ทีม Sisu
เรื่อง : ศันสนีย์ ศรีวิชัย
ภาพ : จักรวาล ออมสิน

horko01
ป้ายคัตเอาต์หมู่บ้านแม่กลางหลวงในสถานีกลางบางซื่อ

สรรพเสียงดังระงม ทั้งเสียงแตรรถยนต์ เสียงท่อรถมอเตอร์ไซค์ และเสียงหวูดรถไฟดังแทรกมาแต่ไกล อาคารเสริมเหล็กตรงหน้าเป็นศูนย์รวม “ระบบราง” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอนาคตจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง

ที่นี่คือ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หรือสถานีกลางบางซื่อ

แม้ทุกอย่างจะดูสะดวกสบาย มีระบบระเบียบ เชื่อมการเดินทางให้รวดเร็ว แต่บรรยากาศความวุ่นวาย เร่งรีบ อึกทึก ยังเหมือนเดิม

ณ ชานชาลา ๑ และ ๒ ประตูทางออกบีสำหรับรถไฟทางไกลสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงจุดนั่งรอที่ชานชาลามีป้ายคัตเอาต์อยู่สามภาพ

ภาพแรกเป็นช้างกับควาญยืนอยู่ริมธาร มีช้างกำลังดื่มน้ำอยู่สองเชือก ภาพตรงกลางเป็นนาข้าวสีเขียวขจี มีทิวเขา สายหมอกและแสงแดดอ่อน ยามเช้าเป็นฉากหลัง แต่ภาพที่ดึงดูดสายตาฉันมากสุดกลับเป็นภาพหญิงชาวบ้านสามคน แต่งกายหลากสี สวมเสื้อแจ็กเกต ทุกคนมีใบหน้าผ่อนคลาย ส่วนเด็กชายตัวน้อยแม้มีสีหน้าขุ่นเคือง แต่ก็น่าเอ็นดู

พลันเกิดคำถามขึ้นในใจ “ความสุขของคนในภาพจะเป็นอย่างไร”

การเดินทางของฉันเพื่อตามหาคนในภาพจึงเริ่มขึ้น

horko02
บ้านเรือนชุมชนแม่กลางหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนน์
horko03
ป้ายศูนย์หัตถกรรมผ้าทอชุมชนแม่กลางหลวง

๑.

จากการสืบเสาะ ค้นหา สอบถามผู้ที่อยู่อาศัยและเดินทางไปภาคเหนือเป็นประจำ ทำให้ฉันได้สมมุติฐานที่น่าเชื่อถือว่า สถานที่นั้นคือหมู่บ้านปกาเกอะญอแม่กลางหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

ข้อมูลที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน/เชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Thailand CBT Network Coordination Center) และงานวิจัยเรื่อง “ความทรงจำจากแม่กลางหลวง” โดย พัชรนันท์ คงเจริญ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหมู่บ้านปกาเกอะญอแม่กลางหลวง ชุมชนบ้านแม่กลางหลวง หมู่ ๑๗ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าผู้คนที่นี่มีการอพยพเข้าและออกภายในหมู่บ้านบ่อยครั้ง และเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ร่วมในประวัติศาสตร์ “แคว้นมึกะคี” ว่าด้วยการเดินทางอันยาวไกลของชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือคานยอ (Kanyaw) ซึ่งหมายถึง ผู้มีความสมถะและเรียบง่าย เพื่อค้นหาดินแดนสงบสุขอุดมสมบูรณ์สําหรับตั้งถิ่นฐาน ซึ่งตรงกับวิถีชีวิตที่สันโดษ รักสงบ ของชนเผ่า กระทั่งมาถึงสถานที่ที่เรียกว่า “มึกะคี”

เมื่อกว่า ๒๐๐ ปีก่อน บรรพบุรุษกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่ในปี ๒๓๓๐ ขณะนั้นบริเวณนี้มีเจ้าเมืองลําพูนเป็นเจ้าของ หากใครจะมาตั้งรกรากต้องซื้อที่ดิน แต่เนื่องจากชาวปกาเกอะญอมีแต่ช้าง จึงใช้ช้างหางกุด (ช้างหางด้วน) แลก โดยมีใบลานเป็นหลักฐาน แต่สูญหายไปแล้ว (ชาวบ้านเผาทิ้งกับงานศพผู้สืบทอด)

แคว้น “มึกะคี ” มีความหมายว่า ขุนนํ้าที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยความสุข ประกอบด้วย หย่อมบ้านขุนกลาง ผาหมอน หนองหล่ม แม่แอบ และหมู่ ๑๗ ในปัจจุบัน มีจำนวนครัวเรือนในแต่ละหย่อมบ้านประมาณ ๖๐-๘๐ ครัวเรือน ถือเป็นชุมชนขนาดเล็กบนที่ราบสูง แวดล้อมด้วยป่าไม้ มีแม่น้ำแม่กลางไหลผ่าน

horko04
พี่หมือดากำลังทอผ้า
horko05
พี่หมือดาขณะตอบคำถามนักท่องเที่ยวในโรงสีข้าว

๒.

สำนักอุทยานแห่งชาติประกาศให้ดอยอินทนนท์เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๖ ของประเทศ เมื่อปี ๒๕๑๕ หรือหลังจากที่กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเข้ามาอาศัยถึงกว่า ๑๘๐ ปี

ดอยนี้เดิมชื่อ “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” เนื่องจากเป็นดอยขนาดใหญ่ (คำว่า หลวง ภาษาเหนือแปลว่าใหญ่) ส่วนชื่อดอยอ่างกามีเรื่องเล่าว่า ห่างจากยอดดอยไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓๐๐ เมตร มีหนองน้ำลักษณะเหมือนอ่าง ซึ่งฝูงกาจำนวนมากมักพากันไปเล่นน้ำ จึงถูกเรียกว่า “อ่างกา” แต่บางกระแสเล่าว่า “อ่างกา” มาจากภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า “ใหญ่” คำว่า “ดอยอ่างกา” จึงแปลว่า ดอยขนาดใหญ่นั่นเอง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงหมู่บ้าน ฉันใช้เวลาเดินทางครึ่งค่อนวัน

ในเดือนตุลาคมต้นข้าวจะออกรวงสีทองสวยงาม อีกไม่นานจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว อากาศโล่งโปร่งสบาย ลมโชยเย็นๆ แสงแดดอ่อนๆ สาดส่องตามจังหวะที่เมฆเคลื่อนผ่าน ช่วงบ่ายของวันเริ่มมีเสียงยานพาหนะนักท่องเที่ยวขับขี่เข้ามาชมหมู่บ้านเป็นระยะๆ

ศูนย์กลางของหมู่บ้าน ณ ศูนย์หัตถกรรมผ้าทอปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง อยู่ห่างจากทางเข้าประมาณ ๕๐๐ เมตร ระหว่างทางจะพบบ้านพักอาศัยกึ่งบังกะโล ที่จัดไว้บริการนักท่องเที่ยว ล้อมรอบด้วยนาข้าวขั้นบันได เมื่อเดินไปสุดเขตนาข้าว มุ่งสู่ตัวหมู่บ้าน จะเห็นบ้านกาแฟทางขวามือชื่อ “กาแฟสมศักดิ์ โถ่บิเบ” ส่งกลิ่นหอมโชยมาแต่ไกลเดินขึ้นเนินไปเล็กน้อยจะเจอศูนย์หัตถกรรมฯ ทางซ้ายมือ

ศูนย์หัตถกรรมฯ สร้างจากไม้ไผ่ มุงสังกะสี มีป้ายไม้สามแผ่นทาพื้นเขียว ตัวอักษรขาวสามภาษา ทั้งไทย อังกฤษ และปกาเกอะญอ ภาษาไทยเขียนว่า “ศูนย์หัตถกรรมผ้าทอปกาเกอญอบ้านแม่กลางหลวง”

หลังจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทยอยออกจากศาลาศูนย์หัตถกรรมฯ ก็เป็นจังหวะเหมาะที่ฉันจะเข้าไปพูดคุย หาเบาะแสหญิงในภาพบนป้ายคัตเอาต์ที่สถานีกลางบางซื่อ

ฉันพบหญิงปกาเกอะญอคนหนึ่ง แม้ใบหน้ามีรอยย่นตามวัย แต่มีรอยยิ้มสดใส

“สวัสดีจ้า เข้ามาดูก่อนได้ ไม่ซื้อไม่เป็นไร” เธอทักทายด้วยสำเนียงที่มีลักษณะเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์

