ยสินทร กลิ่นจำปา : เขียน
กฤต คหะวงศ์ : ภาพ

builtcar1
แม้จะล่วงเลยเวลางาน แต่ช่างก็ยังช่วยกันปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ทันกับการใช้งาน

ควันขาวจากยางรถลอยคลุ้งพร้อมกลิ่นไหม้อบอวล ชายฉกรรจ์สองสามคนยกท้ายรถกระบะเงางามมันวาว คนขับเหยียบและปล่อยคันเร่งทดสอบระบบ จากนั้นชายกลุ่มเดิมเปิดท้ายกระบะ แล้วกดส่วนหลังของรถลงให้ล้อหลังติดแน่นกับพื้นซึ่งเผยร่องรอยเขรอะเยอะประสบการณ์ คนขับเหยียบคันเร่งเพื่อเบิร์นยาง เสียงอู้อี้ดังขึ้นพร้อมควันหนา เพื่อให้รถออกตัวด้วยความเร็วสูงสุดเมื่อยางร้อนได้ที่

ไฟบริเวณเกาะกลางส่งสัญญาณ รถซึ่งอยู่ประจำตำแหน่งพุ่งทะยานออกตัว ทิ้งรอยยาง เขม่าควัน เสียง และกลิ่นไหม้ไว้เบื้องหลังเป็นหลักฐานความเร็วสุดขีด

เสียงเปลี่ยนเกียร์ “ตึบ ตึบ ตึบ ตึบ !” ดังขึ้นสามสี่ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 12 วินาที ทุกอย่างตั้งค่า วางแผน ระดมสมอง และปรับแต่งด้วยวัตถุดิบอะไหล่ราคาหลายระดับ

ย่ำเย็นกลางเดือนกรกฎาคม 2566 ณ สนามแข่งรถ รัสมี เรซซิ่ง แดร็ก คลอง 14 จังหวัดนครนายก หนึ่งในชายฉกรรจ์ที่กดท้ายรถกระบะให้ข้อมูลว่าการทดสอบรถมีหลายวัตถุประสงค์ ตั้งแต่การเตรียมตัวแข่งขัน ทดสอบรถก่อนส่งมอบให้ลูกค้า หรือการแสดงทักษะฝีมือของช่าง ซึ่งมี “ความเร็ว” เป็นมาตรฐานชี้วัดความกลมกล่อม โดยการทดสอบรถเช่นนี้มีประจำทุกสัปดาห์

หากปรายตามองและเปลี่ยนฉากหลังจากสนามแข่งรถเป็นท้องถนนตามชานเมืองใหญ่ พวกเขาก็ไม่ต่างจากภาพ “วัยรุ่นกระบะซิ่ง” และ “วัยรุ่นทรงเอ” กลุ่มคนที่เป็นขวัญใจด่านตรวจ หรือแก๊งวัยรุ่นในจักรวาลภาพยนตร์ Fast & Furious (2544-ปัจจุบัน)

ควันจากยางและการเผาไหม้เครื่องยนต์เริ่มจางลง รถคันต่อไปเข้าแทร็กเตรียมตัวรอสัญญาณ…

builtcar2
ฝ่ายออกแบบคือเบื้องหลังสำคัญ ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าและส่งไปให้ฝ่ายต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเป็นระบบ

รถแต่ง อาภรณ์แสดงตัวตน

รถโหลดเตี้ยแปะสติกเกอร์ทั่วทั้งคันพร้อมท่อมันวาวแล่นด้วยความเร็วสูงยังคงเป็นภาพจำของตัวละครอันตรายสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในเมืองไทย ประกอบกับรอยสักตามร่างกายและแฟชั่นการแต่งกายเน้นสีฉูดฉาดมักถูกเรียกว่า “วัยรุ่น” พร้อมคำบรรยายตามหลังเป็นพรวน เช่น “กระบะซิ่ง” หรือ “ทรงเอ” (ย่อมาจาก “เอเยนต์”)

ขณะเดียวกันแหล่งที่มาของทุนทรัพย์เพื่อแต่งรถก็มีทั้งสีเทาและสีขาวบริสุทธิ์ จึงไม่แปลกหากสังคมและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเพ่งเล็งคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

