เรื่อง : “น้องลูกเนียง”
ภาพ : กวิน สิริจันทกุล,จิตรทิวัส พรประเสริฐ

พวกเราเหล่าคนแปลกหน้าจากเมืองคอนกรีตจึงได้โอบรับพลังงานดีๆ จากป่า และโอบกอดหัวใจท่ามกลางการค้นหาความสุขที่เกิดขึ้นที่ทุ่งกะมังแห่งนี้

“ขอบคุณต้นไม้ที่มอบความสุข ขอบคุณปักษาที่ออกมาเริงรำ ขอบคุณเหล่าแมลงที่รับฟัง ขอบคุณท้องฟ้าที่มอบรอยยิ้มอันสดใส ขอบคุณร่างกายที่โอบรับพลังงานดีๆ ขอบคุณหัวใจที่หาญกล้าพาตัวเองมาค้นหาคำตอบของชีวิต”

เพียง 4 วัน 3 คืนกับการใช้ชีวิตท่ามกลางป่าภูเขียวอันเงียบสงบ การได้ทำความรู้จักกับเหล่าพฤกษาและสัตว์ป่านานาชนิดอย่างละเมียดละไม ดูเหมือนจะทำให้เวลาที่เคยเร่งรีบกลางเมืองใหญ่ค่อยๆ เคลื่อนช้าลงราวกับจะหยุดเดิน ความเงียบของผืนป่าทำให้เราได้ยินเสียงนกน้อยผสานกับเสียงของแมลงประหนึ่งวงออร์เคสตราบรรเลงเพลงกลางพงไพร

ร่างกายที่เคยหนักอึ้งจากการตรากตรำทำงานค่อยๆ เบาลงเสมือนป่าแห่งภูเขียวกำลังร่ายมนตร์สะกด ผนวกกับการร่วมกิจกรรมที่ทีมงานนิตยสารสารคดี และ “Parkใจ” เตรียมให้ พวกเราเหล่าคนแปลกหน้าจากเมืองคอนกรีตจึงได้โอบรับพลังงานดีๆ จากป่า และโอบกอดหัวใจท่ามกลางการค้นหาความสุขที่เกิดขึ้นที่ทุ่งกะมังแห่งนี้

เปิดหัวใจให้ทุ่งกะมัง

กิจกรรม “Parkใจ อาบป่า อ่านใจ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตัวเอง” จัดขึ้นท่ามกลางธรรมชาติอันเขียวชอุ่มในทุ่งกะมัง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดิบเขาปนป่าสนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ชื่อ “ทุ่งกะมัง” อาเฌอประสิทธิ์ คำอุด เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่การอนุรักษ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูเขียว บอกว่ามีสองที่มา ที่มาแรกมาจากคำบอกเล่าตลกขำขันของผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ว่า มีเจ้าเมืองและคนรับใช้เดินทางผ่านทุ่งนี้ เจ้าเมืองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของท้องทุ่งหญ้าจึงถามคนรับใช้ว่าสถานที่แห่งนี้คือที่ใด คนรับใช้กลัวคอจะหลุดจากบ่าหากตอบว่าไม่รู้ จึงตอบเจ้าเมืองไปว่า “สงสัยจะเป็นทุ่งกระมังพ่ะย่ะค่ะ” ตั้งแต่นั้นเจ้าเมืองจึงเรียกทุ่งนี้ว่าทุ่งกระมัง

ส่วนอีกที่มาของชื่อ คือการเรียกตามสัณฐานของพื้นที่ ที่หากเราเดินเข้าไปในทุ่งและยืนอยู่ตรงต้นเหมือดใหญ่แล้วมองกลับมา จะเห็นว่าพื้นที่ทั้งหมดมีลักษณะคล้ายกะละมังคว่ำ เมื่อเรียกกร่อนเสียงจึงกลายเป็น “ทุ่งกะมัง” ในที่สุด

การเดินทางอันยาวนานจากเมืองใหญ่มาร่วมกิจกรรมดีๆ ที่มีธรรมชาติและป่าไม้เป็นสื่อกลางกลางทุ่งสัณฐานคล้ายกะละมังคว่ำนี้เริ่มต้นขึ้นในคืนเดือนหงาย…