เธอชื่อ หมือดา ภาษาปกาเกอะญอแปลว่า ลูกคนสุดท้อง ตรงเสาไม้ไผ่กลางศาลาศูนย์หัตถกรรมฯ มีแผ่นกระดาษแข็งติดอยู่ ระบุชื่อกลุ่มหัตถกรรมผ้าทอปกาเกอะญอ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด ๑๘ คน โดยมีตารางให้สมาชิกหมุนเวียนมาสาธิตการทอผ้าและขายสินค้าชุมชน สินค้าหลักคือ ผ้าพันคอ เสื้อกะเหรี่ยง ผ้าคลุมเตียง หรือย่าม

“ทอผ้าใช้เวลานานไหมคะ”

“หนึ่งอาทิตย์ เสร็จช้าหน่อยเพราะต้องไปไร่ กลับมาร้อน เหนื่อย” เธอตอบขณะมือทอผ้าไปด้วย

“แล้วเริ่มทอผ้าตั้งแต่เมื่อไหร่คะ”

“ตอน ๑๐ ขวบ ดูแม่ทอผ้า แต่ก่อนยังไม่มีโรงเรียน ไปแต่ทุ่งนา”

“พี่หมือดาอายุเท่าไหร่แล้ว”

เธอทำท่าครุ่นคิด “๖๔ หรือมากกว่านั้น เพราะแต่ก่อนไม่มีใบเกิด”

“แล้วสามีอายุเท่าไหร่” เธอใช้เวลาครู่หนึ่งก่อนตอบ “แต่งงานตอน ๑๘ ตอนนั้นสามีอายุ ๒๔”

“งั้นก็ ๗๐ แล้ว” ฉันช่วยเธอนับ เธอยิ้มเขินๆ พลางพยักหน้า

“พี่หมือดามีแฟนกี่คน”

“มีแฟนเยอะ เปอเลอะ (หมายถึงมาก) เป็น ๑๐ คน” เธอหัวเราะแก้เขิน “แต่มีสามีคนเดียว” เธอตอบทันที

“แสดงว่าสวย ! ถึงมีแฟนหลายคน”

เธอก้มมองผ้าทอ ท่าทีเขินอาย ยิ้มอ่อนๆ “ไม่หรอก”

ระหว่างนั้นมีหญิงชาวบ้านสวมหน้ากากอนามัยเดินมาคุยกับพี่หมือดาเป็นภาษาปกาเกอะญอ

“นี่พี่สาว” เธอแนะนำ

พี่หมือดาไล่เรียงลำดับพี่น้องให้ฟังว่ามีพี่ชายสองคน พี่สาวสองคน และน้องชายอีกสองคน ส่วนครอบครัวเธอมีลูกสามคน แต่งงานออกเรือนแล้ว

จากหนังสือชาวเขา โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ สรุปไว้ว่า วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ คู่สมรสหนุ่มสาวจะตั้งครัวเรือนของตนเองหลังจากมีบุตรคนหนึ่ง หรือสองคน การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นกฎที่เคร่งครัด การหย่าร้างมีน้อย ตามธรรมดาสามีและภรรยาจะผูกพันรักกันมั่นคง ค่านิยมอีกอย่างของชาวปกาเกอะญอ คือให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ฉันเพื่อน ซื่อสัตย์ เชื่อมั่น และศรัทธากัน ส่วนความสัมพันธ์พี่น้องก็แน่นแฟ้นมาก

เมื่อถามผลประกอบการขายผ้าทอของศูนย์หัตถกรรมฯ วันนี้เทียบกับช่วงก่อนโรคระบาด

“แต่ก่อน ๓๐-๔๐ ผืนทุกวัน เมื่อวานก็ ๒๐ ผืน วันนี้ได้นิดหน่อย”

ผ้าทอที่ศูนย์หัตถกรรมฯ เป็นของสมาชิกนำมาฝากขาย หากขายได้ต้องหักเข้ากลุ่มร้อยละ ๓ เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนซื้ออุปกรณ์ทอผ้า

“ไปไร่ ตากฝน ตากแดด ลำบากนะ ถ้ารับจ้างอยู่ทอผ้าวันละ ๑๕๐ บาท ก็สบายหน่อย” เธอเอ่ยถึงรายได้จากการรับจ้างนั่งประจำศูนย์ฯ แทนสมาชิกที่ติดภารกิจ

“รายได้ไม่มาก ที่ได้ประจำก็เบี้ยผู้สูงอายุ” เธอเล่าต่อ

“แล้วสุขภาพพี่หมือดาแข็งแรงดีไหมคะ”

“แข็งแรงดี” เธอตอบเสียงหนักแน่น

“แต่สามีความดันสูง หมอมาตรวจที่โรงเรียน”

ระหว่างนั้นเริ่มมีกลุ่มนักท่องเที่ยวกลับจากเส้นทางเดินป่าน้ำตกผาดอกเสี้ยว มีชาวบ้านที่เป็นมัคคุเทศก์นำเดิน

ก่อนที่การสนทนาของเราจะถูกขัดจังหวะ ฉันจึงขอให้เธอช่วยดูรูปหญิงปกาเกอะญอชุดสีชมพูบานเย็น ใส่ตุ้มหูพู่สีสดใส อุ้มเด็กชายในอ้อมแขน

เธอก้มดูรูปถ่าย ขมวดคิ้วแกมลังเล

“พี่หมือดาจำได้ไหมว่าถูกถ่ายรูปตอนไหน”

“จำไม่ได้เลย” เธอหัวเราะร่าเริงกึ่งประหลาดใจ แต่ก็นึกไม่ออกว่าถูกขอถ่ายรูปด้วยเหตุบังเอิญหรือตั้งใจ

“ดีใจที่ได้เจอพี่หมือดานะคะ”

“เหมือนกันนะ” เธอตอบกลับ

“ถ้ามาหาพี่หมือดาที่บ้านได้ไหมคะ”

“มาเลย บ้านอยู่ตรงที่สีข้าวกลางหมู่บ้าน ก่อนถึงโรงเรียน”

เมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาชมศูนย์หัตถกรรมฯ เธอจึงกล่าวลาเป็นภาษาปกาเกอะญอ

“ตะบลือ ขอบคุณนะ”

horko06
พี่หมือดากับข้าวที่สีแล้ว

๓.

ปัจจุบันชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวงดึงดูดผู้คนจากทั่วประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก นอกจากผู้มาเยือนอยากพิชิตยอดดอยที่สูงสุดในประเทศแล้ว พื้นที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอก็มีความหลากหลายด้านเกษตรกรรมให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ

ชาวปกาเกอะญอมีนิสัยรักสงบ รักธรรมชาติ ไม่ชอบการต่อสู้ และไม่ชอบมีความสัมพันธ์กับคนนอกเผ่าหรือสังคมภายนอก แม้กระทั่งกะเหรี่ยงเผ่าอื่นๆ ก็ตาม เพราะจะพูดหรือฟังภาษาอื่นไม่ได้ พวกเขาตั้งถิ่นฐานทํามาหากินแบบเป็นหลักแหล่ง ไม่ชอบโยกย้ายที่อยู่เหมือนชาวเขาเผ่าอื่น บางส่วนนับถือศาสนาพุทธ บางส่วนนับถือคริสต์ ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าแทบทุกหนทุกแห่งมีผีสิงสถิต เช่น ในป่า ในไร่ หรือในหมู่บ้าน ผีที่พวกเขานับถือ คือผีเรือนและผีบ้าน

ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันรุ่งขึ้น ระหว่างฉันเดินสำรวจหมู่บ้าน ห่างจากศูนย์หัตถกรรมฯ เมื่อเดินขึ้นเนินเล็กน้อยจะพบบ้านไม้ยกสูงหลายหลัง มีพื้นที่ใช้สอยด้านล่างสำหรับเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ บ้างเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวติดพื้น บ้างปรับเปลี่ยนบริเวณหน้าบ้านเป็นร้านอาหารขายนักท่องเที่ยว

ลานโล่งกลางเนินมีรถตู้บริการนักท่องเที่ยวจอดอยู่สองสามคัน มีโรงไม้มุงสังกะสีขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ขวามือของถนน ดูกลมกลืนกับบ้านเรือนละแวกนั้น แต่เสียงเครื่องยนต์ดังไม่หยุดดึงดูดให้เข้าไปดู ด้านในมีหญิงชาวปกาเกอะญอขะมักเขม้น เทข้าวในกระสอบลงเครื่องสีข้าว ข้างใต้มีกะละมังรองข้าวที่สีแล้ว

เธอคือพี่หมือดา นางแบบป้ายคัตเอาต์ ที่สถานีกลางบางซื่อนั่นเอง

“สวัสดี เจอกันอีกแล้ว มาทำอะไร” เธอตะเบงเสียงสู้เสียงเครื่องสีข้าวที่ดังก้อง

โรงสีข้าวขนาดย่อมแห่งนี้คืออีกรายได้ของพี่หมือดา เธอรับจ้างสีข้าวราคากระสอบละ ๒๐ บาทในวันที่ไม่ต้องนั่งเวรที่ศูนย์หัตถกรรมฯ หรือว่างจากงานในไร่ มีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มแวะเวียนเข้ามาพร้อมมัคคุเทศก์ เก็บภาพและพูดคุยกับเธอตลอด ดูเหมือนพี่หมือดาเป็นภาพลักษณ์ของหมู่บ้านอย่างไม่ตั้งใจ

พี่หมือดามีชื่อจริงว่า นางบูพะ พงษ์เจริญวรรณ เกิดและโตที่หมู่บ้านแม่กลางหลวง

“ก็ใช้ชีวิตเรื่อยๆ ตามประสาคนดอย ทำนาทำสวน เลี้ยงลูก หาปูหาปลา ใช้ชีวิตไม่วุ่นวาย” เธอตอบแบบไม่คิดมาก เมื่อเราถามถึงความเป็นอยู่ทั่วไป

“แล้วกลางวันกินข้าวกับอะไรคะ”

“ปลากระป๋อง” เธอหัวเราะอายๆ

“แต่เวลากินข้าวก็กินกับลูกๆ เพราะบ้านใกล้กัน แต่อยู่คนละหลัง”

“ก็คือ อยู่กันสองคนเหรอคะ”

“ใช่ กับสามี”

“อยากให้พี่หมือดาบอกสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตพี่หน่อยค่ะ”

“พ่อแม่ พี่น้อง สามี ลูก เพื่อนที่ดี” เธอตอบอย่างไม่ลังเล

“ช่วงลำบากและแย่ที่สุดล่ะคะ”

เธอครุ่นคิดครู่หนึ่ง ก่อนตอบ “เวลาคนที่บ้านไม่สบาย เป็นห่วง ไม่รู้จะทำยังไง”

“ขอบคุณมากนะคะพี่หมือดา ขอให้สุขภาพแข็งแรงค่ะ”

“ตะบลือ” เธอเอ่ยคำลา ส่งยิ้มไม่ต่างจากที่ปรากฏบนป้ายคัตเอาต์

horko07
นาข้าวสีเหลืองทองล้อมรอบบ้านพักนักท่องเที่ยว

๔.

ภาพจำต่อชาวปกาเกอะญอ คือผู้มีวิถีชีวิตเรียบง่าย แวดล้อมด้วยอากาศดีๆ ธรรมชาติสวยงาม ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันอย่างคนในเมือง

แต่แท้จริง พวกเขาก็มีความทุกข์ กังวลใจ และความลำบากไม่ต่างกัน

ในบทความ “เราทุกคนคือบทกวีของโลก” โดย โอชิ จ่อวาลู กล่าวถึงผู้เฒ่าชาวปกาเกอะญอ ที่เรียกโลกนี้ว่า “ห่อโข่” แปลว่า ดิน โลก และที่ร้องไห้

แม้ภาพใหญ่ของชีวิตอาจฉาบด้วยความทุกข์ แต่ก็ยังมีเรื่องราวดีๆ สร้างความสุขอยู่

เราเกิดมาเพื่อร้องไห้ หัวเราะ และจากไปในวันหนึ่ง เพราะโลกนี้คือ ห่อโข่ เปี่ยมสุข สำหรับทุกคน

#ห่อโข่ #ปกาเกอะญอ #ผ้าทอ #หัตถกรรม #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส