ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

4area globalwarming01 1
เด็กๆ ที่อาศัยในจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุราษฎร์ธานี เป็น ๔ จาก ๑๐ จังหวัดของประเทศไทยที่เผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตที่เชียงใหม่ ซากุราโกะ มาซุดะ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาฝุ่นควันจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและเรียนหนังสือ

กระทั่งเธอลงวิชาเลือกที่ต้องแข่งวิ่งครอสคันทรีจึงประสบปัญหาเข้าอย่างจัง

ครอสคันทรี (Cross country races) หรือกรีฑาประเภทวิ่งข้ามทุ่งเป็นการแข่งขันที่ผู้เล่นจะต้องออกวิ่งไปตามภูมิประเทศที่กำหนด อาจเป็นเนินเขา ทางลาดชัน ทุ่งหญ้า ธารน้ำ

เมื่ออากาศไม่ดี จะออกไปซ้อมวิ่งมันก็ไม่ดีต่อสุขภาพซากุราโกะรำพึงรำพัน

โดยทั่วไปนักเรียนระดับชั้น ม.ปลาย ที่ลงวิชาเลือกตัวนี้จะต้องออกไปซ้อมวิ่งกลางแจ้ง การถ่ายวิดีโอประกอบการเรียนรวมถึงการสอบจะต้องวิ่งขึ้นและลงเขา ผ่านธารน้ำไหล และพื้นหิน

“ตอนนั้นมีปัญหามากเพราะซ้อมวิ่งไม่ได้ เหมือนเราต้องเลือกระหว่างสุขภาพกับคะแนน ต้องชั่งน้ำหนักว่าสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน อีกอย่างคือต้องใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา ปรับตัวยากมากเพราะใส่หน้ากากแล้วอึดอัด”

อุปสรรคในการวิ่งของซากุราโกะกับเพื่อนร่วมชั้นเป็นตัวอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน

ทุกวันนี้อนาคตของประเทศชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยากจะรับมือ ไม่ใช่แค่เรื่องมลพิษทางอากาศกรณีฝุ่นควัน PM2.5 ที่เชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อน เพราะสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งส่งผลให้ปัญหาฝุ่นทวีความรุนแรง แต่ยังรวมถึงปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยหนาว ฯลฯ

ห่างออกไปในแผ่นดินอีสาน หลายจังหวัดทางภาคใต้ และภาคกลาง สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และท่วมเรื้อรังผิดปรกติ ไม่ได้สร้างความเสียหายแค่ทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสภาพจิตใจ

ภาวะโลกร้อนกำลังทำอะไรกับเด็กๆ ของเรา

4area globalwarming02 1
น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและท่วมเรื้อรัง ไม่ได้สร้างความเสียหายแค่ทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การหยุดเรียนของเด็กๆ อาจดูเป็นปัญหาเล็กๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนและสภาพจิตใจ

ด้วยช่วงวัย สภาพร่างกาย และพฤติกรรม

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ เด็กๆ มีความเปราะบางต่อภัยพิบัติมากกว่า ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อธิบายว่าเนื่องจากเด็กๆ มีขนาดร่างกายที่เล็กกว่า ระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังมีพัฒนาการไม่สมวัยทางสติปัญญา จึงมีความเปราะบางเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ใหญ่

“เด็กๆ ยังต้องพึ่งพาผู้ดูแลด้านความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่โดยรวม เวลาเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์พวกน้ำท่วม พายุรุนแรง ภัยแล้งหรือไฟป่า เด็กๆ จำเป็นต้องอาศัยผู้ใหญ่นำพาเขาหลบไปยังสถานที่ปลอดภัย ในด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติแล้วเด็กๆ มักจะออกไปวิ่งเล่นอยู่กลางแจ้ง มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนและสารมลพิษต่างๆ มากกว่าผู้ใหญ่” ดร.กรรณิการ์ อธิบายขยายความ

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อเด็กๆ ในประเทศไทย ได้แก่ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า มลพิษทางอากาศ คลื่นความร้อนที่รุนแรง การกัดเซาะชายฝั่ง

การปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ การแพร่กระจายของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ล้วนเป็นผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จัดเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ พัฒนาการ และความเป็นอยู่ของเด็กๆ ผู้มีความเปราะบางต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร.กรรณิการ์ ให้รายละเอียดต่อไปว่า สำหรับครอบครัวที่มีที่อยู่อาศัยแข็งแรงปลอดภัย มีทรัพย์สินเงินทอง เข้าถึงบัญชีธนาคาร น้ำประปาหรือน้ำสะอาด มีแนวโน้มจะมีขีดความสามารถในการปรับตัวสูงกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำกว่าครอบครัวที่มีฐานะยากจน