มนุษย์แปลกหน้ากว่า 20 ชีวิตมารวมตัวกัน พร้อมคำถามมากมายในหัวใจว่าเราพาตัวเองมาทำไมใน “ป่า” ซึ่งความสบายน่าจะไม่มีอยู่เลยระหว่างเวลาที่อยู่ที่นี่ การห่างความสบายสำหรับหลายคนคงเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก ยิ่งยามราตรีที่ได้ยินแต่เสียงของจักจั่น เรไร แทรกด้วยเสียงหมาจิ้งจอกหอนเป็นระยะ ก็ทำเอาขนลุกซู่อยู่ไม่น้อย ต้องพยายามข่มตานอนพลางบอกตัวเองในใจว่าอีกไม่นานคงเช้า

แต่เมื่อแสงแรกมาเยือน ภาพยามค่ำคืนก็เปลี่ยนไปราวม่านละครเวทีเปิดออก ความงามของทุ่งกระมังที่ฉากท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนสี แต้มแต่งด้วยเจ้าเนื้อทรายตัวน้อยๆ กำลังเล็มหญ้าอยู่ข้างทาง ขณะในทุ่งเต็มไปด้วยเก้งและกวางกำลังอาบแดดยามเช้า บางตัวก็ยืดคอขึ้นมองกลุ่มสิ่งมีชีวิตแปลกหน้าที่เดินทางมาเป็นส่วนหนึ่งของท้องทุ่งในเช้าวันนี้

ค่ำคืนที่เจือด้วยความหวาดกลัวสลายออกสู่ความงดงามของธรรมชาติ การได้เฝ้ามองความงามตระการตาของทุ่งกะมังในนาทีนั้นให้บทเรียนแรกกับเราทันทีว่า “อย่ารีบเร่งตัดสินสิ่งใด ถ้าหัวใจยังไม่ได้เปิดรับ”

อาบป่า อ่านใจ เข้าใจธรรมชาติ

“อาบป่า” (forest bathing) มาจากคำภาษาญี่ปุ่น “ชินรินโยคุ” (Shinrin-yoku) ซึ่งหมายถึงการพาร่างกายและจิตใจเข้าไปสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อบำบัดความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้น

ต้น-สุรศักดิ์ เทศขจรกระบวนกรจากโครงการ “Parkใจ” เริ่มกิจกรรมในช่วงเช้าโดยให้ทุกคนลองเปิดผัสสะทางร่างกายเพื่อเตรียมตัวสำหรับการอาบป่า พร้อมกับเปิดประตูบานเล็กๆ ในหัวใจให้สัมผัสกับความสงบและรับฟังเสียงของธรรมชาติ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนตาของเราให้มองได้ไกลและละเอียดยิ่งขึ้นราวกับ “นกฮูก” ซึ่งมองได้กว้างเกือบ 180 องศา ต่อมาคือเปิดการรับรู้และการรับฟังให้เหมือนดั่ง “กวาง” ที่ใช้ชีวิตกลางป่าใหญ่ มองและรับรู้ทุกสิ่งอย่างละเอียด ค่อยๆ มองอย่างช้าๆ ตามจังหวะธรรมชาติ

กระบวนจาก Parkใจ ชวนทุกคนทำกิจกรรมพร้อมกล่าวถึงการเปิดผัสสะสำคัญกับการอาบป่าอย่างไร

“เมื่อเราเริ่มเปิดผัสสะทั้งหมด เราจะเริ่มรับรู้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเราเป็นศูนย์กลาง แต่ยังมีสัตว์และพืชนานาชนิดรายล้อมเราอยู่ บนพื้นมีหญ้า บนฟ้ามีเมฆ ขณะเดียวกันก็มีสัตว์นานาชนิดส่งเสียงร้องทักทายตลอดเวลา เพียงแต่ในช่วงเวลาปกติเราอาจไม่เคยรับรู้เท่านั้นเอง”

การได้ลองเริ่มเฝ้ามองธรรมชาติและเดินชมทุ่ง นอกจากความสวยงามแล้วเรายังได้พบโครงกระดูกของเนื้อทรายที่คาดว่าถูกฝูงหมาป่ากัดกินแล้วทิ้งซากไว้ พบเหล่าทากตัวน้อยที่ค่อยๆ กระดืบจากพื้นดินขึ้นมาหาแหล่งอาหารบนขาของพวกเรา

กิจกรรมต่อมาที่จะขาดไม่ได้คือการ “อ่านใจ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงไสยศาสตร์มนตร์ดำ แต่คือการพาตนเองค้นหาสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตน รวมถึงค้นหาความสุขโดยมีธรรมชาติเป็นสื่อกลาง ผ่านกิจกรรม “วงกลมแห่งฤดูกาล”