แม้การแต่งรถจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของวัยรุ่นทรงเอ แต่ภาพการทดสอบรถในสนามแข่งขันซึ่งละม้ายคล้ายรถกระบะซิ่งเปิดเพลงเสียงดังบนท้องถนนในช่วงเทศกาลก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากลุ่มคนนิยมการแต่งรถมีความหลากหลาย ทำให้ประเด็นที่มาของเงินทุนประดับอะไหล่ราคาแพงเป็นสิ่งที่ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า

“ทุกสังคม ทุกวงการมีสองด้านเสมอ”

“กอล์ฟ” ธีรภัทร คงเจริญสุข เจ้าของอู่แต่งรถ “Lucky Shop Racing” ย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี แสดงความเห็นกรณีแหล่งที่มาของเงินแต่งรถว่าเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าลูกค้านำเงินจากไหนมาใช้แต่งรถ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อคนที่มีแหล่งเงินสีเทาโดนตำรวจจับ เพราะลูกค้าบางคนอาจได้รับเงินมรดก เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือหายไปครึ่งปีเพื่อทำงานเก็บเงิน เขาจึงมองว่าเงินอาจมาจากหลากหลายทาง

“การแต่งรถเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย” ชายผมยาววัยกลางคนกล่าว

ย่ำเย็นวันสัมภาษณ์กอล์ฟรถกระบะคันเขียวเสริมคอกกำลังอยู่ในขั้นตอนชำแหละ ทีมช่างง่วนกับโจทย์การแต่งรถเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับออกงาน โดยลูกค้าคือแบรนด์รถญี่ปุ่นชื่อดัง มีกำหนดส่งมอบงานในอีกไม่ถึง 48 ชั่วโมง 

เสียงพ่นสี ขันน็อต อัดลมยาง เคล้าเสียงเพลงวง “มาลีฮวนน่า” ดังไปทั่วพื้นที่กะทัดรัด ในฐานะเจ้าของ หัวหน้า และคนมองภาพรวมกอล์ฟชี้ว่าการแต่งรถก็เหมือนงานศิลป์ ต้องรอจังหวะอารมณ์

“อาร์ตช่างเครื่องประจำร้าน Lucky Shop Racing และนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ อดีตเด็กแว้นผู้อาศัยวิธีครูพักลักจำด้านการแต่งเครื่องยนต์ แจกแจงว่าการเพิ่มสมรรถนะรถมีสองจุดประสงค์ คือ เพื่อตอบสนองความต้องการเจ้าของรถหรือตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และเพื่อการแข่งขันซึ่งทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ

ในเบื้องต้นอาร์ตอธิบายว่าการเพิ่มสมรรถนะรถต้องปรับแต่งกล่อง ECU (Electronic Control Unit) หรืออุปกรณ์ซึ่งทำหน้าที่รับข้อมูลรถมาประมวลผลเพื่อควบคุมการสั่งจ่ายน้ำมันและการจุดระเบิดให้เครื่องยนต์ทำงาน หัวใจหลักของรถส่วนหนึ่งอยู่ที่กล่องดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องติดตั้งและเปลี่ยนค่ากล่องเดิม ถัดจากนั้นคือการปรับปรุงหัวฉีด ปั๊ม เทอร์โบ คลัตช์ ฯลฯ เป็นขั้นตอนจนกว่าการอัปเกรดจะถึงทางตัน

“การแต่งรถเป็นเรื่องสวยงาม อยู่ใกล้ตัวทุกคน”

ด้วยสายตาช่างเครื่องที่รับงานนักแข่งรถเป็นครั้งคราวอาร์ตจึงมองว่าการบำรุงรักษา การอัปเกรด และความสวยงาม ถือเป็นการแต่งรถทั้งสิ้น

ดังนั้นนอกจากการแต่งรถจะสร้างตัวตนผ่านความสวยงามซึ่งบ่งบอกไลฟ์สไตล์ยังมีวัตถุประสงค์อื่น เช่น การเพิ่มสมรรถนะให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานหรือเพื่อประกอบอาชีพ (เช่น การเสริมแหนบ ใส่คอก เปลี่ยนโช้ก ฯลฯ) การปลดล็อกสมรรถนะเครื่องยนต์ที่โรงงานตั้งค่าตามมาตรฐาน การแต่งสำหรับงานโชว์ รวมไปถึงการแต่งรถแนวเรซซิ่ง (racing) เพื่อแข่งขันในสนาม

