16
ร่วมโหวตปกนิตยสาร สารคดี 2024

เปิดปกนิตยสาร สารคดี 2567 : Vote for your Favorite Cover

ปี 2567

นิตยสารสารคดีจะเข้าสู่ทศวรรษที่ 4

กอง บก. “สารคดี” เตรียมนำเสนอธีมเล่มแบบสับต้อนรับปีที่ 40 ด้วย 14 สารคดีพิเศษ

ที่จะพาผู้อ่านไปสัมผัสกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม สังคมร่วมสมัย ฯลฯ

ชวนผู้อ่านสารคดีร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่วาระ 40 ปี ด้วยการโหวตเลือกเรื่องที่สนใจ (ไม่จำกัดจำนวน)

จะกดไลก์ ห่วงใย หัวใจรัก หรือจะกดโกรธ ไม่อยากให้ทำเรื่องนั้นก็ตามแต่

หรือว่าธีมเล่มใหม่ของพวกเราจุดประกายไอเดียให้คุณ! ก็กระซิบมาบอกเล่าใต้คอมเมนต์กันบ้าง เพื่อต่อยอดความชอบของคุณเป็นสารคดีในอนาคต

.

อย่ารอช้า มาโหวตกันเลย!

โกโก้ไทย ไปไกลแล้วคราฟต์

จากกระแสกาแฟที่ครองหัวใจคนไทยมาเนิ่นนาน
วันนี้ “โกโก้” จุดเริ่มของ “ช็อกโกแลต” ที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ได้รับความนิยมไม่น้อยหน้ากาแฟ และมาถึงจุดที่ไม่ได้มีเพียงสินค้า “นำเข้า” อีกต่อไป เพราะคนไทยหันมาปลูก ผลิต แปรรูป กันเป็นเรื่องเป็นราวจนพาผลผลิตจากโกโก้ยี่ห้อไทย “ส่งออก” สู่สายตาคนรักโกโก้ระดับสากล

ยิ่งกว่านั้นยังมีรางวัลจากเวทีต่างๆ การันตีคุณภาพและรสชาติดีเยี่ยมเทียบเท่าโกโก้โลกตะวันตก

ฉบับนี้ชวนผู้อ่านเสพโกโก้สัญชาติไทยที่เข้มข้นตั้งแต่เรื่องราวประวัติศาสตร์โกโก้โลกสู่การมาถึงแผ่นดินสยาม สำรวจรสนิยมคนสยามและสารพัดเมนูจากโกโก้และช็อกโกแลต

พาเที่ยวแหล่งปลูกโกโก้แบบทั่วถิ่นแบรนด์ไทย เพราะทุกภูมิภาคของไทยล้วนปลูกโกโก้ได้

ชวนชมแหล่งผลิต-แปรรูปจากโกโก้สู่ช็อกโกแลต และชิมสารพันรสชาติของ “ช็อกโกแลตไทย” ที่ต่างก็มีบุคลิกเฉพาะตัว บางท้องถิ่นรู้จักนำมาเพิ่มมูลค่าให้พืชผล เช่น ลูกประเคลือบช็อกโกแลต ยี่ห้อ “ท่าลา” ของชาวอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช สะท้อนความหลากหลายของท้องถิ่น

แล้วทำความรู้จักผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหลังแปรรูป ทั้งออกแบบหน้าตาสินค้าและบรรจุภัณฑ์สารพัดรูปลักษณ์ ไปจนถึงผู้ริเริ่มจัดงาน “Thailand Chocolate Fest”

ซึ่งล้วนมีส่วนทำให้วันนี้…โกโก้ไทย ไปไกลแล้วคราฟต์

40 ปี Storytelling
ในวาระขึ้นปีที่ 40 นิตยสารสารคดี

เคยได้ยินใช่ไหม ต้องมี “content” ต้องมี “storytelling” คำฮิตติดโลกโซเชียล โดยเฉพาะการสื่อสารทางการตลาด สร้างยอดไลก์ยอดแชร์ให้ปังๆ

แต่ “content” คืออะไร storytelling คืออะไร

ในวาระขึ้นปีที่ 40 ของนิตยสารสารคดี ที่เติบโตมากับคำว่า “งานเขียน” ก่อนจะมาเป็น “content” และ “การเล่าเรื่อง” ก่อนจะมาเป็น “storytelling”