มะขวัญวิภาดา แหวนเพชร กระบวนกร “วิชาความสุข” เล่าให้ฟังว่า ในต่างประเทศมีการค้นพบว่า สาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้ามาจากการตัดขาดจากธรรมชาติ การเดินทางมายังภูเขียวนี้จึงเปรียบเสมือนการฟื้นคืนสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้เชื่อมโยงเข้าหากันอีกครั้ง

กิจกรรม “วงกลมแห่งฤดูกาล” เปรียบอารมณ์ของมนุษย์เหมือนฤดูกาล เรามีอารมณ์ความรู้สึกทั้งสุข-เศร้า-ค้นหา-ตั้งคำถาม-ไตร่ตรอง-ผลิบาน ฯลฯ ความรู้สึกเหล่านี้ไม่อยู่กับที่ แต่จะวนเวียนไปมาราวกับเกลียวที่หมุนวน ทว่าในท้ายที่สุดก็จะหวนคืนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครา

“เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าเรากำลังเจอความทุกข์ ขอให้รับรู้ไว้ว่าฤดูกาลในช่วงชีวิตของเรากำลังเปลี่ยนไปและวนไปมา จนในที่สุดฤดูแห่งความสุขจะกลับมาอีกครั้ง” มะขวัญกล่าวในขณะกำลังถ่ายทอดวิชาความสุข

เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้คือ มนุษย์และธรรมชาติไม่ได้ต่างกัน ทั้งสองล้วนอยู่อาศัยในโลกใบเดียวกัน ยิ่งเฝ้ามองธรรมชาติอย่างละเมียดก็ยิ่งเข้าใจว่าทุกสิ่งไม่ได้มีมิติเดียว ป่าไม้ผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาลเช่นใด ใจมนุษย์ก็แปรเปลี่ยนได้ไม่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดความสุขจะหวนคืนมา เช่นเดียวกับไม้ซึ่งจะผลิใบอย่างงดงามตามกาลเวลา

โอบกอดผู้เฒ่าต้นไม้เพื่อแบ่งปันความสุข

แม้ในทางวิทยาศาสตร์เราไม่สามารถสื่อสารกับต้นไม้ได้ แต่มีงานวิจัยมากมายที่นำเสนอว่าในความเป็นจริงต้นไม้และดอกไม้รับรู้ได้ว่าเจ้าของเลี้ยงดูพวกเขาอย่างไร และกล่าวด้วยว่าต้นไม้ในป่าใหญ่ล้วนพูดคุยและส่งความรู้สึกถึงกันผ่านโครงค่ายใต้ดินที่เรียกว่า “ไมคอร์ไรซา” (mycorrhiza) อีกทั้งต้นไม้ยังส่งคลื่นสัญญาณความถี่ต่ำออกมาในยามที่พวกเขาเผชิญภัย ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์เราจะกระซิบกับต้นไม้ให้พวกเขาเข้าใจและตอบรับ เหมือนเช่นชาวนาวีในภาพยนตร์เรื่อง AVATAR ที่สามารถพูดคุยและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับดวงดาวแพนดอราผ่านสายสัมพันธ์ระหว่างกัน

ช่วงบ่ายระหว่างอาบป่าและเดินป่าศึกษาธรรมชาติ พวกเราได้พบต้นไทรกร่างที่ยืนหยัดมั่นคงราวผู้เฒ่าแห่งผืนป่าด้วยขนาดลำต้นกว่า 10 คนโอบ ธรรมชาติรังสรรค์อย่างชาญฉลาดให้ไทรกร่างนี้เติบโตจากยอดลงสู่รากเพื่อจะได้งอกเงยปกคลุมเหนือไม้อื่น และออกผลเป็นแหล่งอาหารแก่บรรดาสัตว์นานาชนิด ทว่าธรรมชาติยังจัดสรรโดยออกแบบให้ผลไทรเคลือบด้วยยางเหนียว สัตว์จึงกินได้เพียงครั้งละ 10 ผล ผลไทรก็จะเป็นอาหารของเหล่าสัตว์ได้อย่างทั่วถึง

