เมธาวี ทวีผล : เขียน
กฤตย์ ศิริสัจจาพิพัฒน์ : ภาพ
“ผมทำงานสกปรก แต่ก็อยากให้คนเขารู้ว่าผมทำอะไร”
ไต๋อ่อนพูดขณะนำเศษอาหารลงไปบดในเครื่อง ท่ามกลางกลิ่นและภาพของถาดหนอนวางเรียงรายบนชั้นในโรงเรือน จนอาจทำให้หลายคนไม่กล้าเข้าใกล้
“หนอนตัวเล็ก ๆ สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน”
ปราการ แซ่ตั้น หรือ “ไต๋อ่อน” เป็นชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะสีชัง วัย ๔๕ ปี ผิวเข้มท่าทางเป็นกันเอง และภรรยาคู่ใจ เมทินี หมื่นศรี หรือ “ปุ๋ย” วัย ๔๓ ปี หญิงท่าทางใจดีที่มาพร้อมกับเสียงหัวเราะ
กิจวัตรประจําวันชาวประมงอย่างไต๋อ่อนมีทั้งวางอวนปูและกุ้ง รับลูกค้าไปตกปลา ซึ่งวันเสาร์และอาทิตย์จะแน่นกว่าวันธรรมดา หลังจากเสร็จสิ้นการทำงานหลัก ในช่วง ๖ โมงเย็นของทุกวัน เขากับภรรยาจะวิ่งรถสามล้อไปเก็บขยะเศษอาหารจากร้านอาหารประมาณสิบกว่าร้าน รวมระยะทางเกือบ ๒๐ กิโลเมตร เพื่อนำมาเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายให้เป็นอาหารของปลาในกระชัง
หลังจากเป็นชาวประมงมา ๒๐ กว่าปี เมื่อไต๋อ่อนรู้ว่าสิ่งมีชีวิตตัวเล็กเป็นประโยชน์ต่อการกำจัดขยะอินทรีย์ เขาจึงยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วย “หนอนแมลงวันลาย”
ด้วยความหวังอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เกาะสีชัง
ขึ้นเกาะ
ครั้งแรกที่เราได้มาเยือนพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “เกาะ” บรรยากาศเงียบสงบดี ทำให้นึกถึงซีรีส์เกาหลีเรื่องหนึ่งที่ตัวละครใช้ชีวิตอยู่บนเกาะเชจู และเรียกคนนอกเกาะอย่างเราว่า “คนบนฝั่ง”
“เกาะสีชัง” ตั้งอยู่กลางทะเลฝั่งตรงข้ามอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา โขดหิน ห่างจากชายฝั่งประมาณ ๑๒ กิโลเมตร คนบนเกาะสีชังต้องขนส่งสินค้าและวัตถุดิบอาหารมาจากฝั่งด้วยเรือสินค้า มีพ่อค้าแม่ค้าขับรถสามล้อมารอรับสินค้าที่สั่งไว้จากท่าเรือไปขาย บรรยากาศอาจดูชุลมุนเล็กน้อย แต่ก็ได้เห็นความสนิทสนมของคนบนเกาะ
บริเวณท่าเรือยังเต็มไปด้วยเรือโดยสารรับ-ส่งนักท่องเที่ยว อีกทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจอดเรียงแถวเตรียมพร้อมเสมอหากมีคนโบก
เราพบกับ เอกสิทธิ์ เมฆเมืองทอง หรือ “สจ. ปิ๊ง” ชายผิวขาวบุคลิกภูมิฐานในวัย ๓๒ ปีที่นัดกันไว้ เขาคือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
เอกสิทธิ์เล่าว่าเกาะสีชังมีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาสำคัญคือ “ขยะ” เพราะที่ตั้งของเกาะกลางทะเลทำให้การจัดการขยะค่อนข้างลําบาก คนเกาะสีชังไม่ได้ทำการเกษตร เพราะขาดแหล่งน้ำและไม่มีน้ำประปา ต้นทุนการซื้อน้ำค่อนข้างสูง อาชีพหลักจึงเป็นการทำประมงพื้นบ้าน แต่ทุกวันนี้เมื่อเกาะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว การทำมาหากินจึงผูกติดกับธุรกิจท่องเที่ยว เช่น รถรับจ้าง รถนำเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ขยะบนเกาะสีชังจึงมาจากสามทาง คือ ขยะจากชุมชน ขยะจากการท่องเที่ยว และขยะจากทะเลซึ่งคลื่นซัดเข้ามาบนเกาะ
โชคดีที่เอกสิทธิ์ได้พบกับ ตฤณ รุจิรวณิช ซีอีโอของกิจการเพื่อสังคม “Food Loss Food Waste” จึงร่วมกันพัฒนาโครงการกำจัดขยะด้วย “หนอนแมลงวันลาย” โดยได้รับการอนุเคราะห์จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อลดจำนวนขยะอินทรีย์และสร้างเกาะสีชังให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เนื่องจากสินค้าและอาหารต้องซื้อข้ามมาจากฝั่ง จึงอยากผลิตอาหารได้เองบนเกาะ โดยนำหนอนแมลงวันลายมาเป็นอาหารสัตว์
“หนอนแมลงวันลาย” เป็นแมลงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายชื่อเรียก ทั้ง “แมลงวันทหารดำ” (Black Soldier Fly) หรือ “หนอนแม่โจ้” (Maejo Maggots) ซึ่งมีที่มาจาก รศ. ดร.อานัฐ ตันโช คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ให้ศึกษาและพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพ ทำให้ค้นพบแมลงชนิดหนึ่งในโรงเลี้ยงไส้เดือนดิน ซึ่งมีจุดเด่นคือ “กินได้เร็ว” กว่าไส้เดือนถึงเจ็ดเท่า และยังกินอาหารได้ทุกประเภท ทั้งเผ็ด มัน ร้อน และเย็น
สิ่งมีชีวิตตัวเล็กนี้จึงได้มาขึ้นเกาะสีชัง แต่การจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนบนเกาะคงไม่ใช่เรื่องง่าย
เจ้าหนอนต้องพิสูจน์ตัวเองหลายอย่าง…
ชีวิตหนอนๆ
เกาะสีชังไม่ใช่เกาะใหญ่ เดินไปทางไหนคนในเกาะก็รู้จักกันเกือบหมด ถึงขนาดเสียบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้ได้ เพราะใครขโมยคงขับหนีไปไม่พ้นเกาะแน่นอน
ครอบครัวไต๋อ่อนกับเอกสิทธิ์ก็รู้จักกันด้วยความเป็นคนเกาะสีชัง เมื่อเอกสิทธิ์แนะนำไต๋อ่อนว่าหนอนแมลงวันลายมีโปรตีนสูงช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของปลา ไต๋อ่อนจึงสนใจ
เอกสิทธิ์ยังรู้จักไต๋อ่อนดีว่าเป็นคนที่เวลาทำอะไรจะมีความมุ่งมั่น ใส่ใจ ทำให้งานสำเร็จ
โพรไฟล์ของไต๋อ่อนนั้นไม่ธรรมดา เขาเคยทำเรื่องปูไข่นอกกระดองที่สลัดไข่ได้คนแรก และยังเพาะพันธุ์หมึกได้
“เลี้ยงหนอนน่าจะง่ายกว่ากันเยอะ สัตว์ในน้ำน่าจะเลี้ยงยากกว่า” ไต๋อ่อนเล่าถึงความคิดตอนกล้าทดลองสิ่งใหม่กับเอกสิทธิ์
วันนี้เรามีโอกาสตามติดไต๋อ่อนกับปุ๋ยขึ้นรถสามล้อของทั้งคู่พร้อมกระแป๋งหลายใบเพื่อไปเก็บเศษอาหารจากร้านอาหารที่คุ้นเคยกัน ซึ่งบางร้านก็เพิ่งเริ่มเปิดใจให้กับการแยกเศษอาหารได้ไม่นาน โดยก่อนหน้านี้จะทิ้งเศษอาหารให้รถเก็บขยะ
ส่วนร้านผลไม้ของลุงมิน ปิ่นทอง เป็นเจ้าประจำแยกเปลือกผลไม้ส่งต่อไต๋อ่อน เพราะเห็นว่าเป็นการช่วยลดขยะ บางครั้งลุงมินก็นำขยะไปวางไว้หน้าโรงเรือนตั้งแต่เช้า ไต๋อ่อนจะตอบแทนลุงมินด้วยไข่ไก่และปุ๋ยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากหนอนแมลงวันลาย
หลังจากเก็บขยะตามร้านอาหารจนถึงเวลา ๒ ทุ่ม ไต๋อ่อนวนรถกลับไปที่โรงเรือน ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนเกาะสีชัง
โรงเรือนรั้วสีน้ำเงินซึ่งเมื่อก่อนเป็นโรงอาหารของนักเรียน หลังจากทิ้งร้างไว้นานก็ปรับปรุงใหม่เป็นโรงเรือนเพื่อเพาะหนอนแมลงวันลายโดยมีครอบครัวไต๋อ่อนเป็นผู้ดูแล
ทั้งไต๋อ่อนกับปุ๋ยเตือนเราก่อนเรื่องกลิ่นซึ่งไม่ค่อยรับแขก เพราะคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นขยะ แต่สำหรับทั้งคู่ชินกับกลิ่นเหม็นนี้ไปแล้ว
“ช่วงแรกๆ ร้องตะโกนกันว่า อื้อหือ เหม็น”
เมื่อก้าวเข้าไปในโรงเรือนจะเห็นถาดเรียงรายตามชั้น มีทั้งที่ยังเป็นตัวหนอนและดักแด้ ส่วนที่เป็นแมลงแล้วจะบินว่อนอยู่ในกรงสำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ด้านหลังโรงเรือนมีเล้าไก่และบ่อเลี้ยงปลาดุกขนาดเล็ก หนอนบางส่วนใช้เป็นอาหารไก่ และเศษอาหารอย่างขนมปังหมดอายุจากร้านสะดวกซื้อก็จะเป็นอาหารปลาดุก ด้านข้างมีแปลงผักขนาดเล็ก รวมถึงต้นกล้วยที่ปลูกไว้รอเก็บผล
วัฏจักรของหนอนแมลงวันลายจะเป็นอยู่ไข่ประมาณ ๓-๔ วันแล้วกลายเป็นหนอนตัวสีขาว มีอายุ ๑๐-๑๗ วันก็จะเข้าสู่ระยะดักแด้ตัวสีดำประมาณ ๔-๖ วัน จากนั้นก็จะออกจากปลอกดักแด้เป็นแมลง
ทุกเช้าปุ๋ยยังมีหน้าที่ไปรับอาหารหมดอายุจากร้านสะดวกซื้อเพื่อนำมาเป็นอาหารให้หนอน
“ถ้าทั้งเจ็ดหมู่บ้านบนเกาะสีชังมีโรงเรือนแบบนี้ พอใครกินอะไรไม่หมดก็เอามาให้หนอนกิน จะได้ไม่มีแมลงวันหัวเขียว แล้วยังดีต่อการย่อยขยะ แต่ก่อนบ้านเราถุงขยะกับเศษอาหารมัดรวมกันเลย ก็ยากต่อการเผาไหม้”
ปุ๋ยพูดถึงประโยชน์ของโรงเรือนซึ่งกำจัดขยะได้เดือนละเป็นตัน แม้จะเริ่มได้ไม่นานนัก แต่คนในชุมชนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น
“ครั้งแรกที่พูดคำว่าหนอนไม่มีใครเอากับเราด้วย สุดท้ายผ่านไป ๒-๓ เดือนทุกอย่างเปลี่ยนไป อย่างที่เห็น มันทำได้จริง ไม่ใช่เรื่องแหกตา”
ไต๋อ่อนพูดด้วยน้ำเสียงภูมิใจที่ก้าวข้ามคำสบประมาท เพราะใครก็คงไม่เชื่อว่าหนอนแมลงวันลายจะช่วยกำจัดขยะอินทรีย์บนเกาะได้วันละเกือบร้อยกิโลกรัม
เคล็ดลับเฉพาะตัวของไต๋อ่อนในการเตรียมอาหาร คือการใช้เครื่องปั่นเศษอาหารให้ละเอียด และก่อนจะเทอาหารใส่ถาดให้หนอนกิน ต้องโรยกากเมล็ดกาแฟและถ่านไบโอเพื่อดับกลิ่น
ตอนไต๋อ่อนปั่นอาหาร กลิ่นเศษอาหารหลากหลายชนิดก็โชยมาเตะจมูก และแม้หน้าตาเศษอาหารที่ปั่นจนละเอียดอาจดูไม่สวยงามนัก แต่ก็เป็นสารอาหารอันโอชะสำหรับหนอน พิสูจน์ได้จากการเขมือบอาหารอย่างรวดเร็ว
จับเวลาประมาณ ๑๐ นาทีพวกมันก็กินเกือบหมดถาด…
โครงการหนอนชนะ
โรงเรือนเพาะหนอนแมลงวันลายนอกจากช่วยย่อยขยะอินทรีย์แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังจากการย่อย เช่น ปุ๋ย ปลอกดักแด้ อีกทั้งหนอนและแมลงใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ โดยโรงเรือนจะแจกจ่ายปุ๋ยให้ชาวบ้านที่ร่วมคัดแยกเศษอาหารให้ทุกวัน เป็นการสร้างเครือข่ายภายในพื้นที่เกาะสีชัง
“รู้สึกว่ามีความสุขกับการที่เราเปลี่ยนใจคนได้ หมายถึงเปลี่ยนใจให้เขายอมรับเรื่องใหม่ ๆ แล้วก็ให้เขาลองทำตามอย่างที่เราแนะนำ”
เอกสิทธิ์ในฐานะผู้นำชุมชนพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เขาและไต๋อ่อนพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านมองเห็นประโยชน์ของการแยกขยะลดปริมาณขยะอินทรีย์ ลดปัญหาแมลงวันบ้าน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังรับซื้อขยะรีไซเคิล โดยทุกวันพฤหัสบดีจะมีรถไปรับซื้อถึงหน้าบ้าน หากในอนาคตชาวบ้านร่วมมือกันมากขึ้นอาจไม่ต้องส่งขยะอินทรีย์ไปที่เตาเผาขยะเลย แมลงวันบ้านก็โดนตัดวงจรหมดตามไปด้วย…นี่คือสิ่งที่เขาหวังว่าสักวันจะเกิดขึ้นบนเกาะสีชัง
“เมื่อก่อนวันเสาร์-อาทิตย์ เราต้องไปเก็บขยะทุกวัน เก็บทุกที่ แต่ตอนนี้กลับมีขยะมาวางหน้าโรงเรือน นี่ถือเป็นความสำเร็จมาก ๆ แล้ว”
หลังจากหลายสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็มีคนทำน้อยมาก วันนี้หลังเปิดโรงเรือนมาไม่กี่เดือนก็เปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้านส่วนใหญ่ได้
ตฤณ รุจิรวณิช จาก “Food Loss Food Waste” บอกว่านอกจากที่เกาะสีชัง ยังไปทำโครงการที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งใหญ่กว่าเกาะสีชังประมาณ ๑๐ เท่า จำนวนประชากรเยอะกว่า ดังนั้นปริมาณเศษอาหารก็มากกว่าเช่นกัน โดยได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหวังว่าพื้นที่เกาะสมุยจะประสบความสำเร็จในไม่ช้า
ตฤณบอกว่าหนอนแมลงวันลายมีประโยชน์หลายอย่าง แต่ต้องใช้ให้เป็น เขาเปรียบหนอนแมลงวันลายเป็นเสมือนแก้ววิเศษ ที่เมื่อมนุษย์อยากได้อะไรก็ใส่ความรู้ความเข้าใจลงไป หลังจากนั้นก็จะได้ประโยชน์กลับมา
“เราอยากจัดการขยะได้ตั้งแต่ระดับบ้านเรือน ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับเชิงพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งในระดับอุตสาหกรรม ให้มันเป็นแก้วสารพัดนึกในการจัดการขยะ”
ความสำเร็จหนึ่งของการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลายบนเกาะสีชัง อาจเพราะไม่ได้ทำในเชิงธุรกิจ
“ผมไม่ได้เอาเงินไปซื้อเศษอาหารนะ นี่คือการแลกเปลี่ยน เราไม่ได้ซื้อขาย”
ไต๋อ่อนผู้กล้าทดลองสิ่งใหม่เพื่อบ้านเกิดบอก ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการเขายังเห็นว่าการเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลยากกว่าการเพาะหนอน
“เลี้ยงหนอนมันไม่ยากนะ”
คือเรื่องราวบนเกาะสีชังที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว แต่เป็นต้นแบบของความร่วมมือในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตตัวเล็กอย่าง “หนอนแมลงวันลาย” เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
อ้างอิง
- ศูนย์มานุษยวิทยา. (2566). เกาะสีชัง. สืบค้น 29 กันยายน 2566, จาก https://wikicommunity.sac.or.th/community/417
- สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม. (2566). หนอนแม่โจ้: อีกหนึ่งผู้ย่อยขยะอินทรีย์ที่น่าจับตา. สืบค้น 29 กันยายน 2566, จาก https://www.nstda.or.th/agritec/maejo-maggots/