เมธาวี ทวีผล : เขียน
ภาพ : กฤตย์ ศิริสัจจาพิพัฒน์

การพัดผ่านของบุตรแห่งลม ณ คลองบางหลวง
การแสดงหุ่นละครเล็กของกลุ่มเยาวชนวายุบุตรในตอน “หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา”

คลองบางหลวง 2566

การกลับมาที่ “คลองบางหลวง” ในรอบ 3 ปี ของเรา…

เมื่อปี 2563 เรากับเพื่อนเคยมาที่คลองบางหลวงเป็นครั้งแรก บรรยากาศในตอนนั้นเงียบเหงา นักท่องเที่ยวไม่เยอะ คงเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด

ความจริงแล้วเราก็จำไม่ได้ว่าเลือกมาเที่ยวคลองบางหลวงเพราะอะไร แต่จำได้ว่าผิดหวังเล็กน้อย เพราะเดินได้ไม่นานก็ทั่วแล้ว ไม่ค่อยมีร้านค้าเปิดมากนัก ร้านขายของที่ระลึกไม่กี่ร้านก็ไม่มีลูกค้าเลย สิ่งที่จำได้คือ “บ้านศิลปิน” ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของชุมชนคลองบางหลวงยังคงมีการแสดง “หุ่นละครเล็ก” แต่ไม่ได้สนใจมาก ได้แค่ยืนดูอยู่ไกล ๆ ในตอนนั้นบ้านศิลปินยังพอมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมอยู่บ้าง

สิ่งที่จำได้อีกอย่างหนึ่งคือร้านกาแฟในซอกซอยชุมชนที่เราไปแวะนั่งพักดื่มน้ำ น่าจะเป็นร้านของคนในชุมชน หลังจากนั้นก็เดินถ่ายรูปบนสะพานริมคลองและถ่ายรูปภาพวาดต่างๆ ตามกำแพง เราเดินทางกลับด้วยความผิดหวังและไม่คิดจะกลับมาที่นี่อีกสักพัก

3 ปีต่อมาชุมชนคลองบางหลวงกลายเป็นไวรัลที่หลายคนพูดถึงอีกครั้งในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งเราก็เกือบลืมไปแล้วว่าเคยมาเยี่ยมชมสถานที่เที่ยวสุดฮิตในตอนนี้แล้วครั้งหนึ่ง

จากกระแสการท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2566 คลองบางหลวงเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น ทั้งการร้อยลูกปัด วาดภาพ ระบายสี ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รังสรรค์ชิ้นงานเป็นของตัวเอง สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้มาเยือน

9 กรกฎาคม 2566 คือวันที่เรากลับมาคลองบางหลวงเป็นครั้งที่ 2 ภาพแรกที่เห็นคือ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินกันขวักไขว่ คนเดินเบียดแน่นบนสะพานริมคลองบางหลวง ทำให้เดินยากเล็กน้อย มองเข้าไปในบ้านศิลปินเห็นผู้คนมากมายนั่งร้อยลูกปัด

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญของคลองบางหลวงคือ “หุ่นละครเล็ก” แต่ในยุคนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวอีกต่อไป เท่าที่รู้มา… หุ่นละครเล็กคลองบางหลวงชื่อว่า “คณะคำนาย” ครั้งนี้หากเราจะไปชมการแสดงหุ่นละครเล็กก็คงเป็นคณะคำนายแน่นอน

เราก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น… แต่เมื่อถามคนขายตั๋วเรือให้นักท่องเที่ยว เขาบอกว่า

“มีแต่คณะวายุบุตรนะ”

เราอึ้งและคิดในใจว่า “แย่แล้วไง” เพราะแผนการที่เตรียมมาทั้งหมดเกี่ยวกับคณะคำนายคงต้องเปลี่ยน เลยเดินไปหลังเวทีซึ่งมีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังซ้อมร่ายรำท่าต่าง ๆ โดยมีผู้ปกครองช่วยเตรียมตัว