เราเอื้อมมือไปสัมผัสและโอบกอดไทรกร่างอย่างแผ่วเบา พลางค่อยๆ พูดคุยกับเขา สิ่งแรกที่รู้สึกคือความเย็นสบายที่แผ่จากต้นไทรสู่มือเรา พร้อมกันนั้นหัวใจเราก็ค่อยๆ เต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมออย่างผ่อนคลาย การได้ปล่อยความคิดและพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวของเรากับต้นไม้ เราไม่มีทางรู้ว่าต้นไทรรับรู้ความรู้สึกที่เราส่งไปให้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราตระหนักคือ ผู้เฒ่าไทรกร่างต้นนี้ได้แบ่งปันความสุขให้กับสัตว์ป่าน้อยใหญ่มาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว และรากไทรที่หยั่งลึกลงดินนั้นจะเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ช่วยค้ำพยุงลำต้นเดิม สิ่งนี้พาให้เราพบคำตอบว่า

“หากเราเจอตัวตนที่แท้จริง เปรียบดั่งเจอรากค้ำยันชีวิต เราคงไม่มีวันทำตัวเองหล่นหายไปในสายธารความรู้สึกหรือช่วงเวลาอันเศร้าโศก”

ธรรมชาติระหว่างทาง และโลกใบจิ๋วอันน่าอัศจรรย์

ระหว่างการอาบป่าทุกคนได้ค้นพบความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติที่ออกแบบทุกสิ่งได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว โดยเฉพาะการพึ่งพาระหว่างกันและกัน…

ครึ่งทางของการเดินป่า อาเฌอให้พวกเราเงียบเสียงลงแล้วเงี่ยหูฟัง เราได้ยินเสียงดัง “ป๊อก…ป๊อก…ป๊อก” ออกมาจากลำต้นของไม้ใหญ่เหมือนมีคนกำลังเคาะประตู ที่มาของเสียงไม่ใช่สิ่งลี้ลับใดๆ แต่เป็นเจ้านกหัวขวานตัวน้อยกำลังเจาะเปลือกต้นไม้เพื่อกินหนอนแมลง นัยหนึ่งกล่าวกันว่านกหัวขวานคือหมอรักษาต้นไม้ ที่ต้นไม้เรียกมาในยามที่ถูกรังควานจากฝูงแมลง จากนั้นเรายังได้พบสิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือสายสัมพันธ์ระหว่างสัตว์สามชนิด คือ นกหัวขวาน หมีป่า และนกเงือก

เป็นที่รู้กันดีว่านกเงือกคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในประเทศไทยเหลือเพียงไม่กี่แห่งที่เหล่านกเงือกมารวมฝูงและดำรงชีวิต หนึ่งในนั้นคือป่าภูเขียวแห่งนี้

สายสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มจากนกหัวขวานหมอแห่งต้นไม้ทำการเจาะรูบนเปลือกไม้เพื่อหาแมลงเป็นอาหาร เมื่ออิ่มก็โบกบินไป ต่อมาหมีป่าจอมพลังจะปีนมายังรูเหล่านั้น แล้วใช้กรงเล็บใหญ่โตแข็งแรงแหวกรูให้ใหญ่ขึ้นเพื่อลิ้มรสบรรดาแมลงที่อยู่ในเปลือกไม้ เมื่อหมีจากไป ฤดูกาลผันวนมาถึงเวลาของนกเงือกซึ่งออกหารังเพื่อวางไข่ รูขนาดใหญ่ที่หมีป่าทำไว้ก็กลายเป็นทำเลอย่างดีให้นกเงือกสร้างรังและฟูมฟักครอบครัว

การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้พวกเรายังได้พบมือดีแห่งวงการอนุรักษ์ บ.. ดำ-สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ที่พาทุกคนท่องโลกใบจิ๋วไปกับกล้องจุลทรรศน์ขนาดพกพา ส่องดูความสัมพันธ์ระหว่างฟังไจ (fungi) กับสาหร่ายจนเกิดเป็นไลเคน (lichen) ซึ่งปกคลุมลำต้นจนเหมือนไม้ต่างๆ ใส่เสื้อหลากสี

นอกจากนี้เราได้พบปะกับ ว่านจิตรทิวัส พรประเสริฐ ช่างภาพสัตว์ป่าที่มาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับโลกของระบบนิเวศอีกด้วย เขาพาพวกเราเดินป่า เรียนรู้ถึงสายสัมพันธ์ของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด กระทั่งมาถึงจุดเดินป่า “สปาสัตว์” ที่หลายคนตั้งคำถามว่าคืออะไร

ที่เรียกว่าสปาสัตว์ เพราะบริเวณนี้เป็นโป่งดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นแหล่งให้สัตว์ป่าหลายชนิดมาหากินดินโป่งเพื่อเติมแร่ธาตุให้แก่ร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่ที่สัตว์นักล่าชอบมาซุ่มรอเหยื่อด้วย พวกเราเห็นรอยตีนสัตว์และร่องรอยการหากินได้อย่างชัดเจน ทว่าสำหรับเราพื้นที่นี้อาจไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะนอกจากจะเป็นดินโคลนแล้วยังเต็มไปด้วยทาก จนหลายคนพูดติดตลกว่าตรงนี้เป็น “การทำสปาด้วยทาก”

ท้ายสุดพวกเราได้ไปสำรวจร่องรอยของสัตว์นานาชนิดที่สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกันตลอดห่วงโซ่อาหาร สิ่งนี้บอกเราถึงการเอื้อประโยชน์แก่กันในธรรมชาติ พวกเราซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของป่านี้เพียงชั่วขณะจึงต้องระมัดระวังไม่ไปรบกวนห่วงโซ่นั้น

kramanghug14
kramanghug15

บทส่งท้ายแด่เธอ-เหล่าต้นไม้ที่จะยืนหยัดอีกหลายร้อยปี

ก่อนเดินทางกลับพวกเราได้ทำกิจกรรมสุดท้ายคือ “การหยั่งราก” เป็นการตามหาจุดพักพิงเพื่อให้เราเปิดใจเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง ปล่อยให้ธรรมชาติพาเราเข้าสู่ห้วงจิตใจของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโลกอันยิ่งใหญ่ แล้วล้อมวงแชร์ประสบการณ์และส่งต่อพลังงานดีๆ ให้แก่กัน

กิจกรรมนี้คือการพิสูจน์ว่ามนุษย์สามารถรับการโอบกอดจากธรรมชาติได้จริง ผ่านทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากคนแปลกหน้าระหว่างกันกว่า 20 ชีวิตกลายเป็นบุคคลที่พร้อมรับฟังเรื่องราวของกันและกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความฝัน ความทรงจำ และความสุขร่วมกันกลางป่าใหญ่

ทุกคนได้ค้นหาตัวเองโดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นดั่งเข็มทิศนำพาไป ได้ใช้เวลาพูดคุยกับต้นไม้และบอกให้เขารู้ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากป่าแห่งนี้

นี่คือเสี้ยวหนึ่งของบทสนทนาที่เกิดขึ้นตลอดช่วงกิจกรรมที่เราได้แชร์ประสบการณ์กันท่ามกลางความสงบของผืนป่า…

“ผมเพิ่งได้เข้าใจว่าการอาบป่าไม่ใช่แค่การเดินป่า แต่คือการนำตัวเองลงไปหยั่งลึกอยู่กับธรรมชาติ ให้เขากับเรากลายเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง”

“ธรรมชาติคือสิ่งที่เรียบง่ายและลงตัวที่สุด แต่มนุษย์ต่างหากที่ซับซ้อน การได้เดินทางมาใช้ชีวิตกับแม่โลกและธรรมชาติทำให้ความซับซ้อนที่เคยมีหายไป และได้รับการโอบอุ้มชูใจอีกครั้ง”

“การได้อยู่กับตัวเองและค้นหาคำตอบของตัวเองท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่คือสิ่งที่ผมชอบที่สุด”

“ตอนแรกเป็นกังวลมากว่ากิจกรรมนี้จะเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้เห็นรอยยิ้มของทุกคน ก็รับรู้ได้ว่ามวลความสุขกำลังทำงาน”

“ไม่เคยได้รับการโอบกอดจากธรรมชาติมาก่อน และตอนนี้รู้แล้วว่าธรรมชาติรักษาเราได้อย่างไร”

“การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากเป็นการเปิดใจเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ยังเป็นการค้นพบความสุขและอ่านใจตัวเองเพื่อค้นหาคำตอบที่ขาดหายไป”

สุดท้ายก่อนจากลาผืนป่า ทุกคนยังได้กลับไปกระซิบกับต้นไม้ บอกความปรารถนาของเรา รวมถึงบอกเล่าความทรงจำดีๆ ในการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ให้เขาฟัง เหมือนฝากไว้เผื่อวันใดที่เราหลงลืม “ความสุข” ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนตระหง่านนี้จะเติบโตและโอบอุ้มความสุขนั้นไว้แทนตัวเรา เพื่อรอมอบความสุขคืนกลับให้เราอีกครั้ง.

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การ Parkใจ สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในปีนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