เรื่องและภาพ โดย นุชจรี โพธิ์นิยม

การนำสิ่งอำนวยความสะดวกไปอยู่ตรงจุดศูนย์กลางหมด แต่มันไม่ตอบสนองกับชุมชน ผู้ปกครองก็ห่วง เพราะโรงเรียนสร้างชุมชน ชุมชนก็สร้างโรงเรียน เราอยู่คู่กันมานาน

สิ้นเสียงของ นางอัจฉรา ศรีโสภา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชมพู อ.เวียงสา จ.น่าน หลังจากตอบคำถามเรื่อง หลักเกณฑ์การควบรวมโรงเรียน ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยแววตามุ่งมั่นและน้ำเสียงฉะฉาน จึงเอื้อให้ผู้ฟัง ณ ที่แห่งนั้นมีอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก หวนคิดถึงตนที่เคยเป็นนักเรียนคนหนึ่ง แม้จะไม่ขัดสนเรื่องใดมากนัก แต่การตื่นเช้าไปเรียนไกลบ้านก็ชวนให้ห่อเหี่ยวใจเช่นกัน อย่างไรก็เทียบไม่ได้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ความเหลื่อมล้ำและการลดทอนโอกาสในการศึกษา ที่ว่ามานี้เกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในประเทศของเรา

“โรงเรียนขนาดเล็ก” หรือสถานศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ในปี 2565 ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็ก 14,958 แห่ง ด้วยปัจจัยหลักอย่าง อัตราการเกิด ที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนที่เข้าข่ายนี้เกิดความท้าทายในข้อจำกัดด้านทรัพยากรและพื้นที่ ผนวกกับนโยบายควบรวมโรงเรียนเข้ามาฉุดรั้งจนขยับตัวไปไหนก็ลำบาก ยืดเยื้อมาเนิ่นนานระหว่างหน่วยงานราชการและคนในชุมชน กระนั้นก็ยังมีเหตุผลที่หลายชุมชนต้องปรับตัวเพื่อสงวนโรงเรียนไว้ จะด้วยเรื่องโอกาสในการศึกษาของลูกหลานหรือเป็นความผูกพันต่อพื้นที่ก็ตาม

โรงเรียนบ้านชมพู

ไม่แปลกใจที่ภาคเหนือมีอัตราโรงเรียนขนาดเล็กมากที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 56.5 จากโรงเรียนทั่วภูมิภาค ด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรมและมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสูง ส่วนตัวเคยเดินทางไปพักแรมบนพื้นที่สูงจึงพอรับรู้ถึงความลำบากในการสัญจร เข้าใจดีว่า หากมีโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านคงสะดวกกว่ามาก โรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดน่านอย่าง โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จาก อ.ภูเพียง และ โรงเรียนบ้านชมพู จาก อ.เวียงสา ก็เช่นกัน แม้ทั้งสองแห่งจะมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 40 คน ซึ่งตามเกณฑ์ของโรงเรียนขนาดเล็กถือว่าต่ำมาก ด้วยความร่วมมือจากคนในพื้นที่จึงยังสามารถรักษาโรงเรียนไว้ได้อยู่ แต่หากพูดถึงความยั่งยืนหรือแนวทางในอนาคตนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าคิดกันต่อไป

โรงเรียน + ชุมชน สูตรความเข้มแข็ง

การเผชิญวิกฤตแผนควบรวมกับโรงเรียนในตัวเมืองที่ห่างไปอีก 6 กม. ทำให้บุคลากรโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จากที่เคยคิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้าหาชุมชนมากขนาดนั้น ก็ตระหนักได้ว่า การคงอยู่ของโรงเรียนจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน เพราะหากไม่เข้มแข็งพอก็อาจต้องเสียพื้นที่ตรงนี้ไปสักวันหนึ่ง

ใต้ร่มเงาของต้นทองอุไร และสายลมเอื่อยที่พัดผ่านพอให้ชิงช้าแกว่งไหว ปรากฏภาพเด็ก ๆ กำลังวิ่งเล่นกับเพื่อนในช่วงบ่าย ดูครึกครื้นแต่ชวนเหงา เพราะที่นี่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ป.6 เพียงแค่ 35 คน บุคลากร 8 คน และไม่มีตำแหน่งผู้อำนวยการมาตั้งแต่ปี 2565 ครูแวว – สุภัทรา สุทธิ ในฐานะครูแกนนำโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จำเป็นต้องเข้าสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ แม้ก่อนหน้านี้เธอมีหน้าที่เพียงรักษาการณ์เท่านั้น แต่เนื่องจากมีครูไม่ครบกลุ่มสาระ เธอจึงต้องเป็นเสาหลักวางแผนวันต่อวันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอด้วย มีหลายครั้งที่รู้สึกท้อแต่ก็เพราะคนในชุมชนคอยหนุนหลังอยู่ เธอจึงกัดฟันสู้ต่อได้

smallschool0580

ส่วนใหญ่ก็ใช้ชุมชนของเราเป็นบอร์ดบริหารงาน ทุกครั้งเราก็จะประชุมกัน เหมือนเขาเป็นบอร์ดใหญ่ที่ดูแลโรงเรียนอยู่ พวกพี่ก็จะทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีทางเดินของเรา เราก็เดินไปในทิศทางที่ว่า มีคนคอยซัพพอร์ต คอยหนุนเสริมให้เราแบบนี้ค่ะ ตอนแรกจะย้ายแล้วแต่เขาบอกให้สู้ไปด้วยกัน”

เช่นเดียวกับ โรงเรียนบ้านชมพู ที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งหมด 43 คน และบุคลากร 6 คนเท่านั้น หากต้องไปควบรวมกับโรงเรียนอื่นก็มีระยะห่างถึง 17 กม. ซึ่งเป็นปัญหาในการเดินทางของนักเรียน แม้ว่าจะมีรถรับส่งก็ตามที แต่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์การศึกษา ก็ยังสวนทางกับฐานะของผู้ปกครอง ในขณะที่โรงเรียนบ้านชมพูมีอาหารกลางวันให้ และไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม อีกทั้งอยู่ใกล้ที่พักอาศัย มีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ร่วมมือกับชุมชน นักเรียนจึงสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปสร้างอาชีพ ต่อยอดในอนาคตได้

วิถี โอกาส นวัตกรรม ความสำคัญของชุมชน

จุดที่มีร่วมกันของทั้งสองโรงเรียนคงเป็นการนำ นวัตกรรมโรงเรียนสอนคิด (Thinking School) หรือเครื่องมือที่เน้นกระตุ้นทักษะการคิดเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาพัฒนาคุณภาพการศึกษา หากแต่วิธีบูรณาการสอน การหยิบจับเครื่องมือใดมาใช้นั้น คงต้องเลือกปรับให้เข้ากับโรงเรียนของตน จะเห็นได้ว่า คุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ด้อยไปกว่าโรงเรียนอื่นเลย แต่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงเท่านั้น

น่าสนใจโรงเรียนบ้านชมพูที่นำนวัตกรรมนี้มาใช้ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 3 ฐาน คือ สถานีปุ๋ยไส้เดือนดิน ถิ่นฟักทองไทย และใส่ใจปลูกผักสวนครัวคุณธรรม ผอ.ต่าย – อัจฉรา ศรีโสภา กล่าวว่า เป็นจุดเด่นที่อยากนำเสนอ เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ อาทิ การนำมูลไส้เดือนดินมาทำปุ๋ยผลิตใช้เอง ซึ่งน้ำที่ได้จากมูลไส้เดือน หากเหลือก็จะนำไปแบ่งปันให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังจำหน่ายในชื่อ เกษตรฟาร์มครัวชมพู ซึ่งเป็นกองทุนของโรงเรียนอีกด้วย เป็นจุดแข็งที่ผอ.ตั้งใจทำให้เป็นแผนการสร้างความยั่งยืนในอนาคต ส่วนตัวได้เห็นแปลงผักสวนครัว รวมถึงกรรมวิธีการทำปุ๋ยจากมูลไส้เดือนที่เด็ก ๆ และคนในชุมชนช่วยกันอย่างขยันขันแข็ง เรียกได้ว่า ตั้งอกตั้งใจและดูสนุกสนานกันมากจนเราเองยังเผลอยิ้มตามไปด้วย

นี่คือการถอดบทเรียนให้เด็กเกิดความคิด ซึ่งมันไม่มีผิดถูก ตรงไหนนอกประเด็นไปนิดหนึ่งครูก็จะช่วยเสริมเติมเต็มเขา” อัจฉรา ศรีโสภา

ส่วนตัวประทับใจอีกหนึ่งนวัตกรรมชื่อว่า จิตศึกษา ที่โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือนำมาใช้ เนื่องจากส่วนมากเด็ก ๆ ที่นี่เป็นผู้ด้อยโอกาส หนึ่งในกิจกรรมจิตศึกษาคือ “จัดกาย จัดใจ ก่อนกลับบ้าน” โดยให้นักเรียนทบทวนตัวเองว่า ในหนึ่งวันได้ทำอะไรบ้าง ชอบอะไรในการเรียนการสอน ที่น่าประทับใจที่สุดคงเป็นการกอดและขอบคุณซึ่งกันและกัน ครูแววบอกว่า ตั้งใจจะสร้างให้เป็นวิถีของโรงเรียน อย่างน้อยก็ช่วยเยียวยาจิตใจและเป็นที่พึ่งให้เด็ก ๆ ได้ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะนักเรียนมีความสุข กล้าคิด กล้าพูด กล้าตัดสินใจ และโรงเรียนได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากจุดร่วมทางนวัตกรรมนี้ โรงเรียนขนาดเล็กทั้งสองแห่งยังเปิดโอกาสให้เด็กพิการที่ถูกปฏิเสธจากที่อื่นมาเข้าเรียนที่นี่อีกด้วย ทั้งหมดนี้ได้รับความช่วยเหลือจากคนในชุมชนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะจัดทำผ้าป่าเพื่อการศึกษา บัตรสมนาคุณ หรือการซ่อมแซมโรงเรียน เพราะงบประมาณที่ได้รับมานั้นไม่เพียงพอต่อการจัดสรร จากจำนวนนักเรียนที่น้อยมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในแวดวงการศึกษาว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คิดงบประมาณเป็นรายหัว การระดมทุนช่วยเหลือกันจึงเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โรงเรียนและชุมชนจึงต้องเข้มแข็งเป็นอย่างมาก

ถึงเวลาปูทางให้โรงเรียนขนาดเล็ก

เมื่อพูดถึงแนวทางการดำเนินงานในอนาคต โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ และ โรงเรียนบ้านชมพู มีแผนการนำโรงเรียนเข้าสู่ชุมชน และประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ใกล้เคียงเช่นกัน ด้วยประสบปัญหานักเรียนน้อย เหตุจากใช้อัตราการเกิดมาเป็นเกณฑ์การคงอยู่ของโรงเรียน ทั้งสองโรงเรียนมองว่า ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องควรแก้ไขจุดนี้เพื่อความเท่าเทียม โดยจัดสรรงบประมาณและบุคลากรให้เหมาะสม เมื่อทุกอย่างพร้อมคุณภาพก็จะตามมาเอง การควบรวมอาจไม่ได้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ในท้ายที่สุดจะต้องมีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต่างหากที่สมควรต้องตระหนักถึง

โรงเรียนขนาดเล็ก อาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของความล้มเหลวเสมอไป แต่เป็นการกระจายโอกาสให้ทุกพื้นที่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ไม่มีใครสมควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะไม่ว่าจะเป็นฟันเฟืองชิ้นเล็กหรือใหญ่ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันประสานกันพอดี

ขอขอบคุณ: โครงการ Access School โดย ActionAid Thailand สนับสนุนการลงพื้นที่