“ในอนาคตจะต้องมีการศึกษาตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับความยากจนของเด็กในมิติต่างๆ เช่น การศึกษา โภชนาการ เนื่องจากมิติเหล่านี้อาจมีความเชื่อมโยงกับความสามารถของเด็กในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน”

4area globalwarming03
แผนที่ความเสี่ยงของเด็กๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำแนกตามภัยพิบัติ ๔ ประเภท ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยร้อน และภัยหนาว ตามอนาคตระยะใกล้/กลาง/ยาว ในภาพรวมแล้วเด็กๆ ที่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงที่สุด (อ้างอิง : รายงาน Impact assessment of Climate Change and environmental degradation on children in Thailand / October 2022)

ผลกระทบ (โลกร้อน) และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กไทย

ในปี พ.ศ.๒๕๖๔ รายงานการศึกษา UNICEF Global study 2021 ขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เด็กๆ มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุดเป็นลำดับที่ ๕๐ จาก ๑๖๓ ประเทศ

รายงานข้างต้นให้รายละเอียดว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ ในประเทศไทย ประกอบด้วย น้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ไฟป่า โรคระบาดชนิดต่างๆ เช่น มาลาเลีย ไข้เลือดออก ความไม่มั่นคงทางอาหาร มลพิษของเสีย มลพิษทางอากาศ การปนเปื้อนในน้ำ

เวลาต่อมา รายงานการศึกษาของยูนิเซฟ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หัวข้อ การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย (Impact Assessment of Climate Change and Environmental Degradation on Children in Thailand) เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๖ ถือเป็นรายงานฉบับแรกของประเทศไทยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กเป็นการเฉพาะ ระบุว่าเด็กๆ ในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุด

อาศัยแบบจำลองการหมุนเวียนสภาพภูมิอากาศโลก ในสถานการณ์จำลองความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ ๔.๕ (RCP4.5) [เป็นการจำลองความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (Representative Concentration Pathways – RCPs) ในชั้นบรรยากาศ จำแนกตามสถานการณ์ต่างๆ ในศตวรรษที่ ๒๑ (Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC), ๒๐๑๔), สถานการณ์จำลองที่ ๔.๕ ถือเป็นการจำลองปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกระดับกลาง คือ ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี ๒๕๘๓ และลดลงหลังจากนั้น] ในอนาคตระยะใกล้ คือช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๗๘ จังหวัดที่เด็กๆ มีความเสี่ยงสูงสุด ๑๐ อันดับแรกของประเทศไทย เรียงตามลำดับ ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ ผู้จัดทำรายงานอธิบายรายละเอียดเบื้องต้นของรายงานชิ้นนี้ว่า “สำหรับแผนที่ความเสี่ยงซึ่งระบุว่า เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดใดต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดไหนเสี่ยงมาก จังหวัดไหนเสี่ยงน้อย เราอาศัยข้อมูลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ…”

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้จัดทำรายงานกล่าว ประกอบด้วยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากโครงการแบบจำลองสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, การวิเคราะห์สภาพอากาศสุดโต่งในพื้นที่สำคัญโดยอาศัยแบบจำลองที่มีความละเอียดสูง, ข้อมูลอื่นๆ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น

ส่วนข้อมูลหรือตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงผู้จัดทำรายงานเลือกศึกษาจำนวน ๔ ตัวแปร

“หนึ่ง จำนวนเด็กแรกเกิดถึงอายุ ๑๔ ปี สอง จำนวนแพทย์ในจังหวัด สาม จำนวนและสัดส่วนของทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ๒,๕๐๐ กรัม และ สี่ จำนวนและสัดส่วนของเด็กแรกเกิดถึงอายุ ๕ ปี ที่มีภาวะน้ำหนักน้อย”

ทั้งนี้ ดร.กรรณิการ์ ชี้แจงว่าจำนวนเด็ก และสัดส่วนของทารกแรกเกิด และเด็กที่มีภาวะน้ำหนักน้อยเป็นตัวแปรที่สะท้อนให้เห็นระดับของความเสี่ยงและความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่จำนวนแพทย์ก็เป็นตัวแปรที่สะท้อนให้เห็นขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

Climate Change
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ เด็กๆ มีความเปราะบางต่อภัยพิบัติมากกว่า ด้วยพฤติกรรมตามธรรมชาติที่มักจะออกไปวิ่งเล่นอยู่กลางแจ้ง ทำให้มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญคลื่นความร้อนและสารมลพิษ

สิทธิมนุษยชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“มันไม่ยุติธรรมที่เด็กคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพราะปัญหา Climate Change เช่นเดียวกับเด็กหลายๆ คนในหมู่บ้านของเรา” อัซมานี เจ๊ะสือแม นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ คณะรัฐศาสตร์ พื้นเพเป็นคนจังหวัดนราธิวาสให้ความเห็น

อัซมานีเล่าว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านของเธอและที่จังหวัดนราธิวาสประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งกรีดยางยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง รวมทั้งทำการประมงพื้นบ้าน

หลายปีที่ผ่านมา เธอสังเกตว่าชาวบ้านไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ตามปรกติ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้ปริมาณน้ำฝนผันผวน กระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตยางพารา

“จำนวนวันกรีดต่อปีลดลงเพราะฝนตก มีงานวิจัยบอกว่าฝนที่ตกในช่วงฤดูร้อนส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคราแป้งสีขาว ทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลงและรายได้ลดลงมาก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถส่งลูกไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย”

แม้รัฐบาลของประเทศไทยจะแสดงท่าทีว่าให้ความสำคัญกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๙๓ และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ทว่านักวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายและแผนดังกล่าวยังขาดมาตรการเฉพาะที่จะบรรเทาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่า เวลานี้สังคมโลกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อเนื่องถึงมิติทางสังคมและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงถึงกัน

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกับทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายของทรัพยากรริมน้ำ การลดลงของทรัพยากรชีวภาพต่างๆ

“ที่สำคัญร้อยละ ๖๐-๗๐ ของพลเมืองประเทศไทยมีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงฐานทรัพยากรเพื่อให้มีอาหาร มีรายได้ มีอาชีพ มีงานทำ เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการทำลาย การสูญหาย ทรัพยากรธรรมชาติลดลง คนเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบ ก็ถูกกระทำซ้ำซ้อน ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มค่อนข้างจะมีความเปราะบางอยู่แล้ว ยกตัวอย่างปรากฏการณ์การลดลงของฐานทรัพยากรในทะเล ทำให้ชาวประมงต้องออกเรือไปทำมาหากินไกลขึ้น ใช้เวลานานขึ้น การที่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ตามปกติ แน่นอนว่ามีผลกับเด็ก เป็นความกดดัน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมกับเยาวชนที่สังคมไทยมีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา”

รายงานการดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสำคัญกับเด็กของยูนิเซฟที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของเด็กต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตอนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลยังขาดมาตรการที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในกลุ่มเปราะบาง

ข้อเสนอสำหรับรัฐบาลไทยในการกำหนดนโยบายเรื่องโลกร้อนที่ให้ความสำคัญกับเด็ก เบื้องต้น ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบควรบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรจะพิจารณาทบทวนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานศึกษาควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วม อาจก่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่ออาคารและทรัพย์สินของโรงเรียน การที่เด็กต้องหยุดเรียนอาจดูเป็นปัญหาเล็กๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก จึงควรมีการนำแผนที่แสดงพิกัดสัญญาณดาวเทียม (GPS) ของโรงเรียนมาใช้ร่วมกับแผนที่ความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยต่างๆ ก็ควรมีการเผยแพร่และสื่อสารที่มีประสิทธิผล ใช้ภาษาและช่องทางที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย

4area globalwarming05 1
รายงาน การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย ระบุว่าประเทศไทยยังขาดแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีบทบาทส่งเสริมแผนการปรับตัว และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อนาคตของคนรุ่นหลัง

รายงาน The Coldest Year of the Rest of Their Lives : Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ของยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นผลกระทบของการเกิดคลื่นความร้อนต่อเด็กในวงกว้าง

ทุกวันนี้คาดว่ามีเด็กประมาณ ๘๒๐ ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า ๑ ใน ๓ ของประชากรเด็กทั่วโลกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเลวร้ายลง เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังสูงขึ้น และรูปแบบอากาศยังคงแปรปรวนอย่างรุนแรง

บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ ยังมีเด็กและเยาวชนอีกมากที่กำลังเผชิญกับสิ่งอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

รายงานสรุปวิกฤติสภาพภูมิอากาศคือวิกฤติสิทธิเด็กของยูนิเซฟ ระบุว่ามีเด็ก 400 ล้านคน หรือเกือบ ๑ ใน ๖ ของประชากรเด็กทั่วโลกกำลังเผชิญกับพายุไซโคลน สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเลวร้ายลง เนื่องจากพายุไซโคลนที่มีความรุนแรง (ระดับ ๔ และ ๕) เกิดบ่อยขึ้น ปริมาณฝนตกหนักเพิ่มขึ้น และรูปแบบของพายุไซโคลนก็มีการเปลี่ยนแปลง