สังคมการแข่งขันรถแต่งเรซซิ่งนี่เองเป็นเสมือนจุดบรรจบของความฝัน ความงาม และความเร็ว

จากข้างถนนสู่สนามแข่ง กับภาพจำที่สลัดไม่พ้น

“ถ้าเราเข้าสู่โหมดการแข่งขัน ทุกสายพันธุ์ ทุกการแข่งขันจะแบ่งไว้แล้วว่ารถกระบะรุ่นนี้แบบนี้ รถเก๋งมีรุ่นนี้ มีการแยกรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก”

กอล์ฟให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการแต่งรถแนวเรซซิ่งมาจากการแข่งขันประเภท NASCAR (National Association for Stock Car Auto Racing) ซึ่งมีสนามแข่งขันเป็นวงรีคล้ายรูปไข่ โดยหาผู้ชนะจากการทำความเร็วสูงสุด (top speed) รอบต่อรอบ และมีรถหลากหลายประเภทในการแข่งขัน

“คาดลาย แต่งโหลดเตี้ย หรือความเร็วสูง ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ไปหมดสำหรับผม” กอล์ฟตาเป็นประกายและสรุปว่าการแต่งรถแนวเรซซิ่งเป็นการแต่งตามต้นฉบับที่แข่งขันในเวทีใหญ่ ประเทศไทยเองก็มีการแข่งขันทั้งวัดความเร็วและความสวยงามเป็นประจำ

โดยทั่วไปการแข่งขันรูปแบบทางตรง (drag racing) ได้รับความนิยมเช่นกัน ซึ่งใช้ระยะทางแข่งขัน 402 เมตร หรือ 1 ส่วน 4 ไมล์ (quarter mile) เฉลี่ยเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเส้นชัยประมาณ 10 วินาที อาจแข่งแบบเก็บสถิติหรือจับคู่แบตเทิลหาผู้ชนะก็ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายจัดการแข่งขัน แต่ส่วนใหญ่จะแบ่งตามบล็อกเครื่องยนต์ เช่น เครื่อง 4 สูบ 6 สูบ หรือ เบนซิน-ดีเซล เพื่อไม่ให้มีการได้เปรียบ-เสียเปรียบ

“ทุกวันนี้รถแรงเท่า ๆ กันหมด จึงเหมือนการชิงไหวชิงพริบกันระหว่าง หนึ่ง-รายละเอียดของช่าง สอง-ตัวขับ ดังนั้นถ้ารถแรง คนขับดี ดวงดี มีสามอย่างครบในวันเดียวกัน แชมป์แน่นอน”

ผู้คร่ำหวอดในวงการรถแต่งมากว่า 13 ปีขยายภาพว่าในการแข่งขันทางตรงแบบจับคู่แบตเทิล ปัญหาไม่ใช่ความเร็วแรง แต่เป็นสภาพรถที่จะสามารถยืนระยะแข่งขันได้จนถึงรอบลึก เพราะหากมีรถเข้าแข่งขันทั้งหมดแปดคัน จะไปถึงรอบชิงก็ต้องวิ่งทั้งหมดสี่รอบ

นอกจากการแข่งขันทางตรงแล้ว การแข่งขันความสวยงามหรือ “รถโชว์” ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มได้รับความสนใจ โดยกติกาการแข่งขันจะดูความเรียบร้อย ความสะอาด การใช้งานในชีวิตประจำวันไม่ส่งผลเสียต่อผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น fitment หรือซุ้มล้อต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย บางรายการมีระบบพ็อปปูลาร์โหวต (Popular Vote) ตัดสินผู้ชนะ ซึ่งการแข่งขันสายประกวดความงามเป็นอีกทางหนึ่งที่ดึงดูดผู้สนับสนุน ผู้ชม และกระตุ้นเศรษฐกิจในวงการแต่งรถให้ขับเคลื่อนไปได้