“นี่คือคณะหุ่นละครเล็กใช่ไหมคะ” เราถามคุณแม่คนหนึ่งที่ยืนอยู่หลังเวที และถามต่อว่าครูฝึกสอนของคณะอยู่ที่นี่หรือไม่

สถานการณ์ในตอนนั้นสับสนงุนงง คลองบางหลวงเปลี่ยนไปหลายอย่าง “เหมือนคนละโลกกับที่เคยมาครั้งก่อนเลย” เราพูดประโยคนี้หลายครั้งในช่วงที่กลับมาคลองบางหลวง

boothanglom02
คณะวายุบุตรไม่ได้สอนแค่หุ่นละครเล็ก แต่ยังสอนโขนและหนังใหญ่ โดยการเรียนการสอนทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
boothanglom03
สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า “วายุบุตร” เพราะเด็กทุกคนอยากเป็นหนุมาน ซึ่งหากอ้างอิงจากรามเกียรติ์ หนุมานคือบุตรของพระพาย เทพแห่งสายลม

วายุบุตร

ในวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 14:00 น. “คณะวายุบุตร” จะมาแสดงที่คลองบางหลวง บนเวทีขนาดเล็กบริเวณหน้าวัดกำแพงบางจาก ติดกับทางเข้าตลาดน้ำคลองบางหลวง ทำเลนี้ถือเป็นจุดผ่านซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินเข้าออกจะเห็นการแสดงของเยาวชนเหล่านี้ได้ดี

เรานั่งรอชมด้านหน้าสุดของเวที ระหว่างนั้นมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจองที่นั่ง ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ดูเหมือนว่าชาวต่างชาติจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ แม้ผู้ชมไม่หนาแน่น แต่ก็ยังพอมีผู้ร่วมสนับสนุนด้วยการบริจาคเงินในกล่องรับบริจาคหรือโอนเข้าบัญชีธนาคาร

ก่อนเริ่มแสดง ศราวุธ จันทรวรรณมาน หรือ “ครูบอล” ครูและผู้ดูแลคณะหุ่นละครเล็ก กลุ่มเยาวชนวายุบุตร จะให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนคลองบางหลวงตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อก่อนเรียกว่า “คลองบางข้าหลวง” จนเรียกเพี้ยนมาเป็น “คลองบางหลวง” ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงประวัติศาสตร์และกลไกของหุ่นละครเล็ก

การให้ความรู้ก่อนเริ่มแสดงช่วยให้ผู้ชมได้ความรู้เรื่องหุ่นละครเล็กไปด้วย เช่น หุ่นละครเล็กใช้อวัจนภาษาหรือภาษากายแสดงความรู้สึก และท่าทางเหมือนคน 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะพูดกับกินไม่ได้

หุ่นละครเล็กคือศิลปะแขนงหนึ่งที่อยู่กับประเทศไทยมานาน เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2444 โดย พ่อครูแกร ศัพทวนิช เป็นผู้ริเริ่มการสร้างหุ่นละครเล็ก แต่หายสาบสูญไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลับมาฟื้นฟูเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงให้ความรู้เป็นภาษาไทยเท่านั้น ครูบอลยังพยายามสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติฟัง ซึ่งเขาก็ออกตัวว่าพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง โดยการอธิบายของครูบอลจะสอดแทรกมุกตลก จึงสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมได้

เสียงปรบมือดังขึ้น แม้ไม่ดังมากนัก… และการแสดงก็เริ่มต้นขึ้น ชุดแรกเป็นการร่ายรำท่าแบบโขนของเด็กวัยอนุบาลจนถึงประถมฯ มีเด็กตัวเล็กสองคนสวมหน้ากากครึ่งหน้าเป็นหนุมานยืนอยู่ตรงกลาง ขยับโยกย้ายด้วยท่าทางแบบลิง การแสดงนี้เรียกว่า “ตรวจพลลิง”

การแสดงชุดสองคือ “เพลงหน้าพาทย์” ชื่อเพลงว่า “คุกพาทย์” เป็นการเชิดหุ่นละครเล็ก โดยหุ่นหนึ่งตัวใช้คนเชิดสามคน ซึ่งเป็นเยาวชนที่โตขึ้นมาอีกระดับหนึ่งและฝึกฝนมานานจนสามารถเชิดหุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว

การแสดงชุดสามคือ “โขนรามเกียรติ์” ตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา ซึ่งได้เห็นลีลาการแสดงโขนของเด็กทั้งชายและหญิงที่มีท่ารำอ่อนช้อย ฝึกซ้อมโดยคณะวายุบุตร นอกจากการเชิดหุ่นบนเวที นักเชิดยังนำหุ่นลงมาถ่ายรูปร่วมกับผู้ชม พร้อมทำท่าทางตลกขบขัน สร้างเสียงหัวเราะได้มากทีเดียว

หลังชมการแสดงเราเริ่มอยากรู้ว่า “วายุบุตร” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และ “คณะคำนาย” หายไปไหน…

“ครูบอล” ชายร่างสูง วัย 39 ปี สวมโจงกระเบนสีดำ นั่งคุยกับเราอย่างเป็นกันเอง เขาเล่าที่มาที่ไปว่า หุ่นละครเล็กกลุ่มเยาวชนวายุบุตรเปลี่ยนผ่านมาจากคณะคำนาย ซึ่งเป็นนักแสดงเก่าคณะโจหลุยส์และเคยแสดงที่บ้านศิลปิน พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 บางคนต้องเปลี่ยนไปทำงานประจำเพื่อเลี้ยงครอบครัว เพราะช่วงนั้นไม่มีรายได้

เมื่อครูบอลเริ่มทำงานประจำ ก็มีผู้ปกครองถามว่า “ครูบอลเลิกสอนแล้วเหรอ” เขาจึงรวบรวมลูกศิษย์ที่เคยสอนและคิดว่าจะทำเท่าที่ทำได้ เมื่อถามเด็ก ๆ ว่าอยากทำต่อไหม เพราะวันข้างหน้าทุกคนต้องเติบโต รุ่นพี่ก็ต้องเข้ามาช่วยดูแลรุ่นน้อง ทุกคนบอกว่าอยากทำต่อ จึงตั้งกลุ่มเยาวชนนี้ขึ้นมา

เด็ก ๆ อยากตั้งชื่อว่า “หนุมาน” เพราะชอบและอยากเป็นหนุมาน แต่ชื่อนี้อาจฟังดูตลกไป เลยเลือกใช้ชื่อ “วายุบุตร” ซึ่งแปลว่า “บุตรแห่งลม” หรือ “บุตรของพระพาย” ส่วนโลโก้ทางผู้ปกครองช่วยจัดทำขึ้นมาให้ เพราะครูบอลคนเดียวคงไม่ไหว

จากจุดเปลี่ยนผ่านของคณะคำนายที่ต้องแยกย้ายกันไป ครูบอลผู้ตั้งใจถ่ายทอดการแสดงหุ่นละครเล็กให้แก่เด็ก ๆ จึงขอพื้นที่บริเวณวัดกำแพงบางจากจัดการแสดง ด้วยความช่วยเหลือของ “ลุงอ๋อย” ประธานชุมชนกำแพงทองพัฒนา โดยตั้งเวทีขนาดเล็กหน้าวัดเชื่อมกับทางเข้าตลาดน้ำคลองบางหลวง ซึ่งคณะวายุบุตรทำการแสดงในพื้นที่นี้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

boothanglom04
ก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะเชิดหุ่นละครเล็กได้ต้องมีประสบการณ์เล่นโขนขั้นต่ำ 5 ปี
boothanglom05
“ครูบอล” ผู้ดูแลกลุ่มเยาวชนวายุบุตรกล่าวว่า เขาไม่ได้สอนให้เด็ก ๆ โตไปเป็นนักแสดง แต่สอนให้พวกเขารู้จักและอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้

เพราะหุ่นละครเล็กเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“เราอยู่กับหุ่นมาครึ่งชีวิตแล้ว”

