สารคดี ฉบับธันวาคม ๒๕๖๖ ฉบับนี้อัดแน่นด้วยเรื่องราวของสถานีรถไฟ เส้นทางรถไฟ เชื่อมต่อไปถึงรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศ  ถือเป็นฉบับที่กองบรรณาธิการทุ่มกำลังจัดทำแบบทิ้งทวนมอบเป็นของขวัญพิเศษแด่ผู้อ่านเพื่อส่งท้ายปีเก่า

ด้วยเชื่อว่าผู้อ่านและคนไทยส่วนใหญ่รักและผูกพันกับ “รถไฟ” และคงเคยมีความทรงจำกับรถไฟ อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต หรือหลายคนอาจหลาย ๆ ครั้ง

สมัยเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว ผมยังจำได้ว่าเคยนั่งรถไฟตู้ชั้น ๓ จากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือ แบบตีตั๋วยืนไปตลอดคืนกับเพื่อน เพราะคนแน่นเอี้ยดจนเต็มตู้ เมื่อยมาก ๆ  บางคนต้องยอมนั่งบนพื้นมอมแมม หรือบางคนก็ไปนั่งแถวหน้าห้องส้วม เป็นความทรมานบันเทิงของคนวัยหนุ่มที่เอามาย้อนรำลึกกันได้ด้วยความขบขัน

พอโตเป็นผู้ใหญ่เดินทางด้วยรถไฟตู้นอน ก็มีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบคือเราควรนอนหันศีรษะตามทิศรถไฟวิ่ง หรือเอาปลายเท้าหันตามแทนนอนแบบไหนจะหลับสนิทกว่ากันในความกะฉึกกะฉัก

ตอนมาเริ่มงานที่นิตยสาร สารคดี เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว บ้านผมอยู่แถวทุ่งสองห้อง มีสถานีรถไฟชานเมืองเล็ก ๆ อยู่ก่อนถึงสถานีบางเขน(ถ้านับตามสถานีเข้าเมือง)  ตัวสถานีเปิดโล่งมีแค่เสากับหลังคา ริมทางรถไฟยังมีลำคลองและพงหญ้า จำได้ว่ามีความสุขทุกเช้าที่มายืนตรงสถานี รอขึ้นรถไฟชานเมือง

แต่ขบวนรถไฟช่วงเช้าเรียกได้ว่าแน่นมาก ถึงขนาดมีคนยืนที่บันไดตู้ แต่ก็ต้องเสี่ยงก้าวเบียดอัดขึ้นไป เพราะอีกไม่ไกลพอถึงสถานีบางเขนหรือบางซื่อ ก็จะมีคนลงเปิดพื้นที่ให้เราเข้าตู้ไปได้แต่แม้บางครั้งตู้จะพอมีที่ว่าง ก็ขอยืนรับลมปะทะ ชมต้นไม้ใหญ่ลำคลอง พุ่มละเมาะที่ยังมีอยู่ริมทางให้สบายตาดีกว่า

เรื่องตื่นเต้นทุกวันก็คือ การจะลงจากรถไฟตรงแถวยมราชเพื่อต่อรถเมล์ไปที่ทำงานของนิตยสาร สารคดี (สมัยนั้นยังอยู่แยกสะพานผ่านฟ้า ซอยวัดปรินายก ถนนราชดำเนินกลาง) ตรงนั้นไม่มีตัวสถานีหรือชานชาลาพื้นเทปูนให้ก้าวลง ใครจะลงต้องก้าวเหมือนกระโดดลงจากบันไดรถไฟที่สูงเหนือพื้นลาดชันปกคลุมด้วยหญ้ารกแล้วต้องรีบลงกันอย่างเร่งด่วนราวกับลงจากรถเมล์ที่จอดนอกป้ายถ้าขยับตัวช้าอาจได้ติดอยู่ในตู้ ต้องเข้าไปถึงสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเสียเวลาอีกเป็นครึ่งชั่วโมง

ความทรงจำเกี่ยวกับรถไฟถ้าทุกคนนำมาเล่าให้ฟังกันคงมีอีกนับไม่ถ้วน  เรื่องถึงสถานีปลายทางช้าไปเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง การหยุดจอดนิ่งๆ กลางทาง ซึ่งไม่รู้ว่าหยุดเพราะอะไร หรือถึงขั้นเสียจนต้องรอหัวรถจักรอีกคันมาเปลี่ยน น่าจะอยู่ในกลุ่มยอดฮิตติดอันดับ

จากวันนั้นถึงวันนี้บรรดาคนรักรถไฟต่างก็สงสัยว่าขณะที่การคมนาคมอื่น ๆ ของไทยเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่ทำไมรถไฟไทยยังดูเหมือนเดิม ไม่พัฒนาไปไหน ทำไมเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศเขาจึงมีรถไฟความเร็วสูง มีรถไฟวิ่งเชื่อมโยงแทบทุกเมืองทั่วประเทศ  บางคนก็ให้เหตุผลว่าเพราะยุคพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อ ๖๐ ปีก่อนที่สหรัฐอเมริกาเป็นชาติ “มหามิตร” สนับสนุนการตัดถนนมากกว่าสร้างทางรถไฟ ขณะที่วิศวกรญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามถูกสั่งห้ามการสร้างเครื่องบินรบ จึงมุ่งมาทุ่มเทสร้างรถไฟแทน

สารคดี ฉบับนี้คงเหมือนขบวนรถไฟที่ขนเรื่องราวในความทรงจำจากสถานีในอดีตพาผู้อ่านวิ่งไปส่งสถานีในอนาคต

ขอมอบความสุขส่งท้ายปีเก่ากับขบวนรถไฟฉึกฉักฉบับนี้ครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com