แม้ว่ากอล์ฟจะฉายภาพให้เห็นถึงสังคมรถแต่งเพื่อแข่งขันตามมาตรฐาน ซึ่งมีกฎระเบียบเป็นสัดส่วน มีการวางแผน และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ แต่วัฒนธรรมที่มีจุดกำเนิดในดินแดนอเมริกาและออสเตรเลียนี้กลับไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจของสังคมไทยซึ่งมองวัยรุ่นทรงเอ กระบะซิ่ง และเด็กแว้นอย่างเหมารวม ซึ่งหนทางรักษาคือการผลักให้ไปแข่งในสนามเท่านั้น และใช่ว่าวัยรุ่นผู้รักความเร็วทุกคนจะเข้าถึงการแข่งขันในสนามได้ด้วยเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่ต้องใช้เงินมหาศาล

“ถ้าผมไม่มีโอกาสใช้ความเร็วบนถนน ก็คงไม่มีโอกาสไปแข่งในสนาม”

อาร์ตเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักแข่งและเริ่มศึกษาเครื่องยนต์ว่า ย้อนกลับไปทศวรรษ 2550 ย่านปทุมธานีและทิศเหนือของกรุงเทพฯ ยังไม่มีสนามแข่งรถเป็นกิจจะลักษณะ หากไม่ฝึกบนถนนสาธารณะก็คงจะกลายเป็นนักแข่งในสนามได้ยาก

เส้นทางอาชีพที่ไม่แน่นอนเกิดขึ้นเพราะพื้นที่สนามแข่งขันยังไม่เปิดกว้างและไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องอาศัยการหาลู่ทางให้ตัวเองในวงการแข่งรถทีละน้อย

สำหรับการเหมารวมด้วยภาพด้านลบ กอล์ฟกล่าวว่าเขาไม่แปลกใจ เพราะมีคนแต่งรถบางส่วนแสดงพฤติกรรมไม่ดีบนท้องถนนจริง ซึ่งหากเข้ามาคลุกคลีกับวงการแต่งรถจะเข้าใจว่าไม่ใช่กระบะซิ่งหรือรถแต่งทุกคันจะแสดงพฤติกรรมแบบเดียวกัน

“เราหมดความคิดจะไปแข่งบนถนนหลวง ผมว่าทำแบบนั้นไม่ถูกต้องแล้วก็อันตราย แก่ตายดีกว่า รถคว่ำตายไม่เท่” กอล์ฟย้ำ

builtcar3
เครื่องยนต์ภายในที่ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างสวยงาม
builtcar4
ด้านขวาคือรถที่ผ่านกระบวนการทั้งด้านการออกแบบและปรับความเหมาะสมของเครื่องยนต์

เสน่ห์รถแต่งและวัฒนธรรมคนวงรถ

แม้จะมีเวทีแข่งขันสำหรับรถแต่งอย่างเป็นสัดส่วน แต่ยากจะปฏิเสธว่าวงการแข่งรถเหลื่อมกับกรอบกฎหมายมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการแข่งรถข้างถนน (street drag) ซึ่งมีจุดตั้งต้นคือถนนลัดเลาะขึ้นภูเขาในประเทศญี่ปุ่น

Touge (โทเกะ) ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า “ผ่าน” ใช้เรียกถนนซึ่งสร้างเป็นทางโค้งคล้ายรูปตัวเอส (S) ตัดขึ้นภูเขาเพื่อลดความชัน เนื่องจากภูมิประเทศญี่ปุ่นมีภูเขาทั่วทั้งเกาะ เมื่อถึงช่วงทศวรรษ 1980-1990 เหล่านักแข่งรถก็เริ่มใช้ถนนโทเกะเป็นสนามแข่งขันเพราะความท้าทาย ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายเพราะอาจอันตรายชต่อชีวิตผู้สัญจร จึงต้องแอบแข่งกันในเวลากลางคืนหรือที่เรียกว่า “มิดไนต์ (midnight)” โดยจะมีรหัสลับเฉพาะสำหรับนัดแนะเวลาแข่ง และวัฒนธรรมนี้ก็เผยแพร่ไปยังถนนทั่วทุกมุมโลกผ่านมังงะ อนิเมะ วิดีโอเกม และสื่ออื่น ๆ (การดริฟต์ก็ถือกำเนิดจากสนามโทเกะนั่นเอง)