ครูบอลเล่าให้ฟังว่า ตอนอยู่คณะโจหลุยส์ เขาเริ่มทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนค่ำ กว่าจะถึงบ้านก็ 3-4 ทุ่ม เหมือนใช้ชีวิตอยู่แต่ในโรงละคร จึงรู้สึกผูกพันกับหุ่นละครเล็ก หลังจากโรงละครปิดตัวก็เข้ามาอยู่คณะคำนายจนมาเป็นผู้ก่อตั้งคณะวายุบุตร

“ไม่ได้สอนให้เขาโตขึ้นมาเป็นนักแสดงหุ่นกระบอกหรือโขนมืออาชีพ แต่สอนให้เขารู้จักรากเหง้าของเราเท่านั้นเอง”

ครูบอลบอกว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของวายุบุตร เขาเรียกตัวเองว่าผู้ก่อตั้งและผู้ดูแล โดยมีผู้ปกครองบางคนมาช่วยสนับสนุนอีกแรง

ระหว่างการพูดคุยเราสงสัยว่าทำไมยังเลือกแสดงที่คลองบางหลวงทั้งที่รายได้ไม่มากนัก

“รู้สึกผูกพัน เพราะอยู่ที่นี่มา 13 ปี ตั้งแต่คำนาย” ครูบอลพูดถึงความคุ้นเคยกับคนในชุมชน

หลายคนบอกให้ครูบอลลองเปลี่ยนที่แสดง เขากล่าวว่าถ้าลำพังมีแค่ตัวคนเดียวก็คงสะดวก แต่ต้องดูแลเด็กหลายชีวิตแทนผู้ปกครอง จึงห่วงว่าเด็กจะเดินทางอย่างไร พาไปแสดงอย่างไร เลยมีความลำบากในจุดนี้

การแสดงที่คลองบางหลวงให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน ลูกศิษย์เดินไปตรงไหนก็มีคนรู้จักว่าเป็นเด็กในคณะวายุบุตร

มีเด็กทั้งในและนอกชุมชนที่มาชมการแสดงแล้วอยากเรียน ครูบอลก็รับสอนเสมอ ไม่เคยปฏิเสธความตั้งใจเด็ก

การฝึกฝนเด็กคนหนึ่งให้เชิดหุ่นละครเล็กได้ต้องใช้เวลานานหลายปี และอาศัยทักษะการแสดงโขนอย่างน้อย 5 ปี บางคนเริ่มฝึกตั้งแต่อายุน้อย การรับสอนเด็กที่ไม่มีทักษะมาก่อนจึงเป็นเรื่องยาก บวกกับการฝากฝังจากผู้ปกครองที่อยากให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบ ครูบอลจึงต้องใส่ใจเด็กมากขึ้นด้วย

หลายครั้งครูบอลมักพูดว่าหุ่นละครเล็กเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ต้องสืบสานให้อยู่ต่อได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเลี้ยงครอบครัวให้ได้ด้วย

อีกสิ่งที่น่าห่วงคือ รูปแบบการแสดงที่จำเจ ไม่มีรูปแบบใหม่ การแสดงที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ครูบอลสร้างไว้เท่าที่ทำไหว

“เราทำอยู่ตอนนี้ก็เหมือนกับมีห่วงผูกคอไว้ แต่เป็นสิ่งที่เราเลือกและตัดสินใจที่จะทำด้วยตัวเอง ถ้าถึงจุดที่จะไม่มีแล้วจริง ๆ ก็คงต้องปล่อย…”

boothanglom06
คณะวายุบุตรเคยแสดงที่บ้านศิลปิน ในชื่อ “คณะคำนาย” แต่ต้องปิดตัวไปเมื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ครูบอลอยากสืบสานหุ่นละครเล็กคลองบางหลวง จึงย้ายมาแสดงที่วัดกำแพงบางจาก
boothanglom07
เด็กหลายคนที่มาแสดงมักจะมีผู้ปกครองมาคอยให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือ

สิ่งที่สำคัญกว่าเงิน

“เงินก็มาจากการแสดงที่เราเปิดหมวก เรียกว่าเป็นแหล่งศรัทธาที่ผู้ชมมอบให้กับเด็ก ๆ”

ครูบอลเปิดสอนแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังทำการแสดงให้ชมโดยไม่เก็บเงิน ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า “ทำเพื่อเผยแพร่และสืบสาน” พร้อมบอกลักษณะนิสัยของตัวเองอย่างหนึ่งว่า

“พี่อาจจะติสต์เกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ”

ครูบอลพูดติดตลกถึงเรื่องราวการสร้างคณะวายุบุตร น้ำเสียงสื่อถึงความจริงใจที่อยากจะส่งต่อความรู้ศิลปะแขนงนี้ให้แก่เด็ก

“พยายามทำสุดชีวิตแล้ว”

ประโยคนี้ทำให้คนฟังอย่างเราเห็นความตั้งใจของชายคนนี้ แต่ในความเป็นจริง หากสถานการณ์ปัจจุบันยังคงเป็นแบบนี้ หุ่นละครเล็กที่คลองบางหลวงอาจอยู่รอดได้อีกไม่นาน

คงไม่ได้มีเพียงครูบอลที่พยายามทำให้หุ่นละครเล็กอยู่คู่คลองบางหลวงต่อไป แต่ยังมีบรรดาลูกศิษย์ที่เข้ามาช่วยต่อชีวิตและสร้างสีสันให้เหล่าวายุบุตร

ศุภฤกษ์ กอธงชัย ชายหนุ่มวัย 18 ปี หนึ่งในลูกศิษย์ครูบอล เริ่มเรียนการแสดงโขนตอนอายุ 7 ปี ตั้งแต่สมัยคณะคำนาย จนกระทั่งตอนนี้เขากำลังศึกษาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคนละสายกับการแสดงหุ่นละครเล็กและโขน แต่ด้วยใจรักเขาก็แบ่งเวลาว่างมาช่วยสอนเหล่าวายุบุตร

ศุภฤกษ์ มองว่าการยึดสายงานนาฏศิลป์เป็นอาชีพหลักค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะต้องยอมรับว่ามีงานรองรับน้อย รายได้ไม่ค่อยมั่นคง นอกจากจะไปเป็นครูสอนนาฏศิลป์ แต่ถ้าทำด้วยความสุขก็อาจจะทำได้

ในฐานะคนรุ่นใหม่เขายอมรับว่าสังคมไทยขับเคลื่อนด้วยกระแสสังคม ซึ่งตอนนี้กระแสโขนค่อนข้างจะมาแรงจากการแสดงโขนพระราชทาน อย่างรามเกียรติ์ก็เริ่มมีกระแสขึ้นมาบ้าง ส่วนปัญหาเรื่องรายได้เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ค่อนข้างจะอยู่ยาก” จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนให้หุ่นละครเล็กอยู่ต่อได้ หลังชุมชนคลองบางหลวงแห่งนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง

“หุ่นละครเล็กที่นี่คงไม่หายไปเร็ว ๆ นี้หรอกครับ ก็ขึ้นอยู่กับว่ากระแสจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ก็ยังมีพวกผมคอยช่วยรักษาอยู่”

ความพร้อมเพรียงในการเชิดหุ่นละครเล็ก เสียงฝีเท้ากระทบพื้นเวที ฟังแล้วให้ความรู้สึกฮึกเหิมไม่น้อย แม้ฉากหลังเวทีของเหล่าวายุบุตรจะไม่สวยงามเท่าเวทีอื่น แต่ขอเพียงมีพื้นที่ให้ฉายแสง พวกเขาก็พร้อมจะออกแสดงให้ผู้คนได้รับชม

boothanglom08
ปัจจุบันคณะวายุบุตรไม่ได้เก็บค่าเข้าชม มีรายได้จากกล่องรับบริจาค เฉลี่ยแล้วประมาณ 80-90 บาทต่อคน จึงทำให้ไม่มีเงินซ่อมบำรุงอุปกรณ์หรือซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม
boothanglom09
ศุภฤกษ์ กอธงชัย หนึ่งในกลุ่มเยาวชนวายุบุตรกล่าวว่า ไม่ว่ากระแสสังคมจะเป็นอย่างไรก็ยังมีพวกเขาคอยอนุรักษ์หุ่นละครเล็กอยู่