เด็ก ๒๔๐ ล้านคน หรือ ๑ ใน ๑๐ ของประชากรเด็กทั่วโลกกำลังเผชิญกับน้ำท่วมชายฝั่ง สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเลวร้ายลงเช่นกัน เนื่องจากระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยผลกระทบจะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดพร้อมกับคลื่นพายุซัดฝั่ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถย้อนกลับไปแก้ไขให้เป็นเหมือนเดิม

ตามที่มีการระบุไว้ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายรายงาน ผลกระทบภายหลังจากที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจยาวนานถึง ๑,๐๐๐ ปี

เด็กๆ และเยาวชนในอนาคตอีก ๔๐-๕๐ รุ่น คือผู้ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าเราจะหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่วันนี้ก็ตาม

มีเพียงความจริงใจและความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาวเท่านั้นที่จะช่วยนำทางให้เด็กๆ ของเราเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี 

4area globalwarming06

ภัยแล้งและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา”

โทโมโกะ อิคุตะ
จังหวัดปทุมธานี

เรามีโอกาสเป็นตัวแทนเด็กและเยาวชนของประเทศไทยไปร่วมการประชุม COP27 ที่ Egypt Sharm El-Sheikh มีการติดตามความคืบหน้าการวางแผนดำเนินการตามคำมั่นสัญญา COP26 สรุปได้ดังนี้
หนึ่ง เรื่องการคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส ทุกประเทศยังคงเน้นย้ำเป้าหมายเดิมตามข้อตกลงปารีส หรือ Paris agreement ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส ที่ประชุม COP27 ตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Loss and damage fund กองทุนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สอง เรื่องการลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน ประเทศต่างๆ ยังคงยึดเป้าหมายเดิมของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศ Glasgow หรือ Glasgow climate pact เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน และเลือกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าที่มีความจำเป็น ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สาม การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งพลังงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วหลายครั้งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง อุทกภัยและภัยแล้งเกิดถี่และมีความรุนแรงขึ้นมาก

เมื่อปี ๒๕๕๔ ประเทศไทยเผชิญมหาอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกไว้ มีน้ำท่วมขังเป็นวงกว้างในพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำเจ้าพระยาติดต่อกันยาวนาน ๒-๓ เดือน ส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณ ๑๓ ล้านคน มีผู้เสียชีวิต ๘๙๒ คน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ๗๕,๔๗๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น ๑๒.๕๓ เปอร์เซ็นต์ ของ GDP มีการใช้งบประมาณเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูเป็นจำนวนเงินสูงถึง ๔๖ พันล้านเหรียญสหรัฐ
ฝนที่ตกมากกว่าปกติส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินและชีวิต ถ้าฝนตกหนักมากกว่าปรกติในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ทำให้จราจรติดขัด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดมลพิษในอากาศ ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น ทำให้เด็กนักเรียนและเยาวชนที่ต้องทำกิจกรรมทางกายหรือกิจกรรมนอกห้องเรียนไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เด็กๆ ต้องขาดการเรียนรู้จากตรงนั้น เด็กๆ ต้องใส่ Mask N95 ติดต่อกันเพื่อที่จะป้องกันสุขภาพของเราเอง

ผลกระทบของ Climate Change มันจะไปไกลจนถึงเด็กไม่ได้เรียนต่อ หรืออาจส่งผลกระทบต่อภาวะโรคซึมเศร้า เรื่องใกล้ตัวอย่างหน้ากากกันฝุ่นที่ผ่านไปแค่ ๑-๒ วัน ก็ดำ ต้องเสียเงินซื้อหน้ากากมาเปลี่ยนใหม่

ผลจากภัยแล้งและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงจังหวัดปุทมธานี คุกคามการดำรงชีวิตของชุมชนริมชายฝั่ง กระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน เกิดการเสื่อมโทรมของปะการัง ผลผลิตข้าวลดลงในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน น้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคมีรสกร่อย แม้แต่น้ำประปาก็มีรสเค็ม ประสบการณ์นี้เราประสบโดยตรง เพราะน้ำประปาที่บ้านมีรสเค็มอย่างมาก

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา เหล่านี้เป็นพื้นที่อ่อนไหวและมีการกัดเซาะขั้นรุนแรงมากที่สุด มีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า ๕ เมตรต่อปี พื้นที่กรุงเทพฯ บริเวณชายฝั่งบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปแล้วเป็นระยะทางกว่า ๘๐๐-๑,๐๐๐ เมตร กระทบทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสภาพจิตใจ

ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ่ ทำให้ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ปัญหาภัยแล้งจะรุนแรงและเกิดไฟป่ามากขึ้น
ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน ประเมินว่าเอลนีโญในปีนี้จะทำให้แล้งหนักและนานกว่าที่เคย อาจกระตุ้นให้ไฟป่าในอินโดนีเซียรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดหมอกควันข้ามพรมแดนในพื้นที่บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย
เมื่อมองผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นรอบโลกจะเห็นว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เช่น ไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย และล่าสุดที่แคนาดา น้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน คลื่นความร้อนในยุโรป และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนเกาะบางเกาะอาจจมหายไปในไม่กี่ปีข้างหน้า เช่น ประเทศหมู่เกาะในโอเชียเนีย หมู่เกาะมัลดีฟส์ และอีกหลายเมืองสำคัญ มนุษย์ต้องเผชิญภัยคุกคามที่ร้ายแรงทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางอาหาร การดำรงชีวิต เศรษฐกิจหยุดชะงัก ความเสี่ยงต่อสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ โรคอุบัติใหม่ และผู้คนนับล้านต้องพลัดถิ่นในศตวรรษนี้

4area globalwarming07

Climate Change ทำให้รายได้ภายในครอบครัวลดลง”

พีเค – ขวัญจิรา ใจกล้า
จังหวัดร้อยเอ็ด

เด็กๆ วัยกำลังเจริญเติบโต สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นตัวกำหนดว่าชีวิตจะเดินไปในทิศทางไหน มีรุ่นพี่คนหนึ่งเคยไปสำรวจบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงจังหวัดหนองคาย พบปัญหาที่ควบคู่กับ Climate Change คือ Biodiversity Loss หรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ชาวบ้านบริเวณนั้นประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำที่เริ่มลดลง เช่นเดียวกับสังคมภาคอีสานที่ทำเกษตรกรรม ทั้งเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำนาที่เริ่มประสบปัญหาเรื่องผลผลิต

เมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล สิ่งที่เป็นปัญหาคือการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร เมื่อผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำก็ขาดแคลนรายได้ เงินเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิต เด็กๆ และเยาวชนอยู่ในช่วงของการพัฒนาร่างกายต้องอาศัยปัจจัยนี้
ปัญหาแรกๆ ที่เกิดจาก Climate Change ที่ส่งผลกระทบกับเด็กๆ คือเรื่องเศรษฐกิจของทางบ้าน ทำให้พ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรต้องประสบปัญหา Climate Change ทำให้รายได้ภายในครอบครัวลดน้อยลง ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปซื้ออาหาร นำมาสู่ภาวะการขาดแคลนอาหารหรือทุพโภชนาการในเด็ก

นอกจาก Climate Change ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาในรูปของมลภาวะทั้งทางน้ำ อากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ ผลกระทบจาก Climate Change ที่เห็นชัดเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ

เด็กๆ ที่อาศัยในชนบท ครอบครัวไม่มีกำลังทรัพย์หรือทุนทรัพย์ที่จะสรรหาแสวงหาบริการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการระบบสาธารณสุขที่ดี การมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค หรืออย่างปัญหาเรื่องการศึกษา เปรียบเทียบกับครอบครัวที่มีความพร้อม มีทุนทรัพย์ มีความพร้อมในการเสาะแสวงหา เลือกสิ่งดีๆ ให้แก่ลูก หรือมีระบบป้องกัน
มีงานวิจัยออกมาว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองมีความเสี่ยงน้อยกว่าเด็กที่อยู่ในชุมชนชนบทเมื่อต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Climate Change เป็นประเด็นที่เด็กๆ และเยาวชนได้รับผลกระทบมาก และพวกเราเริ่มตระหนักว่าสามารถใช้ตัวเองเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาไปยังผู้มีอำนาจในสังคม เพื่อให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา วางแผนแล้วสร้างหรือร่างนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาจริงๆ

มนุษย์เป็นตัวการทำให้โลกใบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นอย่างมาก เด็กๆ และเยาวชนต้องเติบโตในสถานที่ที่เขาอยู่อาศัย ซึ่งเป็นบริเวณที่สภาพแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เราทำได้คือชะลอหรืออนุรักษ์ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าลง จะทำยังไงให้เด็กๆ และเยาวชนรับรู้และสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน

ในอนาคตข้างหน้าหวังว่าเด็กและเยาวชนจะเตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น

4area globalwarming08

ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถประกอบอาชีพแบบเดิมได้มันไม่ยุติธรรมที่เด็กคนหนึ่งต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพราะปัญหา Climate Change”

