เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ชายมาดสุขุม สุภาพ และน่าเคารพในคราวเดียวกัน ใบหน้าแสดงรอยยิ้มแจ่มใส วาจาชัดถ้อยชัดคำปนสำเนียงทองแดงคนภาคใต้ แม้ตอนนี้ต้องมีคนคอยช่วยพยุงตัวตามอายุการใช้งานมายาวนาน แต่รู้ได้ว่าภายในจิตใจเขาเข้มแข็ง

ถ้าไม่ได้ฟังเขาเล่าก็คงไม่รู้ว่าชายผู้สนทนาอยู่เบื้องหน้าเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตในระดับชาติมามากแค่ไหน

วันเวลาผ่านไป วันนี้เขากลับมีชีวิตเรียบง่าย และพบกับความสุขในห้วงชีวิตที่แตกต่าง

กับการทำ “กระเป๋าหนัง”

ชื่อของเขาคือ นิพนธ์ บุญญภัทโร

นิพนธ์ที่แปลว่า เขียน เขาจึงเป็นผู้นิพนธ์ความสุขครั้งใหม่ด้วยตัวเขาเอง

นิพนธ์ความสุขของชายวัย (เกิน) เกษียณ

ชีวิตที่ถูกนิพนธ์

ชายวัย 91 ปี ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นเด็กบ้านนอก เติบโตมาแสนธรรมดาในอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ก่อนที่ความสามารถและโชคชะตาจะนำพาเขาไปสู่ชีวิตที่ไม่ธรรมดา

นายอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เด็กหน้าห้องอธิบดีกรมการปกครอง นายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ปลัดจังหวัดนนทบุรี คือตำแหน่งในช่วงแรกของเขา ก่อนที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะนำพาให้ชีวิตเขาสู่การเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคใต้ถึง 4 จังหวัดเมื่อทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิพร้อมพรั่งในช่วงวัย 48 ปี

จากผู้ว่าฯ พัทลุง เป็นผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ต่อด้วยผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช และสงขลา ร่วม 11 ปี ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ในวัย 59 ปี

นี่คงเป็นตำแหน่งที่สูงมากในฐานะคนธรรมดา แต่ชีวิตของนิพนธ์ยังขยับสูงขนต่อไป ในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชวน หลีกภัย

“ไปไหนผมต้องไปกับท่าน นั่งท้ายรถ เขาเรียกว่า เด็กหลังนายชวน หลังจริงๆ นั่งอยู่หลังรถ” เด็กหลังนายชวนกล่าว

ท้ายสุดเมื่อชีวิตดำเนินมาถึงวันแห่งวัยเกษียณ แม้จะปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้

แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นคงมากเกินใจจะรับไหว

nipon10

เกินจะอยู่เฉย

“พอเสร็จจากนายชวน อายุก็มากแล้ว ผมเริ่มไม่ค่อยสบาย เครียด นอนไม่หลับ ไปหาหมอที่โน่นที่นี่” นิพนธ์เล่า

“พี่นิพนธ์ต้องทำอะไรสักอย่าง อย่าอยู่เฉยๆ” เสียงของหมอมาโนชญ์ ลีโทชวลิต นายแพทย์อาวุโสโรงพยาบาลวชิรพยาบาลดังขึ้นในความทรงจำ

ตอนนั้นเขาเข้า 85 ปีแล้ว

“ผมก็คิดว่าทำอะไรเล่นดีกว่า”

โชคดีที่นิพนธ์รู้จักกับวิโรจน์และอุ๊ สองสามีภรรยา เจ้าของร้านขายหนังยิ่งไทย แถวโรงพยาบาลกลาง กรุงเทพฯ ผู้ที่นิพนธ์นับถือเป็นครูในชีวิตหลังวัยเกษียณ

“ลองสานปลาตะเพียนไหม” อุ๊ถามเชิงเชิญชวน

ในทีแรกปลาตะเพียนตัวน้อยถูกสานจากริบบิ้นธรรมดา ก่อนจะเลื่อนขั้นมาสานปลาตะเพียนจากหนังอย่างดี

“จากสานปลาตะเพียนหนังขยับมาเป็นทำกระเป๋าเล็กจนกระทั่งมาเป็นกระเป๋าใหญ่” นิพนธ์เล่าอย่างภูมิใจ

วิโรจน์และอุ๊ ยังคงเป็นผู้สอนวิธีเย็บกระเป๋าให้ เขาลองผิดลองถูกจนกระทั่งฝีมือเย็บดีขึ้น

“ผมถือว่าพุทธวจนะ อิทธิบาท 4 เป็นคติพจน์ประจำตัว ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา วิริยะนี้คือความเพียร เพียรคือความพยายาม ส่วนตะเพียน ก็ปลาตะเพียน เพียนนี้คือชื่อแม่ผม ผมก็เอาเพียรเป็นตัวตั้งว่า ผมต้องพยายามทำให้ได้ ใช้ความอดทนอดกลั้น ขยันอย่าท้อถอย เพราะเป็นแม่ผม”

เพียรกับเพียน ถึงแม้จะต่างความหมาย แต่เสียงคำพ้องมีคุณค่าต่อชีวิตนิพนธ์

ทั้งสองอย่าง ทำให้เกิดเป็นกระเป๋าแต่ละใบ ทั้งกระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าใส่โทรศัพท์ กระเป๋าหิ้ว กระเป๋าย่าม และกระเป๋าขนาดใหญ่น้อยอีกหลายใบ จากฝีมือของเขาที่สร้างจากความเพียร

nipon11 1

เกินกว่ากระเป๋า

“กระเป๋าช่วยเป็นยาให้ผม ให้ผมไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมมัวแต่เย็บ เข้ารูไหนออกรูนั้น ผิดแก้ ผิดทำ อยู่อย่างนี้ เรียนไปทำไป” นิพนธ์เปรียบเทียบให้ฟัง

“สุขที่ทำกระเป๋า นั่งดู แหม่ สวยนะใบนี้ ทำเองใช้เอง สวย” นิพนธ์พูดถึงความภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองได้ทำ

ขณะที่กระเป๋าที่นิพนธ์ทำทั้งหมดไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นมูลค่าทางการเงิน แต่เป็นมูลค่าทางใจ

“ทำแจก ทำให้ ไม่ขาย ใครมาขอก็ให้ สุข ใครให้ทำยังไงก็ทำได้ ทำให้เขาไป”

ความสุขที่สองที่ได้จากการทำกระเป๋า คือความสุขแห่งการให้ ซึ่งเป็นความสุขเช่นเดียวกับตอนเป็นข้าราชการ

“สมัยนั้นผมสนุกที่ได้อยู่กับชาวบ้าน เพราะไม่ต้องการอะไรจากชาวบ้าน มีแต่ให้ ชาวบ้านขออะไรให้หมด มีความสุขมากที่ได้ช่วยเหลือคนที่เขาลำบากยากจนเดือดร้อน โดยใช้วิชาชีพที่เรียนมา คือการให้”

ความสุขของเขาคงเป็นเช่นนั้น มาจากคำยืนยันของผู้ที่เคยมีความทรงจำกับข้าราชการที่ชื่อนิพนธ์

“ท่านมาเป็นนายอำเภอที่ปากเกร็ด มาบริหารที่มัสยิดประเสริฐอิสลาม ท่านมาสร้างสะพานข้ามคลองให้ ตอนนั้นดิฉันยังเป็นเด็กอยู่เลยค่ะ แต่ยังจำได้ ประชาชนที่มัสยิดรักท่านมากๆ ขอให้ท่านมีอายุยืนนะคะ”

หนึ่งในข้อความที่พิมพ์ลงในช่องแสดงความคิดเห็นใน Facebook ทางเพจมนุษย์ต่างวัยที่ได้ลงวิดีโอ “จากอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยย สู่คุณลุงเย็บกระเป๋าวัย 90 ปี”

ภายใต้วิดีโอนั้นยังมีข้อความแสดงความเคารพ ความรัก และคำระลึกถึงบุคคลในความทรงจำของพวกเขาอีกมาก

เกินจะขัดขวาง

ใช่ว่านิพนธ์จะมีความสุขอยู่ตลอด มีบางเวลาที่เขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคที่มาขัดขวางการทำกระเป๋า

“แม่บ้านผมบอกว่าทำอะไรอีกแล้ว ชาวบ้านหนวกหู ผมก็เฉย ผมก็ตอก ต๊อก ต๊อก ต๊อก” เขาเล่าแกมขำถึงภรรยาผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน นี่คงเป็นสีสันเพิ่มความตื่นเต้นให้กับชีวิตคนวัยเกษียณ

แต่อุปสรรคที่ใครก็ไม่อยากให้เข้ามาเป็นสีสันด้วย คือปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายที่เกิดขึ้นตามมาจากการทำกระเป๋า

“ทำกระเป๋าแล้วตอกเจ็บมือ เจ็บไหล่ ตอกเจ็บมือ ผมก็คิดว่าจะไม่ทำแล้ว”

และที่สำคัญเขาคิดว่า “มันไม่ค่อยสนุกแล้ว”

เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นิพนธ์กำลังจะเลิกการทำกระเป๋า

“ผู้ที่มืดบอดหาใช่ผู้ที่สูญเสียดวงตาไม่ แต่ผู้ที่มืดบอดคือผู้ที่ปกปิดความบกพร่อง หรือผู้ที่ไม่ยอมรับความบกพร่องของตนเอง”

คำกล่าวของมหาตมะ คานธี ในหนังสือยังเติร์กมหาดไทย ที่เขาเป็นผู้ประพันธ์ เมื่อปี 2520 เสมือนหลักยึดในใจ โดยเฉพาะในวันที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวยอย่างจริงจัง

ผมจะไปอยู่บ้านภรรยาผมอยู่ลำปาง อากาศเย็น อากาศดี กว้าง มีต้นไม้เต็ม คิดว่าคงมีเวลาอีกไม่นานแล้วนะ จะทำไรดี ลำปางเป็นเมืองไก่แจ้ ผมก็ว่าจะไปซื้อไก่สวยมาปล่อย ซื้อตัวเมียสักสามตัว ตัวผู้สักตัว ทำกรงกว้างๆ แล้วปล่อยให้เขาอยู่ ซื้ออาหารให้กิน

เขาเล่าความสุขที่วางไว้ในอนาคตอันใกล้

“พอไก่ฟักลูกออกมาสวย ๆ ผมก็จะแจก คือผมไม่ขาย นอกจากไม่ขาย ผมมีแต่ให้ครับ มีแต่ให้อย่างเดียว อย่างมาก 95 ก็ไปแล้ว พระพุทธเจ้าท่านบอก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ผมก็ต้องไปละ ไม่กลัวความตายเลย รู้ว่าจะต้องตาย”

ปลายทางของนิพนธ์ เขารู้และยอมรับสิ่งที่ธรรมชาติวางไว้

แต่ระหว่างทางมาถึงจุดนั้น เขาได้นิพนธ์ความสุขของตัวเองไว้แล้ว

เป็นความสุขที่ไม่มีวันเกษียณ

#สสส #วัยนี้วัยดี #ชีวิตดีดีสร้างได้ทุกวัย #manoottangwai #มนุษย์ต่างวัย #มนุษย์ต่างวัยTalk2023 #OutOfTheBoxAging #สังคมสูงวัย