานที่อยู่อาศัยและวางไข่ของนกแก้วโม่ง

๓. ตรวจสอบกิ่งผุและจัดการลิดกิ่งก้านที่ผุ กิ่งด้านบนให้หมด ป้องกันกิ่งร่วงลงมา

๔. ส่งเสริมปลูกพืชอาหารนกแก้วโม่ง บริเวณวัดมะเดื่อ

ส่วนการอนุรักษ์นกแก้วโม่งที่วัดมะเดื่ออย่างยั่งยืนจะปรึกษาหารือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงานต่อไป

kaewmong03

“วัดเป็นเขตอภัยทาน แถวนี้น่าจะอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ยินดีถ้าวัดจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือให้ความรู้เกี่ยวกับนกแก้วโม่ง”

ศิริวัจน์ กลิ่นจันทร์
กรรมการวัดมะเดื่อ

ผมเป็นคนที่นี่ เกิดที่นี่ บ้านอยู่บางใหญ่ซิตี้ห่างจากวัดไม่กี่กิโลเมตร ต้นยางต้นนี้ยืนต้นตายมาเป็นสิบปี กิ่งก็ร่วงลงมา เกือบจะสร้างความเสียหายให้กับญาติโยมที่เดินทางมาหลายครั้งโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน

ทางวัดคิดว่าจะทำยังไงดี เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับการค้ำยัน ก็ปรารภกันว่าจะตัดเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของญาติโยม

เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ผมเริ่มเห็นคนหลายคนเข้ามาส่องนก พื้นที่ของเราเป็นสาธารณะใครจะเข้ามาใช้ประโยชน์ก็ได้ เขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครจึงไม่ได้พูดจากันเป็นกิจจะลักษณะ จนมาวันหนึ่งเจ้าอาวาสรีบไปกิจนิมนตร์ เจอท่านอาจารย์ที่มาส่องนกก็บอก “โยม ส่องไปนะ เดี๋ยวอาตมาจะตัดแล้ว” นั่นแหละจุดเริ่มต้นของประเด็น

หลวงพ่อเป็นคนพูดตรงๆ พูดห้วนๆ “โยม เดี๋ยวอาตมาหาฤกษ์ ว่าจะตัดช่วงเดือนมกรา” ซึ่งผมก็ไม่รู้นะว่าช่วงเดือนมกราเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ วางไข่ หรือเลี้ยงลูกนก

“จะตัดแล้วเหรอค่ะ” ท่านอาจารย์ถาม “เดี๋ยวๆ อาตมาค่อยคุย อาตมาไปกิจนิมนตร์ก่อน”

แล้วท่านอาจารย์ก็ขอเบอร์ผม ถามว่าจะตัดเหรอ ผมบอกว่าใช่ครับ น่าจะดูฤกษ์ช่วงเดือนมกราคม

แต่เรายังไม่ได้ลงวัน ยังไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้น ยังไม่มีคนตัดด้วยซ้ำไป วันนั้นผมไม่ได้พูดเพราะผมรีบ

หลังจากนั้น ๑-๒ วัน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรีก็โทรมา ถามผมว่า “คุณเสากรรมการวัดมะเดื่อใช่มั๊ยครับ ไม่ทราบว่าจะมีการตัดต้นยางนาร้อยปีจริงไหม”

ท่านบอกเกรงว่ามันจะผิดกฎหมาย อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผมตกใจ เพราะตัวเองไม่ได้เสพสื่อโซเชียล ไม่รู้ว่าเริ่มมีข่าวออกมาแล้ว จนรุ่นพี่ส่งข่าวมาให้อ่าน แต่ละคอมเม้นต์ส่งผลกระทบกับวัดในทางไม่ดี หลวงพ่อก็เครียด

เรามีดำริ มีนโยบาย แต่ยังไม่ได้ลงวัน ยังไม่ได้รับฟังเสียงญาติโยม ไม่ได้ลงประชามติเลยด้วยซ้ำ เพราะทางวัดจะทำอะไรแต่ละอย่างต้องลงประชามติกัน

ต้นยางนี้เกิดมาก่อนวัด ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าตัด ผมบอกเลยว่าหนึ่งไม่กล้า สองเสียดาย ต้นยางต้นนี้อายุเป็นร้อยปี ขึ้นเป็นสองต้นคู่แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วเป็นต้นเดียวหรือสองต้น รวมทั้งไม่รู้ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นจะส่งผลกระทบอะไรต่อคนตัดบ้างไหม

ตอนผมเด็กๆ เขาอาจจะทรุดโทรมแต่ก็ยังมีใบออกมาบ้าง จนหลังน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ พื้นที่ตรงนี้น้ำสูงมิดหัวเขาถึงเริ่มยืนต้นตาย ปกติเขาจะมีกิ่ง มีใบสดแตกออกมา ตอนนี้ที่เห็นมีใบโผล่ออกมาไม่ใช่นะ เป็นต้นโพธิ์ที่นกมาขี้ทิ้งไว้

ข่าวออกไปมันส่งผลกระทบต่อวัด หลังวางสายทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหลายฝ่ายก็ช่วยกันประสานจนเกิดการจัดประชุมเมื่อวาน (๑๑ กันยายน ๒๕๖๖) ซึ่งทางวัดก็ยินดี

เผอิญก่อนประชุมเมื่อวานนี้ ทางนายก อบต. กับ สส. นนทบุรี ก็เข้ามาดูเพื่อช่วยกันหาแนวทาง ผมบอกว่าอยากให้ประสานหน่วยงานที่สามารถวิเคราะห์ต้นยางว่าเขาสามารถยืนต้นอยู่ได้หรือไม่ หรือมีแนวทางเยียวยาต้นไม้ของเราอย่างไร

ท่านอาจารย์ปิ๊ก (ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ช่วยประสานกับหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า รุกขกร ซึ่งเข้ามาร่วมประชุมและช่วยตรวจสอบต้นไม้

มติที่ประชุมตกลงกันว่า ทางรุกขกรเข้ามาวิเคราะห์แล้วว่าต้นยางนาตายจริง โคนต้นภายในกลายเป็นดินเป็นโพรงผุหมดแล้ว พร้อมที่จะล้มหรือมีกิ่งหล่นลงมาได้ทุกเมื่อซึ่งมันอันตรายมาก

พื้นที่เราเป็นพื้นที่เปิด รัศมีการล้มของต้นยางนาไปไกลมาก ถ้าล้มมาทางนี้โบสถ์ก็เสียหาย ล้มไปทางโน้นทรงไทยก็เสียหาย ล้มไปทางนั้นเด็กนักเรียนที่เข้ามาทำกิจกรรมตรงลานโล่งก็อาจจะได้รับอันตราย

รุกขกรจึงมีมติให้ตัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่าน สส. ท่านนักวิจัย ท่านอาจารย์ขอประวิงเวลาว่าให้เป็นช่วงหลังฤดูผสมพันธุ์หรือหลังจากลูกนกที่อยู่ในโพรงสามารถออกมาหากินก่อนได้มั๊ย

ท่านอยากทำพื้นที่ของเราเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ซึ่งทางวัดไม่ติดอะไร ยินดีด้วยซ้ำไป ก็เลยมีมติกันว่า เราจะทำค้ำยันประคองไว้ โชคดีเมื่อวานมีท่านหนึ่งทำกิจการเกี่ยวกับเข็มเหล็ก เข็มเจาะ เข้ามาร่วมประชุม เสนอตัวว่าจะสนับสนุนเรื่องเข็ม เรื่องโครงสร้าง เสาค้ำยัน มีทีมงานของรุกขกรทำงานร่วมกัน กิ่งไหนสุ่มเสี่ยงว่าจะหักเขาก็จะมาเล็มมาตัดให้

kaewmong01
ผู้คนในพื้นที่เล่าว่าลักษณะการแตกสองนางของยางนาต้นนี้ขยายห่างจากกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ระยะหลังมีกิ่งแห้งขนาดใหญ่ร่วงหล่นลงมาทุกปี

ผมเข้าใจผิดมาตลอด นึกว่าทั่ววัดเรามีนกชนิดนี้เยอะ แต่ที่เห็นเป็นนกแขกเต้า จำนวนนกแก้วโม่งตามที่ท่านอาจารย์ปิ๊กสำรวจมี ๖ คู่ ๑๒ ตัว ผมเองไม่ใช่นักวิชาการก็ไม่รู้

สรุปตอนนี้ที่ประชุมมีมติว่ารอดูจนถึงช่วงเดือนเมษา ถ้าเรายังสามารถประคับประคองต้นยางนาตามที่บอกว่าจะทำเสาค้ำยัน ป้องกันไม่ให้อีกครึ่งปีนี้เขาล้มลงมา จนผ่านฤดูวางไข่ หลังจากนั้นเรามาคุยกันอีกทีว่าจะทำอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าทางรุกขกรด้วยว่าจะให้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม

เจตนาจริงๆ แล้วผมเองก็ไม่อยากตัด เพราะเราผูกพันกับที่นี่ วัดมะเดื่อมีพื้นที่ประมาณ ๑๑ ไร่ มีต้นยางสูงใหญ่จำนวน ๓ ต้น ต้นที่เป็นข่าวน่าจะอายุประมาณ ๒๐๐ ปี กับอีกสองต้นอายุ ๖๐ ปีทั้งคู่ ที่รู้ว่า ๖๐ ปีเพราะกรรมการวัดบางคนเกิดทัน เล่าว่าตอนเด็กๆ ต้นประมาณข้อศอก

ส่วนต้นใหญ่ปู่ย่าตายายประเมินแล้วว่าน่าจะอายุ ๒๐๐ ปี แม่ผมเองตอนนี้อายุ ๘๙ ปี เล่าว่าตอนเด็กๆ มาโรงเรียนก็คือมาเรียนที่วัดนี้ เห็นต้นยางนาสูงแบบนี้แล้ว ปู่ย่าตายายที่อาศัยอยู่แถวนี่ก็พูดกันว่าเห็นเป็นลำต้นสูงใหญ่โตแบบนี้มาตั้งแต่เกิด นี่คือสาเหตุที่เราไม่กล้าแตะต้อง และคนแถวนี้ก็ไม่กล้าแตะต้องเหมือนกัน

เมื่อก่อนผู้คนเดินทางกันทางน้ำ แถวนี้เป็นสวนหมด นกแก้วโม่งคงจะมาพึ่งวัด มาอยู่แล้วเขาสบาย เราตัดต้นไม้ก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน

ส่วนตัวผมรักต้นไม้ รักธรรมชติ ดูวัดเราสิร่มรื่นใช่มั๊ยล่ะ ถ้าไม่รักต้นไม้คงกลายเป็นวัดร้อนๆ

วัดเป็นเขตอภัยทาน แถวนี้น่าจะอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ยินดีถ้าวัดจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือให้ความรู้เกี่ยวกับนกแก้วโม่ง

เจ้าอาวาสท่านไม่ได้มีความรู้เรื่องสัตว์โดยตรง แต่ท่านก็ยินดีที่วัดเป็นเขตอภัยทาน ท่านพูดอยู่เสมอว่า เราพึ่งเขา เขาพึ่งเรา นี่คือแนวทางของท่าน ยินดีที่หน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาช่วยกันดูแล ทางวัดไม่ติดขัดอะไร มาคุยกันว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร ให้ต้นไม้เป็นที่อาศัยของสัตว์หายาก

kaewmong05

“วัดในเมืองหลายๆ แห่งเทปูน พื้นที่สีเขียวธรรมชาติจริงๆ น้อยลง”

พระจำลอง อาภากโร
พระลูกวัดมะเดื่อ

อาตมาเป็นคนโคราช พอดีสีกาเป็นคนบางเดื่อพื้นเพจังหวัดนนทบุรี ญาติพี่น้องอยู่ที่นี่ก็เลยบวชที่วัดนี้ ที่แถวนี้ตามภาษาชาวบ้านเรียกว่า “บางเดื่อ” แต่ชื่อวัดมะเดื่อนะ

อาตมาเป็นคนรักสันโดษ รักต้นไม้ ชอบความร่มรื่น ทุกวันนี้ไม่ได้จำวัดบนกุฏิ นอนข้างล่างตรงลานบุญที่ให้โยมมาทำบุญถวายสังฆทานแล้วใช้มุ้งครอบเอา เช้าก็เก็บมุ้งเก็บที่นอน อยู่ตรงนี้ตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน

ชอบฟังเสียงนกร้อง ช่วงบ่ายสามโมงกว่าๆ สี่โมงจะดูเยอะหน่อย เย็นๆ ก็เงียบลง

อาตมาไม่รู้หรอกว่านกแก้วโม่งตัวผู้หรือตัวเมีย เห็นว่าต้นยางเก่าแก่มีนกมาอาศัย ไม่ได้รู้รายละเอียดว่าสีสันเป็นยังไง มีโพรงอยู่ตรงไหน ไม่ได้รู้ถึงขนาดนั้น

ที่วัดนี้นอกจากนกมีนกเยอะแล้วที่อาตมาเลี้ยงอยู่คือกระรอก เลี้ยงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ข้างๆ ศาล ข้างๆ ต้นยางนามีต้นสะเดาต้นใหญ่ จะมีโถข้าวแขวนอยู่ นั่นแหละคืออาตมาทำไว้เองสำหรับใส่ผลไม้ใส่อาหาร เอาผลไม้ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ไว้ในโถข้าว ถึงเวลาเคาะป๊อกๆ เดี๋ยวกระรอกก็ลงมากิน มีก็ให้ ไม่มีก็ไม่ให้ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนก็โดดมาให้เต็มหมด ได้ยินเสียงเคาะก็จะมากัน

ที่ต้องฝานเป็นชิ้นเล็กๆ เพราะชิ้นใหญ่เดี๋ยวเขาคาบไปหล่น ตกลงข้างล่างเดี๋ยวแมวตระครุบ ฝานชิ้นเล็กๆ ให้เขาอุ้มกินอุ้มกัดได้

ถามว่ากระรอกรบกวนนกแก้วโม่งมั๊ย อาตมาว่าส่วนใหญ่กระรอกจะอยู่ไม้สนมากกว่า พวกกระรอกจะกินเปลือกไม้ ใบไม้ อาตมาเห็นทำรังตามต้นมะขาม เมื่อวานก็ยังเห็นขนไม้ขึ้นไปทำรัง ท่านอาจารย์ที่มาส่องนกบอกว่าอยากให้ย้ายจุดให้อาหารกระรอกไปที่อื่นเพราะมันจะขึ้นไปรบกวน อาตมาพยายามมองอยู่ เห็นว่าส่วนมากเขาอยู่ไม้สน มีไต่มีกระโดดจากต้นสะเดามาต้นยางบ้างเวลาเขาวิ่งเล่นกัน ต้นยางนาแห้งพวกมันคงจะไม่ค่อยเข้าไปยุ่ง

เดี๋ยวนี้วัดในเมืองหลายๆ แห่งเทปูน พื้นที่สีเขียวธรรมชาติจริงๆ น้อยลง ไม่เหมือนวัดดั้งเดิม วัดชานเมือง หรือวัดตามต่างจังหวัด ถ้าให้ไปอยู่อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ตัวอาตมาแล้ว