๏ สุกทันต์นักสิทธิ์เถ้า     เที่ยวเก็บ ยานา
ท่าไหล่ขาชาเหน็บ บ่เปลื้อง
ลุกนั่งยิ่งยอกเจ็บ จึงดัด ตนแฮ
ยืนยึดเอวองค์เยื้อง ย่างเท้าท่าหนังฯ

พระองค์เจ้านวม

สุกทันต์

(ถอดความ) ฤๅษีสุกทันต์ผู้เฒ่า (ในโคลงใช้โทโทษ เป็น “เถ้า”) เที่ยวเก็บว่านยาจนไหล่ขาชาเหน็บ ทำอย่างไรก็ไม่หาย ยิ่งลุกนั่งยิ่งเจ็บ ท่านจึงดัดตนด้วยการยืนยืดเอว ร่างกายบิดข้าง เดินโดยหันเท้าไปข้างหน้า ราวกับท่าทางของ “หนัง” (คือตัวหนังใหญ่ ที่แสดงภาพร่างกายหันทางด้านหน้า แต่ส่วนเท้าบิดชี้ไปด้านข้าง ตามรูปแบบจิตรกรรมไทย)

ชื่อสุกทันต์นี้ คงตรงกับสุกกทันตะหรือฤๅษีสุกกทันต์ ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ที่เป็นวรรณคดีภาษาบาลีหลายเรื่อง เช่น ในตอนต้นของคัมภีร์ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ส่วนที่กล่าวถึงตำนานเมืองหริภุญชัย เท้าความว่ายังมีฤๅษีสี่ตนกับคฤหัสถ์อีกคนเป็นสหายกัน คือฤๅษีวาสุเทพ อยู่ที่อุจฉุบรรพต ฤๅษีสุพรหม อยู่ที่สุภบรรพต ฤๅษีอนุสิสหรือฤๅษีสัชนาไลย อยู่ที่หลิททวันลินนคร และฤๅษีพุทธชฎิล อยู่ ณ ชุหะบรรพต ส่วนสุกกทันตะ (สุกทันต์) พำนักอยู่ที่ลวปุระ

ส่วนใน “จามเทวีวงษ์” (พระยาปริยัติธรรมธาดา แพ ตาละลักษมณ์ แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยยุครัชกาลที่ ๕) กลับนับเนื่องเอาสุกทันต์ไปรวมเป็นหนึ่งในชุดฤๅษีสี่องค์ ดังที่กล่าวว่า ยังมีฤๅษีสี่ตนเป็นสหายกันมา ได้แก่ วาสุเทพ สำนักอยู่ยอดเขาอุจฉุบรรพตน (เขาอ้อย) พรหมิสิ สำนักอยู่ในภูเขาทวิธาคค์ (เขาสองยอด) สัชชนาไลย อยู่ในเขาลตางค์ (เขาเครือเขา) และสุกกทันต์ อยู่ในภูเขาธัมมิก ณ เมืองเรียกว่าละโว้

นั่นคือขณะที่ใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” ไม่นับสุกทันต์ว่าเป็นฤๅษี หากแต่เป็นคฤหัสถ์ คือผู้ครองเรือน ทว่า “จามเทวีวงษ์” กลับให้สุกทันต์เป็นฤๅษีด้วยอีกองค์หนึ่ง

แต่ทั้งสองตำนานกล่าวตรงกันว่าท่านสุกทันต์ มีถิ่นพำนักอยู่ที่ลวปุระ หรือกรุงละโว้ คือเมืองลพบุรี


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