๏ พระภาระทวาชเชื้อ    ชีดง
อยู่ป่าอาศัยพง    พุ่มไม้
คุกเข่าหัดถ์ไคว่ตรง    อุระภาค ตนนา
แก้กระด้างลิ้นได้    ท่านี้ดีจริงฯ

พระรัตนมุนี

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๔๗) ภาระทวาช

(ถอดความ) ฤๅษีภาระทวาช อาศัยอยู่ตามดงไม้ในป่า ท่านนั่งคุกเข่า เอามือไขว้กันตรงหน้าอก ท่านี้ใช้แก้อาการลิ้นกระด้างได้

ฤๅษีอีกตนหนึ่งจากบทละคร “รามเกียรติ์” ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ที่ถูกคัดเลือกให้มาปรากฏตัวในชุดโคลงภาพฤๅษีดัดตน คือภาระทวาช/ภารทวาช ผู้เป็นที่เคารพนับถือของวงศ์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา และเป็นหนึ่งในคณะฤๅษีทั้งห้า อันประกอบไปด้วยวสิษฐ์ สวามิตร วัชอัคคี ภารทวาช และกไลโกฏ ที่ร่วมกันไปอัญเชิญพระนารายณ์ให้อวตารลงมาปราบอสูร แล้วประกอบพิธีหุงข้าวทิพย์ขอประทานบุตรให้แก่ท้าวทศรถ

ต่อมาเมื่อพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา ออกบวชแล้วไปเดินดงเป็นเวลา ๑๔ ปี ตามที่ตกปากรับคำไว้กับท้าวทศรถ ยังได้พบฤๅษีภารทวาชด้วย พระฤๅษีจึงชวนให้บรรดาหลานๆ พำนักอยู่ด้วยกัน

๏ เมื่อนั้น
พระภารทวาชฤๅษี
ได้ฟังสงสารพันทวี
จึ่งมีวาจาอันสุนทร
ซึ่งหลานรับสัตย์พระบิตุรงค์
อาจองดั่งพญาไกรสร
จะปรากฏพระยศขจายจร
สถาวรเป็นสวัสดิมงคล
จงอยู่ที่นี่รโหฐาน
สำราญทั้งนํ้าท่าผลาผล
คูหาอาศรมก็ชอบกล
ไม่ขัดสนสิ่งใดพระนัดดา ฯ

หากแต่พระรามทรงปฏิเสธ ด้วยเห็นว่ายังอยู่ใกล้กรุงอโยธยาเกินไป แล้วจึงพากันออกเดินทางต่อไป


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