เรื่อง: นพรุจ สงวนจังวงศ์
ภาพ: นพรุจ สงวนจังวงศ์ ณัฐสิทธิ์ ใจธิตา และวิทยาลัยนวัตกรรม

“ฉุด” Traction วิถีเก่าเล่าจากคนยุคใหม่

๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ หลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาและฉายภาพยนตร์เรื่อง “ฉุด (Traction)”

ภาพยนตร์ขนาดสั้นผลงานนักศึกษาที่หยิบประเด็นวัฒนธรรมมาเล่าจนก้าวไปคว้ารางวัลในหลายประเทศ

เนื้อหาว่าด้วยเรื่องการ “ฉุด” วิถีเก่าแก่ในการได้คู่ครองของชาวม้ง กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพื้นเพเดิมอยู่ในประเทศจีน ก่อนที่บางส่วนจะอพยพลงมาและกระจายตัวลงหลักปักฐานใน ๑๔ จังหวัดของไทย ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร ตาก และกาญจนบุรี รวมถึงในประเทศข้างเคียง อย่างเมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม

“พ่อผมเคยเป็นครูบนดอยสันป่าเกี๊ยะ จังหวัดเชียงใหม่ ย้อนไปเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วยังมีการฉุดอยู่ พ่อเป็นคนเจอต่อหน้าต่อตา และเอาประสบการณ์ตรงนี้มาเล่าให้ฟังจนผมสนใจ เพราะโดยปรกติแล้วชาวม้งเป็นคนที่อัธยาศัยดี รักสงบ ขยันขันแข็ง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน พอรู้เรื่องฉุดก็สงสัยว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง เลยเริ่มลงมือศึกษา”

shud04

ณัฐศักดิ์ ใจธิตา ผู้กำกับเล่าที่มาของผลงานอันเกิดจากโครงการวิจัยสมัยเรียนปริญญาตรีร่วมกับเพื่อนอีก ๒ คน

“ผมไปวิจัยมาทั่วภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นม้งแม่ฮ่องสอน ม้งเชียงราย ม้งเชียงใหม่ สุดท้ายก็มาจบที่ม้งเชียงใหม่เพราะเป็นบ้านเกิดผมเลยสะดวกต่อการวิจัย ในเชียงใหม่ก็มีม้งอยู่หลายกลุ่ม เลยเลือกศึกษาการฉุดของม้งบนดอยสันป่าเกี๊ยะที่พ่อเคยเป็นครูสอน”

shud05
ฉากจากภาพยนตร์

การฉุด เป็นทางเลือกหนึ่งในการแต่งงานของชายชาวม้ง จะกระทำต่อเมื่อฝ่ายหญิงไม่เต็มใจจะครองคู่ด้วย หรือบางกรณีสองฝ่ายก็อาจรู้เห็นและตกลงกันไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการแต่งงานแบบปรกติ

ต้นเหตุมีหลากหลาย ทั้งฝ่ายชายเคยเกี้ยวพาราสีแต่ไม่สมหวัง หรือบังเอิญพบเจอหญิงสาวในโอกาสต่างๆ และถูกตาต้องใจ การฉุดก็อาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน

อย่างงานปีใหม่ม้งหรือ “น่อเป๊โจ่วฮ์” เทศกาลสำคัญที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มาพบปะหาคู่ผ่านการละเล่น “โยนลูกช่วง” ลักษณะกลมหรือเป็นก้อนทำมาจากผ้า ฝ่ายหญิงจะตัดเย็บและเตรียมมา จากนั้นจะมองหาหนุ่มต่างแซ่ที่ตนพึงใจเพื่อชวนมาโยนลูกช่วงด้วยกัน หรือหากฝ่ายชายมีหญิงที่หมายตาก็สามารถไปขอโยนด้วยได้ อยู่ที่ว่าอีกฝ่ายจะตกลงหรือไม่ สองฝั่งจะสลับกันโยนไปมา และใช้ช่วงเวลานี้พูดคุยทำความรู้จักไปจนถึงการจีบ หากถูกใจกันก็โยนต่อไป หากไม่ก็แยกย้าย

shud06
ฉากจากภาพยนตร์

เมื่อมีสาวที่อยากฉุด ชายหนุ่มจะรอจนสบโอกาสแล้วจึงร่วมมือกับพวกพ้องที่มาด้วยกันใช้กำลังพาเธอกลับไปที่บ้านของเขา ซึ่งการฉุดนั้นมีทั้งฉุดให้ตนเองหรืออาจฉุดไปให้ญาติมิตรก็ได้ โดยระหว่างฉุดหากถูกทางครอบครัวผู้หญิงจับได้ ฝ่ายชายต้องเผชิญกับบทลงโทษที่มีตั้งแต่การจ่ายค่าปรับไปจนถึงถูกทำร้ายร่างกาย แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ แต่หากฉุดและหนีไปได้ก็จะพาเธอไปอยู่ด้วย แล้วภายหลังจึงจัดคนมาเจรจาสู่ขอ ถามความยินยอมกับพ่อแม่ฝ่ายหญิงอีกที

ด้วยประเด็นวัฒนธรรมมีความละเอียดอ่อน ทีมงานจึงตัดสินใจลงพื้นที่ศึกษาวิจัยก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุด ซึ่งผลการศึกษาถูกสะท้อนออกมาอย่างน่าสนใจ

“เราไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน ๕ คน คนที่ ๑ เป็นคนให้ความรู้คนสำคัญเกี่ยวกับเรื่องโดยรวมของม้ง ว่าประเพณีพวกเขาเป็นแบบไหน วิถีชีวิต นิสัยเป็นอย่างไร ส่วนอีก ๔ คนที่เหลือจะเกี่ยวข้องกับการฉุด โดย ๒ คนแรกจะเป็นผู้ชายที่เคยฉุด อายุประมาณ ๔๐-๕๐ ปี และอีก ๒ คนคือผู้หญิงที่เคยถูกฉุด ผู้ชายให้เหตุผลว่าเขาฉุดไปเพราะทำต่อๆกันมา ไม่รู้ว่าการฉุดมันเริ่มขึ้นจากจุดไหนกันแน่ รู้ตัวอีกทีตอนวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๔-๑๕ เขาก็ต้องฉุดแล้ว ส่วนคำตอบของฝั่งผู้หญิง พวกเธอก็คิดไปว่าสิ่งนี้คือประเพณี เมื่อมีการฉุดก็ยอมแต่งงาน บ้างก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี จากที่ตอนแรกคิดว่าจะมีแต่ผู้ที่คัดค้าน แต่กลายเป็นว่าก็มีบางส่วนที่คล้อยตามประเพณีหรือวิถีปฏิบัตินี้ไปด้วย ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้มีหลายมิติและแง่มุมที่ซับซ้อนอย่างมาก”

ณัฐศักดิ์กล่าวและได้เล่าถึงแนวคิดที่เขาและทีมงานจะใช้ในการถ่ายทำ

“ด้วยความที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคยมีเรื่องนี้อยู่จริงๆ เลยรู้สึกว่าน่าหยิบมาเล่า เพียงแต่ต้องให้ความเป็นธรรมและไม่ตัดสินพวกเขา”

shud07
ฉากจากภาพยนตร์

จึงเกิดเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่องราวของ “หลิ่น” และ “ออน” สองสาวชาวม้งที่ชีวิตถึงจุดพลิกผันจากการฉุดและสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีมายาวนาน ถ่ายทำที่ชุมชนม้งบ้านสันป่าเกี๊ยะ ตําบลแม่นะ อําเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

shud09

“สถานที่ถ่ายทำตั้งอยู่บนดอยทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศทั้งฝนตก แดดออก และอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการถ่ายทำ โดยเฉพาะเมื่อทีมงานหลักมีแค่พวกเรา ๓ คน”

shud11

เดชาธร เมฆีนุรักษ์ ผู้ช่วยผู้กำกับและหนึ่งในทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าความท้าทายขณะถ่ายทำภาพยนตร์และการทำงานร่วมกับนักแสดงซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมด้วยบทพูดภาษาม้งตลอดทั้งเรื่อง

“อุปสรรคสำคัญคือชาวบ้านไม่เคยมีพื้นฐานการแสดงมาก่อน ทำให้หลายครั้งยังเล่นได้ไม่ถึงบทบาท เขินอายหรือตื่นกลัวเมื่ออยู่หน้ากล้องจนการแสดงดูไม่เป็นธรรมชาติ ต้องใช้เวลาปรับแก้กันอยู่นานพอสมควร แต่ท้ายที่สุดการแสดงของทุกคนก็สามารถทำออกมาได้น่าพึงพอใจในแต่ละฉาก”

แม้ไม่ใช่มืออาชีพแต่ผู้มารับบทต่างยึดโยงกับเรื่องนี้อยู่ในสายเลือด จึงให้อรรถรสและความสมจริงไปอีกแบบเมื่อรับชม เปิดโอกาสให้ชาวม้งได้ร่วมเล่าประเด็นวัฒนธรรมซึ่งพวกเขามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

ในส่วนเนื้อหา ภาพยนตร์ไม่ได้ตีตราธรรมเนียมนี้ว่าถูกหรือผิด แต่มุ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านทางความคิดของชาวม้งที่มีต่อเรื่องการฉุด ซึ่งมีที่มาที่ไปและปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา เมื่อเทคโนโลยี การศึกษา และค่านิยมสมัยใหม่เดินทางมาถึงในพื้นที่

shud14

“เราอยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความสำคัญในเรื่องสิทธิของผู้หญิงผ่านมิติทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสียงไปถึงคนภายนอกว่าวิถีนี้ไม่มีอยู่อีกแล้ว ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อชาวม้งยิ่งขึ้น”

ดลหทัย วงศ์สว่าง ผู้ช่วยผู้กำกับ เล่าจุดมุ่งหมายในฐานะผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวในทีมงาน

ปัจจุบันการฉุดนั้นถูกคัดค้านและต่อต้านอย่างหนักจากสังคมยุคใหม่เนื่องด้วยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิสตรี แม้แต่ในหมู่ชาวม้งด้วยกันก็เรียกร้องให้ยกเลิกธรรมเนียมนี้อย่างเด็ดขาด จนการฉุดแทบหมดไปจากชาวม้งในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์

“ฉุด (Traction)” จึงเป็นเหมือนบันทึกไว้บอกเล่าวิถีเก่าที่เคยมี และชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมบางอย่างก็จำเป็นต้องอันตรธานไป เมื่อไม่สอดรับกับสังคมที่พัฒนา

ชมตัวอย่างภาพยนตร์