ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ
ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร หรือ ๔ รอบสวนรถไฟ สำหรับ มาร์ค คาสิดสิค (Mark Casidsid) หรือ “อะกา” คงเป็นเพียง “ของเล่น” หรือ “ขนมหวาน” เพราะเขาเคยผ่านการวิ่งอัลตรามาราธอนระยะทาง ๒๑๐ กิโลเมตรมาแล้ว
ที่เกาะเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ นักวิ่งตาบอดเคยพิชิตงานวิ่ง The Cebu Southwest 210-kilometers Ultramarathon มาก่อน
แต่เมื่อได้รับคำเชิญชวนจากผู้จัดงานวิ่ง We Run for the Blind ที่ประเทศไทย อะกากับกาโด เปลิงโง (Gado Pelingo) ไกด์รันเนอร์ ก็บินตรงมาจากบ้านเกิด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิ่งตาบอดคนอื่นๆ
ด้วยอาการจอประสาทตาเสื่อม ทำให้การมองเห็นของอะกาค่อยๆ มีปัญหา และตาบอดสนิทมาตั้งแต่อายุประมาณ ๑๙ ปี
ในช่วงแรกๆ ที่มองไม่เห็น เขาเศร้าซึมถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย แต่แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยรั้งชีวิตของเขาไว้ คือ การวิ่ง
อะกาเล่าว่า “ผมพบว่าการวิ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมยังทำได้ดี ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆ ที่ออกมาวิ่งจะน่ากลัวมากก็ตาม”
ขณะที่ กาโด เปลิงโง ทำงานประจำเป็นสถาปนิกและเจ้าของโรงเรียนสอนคนตาบอด คอยทำหน้าที่เป็นไกด์รันเนอร์ให้กับอะก้า
ในวงการกีฬา ไกด์รันเนอร์ (guide runner) หรือ นักวิ่งนำทาง คือผู้ที่คอยวิ่งประกบอยู่เคียงข้างผู้พิการตลอดการวิ่ง กรณีที่เป็นผู้พิการตาบอด ไกด์รันเนอร์มักจะงอแขนเป็นมุมฉาก ยื่นข้อศอกให้คนตาบอดจับแล้วออกวิ่งไปด้วยกัน หรือไม่ก็อาศัยเชือกจูงข้อมือ ร้อยเชือกเป็นห่วงให้ไกด์รันเนอร์กับคนตาบอดถือคนละข้าง ขนาดและความยาวของห่วงเชือกตามความถนัดของนักวิ่งแต่ละคู่
ในฐานะเจ้าของโรงเรียนสอนคนตาบอดในกรุงมะนิลา กาโดยังทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับไกด์รันเนอร์คนอื่นๆ อะกาก็มีไกด์รันเนอร์ที่มาจับคู่วิ่งด้วยกันหลายคน แต่หนึ่งในไกด์รันเนอร์ที่ออกวิ่งเคียงบ่าเคียงไหล่เขามากที่สุดคือกาโด
ประมาณหนึ่งปีหลังซ้อมวิ่งอย่างจริงจัง นักวิ่งตาบอดจากฟิลิปปินส์ก็สามารถพิชิตมาราธอนแรกสำเร็จ ระยะทาง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมเมตร เขาใช้เวลาวิ่ง ๕ ชั่วโมง ๑๔ นาที
อะกากับกาโดที่มีอายุไล่เลี่ยกัน ห่างกันประมาณ ๓-๔ ปี ยังคงซ้อมวิ่งด้วยกันเพื่อหาทางลงแข่งระยะทางที่ไกลขึ้น นอกจากเรื่องวิ่งแล้วทั้งคู่มักจะออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ท่องเที่ยวด้วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดความอ่านกันจนสนิทสนม แม้แต่ครอบครัวของทั้งคู่ก็ผูกพันรักใคร่กัน
งานวิ่ง We run for the Blind ที่สวนวชิรเบญจทัศน์หรือสวนรถไฟ ริเริ่มโดย สมนึก อิทธิศักดิ์สกุล ผู้จัดการบริษัท โปรคัลเลอร์แลป จำกัด ผู้นำเข้าอุปกรณ์ถ่ายภาพทั้งสีและขาวดำ แบ่งการวิ่งออกเป็นระยะทาง ๒ กิโลเมตร ๕ กิโลเมตร และ ๑๐ กิโลเมตร
สมนึกเล่าถึงสาเหตุที่ตัดสินใจจัดงานวิ่งพิเศษที่เปิดโอกาสให้คนไม่พิการได้จับคู่วิ่งกับคนตาบอดว่า “ผมต้องการให้คนตาบอดได้มาออกกำลังกาย การที่เขาก้าวออกจากบ้านมาออกกำลังกาย มันทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสังคม อีกข้อหนึ่งคือผมต้องการสร้างไกด์รันเนอร์ขึ้นมา ผมอยากให้คนทั่วไปกล้าฝึกกล้าจูงคนตาบอดวิ่ง เชื่อมั๊ยคนตาดีหลายคนที่มาลองเป็นไกด์รันเนอร์ถึงกับน้ำตาร่วง กลับบ้านไปโดยได้รับพลังดีๆ ได้รับสิ่งดีๆ จากคนตาบอด”