จึงอยากมาสำรวจความหมายของ storytelling ของ พ.ศ. นี้ พร้อมกับนำประสบการณ์จากการสร้างสรรค์เรื่องราวมาหลายสิบปี มาถอดรหัสเคล็ดวิชา storytelling ในแบบ “สารคดี”

พร้อมกับชวนทบทวนย้อนอดีตของการเล่าเรื่อง หรือ storytelling แถมพิเศษด้วยบทสัมภาษณ์ “นักเล่าเรื่อง” จากหลากหลายวงการที่จะมาแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ของมืออาชีพ

เรื่องราวที่ดีเป็นอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงผู้อ่าน

ใครอยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือทำงาน storytelling ต้องไม่พลาด

Eat Pray Art with “Bro! Ganesha”
จากพิฆเนศวร (คเณศ) สู่ “กาเนชา”

ต่อให้สนิทกันแค่ไหน เพื่อนก็ยังมีมุมที่เราไม่รู้จักอีกมาก สารคดี ฉบับ Eat Pray Art with “Bro! Ganesha” จากพิฆเนศวร (คเณศ) สู่ “กาเนชา” ชวนเพื่อนๆ ขยับเข้ามาใกล้ “เพื่อนเทพ” อีกนิด ไม่ว่าจะเคยคุ้นกันในชื่อพิฆเนศวร คเณศ หรือกาเนชา ลองมาดูกันว่าเทพเจ้าฮินดูผู้ได้ชื่อว่าใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดองค์นี้ นอกจากมีพ่อชื่อศิวะ แม่ชื่อปารวตี มีหนูเป็นมือขวา หน้าตาเป็นช้าง ชอบกินขนมโมทกะจนพุงป่อง เฉลียวฉลาดและมีอารมณ์ศิลปิน เอ่ยปากขอความช่วยเหลือขจัดอุปสรรคและดลบันดาลความสำเร็จให้ได้เสมอแล้ว “เพื่อนเทพ” ยังปรับตัวตามยุคสมัยให้เพื่อนมนุษย์จัดแจงแปลงร่างในแนวป็อปอาร์ตได้อีกหลากสไตล์…ขยับเข้ามาสิ มา “เป็นเพื่อนกับเทพเจ้า” กัน

คนกับนกอยู่ร่วมกัน

ปี 2566 มี “ข่าวนก” ให้ต้องติดตามตลอดทั้งปี
ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวคัดค้านและสนับสนุนการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากสถานะความเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง, การเรียกร้องให้เก็บรักษาพื้นที่อยู่อาศัยและทำรังวางไข่ของนกแก้วโม่ง กรณีวัดมะเดื่อ และวัดอื่นๆ ในจังหวัดนนทบุรี

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิตของ “นก” สัตว์ปีกหลากชนิดที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยและที่เป็นนกสัญจรมาตามฤดูกาล แม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมืองหลวงอันแสนจะวุ่นวายก็ยังเคยสำรวจพบนกได้มากนับร้อยชนิด

แต่วันนี้ประชากรนกกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงสูญพันธุ์ในหลายพื้นที่

ติดตามสถานการณ์ความเป็นไปของสัตว์ปีก เพื่อหาทางอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

77 ปี “พระยาพหลฯ”

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
คนจำนวนมากหันกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มากขึ้น
ในบรรดาตัวละครจำนวนมาก ชายคนหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ก็ถูก “ละเลย” ในเวลาเดียวกันมากที่สุด
คือ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร

จะด้วยเหตุที่บทบาทรุ่นน้องร่วมคณะอย่าง ปรีดี พนมยงค์, แปลก พิบูลสงคราม ฯลฯ โดดเด่นจนกลบบทบาทของพจน์จนหมดสิ้น มีตัวละครอื่นอีกมาก แต่เมื่อย้อนกลับไปพิเคราะห์ก็จะพบว่า บทบาทของหัวหน้าคณะราษฎร-นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของสยามภายใต้ระบอบใหม่ เป็นสิ่งที่คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองขาดไม่ได้

ชีวิตของ “พจน์ พหลโยธิน” จึงเป็น “ประวัติศาสตร์” ที่ต้องรู้

หากอยากเข้าใจการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อย่างลึกซึ้ง

Toy Story ของเล่นและนักสะสม

ไม่ว่าจะโตไปจนวัยไหนๆ แต่ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา ของเด็กเล่น
ก็เรียกรอยยิ้มและความสุขให้ทุกคนได้เสมอ จริงไหม

