๏ สัชนาไลยลี้หลีก ละสง สารแฮ
ยืนย่างหยัดเหยียดองค์ อ่อนแล้
สองหัดถ์ท่าทีทรง ศรสารท ไปเอย
บำบัดปัตฆาฏแก้ กล่อนแห้งหืดหายฯ

หลวงชาญภูเบศร์

ฤๅษีสัชนาไลยผู้ออกบวชด้วยหวังจะข้ามพ้นห้วงสังสารวัฏ (คือการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย) ท่านยืนก้าวขา เหยียดดัดกายอ่อน มือทั้งสองข้างทำท่าราวกับกำลังแผลงศร ท่านี้ใช้แก้ปัตคาต แก้กล่อนแห้ง

(ถอดความ) ฤๅษีสัชนาไลยผู้ออกบวชด้วยหวังจะข้ามพ้นห้วงสังสารวัฏ (คือการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย) ท่านยืนก้าวขา เหยียดดัดกายอ่อน มือทั้งสองข้างทำท่าราวกับกำลังแผลงศร ท่านี้ใช้แก้ปัตคาต แก้กล่อนแห้ง

คำว่า “ปัตฆาฏ” ใน “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔” เก็บไว้ว่า “ปัตคาด” พร้อมกับอธิบายว่าคือ “ชื่อเส้นในร่างกายของคน ในตำราหมอนวดว่า ตั้งแต่ท้องน้อยถึงโคนขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง.” หากแต่ในโคลงบทนี้ กล่าวราวกับว่า “ปัตฆาฏ” เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่ง เรื่องนี้จึงยังต้องอาศัยผู้มีความรู้วิชาแพทย์แผนไทยมาช่วยอธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนั้นแล้ว ในพจนานุกรมเล่มเดียวกัน เก็บคำว่า “กล่อน” ไว้โดยอธิบายว่าเป็น “ชื่อโรคชนิดหนึ่ง ตามตำราแพทย์แผนโบราณว่าเกิดจากของเหลวเข้าไปขังอยู่ในถุงอัณฑะ, ถ้าของเหลวนั้นเป็นนํ้า เรียกว่า กล่อนนํ้า, ถ้าเป็นเลือด เรียกว่า กล่อนเลือด, ถ้าเป็นหนอง เรียกว่า กล่อนหนอง.” ส่วนในโคลงบทนี้ กล่าวถึง “กล่อนแห้ง” ซึ่งไม่เข้าข่ายสิ่งที่มีกล่าวถึงในพจนานุกรม จึงยังต้องค้นคว้าต่อไปเช่นกัน

ฤๅษีนาม “สัชนาไลย” มีปรากฏในหนังสือหลายเล่ม แห่งหนึ่งคือตอนต้นของคัมภีร์ “ชินกาลมาลีปกรณ์”ส่วนที่กล่าวถึงตำนานเมืองหริภุญชัย เท้าความว่ายังมีฤๅษีสี่ตนกับคฤหัสถ์อีกคนเป็นสหาย หนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ ฤๅษีอนุสิสหรือฤๅษีสัชนาไลย อยู่ที่หลิททวันลินนคร ขณะที่ “พงศาวดารเหนือ” อ้างว่าฤๅษีสัชนาไลยเป็นผู้สร้างเมืองสวรรคโลก ด้วยเหตุนั้น เมืองแห่งนี้จึงมีอีกนามหนึ่งว่า “ศรีสัชนาลัย”

อีกแห่งหนึ่งคือ “นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง” กล่าวถึงฤๅษี “สัชนาไลย” ว่ากาลครั้งหนึ่งยังมีอสูรดุร้าย ชื่อกัณฐะกะ เป็นอสูรรูปม้า ไปพบฤๅษีสัชนาไลยกำลังหาผลไม้บริโภค จึงตรงเข้ากัดศีรษะกินเสีย พระฤๅษีถึงแก่ความตายอยู่ตรงนั้น ภายหลังพระนารายณ์เสด็จมาปราบอสูร ตัดศีรษะม้าของกัณฐะกะแล้ว “กระทำเทวฤทธิ์ร่ายวิษณุมนต์” นำมาต่อคืนทดแทนให้ฤๅษีสัชนาไลย “พระดาบสนั้นจึ่งมีหน้าเป็นม้า”

แต่เนื่องจากข้อความใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” มิได้ระบุว่าฤๅษีตนนี้มีหน้าเป็นม้า จึงสันนิษฐานว่าควรจะหมายถึงฤๅษีสัชนาไลยตามเรื่องใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” มากกว่า


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