ริมลู่วิ่งรอบสวนรถไฟ ภายหลังอะกาและกาโดพากันทะยานเข้าสู่เส้นชัยระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร กาโดให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของไกด์รันเนอร์ที่ดีว่า
“ไกด์รันเนอร์ที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักวิ่งที่ดีเท่านั้น แต่ไกด์รันเนอร์ที่ดีจะต้องเป็นคนเปิดกว้าง มีทัศนคติและมองโลกในด้านบวก สำคัญที่สุดคือต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะเมื่อเป็นผู้ฟังที่ดีก็มีแนวโน้มว่าจะเข้าใจคนพิการ สามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆ ขณะที่ทั้งสองคนกำลังวิ่งอยู่ด้วยกัน”
กาโดเน้นย้ำว่าที่ผ่านมา ไกด์รันเนอร์ที่ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ มักเป็นคนที่มีทัศนคติในทางลบ
“เขาอาจจะอ้างว่าไม่มีเวลาฝึกฝน หรืออาจจะเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถเป็นไกด์รันเนอร์ที่ดีได้”
บนระยะวิ่งอันแสนไกล ไม่ว่าจะเป็นมาราธอน ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร อัลตรามาราธอนที่ไกลกว่าเป็นร้อยกิโลเมตร รวมทั้งเทรลรันนิง (trail running) ที่ต้องวิ่งไปตามป่าเขา อะกานักวิ่งตาบอดกับกาโดไกด์รันเนอร์ของเขามักส่งเสียงดังราวกับกำลังเอ็ดตะโรกันตลอดเวลา สวนทางกับบุคลิกภายนอกของทั้งสองที่ดูเป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ เยือกเย็น ไม่วู่วาม อย่างสิ้นเชิง
“เวลาวิ่งด้วยกันเราจะเป็นคู่ที่เสียงดังมาก แทบจะตะโกนใส่กันตลอดเวลา ผมมักจะร้องบอกว่า เฮ้ย อะกาออกซ้ายนะ เฮ้ย ระวังขวา มีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า หรือไม่ก็ตอนนี้มีคนวิ่งไล่ขึ้นมาข้างหลังแล้ว !”
กาโดอธิบายและตั้งข้อสังเกตว่าความสำเร็จในการวิ่งระยะไกลของนักวิ่งเป็นเรื่องของจิตใจ ๗๐ เปอร์เซ็นต์
“ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเพียงคนเดียวหรือวิ่งกับคนพิการ มันคือ mind game ชัดๆ คือการตระเตรียมการ และการแสดงออกซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจ คือการใช้คำพูดให้กำลังใจกันและกัน เพราะอย่างนั้นการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่มหนึ่งก็มีความสำคัญสำหรับคนที่กำลังหัดเป็นไกด์รันเนอร์”
อะกาที่นั่งอยู่ข้างๆ ยืนยันคำพูดของไกด์รันเนอร์คู่ใจว่า การสื่อสารระหว่างกันของสองฝ่ายคือสิ่งสำคัญสำหรับการวิ่งคู่กับคนพิการ
“มันทำให้เราได้รู้จักคำว่ามิตรภาพ ได้เรียนรู้กันและกันจนกลายเป็นเพื่อนรักกันในที่สุด”
หลังงานวิ่งที่สวนรถไฟ อะกาและกาโดยังคงวิ่งด้วยกันสม่ำเสมอ ทั้งสองคนกลายเป็นแรงใจไฟฝันให้กับคนพิการและไม่พิการอีกหลายคนทั่วโลก ให้ออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมผ่านการวิ่ง
ถึงแม้บางครั้งจะต้องเผชิญอาการบาดเจ็บ แต่หัวใจของทั้งคู่ก็เปี่ยมสุขด้วยความรัก และความสำเร็จที่เกิดจากความมานะพยายาม
“โปรดสนับสนุนเราและนักกีฬาชาวฟิลิปปินส์คนอื่นๆ ต่อไป ผมไม่เคยคิดว่าการสูญเสียสายตาจะทำให้ผมสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และมองเห็นโลกได้สวยงามมากขึ้นกว่าเดิม”