“เคยทำแบบนั้นตามต่างจังหวัดด้วยนะ” กอล์ฟนึกย้อนความหลังช่วงวัยที่แข่งขันสตรีตแดร็ก เขาเล่าว่าก่อนแข่งขันจะมีรหัสลับสำหรับนัดแนะเวลาและสถานที่ ซึ่งหลายครั้งหลายคราจะหลุดเข้าหูตำรวจเพราะคนนอก บางครั้งอาจเป็นชาวบ้านหรือคนที่ติดสอยห้อยตามเพื่อนมาและแชร์ลงโซเชียลมีเดีย

“แข่งแบบนี้ก็ไม่ถูก แต่ได้อารมณ์ไปอีกแบบ เป็นความสวยงามของวัฒนธรรมวงรถ” 

ปัจจุบันวัฒนธรรมดังกล่าวยังมีอยู่แต่ลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา กอล์ฟไม่ปฏิเสธว่าหากถนนโล่งและไม่มีกล้องจับความเร็ว อาจใช้เป็นโอกาสทดสอบความเร็วรถตัวเอง

อีกมุมหนึ่ง “กัส” กราฟิกดีไซน์เนอร์ประจำร้าน Lucky Shop Racing ผู้ผันตัวจากงานประจำในฝ่ายศิลปกรรมของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง อธิบายว่าส่วนตัวไม่ไช่คนขับรถเร็วบนท้องถนน เพียงแต่ขับเที่ยวเล่นตามประสา

“รถเป็นเสมือนเพื่อน ถ้าต้องออกไปไหนก็อยากออกไปพร้อมมัน พอเราแต่งแล้วได้ขับมัน ให้ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง”

ไม่จำเป็นต้องเข้าแทร็กประชันความเร็ว บางคนอาจแต่งรถเพื่อสร้างตัวตนให้ชัดเจน และในปัจจุบันกัสก็เบนเข็มไปแต่งรถสายแคมปิ้งเข้าป่า หลีกหนีสังคมเมืองและการแข่งขัน

builtcar6
การแข่งขันประลองความเร็วในบริเวณสนามซึ่งห่างไกลจากชุมชนและถนนใหญ่
builtcar8
พ่อพาลูกมาชมการแข่งรถในช่วงวันหยุด ด้วยมองว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง

มองรถแต่ง เห็นสังคมรถ

“ในต่างประเทศทุกหน้าร้อนหรือทุกสุดสัปดาห์จะมีงานแข่งใหญ่ที่คนในละแวกหรือคนจากหลายรัฐมารวมตัวกันแข่งรถ จะเห็นภาพครอบครัวพาลูกมาดู มีที่อุดหู (earplugs) การขายเสื้อ การแจกลายเซ็น ถือเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง”

กอล์ฟฉายภาพสังคมในต่างประเทศซึ่งมีการจัดแข่งขันอย่างเป็นทางการ มีการสนับสนุนและความปลอดภัย

ในอเมริกาเหนือการแข่งขันทางตรงรายการใหญ่จัดขึ้นโดย International Hot Rod Association (IHRA) และยังมีการแข่งสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขณะที่การแข่งขันรายการใหญ่ในไทยอย่าง Souped Up Grandprix จะจัดอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2566 หลังห่างหายไปเกือบ 4 ปี

แม้ว่าการแข่งขันในไทยจะจัดขึ้นประปรายตลอดทั้งปี แต่กลับไม่เป็นที่พูดถึงในวงกว้างหรือได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ทำให้ต้องพึ่งพารายการแข่งขันจากสปอนเซอร์รายใหญ่เป็นหลัก เช่น Grand Prix เป็นต้น

ปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ณ สนาม Bangkok Drag Avenue คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี รายการแข่งขันทางตรงสายรถกระบะปรากฏภาพประชากรหลากหลายวัย บ้างเป็นเด็กเล็กติดสอยห้อยตามผู้ปกครองเข้าสู่บริเวณสนาม บ้างเป็นกลุ่มวัยรุ่น บ้างเป็นคนชราที่หลงใหลในความเร็ว บ้างเป็นช่างเครื่องจากอีกมุมของประเทศ

“พอเห็นในเฟซบุ๊กก็มาเลย” ช่างเครื่องหนุ่มกล่าว พวกเขานำรถกระบะแข่งขึ้นสไลด์บึ่งมาตั้งแต่ช่วงเช้าจากจังหวัดกำแพงเพชร

ขณะที่เด็กวัยประถมฯ สองคนปั่นจักยานไปมาระหว่างซุ้มขายอาหารและจุดบริการของทีมตนเองก็กล่าวว่าชอบดูรถแข่งเพราะชอบความแรง ความสวยและเสียงของรถ

“อยากให้เข้ามาดูกันเยอะ ๆ ค่ะ” เด็กสาวกล่าวด้วยสีหน้าเบิกบาน

…….

รถแข่งกำลังเข้าแทร็ก นักขับคุยกับช่างเครื่อง คนดูกำลังจับจ้องไปที่สนาม ทีมงานออกมายืนข้างสนาม ไฟสัญญาณเริ่มติด ความเงียบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง จากนั้นรถทั้งสองคันก็พุ่งไปข้างหน้า ไม่กี่อึดใจผลแพ้ชนะก็ประกาศผ่านลำโพง

ดูเหมือนพนักงานร้านขายเทอร์โบ เด็กฝึกหัดในอู่แต่งรถ ช่างเครื่อง คนขับรถ เจ้าของธุรกิจ คนเฝ้าบูท เด็กขัดขี้ยางประจำสนาม ไปจนถึงแม่ค้าขายลูกชิ้นหลังอัฒจันทร์จะมี 10 วินาทีข้างต้นเป็นสิ่งยึดโยงทุกคนเอาไว้ 

หลายคนกล่าวว่าสังคมแบบนี้เป็นเพียงชุมชนที่รวมคนสไตล์เดียวกันไว้ บ้างเคยเป็นเด็กแว้นที่หาลู่ทางจนเจอและอยากให้สังคมภายนอกเห็นว่าวงการแต่งรถก็มีแง่มุมจริงจังและไม่ได้ป่าเถื่อน

กอล์ฟมองว่าการแข่งรถควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีการยกระดับวงการ และเป็นพื้นที่ให้อู่ขนาดเล็กหรือคนหน้าใหม่มีส่วนร่วม ได้แสดงออก และพัฒนาศักยภาพตัวเอง สักวันหนึ่งภาพลักษณ์คนแต่งรถก็อาจเปลี่ยนไป

“ถ้าไม่แต่ง รถก็วิ่งต่อไปได้หรือเปล่า” คำถามหนึ่งเกิดขึ้นในใจ

“ขับเดิม ๆ ก็ได้แหละ แต่ยอมเดินดีกว่า” อดีตเด็กแว้นและเจ้าของอู่แต่งรถทิ้งท้ายไว้

เอกสารประกอบการเขียน
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์

  • GEESUCH. 2565. “Tōge Racing การแข่งขันรถบนเส้นทางแสนอันตรายของธรรมชาติ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Initial D” เข้าถึงเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. https://www.unlockmen.com/alba-sportive-thailand-creation-the-reflection-of-japan
  • MOTOFIIX. 2564. “drag คืออะไร และความนิยมของการแข่งรถประเภทนี้ในไทยและต่างประเทศ” เข้าถึงเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. https://shorturl.at/rxyK1
  • RealtimeCarMagazine. 2563. “DRAG คืออะไร เค้าแข่งกันยังไง..?” เข้าถึงเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566.   https://www.realtimecarmagazine.com/newsite/archives/57876 
  • SHIFTER. 2562. “แง้นแง้น แต่งรถแบบเด็กแว้นมันไม่เป็นศิลปะ.” เข้าถึงเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. https://www.youtube.com/watch?v=RzDIjTCaI6k
  • Sutthipath Kanittakul. 2566. “เข้ากี่ด่าน โดนทุกด่าน? สำรวจเหตุผลทางจิตวิทยา ทำไมทรงเอถึงเป็น ‘ขวัญใจด่านตรวจ’.” เข้าถึงเมื่อ 18 สิงหาคม 2566. https://thematter.co/social/hidden-bias-in-a-grop-and-police/209442

เอกสารภาษาไทย

  • ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง. สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในกระแสข้ามศาสตร์. ปทุมธานี: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565.