มาเน่- อัซมานี เจ๊ะสือแม
จังหวัดนราธิวาส

ที่นราธิวาส ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น กรีดยางยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งทำการประมง ผลกระทบของ Climate Change ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ตามปรกติ ภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้ปริมาณน้ำฝนผันผวน กระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตยางพารา จำนวนวันกรีดต่อปีลดลงเพราะฝนตก มีงานวิจัยบอกว่าฝนในช่วงฤดูร้อนส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคราแป้งสีขาว ทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลงและรายได้ก็ลดลงมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถประกอบอาชีพแบบเดิมได้ ส่งผลให้เขาไม่สามารถส่งลูกไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

จากปัญหาฝนตกบ่อยมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนและจำนวนวันฝนตกเพิ่มขึ้น มีครั้งหนึ่งที่ชาวบ้านในหมู่บ้านของเรา ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม รวมตัวกันไปสวดมนต์ขอพรให้ฝนหยุดตก เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง น่าเสียดายที่คำภาวนา คำอวยพรของพวกเราไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แล้วยังมีแนวโน้มที่ฝนจะตกมากขึ้นอีก

จากรายงานของยูนิเซฟ และทีดีอาร์ไอ นราธิวาสเป็น ๑ใน ๕ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Change มากที่สุด เวลาเข้าสื่อโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, YouTube สิ่งหนึ่งที่พบคือข่าวน้ำท่วมจังหวัดนราธิวาส นราธิวาสน่าจะเป็นจังหวัดที่มีประวัติน้ำท่วมบ่อยที่สุดในรอบสิบปี
สิ่งที่สามารถพิสูจน์ว่าจังหวัดนราธิวาสหรือภาคใต้ของประเทศไทยมีน้ำท่วมบ่อยขึ้นคือปากคำคนที่อยู่ในพื้นที่ ตลอดชีวิตของเราเวลาถามคุณยาย ป้า หรือน้า เขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่เขาไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต แม้กระทั่งยายของหนูเขาก็บอกว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดขึ้นปรากฏการณ์น้ำท่วมหนักขนาดนี้

ที่ผ่านมาชาวบ้านกรีดยางส่งลูกเรียนหนังสือ ผ่านการทำการเกษตรประเภทอื่นๆ พอฝนตกบ่อยมากขึ้นทำให้เขาไม่สามารถส่งลูกไปเรียนได้ เรามีเพื่อนคนหนึ่งหลังจากที่เรียนจบ ม.๓ แม่ขออ้อนวอนให้เขาหยุดเรียนได้ไหม หยุดเรียนเพราะไม่มีเงินส่ง ไม่มีเงินที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้เรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย

ไม่ต้องพูดถึงระดับมหาวิทยาลัย ความยากจนอาจเกิดจากความเหลื่อมล้ำที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แถวบ้านเราคนที่เรียนจบปริญญาตรีถือเป็นส่วนน้อยมากๆ อาจจะแค่ ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ อีก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่ทำอาชีพการเกษตร เขาอ้อนวอนให้ลูกเขาไม่ต้องเรียนหนังสือ ถามลูกว่าไม่ต้องเรียนต่อได้ไหม
จนเพื่อนหนูมาเล่าให้ฟังว่าเขาไม่สามารถเรียนต่อระดับของมัธยมศึกษาตอนปลายได้นะเพราะแม่ของเขาไม่มีเงินส่ง จนต้องตัดสินใจไปทำงานต่อที่มาเลเซีย

จากการสังเกตพื้นที่ชุมชน มีเด็กและเยาวชนหลายคนที่หลุดจากระบบการศึกษา สอดคล้องกับรายงานของยูนิเซฟ แล้วก็ทีดีอาร์ไอ ว่าเด็กและเยาวชนหลายคนถ้าไม่ตัดสินใจไปทำงานต่อที่มาเลเซีย ก็เลือกที่จะไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ อาทิ หาดใหญ่หรือกรุงเทพมหานคร

มันไม่ยุติธรรมที่เด็กคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพราะปัญหา Climate Change เช่นเดียวกับเด็กหลายๆ คนในหมู่บ้านของเรา

ยังมีเด็กหลายคนในประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change ทำให้หลายๆ คนหลุดจากระบบการศึกษา สิ่งนี้เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม เด็กหลายคนต้องทิ้งความฝัน เพราะพ่อแม่ของเขาไม่สามารถที่จะเลี้ยงชีพได้เพราะปัญหา Climate Change

4area globalwarming09

จะออกไปซ้อมวิ่งมันก็ไม่ดีต่อสุขภาพ…เหมือนต้องเลือกระหว่างสุขภาพกับคะแนน”

ฤดู – ซากุราโกะ มาซุดะ
จังหวัดเชียงใหม่

เราเกิดและเติบโตที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ อายุได้ ๑๕ ปีก็ย้ายเข้ามาเรียนในเมือง ประมาณปี 2562 เริ่มมีข่าวมลภาวะทางอากาศ ปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้นมาก เมืองที่เราอาศัยอยู่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเป็นอันดับ ๑ ของโลก
ตอนนั้นกำลังเรียนหลักสูตร British Curriculum อยู่ที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ลงวิชาเลือกที่ต้องลงแข่งวิ่ง Cross Country เมื่ออากาศไม่ดี จะออกไปซ้อมวิ่งมันก็ไม่ดีต่อสุขภาพ
Cross Country เป็นกีฬาที่ต้องซ้อมวิ่งนอกอาคาร การสอบหรือถ่ายวิดีโอประกอบการเรียนจะต้องมีการวิ่งขึ้นและลงเขา วิ่งไปกลางน้ำ วิ่งบนพื้นหิน ตอนนั้นมีปัญหามากเพราะซ้อมวิ่งไม่ได้ เหมือนเราต้องเลือกระหว่างสุขภาพกับคะแนน ต้องชั่งน้ำหนักว่าสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน อีกอย่างคือต้องใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา ปรับตัวยากมากเพราะใส่หน้ากากแล้วอึดอัด หน้าหากในตอนนั้นหาซื้อยากแล้วก็ราคาค่อนข้างสูง

เวลาใส่หน้ากากซ้อมวิ่งจะเห็นเลยว่ามีฝุ่นเกาะอยู่ด้านนอกของหน้ากาก คนอื่นๆ ที่ต้องสวมหน้ากากขับมอเตอร์ไซค์ก็เหมือนกัน หน้าหากที่เราใส่มันกลายเป็นสีดำ
เคยคิดว่าไม่นานปัญหาก็จะหมดไป อาจจะสักหนึ่งปี เราอาศัยอยู่ภาคเหนือตั้งแต่เด็กจนอายุ 15 ปี ที่ผ่านมาอากาศไม่ได้แย่ขนาดนี้ แต่ผ่านมาแล้ว ๔-๕ ปี เห็นได้ชัดว่ามลภาวะทางอากาศยังไม่ดีขึ้น และยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นด้วย
ปัญหามลภาววะส่วนใหญ่เกิดในฤดูกาลที่เรียกว่า smoky season ตามทฤษฎีจะอยู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงช่วงเมษายน เป็นช่วงที่ภาคเหนือแห้งแล้ง ถ้ามีไฟป่าจะติดไวแล้วแพร่อย่างรวดเร็ว Climate Change เข้ามาทำให้ความแห้งแล้งมากขึ้น ส่งผลให้ smoky season มีระยะเวลายาวนานขึ้นในหนึ่งปี อย่างของปีนี้เท่าที่สังเกตดูกับอาจารย์ จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงพฤษภาคม กว่า ๕ เดือนใน ๑ ปี ที่ชาวภาคเหนือต้องประสบกับสภาพอากาศที่เลวร้าย

ตอนอยู่โรงเรียนเราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างมลภาวะทางอากาศกับสภาพจิตใจ เรามีเพื่อนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาเป็นคนหลายบุคลิก ต้องทานยาสม่ำเสมอแล้วก็บำบัดด้วยการออกกำลังกาย ตามปรกติทางโรงเรียนจะมีคาบสำหรับออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูจิตใจไว้สัปดาห์ละ ๒ วัน แต่เมื่อมีปัญหามลภาวะทางอากาศ ค่า AQI สูงขึ้น ทุกคนต้องอยู่ในอาคารเรียน ใส่ Mask แล้วเปิดเครื่องฟอกอากาศ เมื่อคาบออกกำลังกายถูกยกเลิกไป เราเห็นผลกระทบว่าอาการซึมเศร้าของเพื่อนกลับมารุนแรงขึ้น อาจเป็นเพราะสภาพอากาศส่วนหนึ่ง รวมถึงการไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นข้างนอก

อำเภอแม่แตงอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เป็นเขตรอบนอกที่ยังไม่ค่อยเจริญมากนัก การเข้าถึง Mask หรือหน้ากาก โดยเฉพาะ N95 หรือ KN95 เป็นเรื่องยากมาก คนที่เอา Mask เข้ามาขายในอำเภอแม่แตงส่วนใหญ่จะรับจากอำเภอเมืองเอามาขายให้คนในชุมชน เราพบปัญหาว่ามีของปลอมเข้ามาขายด้วย ประสิทธิภาพของ Mask ไม่ดีเท่าที่ควร ราคาก็ค่อนข้างสูง ชิ้นหนึ่งราคา ๓๕ บาท ต้องเปลี่ยนทุก ๒-๓ วัน ชาวบ้านหลายคนก็ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้

เมื่อปีที่แล้ว เรามีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้โครงการ Young southeast Asian leaders initiative program ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตัวแทนประเทศไทยที่มีอายุน้อยสุด นำมาสู่การนำเยาวชน ๒๐ คนในภาคเหนือมาเข้าแคมป์เรียนรู้เรื่องมลพิษทางอากาศร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้ากาก วิธีป้องกันตัวจากมลพิษ

เรามีโอกาสพบพี่ที่ทำงานในอุทยานแห่งชาติ เขาเป็นนักดับเพลิง เราช่วยกันทำแนวกันไฟป่ายาวถึง ๓ กิโลเมตร ปัญหาที่พบคือทางเดินในป่าชันและคดเคี้ยว เดินลำบากและอันตราย ขณะที่อุปกรณ์ทำแนวกันไฟหรือใช้ดับไฟป่ามีน้ำหนักมาก
น้องคนหนึ่งมีคุณพ่อเป็นนักดับเพลิง สภาพจิตใจน้องมีความกังวลแล้วก็เป็นห่วงพ่อทุกๆ ครั้งที่ได้มีการแจ้งเข้ามาให้ออกไปดับไฟ ไม่ว่าจะตี ๑ หรือตี ๒ คุณพ่อก็ต้องรีบออกจากบ้าน
มีรายงานว่าใน ๑ ปี อุทยานแห่งชาติแห่งนั้นมีไฟป่าเกิดขึ้นประมาณ ๑๒๐ ครั้ง หมายความว่าคุณพ่อของเขาต้องออกไปทำงานแทบจะทุกวัน การดับไฟป่าแต่ละคร้ังอาจใช้เวลายาวนาน ๕-๖ ชั่วโมง

มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กนักเรียนในเมืองกับโรงเรียนรอบนอก หลังจากเราเข้าไปเรียนในเมืองจะเห็นเลยว่า facility หรือสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่า เด็กๆ หลายคนเข้าถึงเครื่องกรองอากาศ แต่อีกหลายคนเข้าไม่ถึง

ตัวเราอาจจะได้เข้าไปหลบอยู่ในอาคารที่คุณภาพอากาศดีกว่าคนอื่น แต่ถ้ามองไปยังโรงเรียนแถบรอบนอกอย่างอำเภอแม่แตงสิ่งอำนายความสะดวกของโรงเรียนรัฐบาลยังค่อนข้างเก่า ถึงแม้จะได้รับการบริจาคเครื่องกรองอากาศแต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพราะตามห้องเรียนมีรอยรั่ว ไม่ว่าหน้าต่างหรือประตูด้านบนจะมีตะแกรงระบายอากาศ ทำให้เครื่องกรองไม่สามารถกรองอากาศที่ไหลเวียนเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ภายในห้องเรียนไม่มีคุณภาพอากาศที่ดี
บ่อยครั้งที่พวกเราและเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาอุดรอยรั่วภายในโรงเรียนอนุบาล ช่วยกันทำเครื่องกรองอากาศแบบ DIY เพราะเห็นว่าบางครั้งการบริจาคก็ไม่ได้ไปถึงโรงเรียน เราช่วยกันฝุ่นตามบ้าน ถ้าบ้านไหนมีรอยรั่วเยอะ พยายามอุดแล้วก็ยังรั่ว เช็คแล้วก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ เราจะแก้ปัญหาโดยทำมุ้งกันฝุ่นไปให้เด็กๆ และผู้สูงอายุที่ต้องนอนติดเตียง

ปัญหาการจัดการขยะเป็นอีกเรื่องที่เชื่อมโยงกับฝุ่นควัน พื้นที่รอบนอกบางแห่งไม่มีเจ้าหน้าที่คอยมาเก็บขยะทุกๆ วันจันทร์ หรือสัปดาห์ละ ๑ ครั้งแบบในเมือง คนส่วนหนึ่งยังจำเป็นต้องใช้วิธีเผา ถึงจะมีกฎหมายออกมาว่าถ้าเผาจะโดนปรับ แต่เขาไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีแนวทางแก้ไขว่าถ้าไม่เผาจะทำอย่างไร นอกจากกฎหมายห้ามเผาแล้วรัฐควรมีวิธีจัดการขยะที่ถูกต้องสำหรับชุมชนที่เข้าไม่ถึงบริการของภาครัฐ

ขอขอบคุณ

  • องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย