เรื่อง : เนตรนภา ก๋าซ้อน
ภาพ : กัปตัน จิรธรรมานุวัตร

ผ้าไหมแพรวา : อัตลักษณ์ที่ฝังลึก
“ผ้าไหมแพรวา” ผืนใหญ่ทำด้วยไหมย้อมแดงจากครั่ง บอกความเป็นภูไท บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ในมือของชายและหญิงสองช่วงอายุ ตัวแทนบรรพบุรุษผู้ถ่ายทอดความงามผ่านผ้าเก่าแก่ผืนนี้

คำถามเรื่องผ้าไหม

คุณมองเห็นผ้าไหมเป็นอะไร
ก. เครื่องนุ่งห่ม
ข. วัฒนธรรมพื้นบ้าน
ค. สินค้าฟุ่มเฟือย
ง. ผู้หญิง
หรือ จ. ถูกทุกข้อ

แต่ในที่นี้ไม่ใช่ตัวเลือก จ. แต่ทุกข้อที่กล่าวมาเป็นนิยามผ้าไหมได้ทั้งหมด ไม่ว่าคุณเลือกตอบข้อไหนก็จะได้คะแนนแน่นอน

แต่หากถามคำถามนี้กับคนบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีวัฒนธรรมเก่าแก่และเต็มไปด้วยภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ คุณอาจต้องเพิ่มตัวเลือกคำตอบให้มากขึ้น

คำตอบจากคนที่เกิดมากับผ้าไหม คำตอบจากคนที่มองเห็นคุณค่าของผ้าไหม คำตอบจาก “คนบ้านโพน” แหล่งกำเนิดผ้าไหมแพรวา

ย้อนกลับไปปี 2321 นักวิชาการเชื่อว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์จากแคว้นสิบสองจุไท เมืองแถน ประเทศเวียดนาม เดินทางเข้าสู่ดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศลาว และภายหลังย้ายถิ่นฐานมาที่ไทยกระจายอยู่แถบอีสานฝั่งซ้ายติดกับลาว ชื่อ “เผ่าภูไท” กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่อันดับสองรองจากเผ่าไทลาว

ชาวภูไทโดดเด่นเรื่องความขยันขันแข็ง ความมัธยัสถ์ ความเข้มแข็งในการปกครอง หน้าตาผิวพรรณอันงดงาม และอัธยาศัยดี โดยความสามารถพิเศษของชาวภูไทคือ การทอผ้า

เมื่อเราได้เจอกับ วิมลรัตน์ บุตรผา หญิงวัยต้น 30 ผู้มีผิวพรรณขาวนวลดุจหยวกกล้วย หน้าตาสะสวย พ่วงตำแหน่งลูกสะใภ้เจ้าของร้านผ้าไหมเก่าแก่ ณ บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็พบว่าสิ่งที่กล่าวมาไม่ผิดไปจากความจริงเลยแม้แต่น้อย ดีเอ็นเอทั้งหมดยังคงถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานชาวภูไทในปัจจุบัน

pamaipraewa02
การกวักไหม ขั้นตอนหลังย้อมสี โดยจะนำมาคล้องใส่กงเพื่อดึงเส้นไหมให้พันรอบอัก เตรียมพร้อมก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการปั่นหลอด
pamaipraewa03
การทอผ้าไหมแพรวาเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและสมาธิ ทำให้ส่วนใหญ่เกือบทุกหลังคาเรือนทอได้เพียงปีละผืน
pamaipraewa04
สมร หัตสิน – เจ้าหน้าที่สหกรณ์ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวา
กล่าวว่า เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจการทอผ้ามากขึ้น ทำให้ผ้าไหมแพรวากลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

หญิงสาว ผ้าไหม และบ้านโพน

วิมลรัตน์ บุตรผา เป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์ เธอเกิดมาพร้อมกับ “ผ้าไหมแพรวา” ผ้าท้องถิ่นที่ลูกหลานบ้านโพนเริ่มฝึกทอตั้งแต่เข้าชั้นประถมฯ ปลาย โดยเริ่มฝึกจากลายช่อปลายเชิงตรงชายผ้าทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นตัวเริ่มและตัวจบปลายผ้า มีความกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร แล้วค่อย ๆ ฝึกทอบริเวณกลางผ้า จนทอจบได้ทั้งผืน

เมื่อเริ่มเข้าวัยมัธยมฯ ต้น เธอบอกกับเราพร้อมยิ้มจนตาเป็นสระอิด้วยความภูมิใจว่า ความสามารถการทอในช่วงวัยนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเธอ โดยหากทอเสร็จหนึ่งผืนก็จะได้เงินประมาณ 200-300 บาท และนายจ้างไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ “แม่” ครูสอนทอผ้าคนแรกของเธอ เด็กบ้านโพนมีแม่เป็นครูคนแรก ถือเป็นวัฒนธรรมสืบต่อกันมาให้ผู้หญิงสอนลูกทอผ้า ทำให้ชาวภูไทมีความสามารถในการทอผ้า

วิมลรัตน์ชอบการค้าขาย เธอไม่อยากแบมือขอเงินครอบครัวใช้เพียงอย่างเดียว ระหว่างเรียนก็ขายของไปด้วย หลังเรียนจบมีงานประจำ สายเลือดความขยันขันแข็งของสาวภูไทก็ยังไหลเวียนในตัว เธอจึงขายของควบคู่ไปกับงานหลัก

ชีวิตของเธอคล้ายกับเด็กต่างจังหวัดหลายคน เรียนหนังสือจบ รับปริญญา ทำงานในเมืองหลวง และกลับมาแต่งงานสร้างครอบครัวที่บ้านเกิด เธอได้แต่งงานกับลูกชายเจ้าของร้านขายผ้าไหมแพรวาร้านแรกในบ้านโพน ด้วยความรักการค้าขาย วิมลรัตน์ในวัย 20 ต้นๆ จึงได้รับโอกาสครั้งใหญ่ให้ดูแลกิจการร้าน “บุญมากไหมไทย” ร้านขายผ้าไหมของคุณพ่อบุญมาก พ่อสามีเธอ 

ประสบการณ์ด้านธุรกิจค้าขายผ้าของเธอเริ่มจากศูนย์ มีเพียงความสามารถพื้นฐานของสาวบ้านโพน คือ การทอผ้าไหมแพรวา

“เราเป็นยุคที่เปลี่ยนความคิดจากคนอายุ 70 มาเป็น 20 กว่า ซึ่งยากมากในช่วงแรก” วิมลรัตน์เล่าถึงช่วงเวลาที่เธอเข้ามารับช่วงต่อเมื่อ 10 ปีก่อน พ่อตาแม่ยายของเธอไม่เข้าใจวิธีการขายหรือเผยแพร่ผ้าไหมในรูปแบบใหม่ ๆ เธอจึงต้องพยายามอธิบายและเปลี่ยนความคิดเขาให้พัฒนาการขายเข้ากับยุคสมัย 

“เราต้องใช้ความพยายาม ตอนที่เขาขายก็ดูว่าเขาพูดอะไรกับลูกค้า เล่าเรื่องผ้าไหมกับลูกค้าอย่างไร หรือปิดการขายอย่างไร” วิมลรัตน์พูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง ในช่วงแรกที่มาลองขายของกับพ่อตา เธอค่อย ๆ ซึมซับวิธีการขายและการพูดคุยกับลูกค้า จนปัจจุบันเธอได้รับความไว้วางใจให้ดูแลร้านต่อจากพ่อบุญมาก 

วิมลรัตน์ยังริเริ่มปรับเปลี่ยนผ้าไหมให้เข้ากับแฟชั่นและความต้องการตลาด จึงได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี บวกกับความน่ารักขี้เล่นในการทำคอนเทนต์ขายผ้าของเธอ ทำให้ลูกค้าในโลกออนไลน์จำนวนมากเห็นและสนใจซื้อผ้าไหมแพรวาไปใส่ตาม

“ผ้าไหมแพรวาเปรียบเสมือนรถหนึ่งคัน” 

สาวผิวขาวนวลคนนี้พูดพร้อมยิ้มด้วยความปลื้มใจ เธอตั้งใจร้อยเรียงประโยคกล่าวขอบคุณผ้าไหมแพรวาให้เรารับรู้ โดยเปรียบผ้าไหมแพรวาเป็นเสมือน “รถหนึ่งคัน” การเดินทางของเธอไม่มีจุดหมายปลายทางเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด แต่รถคันนี้พาเธอเดินทางไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุด และจะแล่นไต่สูงขึ้นในทุกวัน เธอพร้อมจะเผยแพร่และพัฒนาผ้าไหมแพรวาให้ดีที่สุด

การค้าขายในโลกออนไลน์ซึ่งต่างจากการขายแค่หน้าร้านในรุ่นพ่อตาของเธอเป็นสิ่งสะท้อนว่า “คนรุ่นเก่าอาจทอผ้าเก่งกว่า แต่คนรุ่นใหม่นั้นขายผ้าเก่ง”

pamaipraewa05
ผ้าไหมแพรวาที่มีลายเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น โดยแต่ละลายมีความหมายซ่อนอยู่ ยิ่งลวดลายมีความยากและซับซ้อน มูลค่าก็ยิ่งสูงขึ้น
pamaipraewa06
วิมลรัตน์ บุตรผา เจ้าของกิจการร้าน “บุญมากไหมไทย” ที่รับซื้อผ้าไหมแพรวาจากชาวบ้านในชุมชนและนำมาพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่น ด้วยความสามารถด้านการตลาดทำให้ผู้คนนิยมซื้อผ้าไหมมากขึ้น
pamaipraewa07
กระเป๋าที่ วิมลรัตน์ บุตรผา ออกแบบและพัฒนาโดยใช้ผ้าไหมแพรวา
pamaipraewa08
โรงเรียนชุมชนโพนพิทยาคมอนุรักษ์การทอผ้าไหมแพรวา โดยมีหลักสูตรสอนนักเรียนทอผ้าไหมตั้งแต่ชั้นประถมฯ

ชายหนุ่ม ผ้าไหม และบ้านโพน

“มีคนบอกกับเราว่ามันเป็นงานผู้หญิง แต่เรามองว่ามันคืองานศิลปะ” 

เสียงเล็ก ๆ จาก อังคาร ไชยมหา ชายหนุ่มตัวสูง หน้าตาคมเข้ม คนรุ่นใหม่บ้านโพน ผู้ตัดสินใจหันหลังให้กับเมืองหลวงและเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวิกฤตโรคระบาด เมื่อต้นปี 2563 

อังคารบอกกับเราว่า เขาคือชายหนุ่มคนแรก ๆ ที่เริ่มทอผ้าไหมขาย แม้จะเติบโตและเห็นผ้าไหมแพรวามาตั้งแต่จำความได้ แต่เขาไม่มีความสนใจในการทอผ้าเลย ด้วยความเป็นเด็กผู้ชายและรู้สึกว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวจนมองข้ามไป

เมื่อเรียนจบคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ อังคารอยากสอบเข้าทำงานตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนการล่ม เขาจึงเก็บของใส่กระเป๋าและเดินทางกลับบ้านเกิด

บัณฑิตจบใหม่ไขว้เขวในเส้นทางอาชีพตัวเอง ไม่รู้จะทำอะไรเมื่อกลับมาอยู่บ้าน เขาจึงหันกลับมามองสิ่งใกล้ตัวที่เคยมองข้าม นั่นคือ “การทอผ้า”

การเดินทางในสายงานทอผ้าของอังคารไม่ได้ราบรื่นตั้งแต่ต้น คนในหมู่บ้านตีกรอบว่าการทอผ้าคืองานผู้หญิง แต่เขาพยายามก้าวข้ามคำพูดเหล่านั้นโดยถือคติ “การทอผ้าคืองานศิลปะ” ชายหนุ่มขอให้แม่เขาสอนทอผ้า ด้วยพื้นเพเด็กบ้านโพน สายเลือดชาวภูไทที่ผูกพันกับการทอผ้าตั้งแต่เกิด การเริ่มเรียนในวัย 27 ปีจึงไม่ใช่ปัญหา ใช้เวลาไม่นานก็สามารถทอลายยาก ๆ ได้ เขาหลงใหลการทอผ้ามากขึ้น หลังจากได้คลุกคลีกับผ้าไหมแพรวาของดีประจำบ้านเกิด ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication)

อังคารเริ่มขายผ้าไหมที่ทอเองด้วยการเดินเร่ขายตามหมู่บ้าน แต่ขายได้ไม่ดีนัก เขาจึงเริ่มหาช่องทางขายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กควบคู่กันไป โดยโปรโมตบนเฟซบุ๊กและสอนวิธีใส่ผ้าไหมแพรวาใน TikTok ซึ่งกระแสตอบรับดี จนมีคนสนใจผ้าไหมแพรวามากขึ้น ยอดขายก็เยอะขึ้นตาม ความถนัดที่แตกต่างกันของคนสองรุ่นทำให้ผ้าไหมแพรวาเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง

pamaipraewa09
ลิตา หัตสิน มุ่งมั่นสอนวิชาถักทอ ศาสตร์พื้นบ้านประจำตัวหญิงบ้านโพนให้แก่ลูกสาว โดยเริ่มจากส่วนที่ง่ายที่สุดคือ บริเวณตีนซิ่น
pamaipraewa10
รอยยิ้มแห่งความหวังของคนรุ่นเก่า ผู้ถ่ายทอดการทอผ้าไหมแพรวาสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสืบทอดสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมา

คำตอบเรื่องผ้าไหม

ท้ายที่สุดคำตอบของคำนิยามผ้าไหมอาจมีมากกว่าตัวเลือก “จ. ถูกทุกข้อ” เพราะชาวภูไท บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผ้าไหมแพรวาเป็นมากกว่าเครื่องนุ่งห่มหรือสินค้าฟุ่มเฟือย และอาจไม่ใช่สิ่งที่สงวนไว้ให้ผู้หญิงเท่านั้น

คนบ้านโพนยังคงวิถีชีวิตชาวภูไทที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้มาจนถึงปัจจุบัน อัตลักษณ์ที่เด่นชัดอย่างความขยัน อดทน และความรักในผ้าไหมแพรวา ผืนผ้าที่ทรงคุณค่าต่อคนในพื้นที่ ดีเอ็นเอเหล่านี้จะยังคงฝังลึกอยู่ในเส้นไหมทุกเส้น