ความหวัง ความหลงใหล ความรักษ์

“หุ่นละครเล็กเป็นเสมือนอวัยวะหนึ่งของเราไปแล้ว”

ความหลงใหลในศิลปะแขนงนี้ทำให้ครูบอลยังอยากจะสานต่อ แต่หากมองภาพอนาคตของหุ่นละครเล็กที่คลองบางหลวงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าเป็นห่วง… เพราะในมุมมองคนรุ่นใหม่ หากความหลงใหลทำเงินเลี้ยงชีพไม่ได้ก็ยากที่จะยึดเป็นงานหลัก

ครูบอลทำเพื่อหุ่นละครเล็ก 50 เปอร์เซ็นต์ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ให้ครอบครัว การทุ่มเทให้หุ่นละครเล็กจึงยังไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์เสียที ได้แต่หวังว่าสักวันจะพัฒนาสิ่งใหม่ให้คณะวายุบุตรได้มากกว่านี้

หุ่นละครเล็กที่มีอยู่เพียงไม่กี่ตัวของคณะวายุบุตรเริ่มชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ครูบอลต้องออกค่าซ่อมแซมด้วยตัวเอง เพราะรายได้จากการแสดงทั้งหมดจะแบ่งให้กับลูกศิษย์จำนวนเท่ากัน

สมชาย พึ่งศิลป์ ประธานชุมชนกำแพงทองพัฒนา ผู้รู้จักกับครูบอลมา 10 ปี ตั้งแต่ยังอยู่คณะคำนาย มองว่าครูบอลทำด้วยใจรัก จึงยอมเสียสละเวลามาสอนเด็ก ๆ

หลังจากคณะหุ่นละครเล็กไม่ได้แสดงที่บ้านศิลปินต่อ ทางชุมชนก็ช่วยหาสถานที่และเวทีให้โดยไม่คิดค่าเช่า

“อย่างน้อยเขาก็ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา ชุมชนก็ได้ผลประโยชน์ไปด้วย อยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัวมากกว่า”

แม้เมื่อ 6–7 ปีก่อนหุ่นละครเล็กเคยเป็นเป้าหมายหลักของการมาเยือนคลองบางหลวง แต่ปัจจุบันอาจไม่โดดเด่นเท่าเมื่อก่อน เนื่องจากความนิยมลดลง แต่ชุมชนก็พยายามช่วยผลักดันและเปิดพื้นที่ให้กับหุ่นละครเล็ก บางครั้งประธานชุมชนจะช่วยหางานแสดงให้ เพราะเห็นถึงความตั้งใจของเหล่าวายุบุตร

หุ่นละครเล็กที่อยู่คู่คลองบางหลวงมา 1 ทศวรรษ อาจจางหายไปเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูบอลกังวล แต่ยังมีความหวังอยู่เสมอว่าจะมีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ อีกทั้งยังห่วงอนาคตของเหล่าวายุบุตรที่เขาอุทิศตนสืบสานให้หุ่นละครเล็กยังคงโลดแล่นอยู่ได้ เราคงต้องดูต่อไปว่าบุตรแห่งลม ณ คลองบางหลวงจะพัดไปทิศทางไหน

การขับเคลื่อนให้หุ่นละครเล็กที่คลองบางหลวงยังไปต่อได้ของครูบอลก็เปรียบเสมือนแสงเทียนนำทางให้กับเด็ก ๆ

ความหวัง ความหลงใหล และความรักษ์ สามสิ่งนี้รวมกันทำให้ชายคนนี้ยกหุ่นละครเล็กเป็นแรงผลักดันในการถ่ายทอดทักษะที่เขามี ส่งต่อสู่เด็กรุ่นใหม่ซึ่งจะก้าวเข้ามาช่วยกันสืบสานอีกแรงหนึ่ง แสงเทียนนี้ยังคงนำทางไปเรื่อย ๆ แม้ไม่รู้ว่าในอนาคตจะดับลงตอนไหน