จากของเล่นกระดาษ ไม้ สังกะสี จนถึงพลาสติก ของเลียนแบบสัตว์น่ารัก ไดโนเสาร์ จรวด รถยนต์ รถไฟไปจนถึงบรรดาตัวละครที่ชื่นชอบจากการ์ตูน หรือภาพยนตร์มากมาย

วันนี้ ตุ๊กตาและของเล่นที่เคยเอาไว้เล่นกันจนพังคามือ
กำลังยกระดับติดเทรนด์ “ของสะสม” ตั้งไว้เท่ๆ ทั้งดูแล้วอิ่มใจ หรือช่วย “ฮีลใจ” เป็นงานศิลปะที่เรียกว่า “Art Toys” ที่ไม่ว่าใครก็อดใจขอเอฟมาไว้ในครอบครองไม่ได้ ขณะที่หลายคนก็อาจชอบการ “ลุ้น” พยายามสุ่มของที่อยากได้จากตู้กาชาปองแทน

จักรวาลของเล่นกำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว
.
สารคดีฉบับนี้จึงชวนผู้อ่านมาสะสม Toy Story เรื่องเล่าของ “ของเล่น” และพบกับบรรดาเหล่านักสะสมตุ๊กตา ฟิกเกอร์ ของเล่น ฯลฯ นานาชนิดที่จะมาแบ่งปันความรักความคลั่งไคล้ของพวกเขา

ให้ทุกหน้ากระดาษในสารคดีเล่มนี้อบอวลด้วย “รอยยิ้มและความสุข”

แมว = ครอบครัว

เราต่างอยู่ในยุคที่ผู้คนครองโสดหรือใช้ชีวิตคู่โดยไม่มีบุตรมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์จึงเข้ามาทดแทน-เติมเต็มความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันทั่วโลกต่างเข้าสู่ยุคสมัยของ aging society ที่ผู้สูงวัยนิยมเลี้ยงสัตว์ตัวโปรดแก้เหงาช่วยผ่อนคลายเยียวยาจิตใจให้มีความสุข
ในบรรดาสัตว์เลี้ยงแห่งยุค แมวได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในฐานะลูกหลาน เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว เมื่อเป็นเช่นนั้นการดูแลเอาใจใส่จึงสำคัญ

หลายปีที่ผ่านมามีเครือข่ายธุรกิจมากมายเกิดขึ้นรองรับลูกค้า-ลูกหลานตัวน้อยของมนุษย์

จากเดิมเคยมีคลินิก โรงแรม คาเฟ่ สปา ของใช้จำเป็นสำหรับแมว เดี๋ยวนี้มีธุรกิจโฆษณาปั้นเจ้าเหมียวเป็นเน็ตไอดอล กิจกรรมกีฬาของคนกับแมว ทำข้าวของเครื่องใช้เกินจำเป็นและแข่งขันทางแฟชั่นแบบย่อส่วนของมนุษย์ให้ รวมไปถึงมีบริษัทรับทำประกันชีวิตสัตว์ มีการผลักดันให้เกิด พรบ.คุ้มครอง จัดกิจกรรมบริจาคเลือดระหว่างแมวด้วยกัน กระทั่งเมื่อสมาชิกตัวน้อยของครอบครัวถึงวันจากไปอยู่ดาวแมวก็มีธุรกิจฌาปนกิจ ประกอบพิธีกรรมทุกอย่างไม่ต่างจากมนุษย์ ไปจนถึงแพ็กเกจนำเถ้ากระดูกไปลอยอังคาร บางครอบครัวสามารถเลือกทางกุศลมอบร่างเจ้าเหมียวให้เป็นอาจารย์ใหญ่แก่โรงพยาบาลสัตว์เพื่อก่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่เพื่อนแมวต่อไป หรือหากครอบครัวใดยังไม่สามารถทำใจจากการพลัดพรากได้ก็มีธุรกิจสตัฟฟ์สัตว์เลี้ยงรองรับความรู้สึก ฯลฯ ยังไม่รวมถึงว่าแมวยุคใหม่ได้รับการอวยยศให้มีอาชีพน่าสนใจเช่นเดียวกับมนุษย์ ทั้งตำรวจ ทหาร ผู้ช่วยจิตแพทย์ ผู้ช่วยบรรณารักษ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษา รปภ.ประจำทำเนียบฯ พนักงานร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ดังที่ปรากฏข่าวเรียกรอยยิ้มไปทั่วโลกเสมอ

เพราะสังคมมนุษย์มาไกลกว่าการมองแมวเป็นสัตว์ และไปไกลกว่าเลี้ยงแมวเป็นเพื่อน

50 ปี สงครามลับของ “ทหารไทย”

ในยุคสงครามเย็น (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นที่รู้กันดีว่าทหารไทยออกไปรบนอกประเทศอย่างเป็นทางการในสองดินแดนคือ คาบสมุทรเกาหลี และเวียดนามใต้ ภายใต้ความเชื่อ “รบทางไกล” ป้องกันประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ที่เชื่อว่าจะแผ่ขยายอำนาจเข้ามายึดครองทุกประเทศในอุษาคเนย์ยุคนั้น

แต่มีสนามรบหนึ่งที่ไม่ถูกบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการคือ “สงครามลับ” ที่ทหารไทยเข้าไปสู้รบในลาวตั้งแต่ปี 2503-2517 ซึ่งเกี่ยวพันกับสงครามเวียดนามอย่างแยกไม่ออก ทหารเหล่านี้เข้าไปอย่าง “นิรนาม-ปิดลับ” ในสงครามที่ “ไม่ถูกประกาศ” ในหลากหลายชื่อหน่วย

ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าเริ่มมีการเล่าเรื่องราวของ “ทหารผ่านศึก” เหล่านี้ออกมาในวงกว้างมากขึ้น
แต่ก็เรียกได้ว่า ยังคงกระจัดกระจายและตลบฟุ้งไปด้วยความเป็นราชการ

สารคดีจะพาท่านผู้อ่านทบทวนเหตุการณ์ “ปิดลับ” และ “มรดก” จากเหตุการณ์นี้อีกครั้ง
เพื่อทำความเข้าใจ “ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย” และมรดกที่หลงเหลือไว้จากการสู้รบครั้งนั้นให้มากขึ้น

ชนเผ่าอีสาน หลากหลายชาติพันธุ์บนแผ่นดินเดียวกัน

กล่าวกันว่านับศตวรรษที่ผ่านมา ชาตินิยมและยุคสมัยได้หลอมรวมกลืนกินกลุ่มชนชาติพันธุ์อันหลากหลายบนผืนแผ่นดินที่ราบสูงจนแทบสิ้นอัตลักษณ์ไปหมดแล้ว

แต่มาถึงยุคนี้ว่ากันว่า ในบางพื้นที่รัฐกลับถูกกลืนโดยกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นเมื่อส่วนราชการประกาศว่าอำเภอใดเป็นถิ่นฐานของชนเผ่าหนึ่ง ก็ให้ทุกคนแต่งกายแบบชนเผ่านั้น แม้คนที่ไม่ได้เป็น เพื่อฟื้นฟูจุดเด่นของท้องถิ่น หรือส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวก็ตาม

ในหมู่คนพื้นเมืองอีสานบางท้องถิ่นทุกวันนี้ จึงยังดำรงวิถีแห่งเผ่าชนไว้ในภาษา อาหาร การแต่งกาย ความเชื่อ ซึ่งถือเป็นเนื้อหาอันมีชีวิตชีวาที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในชีวิตจริงประจำวัน รวมทั้งองค์ความรู้ที่อยู่ในเอกสารลายลักษณ์อักษร ซึ่งสะท้อนและเป็นบทบันทึกความหลากหลายของกลุ่มชนที่น่าสืบค้นศึกษา ปะติดปะต่อเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยที่หลอมรวมกันเป็นประชาชาติกลุ่มใหญ่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน

แกะรอยแผนที่ The Map Makers

ทุกๆ วัน คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ต้องเปิดมือถือขึ้นมาเช็กแผนที่ดูเส้นทางและการจราจร และยังใช้นำทางไปในที่ที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย ทั้งสะดวกและแม่นยำ (หรืออาจพาหลง)

แต่หากย้อนกลับไปหลายพันปีก่อน มีเพียงไม่กี่คนบนโลกที่จะมีแผนที่ และยิ่งมีน้อยคนลงไปอีกที่เป็นคน “สร้าง” แผนที่

จากแผนที่ที่ขีดเส้นแสดงการครอบครอง วางแผนการรบ กำหนดเส้นทางค้าขาย จากเครื่องมือแบบแมนวลติดดิน มาถึงอุปกรณ์ไฮเทคบนฟากฟ้า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปแค่ไหน ก็ยังต้องพึ่งพา “คนทำแผนที่”

มาสำรวจชีวิตและการทำงานของ The Map Maker จากอดีตถึงปัจจุบัน

เต็มอิ่มกับภาพแผนที่โบราณ แผนที่ยุคเก่า และแผนที่ยุคใหม่ และเรื่องราวของแผนที่ซึ่งมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์

จากยุคหินถึงออนไลน์
หมอลำ รถแห่ วัฒนธรรมบันเทิงอีสาน

ถามและตอบกันอยู่มากว่า ทำไม “หมอลำ” วัฒนธรรมความบันเทิงเก่าแก่ของอีสานจึงไม่เคยห่างหายแม้ล่วงผ่านยุคสมัย

นับแต่ครั้งบรรพชนรู้จักหลอมโลหะมาทำเป็นลิ้นแคน จากนั้นมาเสียงแคนก็คงไม่เคยเงียบหายจากแดนลุ่มน้ำโขง ตามบันทึกที่ปรากฏอยู่ตามภาพผนังถ้ำและประติมากรรมสำริด จนถึงยุคเสียงดนตรีสตรีมมิงในออนไลน์ หมอลำก็ยังครองใจคนฟังตามจำนวนยอดวิว

ทั้งยังปรับตัวเข้าสู่ผู้ฟังออนไซต์ด้วยการย่อเวทีกว้างใหญ่กับตู้ลำโพงกระหึ่มมาอยู่บนรถบรรทุกคันเดียว ที่รู้จักกันในชื่อ “รถแห่” ที่นอกจากเข้าใกล้ ผู้ชมได้มีส่วนร่วม ยังเป็นเวทีเคลื่อนที่ได้แบบถึงไหนถึงกัน ก็ยิ่งทำให้ดนตรีหมอลำได้รับความนิยม-โดยเฉพาะในถิ่นอีสาน ซึ่งกำลังเป็นกระแสและพลวัตทางวัฒนธรรมบันเทิงที่น่าทำความรู้จักและรื่นเริงใจไปด้วยกัน

20 ปี “เหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ” บาดแผลหรือบทเรียน

การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดคราวหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อเดือนเมษายนและเดือนตุลาคม 2547 ที่สุดท้ายกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง เป็นที่กล่าวขานกว้างไกลยาวนาน และนับเป็นหลักหมายสำคัญในสถานการณ์ “ไฟใต้” ที่ยังไม่มอดดับจนปัจจุบัน

ผ่านมาจะครบ 20 ปีเต็ม ในแง่คดีใกล้สิ้นอายุความ-หากจะติดตามหาเจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกคำสั่งปฏิบัติการมารับผิดชอบต่อผลพวงที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลสืบเนื่องทางสังคม การเยียวยา ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งน่าย้อนกลับไปดูว่าจนบัดนี้บทสรุปของเหตุการณ์ยังคงคลุมเครือเป็นบาดแผล หรือได้รับการสะสางข้อเท็จจริงให้ปรากฏ เพื่อจะเป็นบทเรียนไขความเคลือบแคลงบาดหมาง สู่สันติสุขอันเป็นความหวัง

โขง-เจ้าพระยา-สาละวิน
ชะตากรรมแม่น้ำ

น้ำเป็น 1 ในธาตุ 4 ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิต หากขาดน้ำก็เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ประเทศไทยได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ ทั่วทุกภูมิภาคเต็มไปด้วยแหล่งน้ำที่เอื้อต่อการดำรงชีพ แต่หลายปีที่ผ่านมาแหล่งน้ำธรรมชาติค่อยๆ เสื่อมโทรมลง ความเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร หลายๆ สายไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์

กิจกรรมหลายๆ อย่างกำลังถูกตั้งคำถาม เช่น โครงการสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ ตลิ่งคอนกรีต แทนที่พื้นดินอันอ่อนนุ่มริมตลิ่งด้วยคอนกรีตแข็งๆ ตัดขาดชีวิตในน้ำกับบนฝั่ง การขุดคลองลัดหรือปรับสภาพเส้นทางน้ำที่คดโค้งให้ตัดตรง โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ การพัฒนาโครงสร้างแข็งที่เปลี่ยนทิศทางน้ำไหลตามธรรมชาติ

แม่น้ำกำลังถูกทำลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าชะตากรรมของแม่น้ำอยู่ในมือมนุษย์